‘ยุทธนั้น-‘ ยุทธนี้ และชวน โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

ตอนนี้กระแสรวมใจช่วยน้ำท่วมเริ่มเป็นเอกภาพ

คนใต้คงอบอุ่นใจขึ้น

กระนั้น ยังอยาก “ฟื้นฝอย” อะไรต่อสักนิด

อย่างปรากฏการณ์ คิดถึงสรยุทธ สุทัศนะจินดา ในโลกออนไลน์ช่วงน้ำท่วมใต้นั้น

มิใช่เป็นแค่ “โอกาส” ให้สรยุทธย้อนกลับสู่เวทีอย่างเนียนๆ ผ่านเฟซบุ๊ก LIVE เท่านั้น

หากแต่กระแส “คิดถึงสรยุทธ” แฝงความโหยหา การช่วยเหลือและการเข้ามาคลุกปัญหาอย่างถึงลูกถึงคนด้วย

เพราะอย่างที่ทราบกัน การที่สรยุทธเรียกเรตติ้งได้สูงลิ่ว ส่วนหนึ่งมาจากการทำข่าวแบบพร้อมจะ “ลอยคอ” กับชาวบ้านในทุกโอกาส และในทุกที่

แต่ต้องยอมรับว่า เมื่อเกิดปัญหาน้ำท่วมภาคใต้ช่วงแรกๆ

เราจะพบว่าการแก้ไขปัญหาเป็นไปตามกลไก “ปกติ” เท่านั้น

การลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีที่ จ.นราธิวาส เด่นที่ “องค์ปาฐก” มากกว่าที่จะไปรับรู้ปัญหา

ซึ่งคงไปโทษใครไม่ได้

เพราะน้ำท่วมระลอกแรกยังไม่เสียหาย และไม่แผ่กว้างเท่าไหร่นัก การตื่นตัวจึงอาจไม่มาก

จนเมื่อเกิดน้ำท่วมระลอก 2 นั่นแหละความร้ายแรง และก่อความเสียหายอย่างหนักและแผ่กว้างไปเกือบทั้งภาค

กว่าจะตระหนักและตื่นตัว วิกฤตก็ลุกลามไปมากแล้ว

ชาวใต้จำนวนไม่น้อยจึงรู้สึกถูกทอดทิ้ง

กระแส “คิดถึงสรยุทธ” จึงเกิดขึ้น

แม้ฝ่ายรัฐบาลได้ประกาศยกระดับความรุนแรงให้อยู่ในระดับ 3 จากทั้งหมด 4 ระดับ

ทุกฝ่ายเริ่มทุ่มเทเข้าไปช่วยปัญหา

แต่กระนั้น มีความแตกต่างอันน่าพิจารณาอยู่เล็กน้อย

นั่นคือ..เมื่อเกิดกระแสคิดถึงสรยุทธในโลกออนไลน์

สรยุทธก็เริ่มเคลื่อนไหว ตั้งแต่ส่งข่าวผ่านออนไลน์ “ระลึกถึงและเป็นห่วงชาวใต้”

และไม่กี่วันหลังจากนั้น สรยุทธก็หิ้วถุงแมคโดนัลด์ลงลุยพื้นที่ พร้อมกับถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊ก LIVE ในสไตล์ “ถึงลูกถึงคน” อีกครั้ง

เราสัมผัสได้ถึงความดีอกดีใจของชาวบ้าน เมื่อมีคนเข้าไปเยี่ยมเยียน

อาจไม่ได้ช่วยอะไรมาก แต่ก็สามารถช่วยทางใจสูงยิ่ง

เรตติ้งเฟซบุ๊ก LIVE ของสรยุทธพุ่งพรวด มีคนติดตามเป็นล้าน–จนคนคิดไกลแทนสรยุทธไปแล้วว่า เขาได้ช่องที่จะกลับมาโลดแล่นบนเวทีสื่อมวลชนด้วยนวัตกรรมใหม่แล้ว

ในวิกฤต..มีโอกาสโดยแท้

ซึ่งผิดกับภาครัฐ

หลังจากมีการยกระดับความรุนแรงของปัญหาขึ้นสู่ระดับ 3 มีการตั้ง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นแม่ทัพ

ทุกฝ่ายขมีขมันกลับไปทำงาน “อย่างหนัก”

แต่เป็นการทำงานหนักในห้องที่ “ปิดประตู” ทึบ

นับตั้งแต่เกิดวิกฤต เรายังไม่เห็นแม่ทัพใหญ่ลงลุยออกไปสัมผัสชาวบ้าน ด้วยอาจรู้สึกว่านั่นไม่ใช่ประเด็น “หลัก” ที่จะทำ

เช่นเดียวกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปิดประตูปึงใส่นักข่าวที่ถามว่าจะไม่ลงไป “ลอยคอ” กับคนใต้หรือ

ซึ่งว่าที่จริง พล.อ.ประยุทธ์มีเหตุผลที่ดีคือ ไม่ต้องการเป็นภาระของเจ้าหน้าที่ที่ต้องมาต้อนรับ เอาเวลาไปช่วยชาวบ้านดีกว่า

พร้อมกับส่งท้ายว่า ทำไมต้องไปลอยคอด้วย

ทั้งที่หากมีมุมถึงลูกถึงคนอย่างสรยุทธ “บ้าง”

เรตติ้งในแง่ความรู้สึก..มีหรือจะไม่พุ่งพรวด

“ชวน หลีกภัย” แทบจะไม่ได้ลุยน้ำให้เราเห็น แต่การส่งเสียงนุ่มๆ แต่บาดลึก ในฐานะ “นักการเมืองตกงาน-ที่ต้องจ่ายค่าเดินทางเอง” ว่า ค่าเครื่องบินลงพื้นที่เพื่อช่วยชาวบ้าน “แพง” ชอนไชเข้าไปจับใจชาวบ้านแบบไม่ต้องออกแรง

เป็นคำตอบว่า ไฉนเขาถึงเป็นขวัญใจชาวใต้ตลอดกาล