คำ ผกา | เรื่องไม่เป็นเรื่องก็เป็นเรื่อง

คำ ผกา

สภาวะเกือบจะเป็นสุญญากาศทางการเมือง 3 เดือน ที่เราไม่มี “รัฐบาล” มีแต่พรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล มีนายกรัฐมนตรี และมี ครม.ตกค้าง

แต่มีอำนาจเต็มนั้น มีประเด็นทางการเมือง เศรษฐกิจที่เกี่ยวพันกับสาธารณประโยชน์อย่างเข้มข้นที่ประชาชนน่าจะได้ติดตามอย่างใกล้ชิด

ไม่ว่าจะเป็นกรณีเงินบาทแข็งค่ามากที่สุดอันน่าจะมีผลต่อการส่งออก การท่องเที่ยว

อีกทั้งชาวบ้านร้านช่องก็งงว่าเศรษฐกิจ “ดี๊ดี” แบบนี้ทำไมเงินบาทแข็งค่าขนาดนี้

ประเด็นโครงการขนาดใหญ่ที่ผ่านฉลุยไปไม่ว่าจะเป็นรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน การประมูลสัมปทานร้านค้าปลอดภาษี โครงการให้สัมปทานท่อร้อยสายสองหมื่นล้านในกรุงเทพฯ

ประเด็นอุตตมเรื่องเงินกู้ธนาคารกรุงไทย ประเด็นคุณสมบัติของประยุทธ์ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ประธานสภาเพิ่งยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ

ประเด็นเครื่องบินเจ็ตของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ประเด็นที่แก่งกระจานของไทยไม่ได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกเนื่องจากเรายังมีเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนคนกลุ่มน้อยอยู่

ประเด็นชาวบ้านถูกจับเนื่องจากรุกที่ป่าสงวนฯ และอื่นๆ และอื่นๆ และอื่นๆ ที่ประชาชนผู้เสียภาษีอย่างเราพึงระแวดระวังใส่ใจ เกาะติด เพราะมันเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของเราโดยตรง

แต่ที่น่าเศร้าก็คือ ท่ามกลางประเด็นปัญหาอันเป็นรูปธรรมที่เราควรได้ทุ่มเทใส่ใจใช้พลังงานไปกับการตรวจสอบเปิดโปงข้อเท็จจริงเพราะมันกระทบกระเป๋าสตางค์ กระทบคุณภาพชีวิตของเราโดยตรง

แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า เราต้องเสียเวลากับประเด็นการเมืองเชิงวัฒนธรรม เช่น เรื่องการแต่งตัวของ ส.ส. หรือดารานักร้องโพสต์อยากดักตบโฆษกพรรคอนาคตใหม่

เขียนถึงตรงนี้ขออนุญาตให้ฉันได้เอาใบหน้าซบกับฝ่ามือแล้วถอนหายใจแรงๆ สักสอง-สามที

จะให้ฉันพูดว่าเรื่องเสื้อผ้า การแต่งตัวไม่สำคัญ วิญญูชนพึงสนใจเรื่องเนื้อหาการทำงานมากกว่า ฉันก็พูดไม่ได้อีก

เพราะหากเราพูดว่าเสื้อผ้าไม่สำคัญ ส.ส. LGBTQ ทั้งหลาย ก็ไม่ต้องไปเรียกร้องอยากแต่งตัวตามเพศสภาพ เพราะเสื้อผ้าไม่สำคัญไง ก็แต่งๆ ไปตามกฎที่เขาตั้งขึ้นมา แล้วก็ตั้งอกตั้งใจทำงานเพื่อสิทธิของเกย์ของกะเทยอะไรกันต่อไป

หรือถ้าคิดว่าเสื้อผ้าไม่สำคัญ ก็คงไม่ออกมาเรียกร้องว่า เฮ้ย ในสภา ใส่แค่เสื้อเชิ้ต ไม่ใส่สูทได้ไหม

การที่คุณออกมาเรียกร้องว่า ไปสภาไม่จำเป็นต้องใส่สูท ก็เพราะว่าเสื้อผ้ามันสำคัญไง? เพราะถ้ามันไม่สำคัญ คุณก็หลับหูหลับตาใส่สูทไปให้จบๆ ตามกฎ ไม่ต้องไปใช้ความคิดตั้งคำถามว่า

เอ๊ะ ทำไมเราต้องใส่สูทวะ?

ประเด็นดราม่าเรื่องเสื้อผ้าของโฆษกพรรคอนาคตใหม่ตั้งแต่ชุดสูทเจ้าปัญหานั้น ฉันขอไปเริ่มต้นที่ตำแหน่งแห่งที่ของพรรคอนาคตใหม่

โดยเปรียบเทียบกับพรรคเพื่อไทย หรือแม้แต่เสรีรวมไทย กำเนิดของพรรคอนาคตใหม่ ทำให้พรรคเพื่อไทยกลายเป็นประชาธิปไตยอนุรักษนิยม และอนาคตใหม่เป็นประชาธิปไตยเสรีนิยม

พรรคอนาคตใหม่มองว่า ตนเองไม่เอาการเมือง “เก่า” เช่น พรรคพวก เครือญาติ กลุ่มผู้มีอิทธิพล การซื้อเสียง ระบบไพรมารีโหวต ในพรรคในการคัดเลือกตัวผู้สมัคร

ประกาศจุดยืนของความเป็นการเมืองแบบ inclusive คือต้องมีความหลากหลายทางเพศ มีตัวแทนของผู้พิการ

ถามว่าจุดยืนของพรรคอนาคตใหม่เช่นนี้ มีเสน่ห์ต่อใคร?

ก่อนจะไปตอบคำถามนั้น ขอย้อนไปที่กลุ่มคนไม่เอาทักษิณ ซึ่งฉันแบ่งเป็น 2 กลุ่ม (ไม่นับอีลีตที่เลือกข้างเพราะผลประโยชน์) คือ

1) กลุ่ม fundamentalist anti democracy (กลุ่มต่อต้านประชาธิปไตยแบบสุดขั้ว) กลุ่มนี้ประกาศจุดยืนชัดเจนว่าไม่ชอบประชาธิปไตย ไม่อยากอยู่ภายใต้การปกครองแบบประชาธิปไตย อยากให้เมืองไทยเป็นเหมือนในอดีต รู้สึกว่าแบบนั้นดีกว่า มีความสุขกว่า

2) กลุ่มคนที่ฝันถึงประชาธิปไตยแบบพาสเจอไรซ์ ปลอดเชื้อ สะอาดหมดจด คนกลุ่มนี้เกลียดการคอร์รัปชั่น เชื่อในหลักธรรมาภิบาล ต่อต้านการซื้อเสียง รังเกียจผู้มีอิทธิพล เจ้าพ่อในท้องถิ่น รับไม่ได้กับการเมืองระบบเครือญาติ รับทักษิณกับพรรคเพื่อไทยไม่ได้ตั้งแต่เรื่องตากใบ เรื่องนิรโทษกรรมเหมาเข่ง มองว่าการเมืองแบบเพื่อไทยเป็นการเมืองน้ำเน่าเอื้อพวกพ้อง คนกลุ่มนี้จำนวนมากไปร่วมชุมนุมพันธมิตร และ กปปส. แบบบริสุทธิ์ใจ และผิดหวังว่า เมื่อทุกอย่างจบลงด้วยการรัฐประหารปี 2557

คนสองกลุ่มนี้ กลุ่มที่ 1 เกลียดพรรคอนาคตใหม่ที่สุด และเห็นว่าเป็นอันตรายต่อชาติบ้านเมืองเสียยิ่งกว่าพรรคเพื่อไทยเสียอีก

ส่วนกลุ่มที่ 2 หันมาเชียร์พรรคอนาคตใหม่สุดลิ่มทิ่มประตู

โดยเห็นว่า นี่แหละคือความหวังของการเมืองไทย เราจะมีประชาธิปไตยที่สะอาด ที่ก้าวหน้า ที่เป็นสากล ที่อารยะ

เราจะไม่มีนักการเมืองยี้ๆ แหวะๆ ที่จริงๆ แล้วลงการเมืองเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพรรคพวกล้วนๆ เลย เป็นประชาธิปไตยที่เต็มไปการคอร์รัปชั่น

นักการเมืองในฝันต้องหน้าตาแบบธนาธร, แบบปิยบุตร แบบช่อ อะไรงี้ (ฉันเองก็ชอบ ดูร่วมสมัยกับนักการเมืองในอารยประเทศที่เท่ๆ คูลๆ ยังเคยแชร์รูปเท่าพิภพขี่มอเตอร์ไซค์ไปสภา เพราะชอบจริงๆ)

พิษสงของพรรคอนาคตใหม่คือ อิทธิฤทธิ์แห่งการไปดูดมวลชนของสลิ่มมาเป็นของตัวได้หมด แล้วทิ้งไว้แต่พวก fundamentalist ต้านประชาธิปไตยไว้กับฝ่ายอนุรักษนิยม

เมื่อเป็นเช่นนี้ พรรคอนาคตใหม่จึงเป็นตำบลกระสุนตก เพราะเป็นเป้าของกลุ่มสุดโต่ง

ขึ้นชื่อว่ากลุ่มสุดโต่ง การทำลายคนที่เขาเห็นว่าเป็นศัตรู จึงไม่ใช่การวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนโยบาย การตรวจสอบ หรือการใช้หลักการ เหตุผล

แต่การโจมตีศัตรูของกลุ่มสุดโต่งเน้นการดิสเครดิต ตั้งแต่ใส่ร้ายป้ายสี สร้างข่าวเท็จ ปั่นกระแสความเกลียดชัง ไปจนถึงการ Bully

ซึ่งถ้าไปถามจิตแพทย์ เรามักได้รับคำอธิบายคนที่ชอบไป Bully คนอื่น คือคนที่ insecure กับตัวเอง ถ้าทฤษฎีนี้จริง การ Bully ของฝ่ายสุดโต่งน่าจะมาจากการที่ลึกๆ กลุ่มนี้รู้ว่า ตนเองพวกไม่เยอะแล้วนะ เมื่อพวกไม่เยอะ จึงต้องพยายาม consolidate อารมณ์ร่วม สร้างศัตรูร่วม แล้วจะได้สัมผัสถึงความรักร่วมกัน และมีวัตถุแห่งความเกลียดชังร่วมกัน เรียกได้ว่า มีน้อยแต่แน่นในอารมณ์และความรู้สึก

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ โฆษกพรรคอนาคตใหม่ใส่สูทก็โดนด่า ใส่ซิ่นก็โดนด่า เรียกได้ว่า แค่หายใจก็ผิด

คำถามคือ ทำไมต้องเป็นพรรณิการ์ โฆษกพรรค ไม่เป็นคนอื่น ทั้งๆ ที่พรรคนี้มีคนที่โดดเด่นตั้งหลายคน ไม่นับว่าตำแหน่งโฆษกพรรคไม่ได้เป็นตำแหน่งคีย์แมนอะไรด้วย (ต่างจากเคสอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ที่เป็นเป้าชนิดยิ้มก็ผิด หัวเราะก็ผิด) เพราะเป็นนายกฯ และเป็นน้องทักษิณ

คำตอบที่ง่ายที่สุดคือ คุณพรรณิการ์เปิดตัวออกมาได้โดดเด่นเกินไป

ทีนี้ถ้าเด่นในเรื่องเนื้องานเน้นๆ มันก็โจมตียาก แต่พรรณิการ์ไม่ได้มาด้วยเนื้องานเน้นๆ ในฐานะโฆษกอย่างเดียว แต่ยังพยายามเปิดแนวรบทางวัฒนธรรมที่เป็น soft power เช่น เรื่องเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เช่น การทำผมทรงแปลกๆ หรือความพยายามแต่งตัวให้หวือหวาจนเป็นที่สังเกตเห็นโดยง่าย

การแต่งตัวแหวกแนวของนักการเมืองคนอื่นนั้นมีสิ่งที่เป็น substance รองรับ เช่น การแต่งตัวของกอล์ฟ ธัญญ์วาริน มีประเด็นเพศทางเลือก การแต่งตัวของ ส.ส.ชาติพันธุ์ หรือการนุ่งซิ่นของ ส.ส.ศรีนวล ก็อธิบายได้ว่าเพราะเธอเป็น ส.ส.เชียงใหม่

แต่การแต่งตัวแปลกๆ ของพรรณิการ์ นั้นเข้าใจว่า เธออยากผลักเส้นพรมแดนของกรอบการแต่งตัวของ ส.ส.ในสภาให้ “สนุก” และมีสีสัน เพื่อให้การเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัว และ ส.ส.เป็นมนุษย์มนาที่จับต้องได้ ไม่ใช่เคร่งขรึมเป็นหุ่นยนต์

ดังที่เธอเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “จะพยายาม educate สภา ไปเรื่อยๆ เมื่อมีโอกาสได้เป็น ส.ส.”

ทีนี้กลุ่มคนที่อยากดิสเครดิตจะไปเลือกหยิบคนอื่นๆ ที่มี substance ในการแต่งตัวแปลกๆ มารองรับก็ไม่สมเหตุสมผล หวยมันจึงออกมาที่พรรณิการ์ ตั้งแต่วันแรกที่สวมสูท POEM นั้นมาประชุมสภา

เรื่องสูทกำลังจะซาก็มามีเรื่องแต่งตัวในธีมกาสะลองและเดินหมุนฟูลเทิร์นให้นักข่าวถ่ายหน้าสภา

ฟังดูไร้สาระที่เรื่องแค่นี้กลายเป็นเรื่อง แต่อย่างที่บอกว่าเมื่อฝ่ายที่ Bully จ้องจะ Bully แล้ว แค่คำว่า “เห็นสภาเป็นรันเวย์” ก็ถูกเอาไปปั่นกระแสได้ หรือกลายเป็นเรื่อง เห็นสภาเป็นสนามเด็กเล่น

ฉันเห็นด้วยว่า ในเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย มีการเมือง และเรือนร่างของผู้หญิงในการเมืองนั้นถูกกดทับมานาน แม้แต่ในตำราการแต่งกายสำหรับผู้หญิงที่จะเป็นมืออาชีพยังมีคำแนะนำว่าควรผูกผ้าพันคอสีสันสดใส เพื่อเบี่ยงความสนใจจากนมไปที่ผ้าพันคอแทน

ซึ่งเท่ากับว่า ผู้หญิงถ้าอยากประสบความสำเร็จในโลกของผู้ชาย เธอต้องทำการ desexualized ตัวเอง เป็นหญิงให้น้อยลง แต่งตัวให้ดูแกร่งมากขึ้น หรือเลือกแต่งตัวแบบ แองเจลา แมร์เคิล ที่แต่งจนไม่มีใคร “เห็น” เสื้อผ้าของเธออีกต่อไป

แต่การต่อสู้เรื่องแบบนี้ต้องแยบคายมาก อีกทั้ง timing ต้องเป๊ะ ไม่นับว่าต้องอ่านโจทย์เรื่องอำนาจ เรือนร่าง การเมือง ตำแหน่งแห่งที่ที่ตนเองสังกัด ในบริบทแห่งสนามการเมืองที่ตนเองกำลังเล่นอยู่ให้แตกฉาน จึงจะวางยุทธศาสตร์การต่อสู้ เรื่องการเมืองเชิงวัฒนธรรมอย่างนี้ได้อย่างอยู่หมัด ทรงพลัง และทรงอิทธิพล

จะใช้เสื้อผ้ามาต่อสู้ต้องใส่เสื้อผ้าแบบไม่ให้ใครรู้ว่า “ใส่” ที่สำคัญ การไปเล่นกับกระแสละครน้ำเน่าที่ไม่ได้ empower ผู้หญิงอะไรเลยก็ยิ่งผิด

สมัย คสช. เล่นกระแสออเจ้าก็น่าขันจะตาย คนแซะกันทั้งบ้านทั้งเมือง และเราก็ขำว่า คนล้าหลัง เล่นกับกระแสที่เชยๆ มันก็ไม่แปลกใจ ที่พรรณิการ์และพรรคอนาคตใหม่ที่ผลักประเทศไปสู่ความเป็นสากล กลับมาเล่นกับกระแสละครดาษๆ เหมือนตอนลุงตู่แต่งชุดออเจ้า มันจึงเป็นความขัดแย้งในตัวเอง และเมื่อถูก Bully จากฝ่ายตรงกันข้าม ก็ยากที่จะลุกขึ้นมาดีเฟนด์ให้ดูฉลาดได้

ยิ่งผู้สนับสนุนพยายามจะดีเฟนด์ว่าดีจะตาย จะได้ส่งเสริมผ้าไทย – เดี่ยวประเด็นส่งเสริมผ้าไทย นี่มัน supposed จะเป็นงานของฝ่ายอนุรักษนิยมนะ รวมไปถึงอนุรักษนิยมฝ่ายประชาธิปไตยแบบพรรคเพื่อไทยด้วย โดยตำแหน่งแห่งที่ของพรรคอนาคตใหม่ สิ่งนี้ไม่ควรเป็น agenda ของพรรคนี้เลยแม้แต่น้อย

วิกฤตของพรรคอนาคตใหม่ตอนนี้คือถูก Bully และดิสเครดิตจากฝ่ายสุดโต่ง อันฉันหวั่นใจว่าไม่ควรดูเบาว่าเป็นเรื่องบ้าๆ บอๆ จากคนบ้าๆ บอๆ เพราะหลายๆ ความพังพินาศที่เคยเกิดขึ้นก็มาจากเรื่องที่ดูไม่เป็นเรื่องทั้งนั้น ตั้งแต่สมัยทักษิณ เช่น ปฏิญญาฟินแลนด์อะไรที่ดูเหมือนเรื่องโจ๊ก

สิ่งพรรคอนาคตใหม่ต้องทบทวนคือ การเล่นประเด็นที่เกี่ยวกับการเมืองเชิงวัฒนธรรมนั้นต้องแม่นยำและมีความเสมอต้นเสมอปลายในตนเอง ปล่อยวางเรื่องความหวือหวาอันจะได้มาซึ่งการได้ไม่คุ้มเสียในหลายๆ เรื่องเสียบ้าง เพราะพรรคและบุคลากรในพรรคจะได้ใช้พลังไปกับการทำงานในเรื่องอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสาธารณประโยชน์อันจับต้องได้ของประชาชนมากกว่านี้

ปล่อยให้พวกสุดโต่งดิสเครดิตตัวเองจากการปั่นกระแสบ๊องๆ อันมีแต่จะปั่นไม่ขึ้น และรังแต่จะกลายเป็นตัวตลกของสังคมต่อไปดีกว่า