นงนุช สิงหเดชะ : การเมืองอเมริกายุค “ทรัมป์” ส่อเจริญรอยตามไทยหรือไม่

หากดูจากหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจาก โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน ชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ เป็นไปได้หรือไม่ที่สังคมและการเมืองอเมริกันหลังจากนี้จะมีสภาพคล้ายๆ กับที่เคยเกิดกับประเทศไทยมานานนับ 10 ปี จนนำมาสู่การรัฐประหารถึง 2 ครั้ง เพื่อยุติความขัดแย้งรุนแรง

กล่าวได้ว่าทรัมป์เป็นประธานาธิบดีที่สร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชนอเมริกันอย่างร้ายแรง เพราะคำพูด นโยบายและท่าทีของเขาได้สร้างความไม่พอใจให้กับคนอเมริกันจำนวนมาก

ความขัดแย้งแตกแยกทางการเมืองลามเข้าไปในเกือบทุกวงการไม่เว้นแม้แต่ในฮอลลีวู้ดที่ดาราดังๆ หลายคน รวมทั้งนักร้องแสดงตัวเปิดเผยไม่สมาคมกับทรัมป์

ต่อต้านกระทั่งว่าในพิธีสาบานตนเพื่อเข้ารับตำแหน่งเดือนมกราคมไม่มีนักร้องหรือดาราอเมริกันคนไหนรับเชิญไปร่วมพิธี มีกระแสข่าวบอกว่าหานักร้องอเมริกันไปร่วมพิธีไม่ได้ กระทั่งทีมงานทรัมป์ต้องไปติดต่อนักร้องอังกฤษชื่อ รีเบคกา เฟอร์กูสัน ซึ่งเธอได้ทวีตว่า จะยอมรับไปร่วมพิธีภายใต้เงื่อนไขข้อหนึ่ง นั่นคือต้องยอมให้เธอร้องเพลง Strange Fruit

ข้อแม้นี้ของเธอมีนัยยะมาก เพราะเพลงดังกล่าวถูกขึ้นบัญชีดำในสหรัฐ เนื่องจากมันเป็นเพลงที่มีความหมายอันยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์เพราะพูดถึงคนผิวดำที่ถูกกดขี่และถูกเมินเฉย

“เพลงนี้เตือนใจให้เรารู้ว่ามีเพียงความรักเท่านั้นที่จะเอาชนะความเกลียดชังในโลกนี้ได้ ถ้าให้ฉันร้องเพลงนี้ฉันก็จะยอมรับคำเชิญของคุณ แล้วพบกันในวอชิงตันนะคะ”

AFP PHOTO / DON EMMERT

อย่างที่ทราบกัน หลังผลเลือกตั้งออกมา ทรัมป์ถูกชาวอเมริกันประท้วงต่อต้านไม่ยอมรับอยู่นานหลายวัน ขยายวงไปหลายเมือง ข้อความบนป้ายประท้วงนั้นมีไม่น้อยที่เขียนว่า “(ทรัมป์) หยุดสร้างความเกลียดชัง” หรือ “เอาชนะความเกลียดด้วยความรัก” หลังจากทรัมป์ได้ใช้คำพูดในลักษณะปลุกเร้าให้ฐานเสียงของเขาซึ่งเป็นคนระดับล่างและคนชนบทเกลียดผู้อพยพหรือคนเชื้อชาติอื่น เกลียดมุสลิม

แต่ดูเหมือนม็อบยังไม่มีผู้นำที่เข้มแข็งพอจะยืนระยะอยู่ได้นาน ซึ่งอาจจะเป็นเพราะไม่มีประสบการณ์ในที่สุดม็อบเหล่านี้ก็แผ่วไป

REUTERS/Darren Ornitz/File Photo

อย่างไรก็ตาม ยังรู้สึกได้ว่าความรู้สึกไม่พอใจทรัมป์ยังคุกรุ่นอยู่ในหมู่คนอเมริกัน ซึ่งคราวนี้ขยายวงมายังคนในตรอบครัวทรัมป์ เริ่มจากชาวนิวยอร์กเกือบ 100,000 คน เข้าชื่อกันเรียกร้องผ่าน ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก และนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก ขอให้อย่านำภาษีของประชาชนไปใช้จ่ายเป็นค่ารักษาความปลอดภัยที่อาคารทรัมป์ ทาวเวอร์ เพื่ออารักขานางเมลาเนีย ภริยาของทรัมป์ และ ด.ช.บาร์รอน ลูกชายวัย 10 ขวบ หลังจากนางเมลาเนียออกมาระบุว่าจะยังไม่ย้ายไปอยู่ที่ทำเนียบขาว ในวอชิงตัน ดี.ซี. เนื่องจากต้องอยู่นิวยอร์กต่อระยะหนึ่งเพื่อให้ลูกชายเรียนจบก่อน

คำร้องของประชาชนยังระบุว่า ค่ารักษาความปลอดภัยบริเวณอาคารทรัมป์ ทาวเวอร์ สูงถึงวันละ 1 ล้านดอลลาร์ (ราว 36 ล้านบาท) ซึ่งมาจากภาษีประชาชน อีกทั้งยังสร้างความเดือดร้อนให้ชาวเมืองอันเนื่องจากการจราจรติดขัดอย่างมาก อีกทั้งรถแท็กซี่เเละรถประจำทางหลายเส้นทางต้องหลีกเลี่ยงไม่แล่นรถผ่านอาคารทรัมป์ ทาวเวอร์ ทำให้ประชาชนเดือดร้อนในการสัญจร

มาตรการอารักขาความปลอดภัยให้กับอาคารทรัมป์ (ซึ่งทรัมป์และครอบครัวพักอาศัยอยู่ด้วย) ในนิวยอร์กแบบราชา ยังไปเบียดเบียนคนเล็กคนน้อยที่ทำมาหากินอยู่ย่านนั้นให้ตกระกำลำบากแบบที่ไม่สามารถอ้าปากพูดอะไรได้ เจ้าของร้านอาหารแถวนั้นบอกว่ายอดขายของพวกเขาตกลงไป 30% จากปกติที่ยอดขายของพวกเขาจะเพิ่มขึ้นราว 20% เพราะมีการปิดกั้นถนนบางส่วน ร้านค้าหลายแห่งจึงตกที่นั่งลำบาก บางเจ้าบอกว่ากำลังคิดจะย้ายไปขายที่ใหม่

นี่ก็พิสูจน์ให้เห็นว่าการปกครองระบอบประธานาธิบดีและสาธารณรัฐนั้นไม่ได้หมายถึงคนจะเท่าเทียมกัน ไม่มีใครมีอภิสิทธิ์เหนือใคร อย่างที่พวกเราคนไทยจำนวนไม่น้อยเข้าใจหรือชื่นชม

bbc

ถัดมาล่าสุดปลายเดือนธันวาคมปีที่แล้ว อีวานก้า ลูกสาวของทรัมป์ ซึ่งอยู่ระหว่างนั่งเครื่องบินของสายการบินเจ็ตบลู เพื่อไปพักผ่อนที่ฮาวาย ปรากฏว่ามีผู้โดยสารคนหนึ่งที่นั่งใกล้กับเธอเหลือบเห็นเธอเข้าจึงพูดว่า “โอ พระเจ้า นี่เป็นฝันร้ายชัดๆ พวกเขาทำลายประเทศของเรา และตอนนี้พวกเขาก็ทำลายเที่ยวบินของพวกเราด้วย ทำไมพวกเขาไม่บินด้วยเครื่องบินส่วนตัว”

สื่อบางแห่งรายงานอ้างว่า ผู้โดยสารคนดังกล่าวมีนามว่า แดน โกลด์สไตน์ เป็นอาจารประจำวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ตะโกนถ้อยคำดังกล่าวใส่อีวานก้าอย่างดุเดือดทำให้เขาและเพื่อนถูกควบคุมตัวลงจากเครื่องบิน แต่ผู้โดยสารอีกคนหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า มาร์ก เชฟฟ์ ซึ่งนั่งอยู่ใกล้ๆ และเห็นเหตุการณ์โดยตลอด ได้โพสต์เฟซบุ๊กว่าโกลด์สไตน์ไม่ได้ตะโกนใส่อีวานก้าแต่อย่างใด หากแต่เขาพูดด้วยน้ำเสียงเรียบๆ และสงบ

หลายคนอาจมุ่งตำหนิผู้โดยสารคนดังกล่าวที่ต่อว่าอีวานก้าว่าทำในสิ่งที่ไม่สมควรหรือละเมิดคนอื่น แต่อย่างน้อยเหตุการณ์นี้สะท้อนว่าความคุกรุ่นไม่พอใจต่อทรัมป์นั้นยังมีอยู่ในสังคมอเมริกันไม่น้อย อันน่าจะเป็นอุทาหรณ์เตือนใจทรัมป์ว่าอย่าได้ทำอะไรไปมากกว่านี้ ไม่เช่นนั้นคนใกล้ชิดและครอบครัวของเขาจะโดนหางเลขไปด้วย และสาเหตุหลักก็เกิดจากทรัมป์นั่นเอง

ประธานาธิบดีคนนี้ได้ชื่อว่าเป็นนักการเมืองประชานิยม ซึ่งนิยมใช้คำพูดแบบเอามัน ใช้สไตล์การเมืองที่เรียกว่าหากินกับ “ความแตกแยก” ในหมู่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนต่อสู้กันเอง เพื่อตัวเองจะได้อยู่ในอำนาจนานๆ

เมื่อความชั่วร้ายดำเนินไปถึงขีดสุด ก็จะสร้างมวลชนของตัวเองขึ้นมาเป็นกองกำลังไปคุกคามประชาชนอีกฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาล

เมืองไทยเคยประสบมาแล้วกับนักการเมืองประชานิยมประเภทเดียวกับทรัมป์ ปฐมเหตุเริ่มจากนักการเมืองคนนั้นพูดว่า “จังหวัดไหนไม่เลือกพรรคเรา ก็จะไม่ได้รับงบประมาณ”

หลังจากนั้นเหตุการณ์ก็ดำเนินไปแบบเดียวกับที่เกิดกับทรัมป์ คือลูกเมีย ญาติของเขาได้รับผลกระทบไปด้วย

บัดนี้เจ้าหน้าที่สถานทูตอเมริกาประจำประเทศไทยอาจเข้าใจดียิ่งขึ้นว่า ความขัดแย้งทางการเมืองของไทยที่เกิดจากนักการเมืองประชานิยมทำไมจึงยืดเยื้อยาวนาน เพราะได้เห็นตัวอย่างจากทรัมป์มาแล้ว

หากทรัมป์ไม่หยุดพฤติกรรมเดิมๆ เชื่อว่าไม่นานสังคมอเมริกันก็จะแบ่งเป็นสีต่างๆ เหมือนไทย

อีกประการหนึ่ง ระบบเลือกตั้งที่ไม่สมเหตุสมผล พิลึกพิลั่น อาจทำให้อเมริกาต้องหันกลับมาคิดใหม่ เพราะเลือกตั้งคราวนี้ ฮิลลารี คลินตัน จากเดโมแครต ได้คะแนนเสียงจากประชาชนโดยตรง (popular vote) มากกว่าทรัมป์เกือบ 3 ล้านคะแนน แต่กลายเป็นว่าแพ้ให้กับทรัมป์

Getty Images/AFP