ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 25 พฤศจิกายน - 1 ธันวาคม 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
สงครามข้อมูลข่าวสาร ประเด็นเรื่องความจริง/ไม่จริง ระอุหนัก รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา
ปรากฏชื่อ “เทอดศักดิ์ เจียมกิจวัฒนา” อดีตแนวร่วมพันธมิตรเชียงใหม่ ซึ่งปัจจุบันจัดรายการวิทยุผ่านทาง YouTube ช่องวิหคนิวส์ วิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์ทางการเมืองจนมีผู้ติดตามจำนวนมากกว่าสองแสนคน
รวมถึงผู้ติดตามทาง Facebook นับแสนคน
มียอดวิวรวมนับสิบล้านวิว เป็นข่าวดังทางโลกออนไลน์
เริ่มจากกรณีการออกมาปกป้องนักพูดชื่อดัง หลังถูกคนต่างสีเสื้อออกมาวิจารณ์ อันเป็นประเด็นต่อเนื่องว่าเคยใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสมก่อให้เกิดการดูหมิ่นหรือแบ่งแยกความเป็นภูมิภาคของคนไทย
มีเพียง เทอดศักดิ์ เจียมกิจวัฒนา คนนี้เองที่ออกมายืนยันว่าสิ่งที่นักพูดคนดังกล่าวเคยลั่นวาจาไว้นั้น ไม่ใช่เรื่องผิด
แต่เป็นการพูดที่ถูกต้องตามบริบท โดยเหตุการณ์การถูกวิจารณ์ที่ผ่านมา เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการที่มีจุดประสงค์ไม่ดีทางการเมือง
ทั้งยังอัดคลิป เรียกร้องไปยังผู้บริหารให้พิจารณาการกระทำของดาราตลกคนหนึ่งที่แสดงความเห็นวิจารณ์นักพูดคนดังกล่าวจนเป็นข่าวดัง
เกิดคำถามขึ้นว่าทำไมเทอดศักดิ์จึงมีการกล่าวถึงอย่างมากในโลกออนไลน์และมีผู้ติดตามจำนวนมาก
เมื่อเข้าไปดูทางช่อง YouTube ดังกล่าว ก็จะปรากฏคลิปจำนวนมากซึ่งเป็นคลิปวิเคราะห์การเมืองตามสถานการณ์รายวัน
แต่ละคลิปสะท้อนให้เห็นถึงวิธีการจับประเด็นทางการเมืองที่กำลังเกิดการถกเถียงหรือเกิดข้อสงสัยในสังคม บางเรื่องเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการถกเถียงหรือพูดถึงในสื่อกระแสหลัก
เมื่อคลิกเข้าไปดูในแต่ละคลิป ส่วนต้นก่อนเริ่มรายการจะมีการทำกราฟิกแนะนำตัวทุกครั้งว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ทางการเมือง
มีการใช้พาดหัวข่าวแบบน่าสนใจ โดยพยายามแสดงให้เห็นถึงการนำเสนอข้อมูลเบื้องลึก-เบื้องหลังของเหตุการณ์และมีพาดหัวตามที่น่าตื่นเต้น ท้าทาย ชวนให้กดเข้าชม
โดยหลักคิดสำคัญในการอธิบายการเมืองในหลายๆ คลิป คือการพยายามแสดงให้เห็นว่าทุกเหตุการณ์ทางการเมือง มีโครงสร้างของเหตุการณ์ มีเบื้องหลังทางความคิดที่สนับสนุนหรือก่อให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวอยู่
กล่าวคือ เทอดศักดิ์เห็นว่าเหตุการณ์หรือวิกฤตความขัดแย้งที่เกิดขึ้นล้วนถูกสร้างขึ้นมา
ข้อมูลต่างๆ คือวาทกรรมที่ถูกผลิตขึ้นใช้หล่อหลอมสังคม ล้วนเกิดขึ้นเพื่อนำไปสู่เป้าหมายทางการเมืองบางอย่าง
ซึ่งในที่นี้จะไม่บอกว่าผิดหรือถูก เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมเพียงใด แต่จะพยายามตั้งคำถามถึงความสำเร็จในกระบวนการสื่อสารดังกล่าว
เทอดศักดิ์ เล่าในคลิปคลิปหนึ่งซึ่งเป็นคลิปแนะนำตัวเองหลังมีประชาชนเข้ามาติดตามจำนวนมาก ว่าตนเองเป็นคนเชียงใหม่ มีความสนใจทางการเมือง โดยตนเองประกอบอาชีพสื่อมวลชนมาตั้งแต่จบการศึกษา
ซึ่งแม้เทอดศักดิ์จะจบการศึกษาด้านการพัฒนาสังคมระดับปริญญาตรี แต่จุดเปลี่ยนสำคัญคือการปะทะทางการเมืองระหว่างเหลือง-แดง ซึ่งเทอดศักดิ์ประกาศตนเองว่าเป็นกลุ่มพันธมิตร
จนเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการเรียนต่อด้านการเมืองที่มหาวิทยาลัยรังสิตในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก
กระทั่งเทอดศักดิ์ระบุในทุกคลิปว่าตนเองเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์และยุทธศาสตร์ทางการเมือง
ปัจจัยสำคัญอีกอันหนึ่งที่ทำให้เทอดศักดิ์มีชื่อเสียงในโลกออนไลน์ นั่นคือการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีทางการสื่อสาร
กล่าวคือ โลกยุคโลกาภิวัตน์ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงด้านการสื่อสารอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงการสื่อสารได้ดียิ่งขึ้น
จากเดิมที่สื่อหลักเป็นผู้กำหนดประเด็นทางสังคมเป็นส่วนใหญ่ เปลี่ยนเป็น ประชาชนที่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ทางการสื่อสารได้ก็สามารถที่จะเป็นผู้ชี้นำหรือกำหนดประเด็นในสังคมได้มากขึ้น
เทอดศักดิ์ มีความสามารถในการจับประเด็นสำคัญในแต่ละวันและนำเสนอตรรกะโต้แย้งกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยอย่างตรงไปตรงมา ด้วยคำพูดเข้าใจง่าย
โดยเฉพาะการพยายามนำเสนอข้อมูลประวัติศาสตร์การเมือง สังคม ในการสนับสนุนข้อเสนอทางการเมืองของตนเองด้วย
ซึ่งในหลายคลิปเทอดศักดิ์เลือกที่จะนำเสนอเฉพาะเรื่องประวัติศาสตร์เท่านั้น และเป็นประวัติศาสตร์ในเชิงการตอบโต้ประวัติศาสตร์เชิงวิพากษ์
แต่เรื่องฮือฮาก็เกิดขึ้น เมื่อผู้ที่ชมคลิปได้ตั้งข้อสังเกตถึงข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ผิดแปลก ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ความขัดแย้งของคณะราษฎร การเมืองในยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม จนถึงการเมืองปัจจุบัน
เรื่องนี้เทอดศักดิ์ถูกตอบโต้จากนักประวัติศาสตร์โดยตรง อาทิ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักประวัติศาสตร์ อดีตอาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มธ. ที่เห็นว่าเทอดศักดิ์นำเสนอข้อมูลทางประวัติศาสตร์ผิดพลาดหลายครั้ง แม้จำนวนมากจะเป็นข้อมูลพื้นฐานนักศึกษาทั่วไปควรรู้
สมศักดิ์ยกเรื่องราวที่เทอดศักดิ์ผิดพลาด เช่น การพยายามอธิบายเรื่องความเป็นมาของธงชาติไทย เช่น การบอกว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม แกนนำคณะราษฎรคนสำคัญเป็นผู้กำหนดธงชาติไทยใหม่และยกเลิกธงแดงที่มีรูปช้างอยู่ตรงกลาง
หรือการบอกว่าประธานาธิบดีสหรัฐคนแรกคือ อับราฮัม ลินคอล์น ซึ่งสมศักดิ์วิจารณ์ว่าวิธีคิดและการนำเสนอข้อมูลพื้นฐานที่ผิดบ่อยขนาดนี้
แต่กลับมีคนชื่นชอบและติดตามเป็นจำนวนมาก สะท้อนอาการป่วยของสังคม การที่เทอดศักดิ์บอกว่าตนเองเป็นผู้เชี่ยวชาญยุทธศาสตร์การเมืองเป็นการสำคัญตนผิด
“เห็นได้ชัดว่าคุณเทอดศักดิ์ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์การเมืองไม่ว่าไทยหรือต่างประเทศอ่อนมากๆ จึงพูดผิดแล้วผิดอีกโดยไม่รู้ตัว … การที่คนที่ “อ่อน” มากขนาดนี้กลายเป็นคนดังได้มันสะท้อนอาการป่วยของสังคมไทยในหลายปีที่ผ่านมา”
สมศักดิ์ แสดงความเห็น
เช่นเดียวกับ เทพมนตรี ลิมปพยอม นักประวัติศาสตร์ซึ่งมักนำเสนอความคิดเห็นตรงข้ามกับ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล มาตลอด ในกรณีนี้ ถึงกับเสนอว่าอยากแนะนำให้เทอดศักดิ์ไปเรียนประวัติศาสตร์การเมืองใหม่ โดยเฉพาะเรื่องวิธีการทางประวัติศาสตร์
เพราะการที่เทอดศักดิ์นำเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ นำเสนอผ่านทาง YouTube สาธารณะอาจทำให้คนเข้าใจผิดทั้งในเรื่องเนื้อหาสาระและวิธีการอ้างอิงหลักฐาน
“ถ้าจะค้นแค่ Google, คำบอกเล่า, หรือแม้แต่คำพิพากษาของศาล แหล่งอ้างอิงที่กล่าวถึงควรทำเป็นระบบหลักฐานที่นำมาอ้างก็เป็นหลักฐานที่ยังเป็นปัญหาอยู่และไม่ควรกล่าวลอยๆ ต้องระมัดระวังให้มาก” และ
“ตอนแรกผมก็คิดว่าจะไม่ยุ่งเพราะดูขี้ริ้วพอควรในสิ่งที่พูดต่อเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ เป็นนักศึกษาผมให้ F นะครับ” เทพมนตรี ระบุ
การพูดถึงข้อมูลของ เทอดศักดิ์ เจียมกิจวัฒนา โด่งดังขึ้นอีก เมื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เผยถึงกรณีดังกล่าวว่าอยู่ระหว่างการให้เจ้าหน้าที่สอบสวนและตรวจสอบคลิปทั้งหมด โดยหากพบว่ามีการบิดเบือนหรือข้อมูลไม่จริงก็พร้อมที่จะดำเนินคดี
ซึ่งเรื่องนี้เทอดศักดิ์ออกมาตอบโต้ว่า เมื่อไม่สามารถตอบโต้ข้อมูลได้ก็ส่งให้นักข่าวไปจี้ให้เอาผิดให้ได้ โดยอ้างความแตกแยก แต่อีกฝ่ายไม่ถือว่าสร้างความแตกแยกและเป็นคนดีตามสูตรเดิม โดยมีผู้ติดตามเทอดศักดิ์ เข้าไปแสดงความเห็นให้กำลังใจจำนวนมาก
โดยเรื่องการดำเนินคดีเทอดศักดิ์นั้น มีความเห็นจาก สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ซึ่งแม้จะแสดงความเห็นคัดค้านกับชุดข้อมูลของเทอดศักดิ์ แต่ก็เห็นว่าการพยายามดำเนินคดีของรองนายกฯ เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
จะเห็นว่าความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา ได้แบ่งคนออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ ในทางความคิด รวมถึงคนตรงกลางอีกจำนวนมาก
หากกลับไปศึกษาพัฒนาการการต่อสู้ทางการเมืองของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้เพื่อต่อต้านการแบ่งแยกสีผิว ในแอฟริกาใต้ สหรัฐ หรือการต่อสู้กับระบบจักรวรรดินิยมในอินเดีย สะท้อนให้เห็นว่าการต่อสู้ทางการเมืองไม่ว่าฝ่ายใดก็ตาม จะคงอยู่ยืนนานได้ นอกจากการเคารพและศรัทธาในเป้าหมายของตนเองแล้ว ก็ควรต้องเคารพในวิธีการในการต่อสู้ที่ถูกต้องด้วย
ความคิดต่างเป็นเรื่องปกติในสังคมมนุษย์ แต่ที่ผ่านมา โลกมักเกิดปัญหา เพราะฝ่ายหนึ่งพยายามทำให้เห็นว่าอีกฝ่ายที่คิดต่างเป็นเรื่องไม่ปกติ หรือต้องทำลายให้หมดสิ้นไป กระทั่งนำไปสู่ปะทะ เป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นตามมาเสมอ
การเมืองปัจจุบัน เราไม่สามารถบอกได้ว่าใครแพ้หรือชนะ เพราะไม่ได้อยู่ในบรรยากาศการแข่งขันปกติ แต่สิ่งที่เราพอจะบอกได้คือใครพูดจริง/ไม่จริง
มีคำพูดสรุปของ อันโตนีโอ กรัมชี นักทฤษฎีการเมืองชาวอิตาลี “To tell the truth is revolutionary” (เขียนใน L “Ordine Nuoi”O, 21 June 1919. หัวข้อบทความชื่อ “Worker”s Democracy” ในหน้า 99)
นั่นคือ “การพูดความจริงเปลี่ยนแปลง/ปฏิวัติ สังคมเสมอ” ดังนั้น ใครพูดไม่จริง นอกจากที่สุดแล้วจะเปลี่ยนสังคมไม่ได้ ก็อาจต้องพ่ายแพ้ไปก่อน
ไม่ว่าจะสังกัดฝ่ายการเมืองใดก็ตาม