อดีต-ปัจจุบันแห่ง “ทหารราชวัลลภ” กับคำสัตย์สัญญารักษาไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพ “ทุกวิถีทาง”

เมื่อเวลา 17.06 น. วันที่ 11 พฤศจิกายน 2559

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปทรงเป็นประธานงานราชวัลลภ ประจำปี 2559 ณ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ฯ ถนนวิภาวดีรังสิต

โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 พล.ต.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ เฝ้าฯ รับเสด็จ

ทรงรับการถวายรายงานตน และถวายสัตย์ปฏิญาณของนายทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ฯ ประกอบด้วยทหารมหาดเล็ก นายทหารสัญญาบัตร, นายทหารประทวน, พลอาสาสมัคร และพลทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ฯ ซึ่งเข้ารับราชการใหม่

การนี้ พระราชทานพระราโชวาท ความว่า

“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ข้าพเจ้ามาปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ในงานวันราชวัลลภประจำปีนี้ ก่อนจะมีเหตุที่ยังความเศร้าโศกอาลัยให้เกิดแก่คนไทยทั้งชาติ คำปฏิญาณที่ท่านได้กล่าวต่อหน้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ท่ามกลางผู้มีเกียรติในที่ประชุมนี้ เป็นคำสัตย์สัญญาที่มีค่าและมีความหมายอันลึกซึ้งหนักแน่น ด้วยเป็นสัจวาจาของชายชาติทหาร ที่แสดงความจงรักภักดีอันแน่วแน่ในพระมหากษัตริย์และในชาติบ้านเมือง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทหารราชวัลลภได้ยึดถือปฏิบัติตามคำสัตย์ปฏิญาณอย่างเคร่งครัด ทั้งหน้าที่ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ที่จะต้องรักษาไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพในทุกวิถีทาง และหน้าที่ต่อชาติบ้านเมืองที่จะต้องปกป้องรักษาไว้ด้วยชีวิต”

“จึงขอให้ทุกคนที่มีโอกาสได้เข้ามาสังกัดในกรมทหารแห่งนี้ ได้สำนึกโดยตระหนักว่า คำสัตย์ปฏิญาณที่ท่านได้กล่าวนั้น เป็นหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติผูกพันไปตลอดชีวิต แล้วตั้งใจให้เที่ยงตรงหนักแน่นที่จะร่วมกันปฏิบัติภารกิจทั้งปวง ให้ถูกต้องและครบถ้วนตามหน้าที่ ด้วยความรักสามัคคี และด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โดยปรารภประโยชน์อันยิ่งใหญ่คือความมั่นคงปลอดภัยของสถาบันทั้งสาม เป็นเป้าหมายสูงสุด ขอพระบารมีแห่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จงคุ้มครองรักษาทหารทุกคน ให้ประสบแต่ความสุข ความสำเร็จ ความสวัสดีมีชัย ในที่ทุกแห่งและในกาลทุกเมื่อจงทั่วกัน”

จากนั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชทานเข็มราชวัลลภ ให้นายทหารชั้นผู้ใหญ่ 36 นาย

ก่อนประทับรถยนต์พระที่นั่งไปยังสนามกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ฯ

ในการนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเปลี่ยนฉลองพระองค์ เป็นเครื่องแบบชุดฝึก เช่นเดียวกับทหารมหาดเล็กราชวัลลภ รักษาพระองค์

สร้างความปลาบปลื้มให้กับเหล่าทหารราชวัลลภอย่างยิ่ง

แล้วทอดพระเนตรการแสดงทางทหารประกอบดนตรีราชวัลลภเริงระบำ (Hop to the bodies slams)

ถือเป็นการผ่อนคลายในการฝึกทหาร ที่แสดงความพร้อมเพรียง สง่างาม เข้มแข็ง รุกรบ ที่ทรงพระราชทาน เป็นแบบธรรมเนียมการฝึก ของทหารมหาดเล็กราชวัลลภ รักษาพระองค์ หรือ Royal Guard

จากกำลังพลทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ฯ, ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ฯ และทหารรักษาพระองค์ฯ จำนวน 9 กองพัน

เมื่อจบการแสดง ได้พระราชทานรางวัลชนะเลิศการแข่งขันการฝึกราชวัลลภเริงระบำ แก่ผู้บังคับการกรมและผู้บังคับกองพัน ร.11 รอ. และ ร.1 พัน 3 รอ. ด้วย

021
การสวนสนามของทหารราชวัลลภ (11 พ.ย. 59)

11 พฤศจิกายน 2559 ถือเป็นวันราชวัลลภ ปีที่ 148 เป็นวันคล้ายวันสถาปนากรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์

จอมพลสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ในขณะทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็ก ได้ทรงชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องวันตั้งกรมไว้ว่า ไม่ปรากฏว่ากรมทหารมหาดเล็กได้เกิดขึ้นเมื่อวันใด เพราะไม่มีหลักฐานที่จะกำหนดได้

ปรากฏแต่ว่าได้มีทหารซึ่งเรียกว่า ทหารมหาดเล็กนั้นขึ้นแต่ปี 2411 ซึ่งเป็นปีเถลิงถวัลยราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นหลักฐานสำหรับจดจำและระลึกถึงวันตั้งกรมทหารมหาดเล็กสืบไปภายหน้า

จึงได้สมมุติให้วันที่ 11 พฤศจิกายน 2411 คือวันบรมราชาภิเษกแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เป็นวันกำเนิดของกรมนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ขณะที่วิกิพีเดียไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ คือ หน่วยทหารที่มีหน้าที่ถวายความปลอดภัยและถวายพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์โดยใกล้ชิด

เฉพาะกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ฯ จะมีชื่อเรียกเฉพาะว่า ทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ เนื่องด้วยเป็นหน่วยที่ถวายการรับใช้ต่อองค์พระมหากษัตริย์อย่างใกล้ชิดที่สุด

(คำว่า “ราชวัลลภ” นี้ แปลได้ว่า ผู้เป็นที่รัก สนิท คุ้นเคยของพระราชา)

09
การสวนสนามของทหารราชวัลลภ (11 พ.ย. 59)

กิจการทหารรักษาพระองค์และทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ เริ่มต้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมบุตรในราชตระกูลและบุตรข้าราชการที่ยังเยาว์วัยมาทดลองฝึกหัดเป็นทหารตามยุทธวิธีแบบใหม่เช่นเดียวกับกรมทหารหน้า ซึ่งในชั้นแรกนั้นมี 12 คน และให้ทำหน้าที่ไล่กาที่บินมารบกวนในเวลาทรงบาตร ตลอดจนตั้งแถวรับเสด็จฯ ณ ที่นั้นทุกเวลาเช้า

มหาดเล็กเหล่านี้เอง (ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า “ทหารมหาดเล็กไล่กา”) คือจุดเริ่มต้นของกิจการทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์

ปลายปี พ.ศ.2411 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมทหารมหาดเล็กข้าหลวงเดิมจำนวน 24 คน ตั้งขึ้นเป็นหน่วยทหารอีกหน่วยหนึ่ง เรียกว่า “ทหารสองโหล ถือปืนชไนเดอร์” มีหน้าที่เฝ้าพระฉากตามเดิมแต่ในตอนเช้าและตอนเย็น ต้องมารับการฝึกทหาร

พ.ศ.2413 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุรศักดิ์มนตรี (แสง ชูโต) จางวางมหาดเล็ก ทำการคัดเลือกบรรดาบุตรในราชตระกูล และบุตรข้าราชการที่เป็นทหารมหาดเล็ก เพื่อจัดตั้งเป็นกองทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ทำหน้าที่รักษาพระองค์อย่างใกล้ชิด และตามเสด็จในเวลาเสด็จประพาสหัวเมือง ในชั้นนี้คัดเลือกไว้ 48 คน เมื่อรวมทหารมหาดเล็ก 2 โหลเดิมด้วยแล้ว จึงมีทหารมหาดเล็กทั้งหมด 72 คน

เมื่อการปฏิบัติหน้าที่กว้างขวางขึ้น จำนวนทหารที่มีอยู่เดิมจึงมีจำนวนไม่เพียงพอที่จะปฏิบัติหน้าที่

จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุรศักดิ์มนตรีคัดเลือกบุคคลเข้ามาเป็นทหารเพิ่มขึ้น

ในการนี้ พระยาสุรศักดิ์มนตรี (แสง ชูโต) ได้นำบุตรชาย คือ นายเจิม ชูโต (ต่อมาคือเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เจิม แสง-ชูโต) เข้าถวายตัวเป็นทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ โดยสมัครเป็นตัวอย่างคนแรก (เนื่องจากสมัยนั้นคนไทยไม่นิยมเป็นทหาร) ทำให้มีจำนวนทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์เพิ่มขึ้นทั้งที่เป็นผู้ใหญ่และที่เป็นเด็ก เพราะทุกคนต่างก็เห็นและรู้สึกเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูลในการที่บุตรหลานของตนได้เข้ารับราชการใกล้ชิดพระมหากษัตริย์

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งหน่วยทหารดังกล่าวขึ้นเป็น กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ และทรงดำรงพระยศเป็นนายพันเอก ตำแหน่งผู้บังคับการกรมด้วยพระองค์เอง

ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบในกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์จนมั่นคงดีขึ้น

และได้ทรงขนานนามหน่วยนี้เสียใหม่ว่า กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ในปี พ.ศ.2414 (ปัจจุบันหน่วยทหารนี้คือ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ฯ)

หน่วยทหารรักษาพระองค์ได้มีวิวัฒนาการต่อมาตามลำดับจากต้นกำเนิดดังกล่าวมาแล้ว ต่อมาจึงมีการก่อตั้งหน่วยทหารรักษาพระองค์ที่เป็นหน่วยรบจากเหล่าต่างๆ เช่น ทหารราบ ทหารม้า ทหารปืนใหญ่ ฯลฯ

ส่วนใหญ่อยู่ในระดับกองพัน และหน่วยบังคับบัญชาของหน่วยนั้นในระดับกรมมักจะตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร เพื่อให้อยู่ใกล้ชิดองค์พระมหากษัตริย์ ได้อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง