คนมองหนัง : ปาฐกถา “ตรึงใจ” จาก “อภิชาติพงศ์” หลังขึ้นรับรางวัล “Prince Claus Award” ที่เนเธอร์แลนด์

คนมองหนัง
PHOTO: Frank van Beek

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทย ซึ่งมีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ และเคยได้รับรางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส มาแล้ว ได้เข้ารับพระราชทานรางวัล “Prince Claus Award” จากเจ้าชายคอนสแตนตินแห่งเนเธอร์แลนด์

โดยในพิธีดังกล่าว มีสมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลม-อเล็กซานเดอร์แห่งเนเธอร์แลนด์ สมเด็จพระราชินีแม็กซิม่า ตลอดจนเจ้าหญิงเบียทริกซ์ (อดีตสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์) เสด็จพระราชดำเนินมาร่วมเป็นเกียรติด้วย

การมอบรางวัล Prince Claus Awards ถือเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินงานของกองทุน Prince Claus ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงต่างประเทศ และสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เนเธอร์แลนด์

โดยจะมีการมอบรางวัลให้แก่ผู้ที่ประสบความสำเร็จอย่างโดดเด่น ในการสร้างผลงานเชิงวัฒนธรรมและการพัฒนา

ทั้งนี้ คณะกรรมการจะมุ่งให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับศิลปินและนักกิจกรรมจากอาณาบริเวณที่มี “ข้อจำกัด” ทางด้านทรัพยากร ตลอดจนโอกาสในการแสดงออกทางวัฒนธรรม, การผลิตผลงานเชิงสร้างสรรค์ และการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม

PHOTO: Frank van Beek
PHOTO: Frank van Beek

ในปีนี้ มีบุคลากรทางด้านวัฒนธรรมและการพัฒนาจากนานาชาติ ที่ได้รับรางวัลดังกล่าวจำนวน 6 คน

โดยอภิชาติพงศ์ ได้รับรางวัล “The Principal Prince Claus Award” ซึ่งถือเป็นรางวัลหลักที่สำคัญที่สุด

ขณะที่ผู้ได้รับรางวัล “The Additional Prince Claus Awards” จำนวนห้าราย

ประกอบไปด้วย เชฟและนักกิจกรรมที่รณรงค์ประเด็นทางด้านอาหารชาวเลบานอน, ศูนย์พหุศึกษาทางด้านวัฒนธรรมจากปากีสถาน, กราฟิก ดีไซเนอร์/ศิลปิน/นักการศึกษา/นักประวัติศาสตร์ ชาวอียิปต์-เลบานอน, เว็บไซต์รวบรวมข่าวสารสืบสวนสอบสวนทางเลือกจากโคลอมเบีย และสถาปนิกชาวเวียดนาม

ทั้งนี้ ในพิธีมอบรางวัล มีการจัดฉายหนังสั้นเรื่อง “Fireworks” ของอภิชาติพงศ์ ให้ผู้เข้าร่วมงานได้รับชมกันด้วย

หลังขึ้นไปรับพระราชทานรางวัลอันทรงเกียรติบนเวที ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยได้กล่าวปาฐกถาขนาดสั้นๆ ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้

“…ผมขอขอบคุณคณะกรรมการและทุกๆ คน ที่อยู่เบื้องหลังงานมอบรางวัลครั้งนี้เป็นอย่างสูง ที่อนุญาตให้ผมเดินทางมาที่นี่

“และผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ตนเองคือหนึ่งในผู้ได้รับรางวัล ทั้งยังได้เป็นส่วนหนึ่งของกองทุน Prince Claus ซึ่งเป็นกองทุนที่ผมให้ความเคารพอย่างแท้จริง ต่อการอุทิศตนในการเอื้อมมือออกไปช่วยเหลือ, ร่วมแบ่งปัน และพยายามต่อสู้เพื่อความแตกต่างหลากหลาย

“จากเด็กชายตัวน้อยผู้ลุ่มหลงในนิยายวิทยาศาสตร์และเรื่องเล่าเกี่ยวกับภูตผี สำหรับผม นั่นเป็นหนึ่งในจุดที่ส่องสว่างที่สุดบนเส้นทางอันยาวไกลของชีวิต

 AFP PHOTO / ANP / Lex van Lieshout / Netherlands OUT
AFP PHOTO / ANP / Lex van Lieshout / Netherlands OUT

“ผมจำได้ว่าเมื่อตอนยังเป็นเด็ก ตนเองเคยเล่นส่องไฟฉายภายใต้ผ้าห่มบนเตียงนอน ผมสมมุติให้การละเล่นดังกล่าวเป็นเหมือนโรงภาพยนตร์ส่วนตัว และลวดลายต่างๆ บนผ้าห่ม-ผ้าปูที่นอน ไม่ว่าจะเป็นลายดอกไม้ สิงสาราสัตว์ และรูปทรงเรขาคณิตนานาชนิด ได้ถูกนำมาผสมผสานสร้างสรรค์จนก่อเกิดเป็นเรื่องราว ที่เต็มไปด้วยผีสาง ปีศาจ และดวงดาว

“พ้นออกมาจากห้องนอน สถานการณ์บางอย่างภายในบ้านเล็กๆ หลังนั้น ก็ดำเนินไปประดุจดังความฝัน

“วันหนึ่ง ณ สถานที่แห่งเดียวกัน โทรทัศน์ขาวดำในบ้านได้แพร่ภาพการ์ตูนอย่างต่อเนื่องไม่มีหยุด ด้วยเหตุผลบางประการ สถานีโทรทัศน์ทุกช่องได้ตัดสินใจที่จะออกอากาศรายการการ์ตูนดิสนีย์และลูนีย์ ทูนส์ ตลอด 24 ชั่วโมง

“นั่นคือ ‘วันอันแสนพิเศษ’ สำหรับเด็กๆ อย่างพวกเรา ซึ่งตลอดทั้งวันนั้น ไม่ได้ออกไปวิ่งเล่นภายนอกบ้านแต่อย่างใด

“หลายปีต่อมา ผมจึงเพิ่งเรียนรู้ว่าใน ‘วันนั้น’ ไกลออกไป ณ กรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจได้เคลื่อนกำลังบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัย แล้วยิง-สังหารนักศึกษา ซึ่งเป็นผู้ชุมนุมทางการเมือง ตลอดจนมวลชน”

” ‘เรื่องแต่ง’ และ ‘ความเป็นจริง’ นั้นร้อยรัดเข้าหากันอยู่เสมอ ประหนึ่งงูหรือผีเสื้อสองตัว สำหรับผม สองสิ่งเหล่านี้ได้สลับร่างและกลืนกินซึ่งกันและกันผ่านกาลเวลา”

“พวกคุณต้องเผชิญหน้ากับทั้ง ‘เรื่องแต่ง’ และ ‘ความเป็นจริง’ เพื่อจะทำความเข้าใจในโลกที่คุณอาศัยอยู่

“และผมก็ตระหนักว่าโลกใบนี้หรือโลกภายใต้ผืนผ้าห่มสมัยตนเองยังเป็นเด็ก ได้ขยับขยายอาณาเขตออกไปกว้างไกลอย่างมหาศาล เท่ากับว่ามนุษย์เรานั้นต่างอยู่ภายใต้ผ้าห่มผืนเดียวกัน และแสงไฟส่องสว่างของพวกเราต่างก็ปลุกให้คนอื่นๆ ได้ลืมตาตื่นขึ้น

“ณ ปัจจุบัน พวกคุณและผมถือเป็นผู้โชคดีอย่างยิ่ง ที่ได้ใช้ชีวิตในท่ามกลางยุคสมัยที่การเผยแพร่แบ่งปันข้อมูลข่าวสารสามารถทำได้ง่ายๆ ผ่านการสัมผัสหน้าจอ

“นับวันพวกเราจะยิ่งตระหนักถึงความงดงามของความแตกต่างหลากหลายระหว่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องยอมรับว่ามันยังมีแง่มุมของความป่าเถื่อนโหดร้ายและอคติปรากฏอยู่

“และยังมีอีกหลายสถานที่บนโลกใบนี้ ที่การมีความทรงจำถึงและการร่วมแบ่งปัน (ความแตกต่างหลากหลาย) อาจนำไปสู่อันตราย ผมรับรู้ถึงประเด็นนี้ดี เพราะตนเองเดินทางมาจากสถานที่ประเภทนั้น

“คำถามของผมก็คือ เราจะสามารถเอื้อมมือออกไปช่วยเหลือและสื่อสารกับผู้อื่นอย่างเห็นอกเห็นใจได้อย่างไร ในเมื่อยังมีบางสถานที่ที่ถูกบริหารจัดการด้วยระบบตรรกะอีกชุดหนึ่งดำรงอยู่?

“ผมไม่ทราบคำตอบ แต่ผมเพียงคาดหวังว่าการสาดส่องแสงสว่างไปยังบางสิ่งบางอย่าง อาจช่วยนำพาสิ่งเหล่านั้นให้หลุดพ้นออกมาจากความมืดมิด

“และแน่นอนว่าแสงสว่างดังกล่าวย่อมส่องสะท้อนกลับมายังตัวพวกคุณเองด้วย เพราะสิ่งที่เราทำย่อมจะส่งผลต่อเนื่องไปยังคนอื่นเสมอ…”

นี่คือปาฐกถา “ตรึงใจ” ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่เนเธอร์แลนด์