มนัส สัตยารักษ์ | กรมสรรพากร กับมาตรการปราบแมลงวัน

สรรพากรเตรียมเก็บภาษีเงินฝาก สำหรับผู้ได้ดอกเบี้ยไม่เกิน 2 หมื่นต่อปี จากเดิมที่ผ่อนผันให้ แต่มีข้อยกเว้นสำหรับผู้ที่ลงทะเบียน “ยอมให้ธนาคารส่งข้อมูลการรับดอกเบี้ยให้สรรพากร” เริ่ม 15 พฤษภาคมนี้

ข้อความในพารากราฟข้างต้นมาจากเนื้อข่าวในโซเชียล เป็นเนื้อข่าวที่ทำให้คนข้างฝ่ายไม่มีเงินฝาก (ให้ได้ดอกเบี้ยถึง 2 หมื่นบาท) อ่านโดยไม่ระมัดระวังพาลโมโหหงุดหงิดเอากับสรรพากร (หรือกระทรวงการคลังหรือรัฐบาล) จำนวนคนข้างฝ่ายนี้ผมประเมินเอาจาก “สถิติความเหลื่อมล้ำ” ก็ราว 99 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่า คนที่จะมีเงินฝากให้ได้ดอกเบี้ยถึง 2 หมื่นมีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ให้คนกว่า 99 เปอร์เซ็นต์ ไปลงทะเบียนให้วุ่นวายโกลาหล เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียกาษีดอกเบี้ย ทั้งๆ ที่คนที่จะโกงภาษีดอกเบี้ยมีเพียงไม่เกิน 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น!

กรมสรรพากรชี้แจงเหตุที่ต้องวางมาตรการใหม่ กรณี “หักภาษีจากดอกเบี้ยที่เกิน 2 หมื่นบาท” ว่า เนื่องจากก่อนหน้านี้มีสถาบันการเงินบางแห่งไปเอื้อให้ลูกค้ารายใหญ่ พอดอกเบี้ยใกล้ถึง 2 หมื่นบาท ก็ให้ปิดบัญชีแล้วเปิดบัญชีใหม่ เพื่อไม่ให้เสียดอกเบี้ย ณ ที่จ่าย 15 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนั้น ผมยังชมและฟังวิดีโอเรื่อง “วางแผนภาษีดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร ทางออกของคนมีเงินเก็บ” เพื่อประกอบความเข้าใจต่อสรรพากร

แม้ผมจะเป็นนักเรียนหัวดีในวิชาคณิตศาสตร์ แต่ก็ไม่เคยรู้เรื่อง finance หรือการคลัง และไม่ค่อยได้สัมผัสกับสถาบันการเงินสักเท่าไรนัก จึงเข้าใจเรื่องภาษีดอกเบี้ยจากกรมสรรพากรอย่างเบลอร์ๆ

แต่ในขณะเดียวกันกลับเห็นชัดเจนว่า กรมสรรพากรไม่ได้หวังจะป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษี หรือป้องกันเจตนาทุจริตคอร์รัปชั่นสักเท่าไร สิ่งที่สรรพากรต้องการก็คือ ต้องการรู้สถานะของประชาชนผู้มีเงินฝากในธนาคารมากกว่า

สรรพากรทำทีเป็นไม่รู้เรื่องว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นทางภาษี ซึ่งทำให้รัฐสูญเสียรายได้ไปมหาศาลนั้น อยู่ตรงข้างฝ่าย 1 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่ฝ่าย 99 เปอร์เซ็นต์

แล้วก็เป็นไปตามที่คาด วันถัดมาก็มีข่าว สมาคมธนาคารไทยแถลงไม่เห็นด้วยกับมาตรการของกรมสรรพากรที่จะให้ธนาคารส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากประเภทออมทรัพย์ให้แก่กรมสรรพากรทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้กรมสรรพากรทราบจำนวนดอกเบี้ยในทุกบัญชีของทุกธนาคาร

ต่อมากลับมีข่าวว่าจะหารือทบทวนกันอีกครั้ง

นอกจากนั้น ยังมีข่าวเพิ่มเติมว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังเห็นว่าควรมีการพิจารณาผลกระทบต่างๆ ให้รอบด้านเป็นสำคัญ

รองเลขาธิการสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับกรมสรรพากร ว่า ได้มีการปรับแก้หลักเกณฑ์ประกาศใหม่ โดยกำหนดให้คนที่ไม่ประสงค์ให้ธนาคารพาณิชย์ส่งข้อมูลดอกเบี้ยให้แก่กรมสรรพากร จะต้องไปแจ้งความจำนงและต้องเขียนเอกสารลงนามกับธนาคารพาณิชย์ แทนการให้ลูกค้าของธนาคารเซ็นลงนามกับธนาคารเซ็นลงนามทุกคน

การปรับหลักเณฑ์ดังกล่าวจะช่วยให้การทำงานของธนาคารพาณิชย์คล่องตัวขึ้น อีกทั้งยังมีผลกระทบกับลูกค้าน้อยลงด้วย

ในการแถลงครั้งนี้ทำให้เราได้ทราบว่า… “มีลูกค้าเงินฝากประมาณเพียง 3 ล้านคน ที่ต้องเสียภาษีร้อยละ 15 ดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนน้อย ราว 1 เปอร์เซ็นต์ของลูกค้าเงินฝากทั้งหมด 30 ล้านคน 80 ล้านบัญชี”

ตัวเลข “ร้อยละ” ของคนรวยกับคนจน ใกล้เคียงกับที่ผมประเมินโดยใช้ “วิชาเดา” เอาจาก “สถิติ รวยกระจุก-จนกระจาย” นั่นเอง!

หลังจากข่าวมาตรการใหม่ของสรรพากรแพร่กระจายออกไปทั้งที่ยังไม่ได้ข้อยุติ แต่ก็มีเรื่องราวของการเอาเงินใส่ตุ่มของคนโบราณ ข่าวเศรษฐีซุกซ่อนเงินไว้ตามที่ต่างๆ ที่คิดว่าปลอดภัย โดยไม่นำเงินเข้าระบบธนาคาร กล่าวอย่างง่ายๆ ก็คือ ทำตามแบบของอดีตปลัดสุพจน์ ทรัพย์ล้อม แห่งกระทรวงคมนาคม

แล้วก็มีข่าวร้อนๆ กรณีอดีตผู้นำซูดาน (อดีต ปธน.โอมาร์ อัล-บาร์เซีย) แห่งกรุงคาร์ทูม ถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของคณะรัฐประหาร ค้นพบเงินสดเป็น “ธนบัตร” สกุลต่างๆ รวมมูลค่ากว่า 4,137 ล้านบาท บรรจุถุงพลาสติก 10 ถุง ซุกซ่อนอยู่ภายในบ้านพัก ขณะนี้อยู่ในระหว่างอัยการสูงสุดของซูดานสอบสวนปากคำถึงที่มาและที่ไปของเงินดังกล่าวอยู่

ประมวลข่าวเหล่านี้ทำให้นึกถึงบทความของผมเองในคอลัมน์นี้ซึ่งเคยเสนอมาแล้วราว 3 ครั้ง ให้ประเทศไทยงดใช้ “ธนบัตร” ใบละ 1,000 และ 500 บาท เป็นการทดลอง โดยหวังว่าจะหยุดหรือสร้างอุปสรรคในการทุจริตตอร์รัปชั่นในบ้านเมืองลงได้บ้าง

แต่ไม่ได้รับการสนองตอบจากรัฐแต่อย่างใด

จึงได้แต่สร้างมโนภาพของเหตุการณ์ที่สมมุติว่าเราเลิกธนบัตรใบละ 1,000 และ 500 บาท บรรดาเศรษฐีและคนมีเงินฝากจำนวน 3 ล้านคนว่าจะออกอาการเป็นอย่างไร??

ตัวเลขร้อยละที่ห่างไกลกันระหว่างคนรวยและคนจนนี้ ทำให้นึกถึงคำพูดของประธานสีจิ้นผิง ที่ให้คำมั่นแก่ประชาชนคนจีน (ตามนโยบายข้อที่ 7) ว่าจะขจัดทุจริตให้หมดใน 3 ปี (2561-2563)…”จะพุ่งเป้าเอาผิดทั้งเสือและแมลงวัน”

“เสือ” หมายถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอิทธิพล “แมลงวัน” คือเจ้าหน้าที่ระดับล่าง

ซึ่งต่างกับไทยเรา เล่นงานได้แต่แมลงวัน อันได้แก่ นายสิบ นายร้อยกลางถนนเท่านั้น ส่วนนายพลบนตึกที่ซื้อขายตำแหน่ง…ลอยนวล!

มาตรการใหม่ของสรรพากรครั้งนี้ก็เช่นกัน ดูราวกับว่าภาษีเงินได้ร้อยละ 15 จากดอกเบี้ย 2 หมื่น ตามมาตรการใหม่จะเก็บได้อย่างเป็นธรรมและถ้วนทั่ว แต่ในความเป็นจริงนั้นมีไม่กี่เปอร์เซ็นต์หรอกที่กรมสรรพากรจะเก็บได้ ตัวเป้งๆ ที่ควรจะเก็บภาษีเงินได้เป็นกอบเป็นกำนั้น ล้วนแต่เป็น “เสือ” ทั้งสิ้น

ผมเจียมตัวดีว่าไม่มีความรู้เกี่ยวกับ finance และการคลัง แต่ผู้รู้ในกระทรวงการคลังโปรดตอบ “ข้อเสีย” ของการไม่มีและไม่ใช้ธนบัตรมาสัก 2 หรือ 3 ข้อสิครับ… ผมจะได้หยุดเสร่อเสียที