เผยแพร่ |
---|
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2545
ชื่อของประเทศไทยได้ถูกบันทึกลงใน “กินเนสส์ บุ๊ก” ในเรื่องของการรวมพลังประชาชนออกกำลังกายได้สูงสุดถึง 46,824 คน และใช้เวลาออกกำลังกายนานที่สุดถึง 61 นาที ทำลายสถิติโลก ในงานมหกรรมรวมพลังสร้างสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ณ ท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร
มหกรรมซึ่งนำไปสู่การทำลายสถิติครั้งนั้น มีเจตนารมณ์เพื่อเชิญชวนประชาชนออกกำลังกายร่วมกันเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสร้างสถิติใหม่ในการออกกำลังกายพร้อมกันมากที่สุดในโลก โดยมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) เป็นประธานนำการออกกำลังกายที่ท้องสนามหลวง ขณะที่ในต่างจังหวัดได้จัดพื้นที่หน้าศาลากลาง หรือสวนสาธารณะของจังหวัดเป็นที่รวมตัวเพื่อออกกำลังกายพร้อมกัน
การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพด้วยการเต้นแอโรบิก ได้เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 16.25 น. หลังจากที่เต้นไปได้ 20 นาที พ.ต.ท.ทักษิณ ได้กล่าวบนเวทีว่า “ขณะนี้ประเทศไทยได้ทำลายสถิติโลกแล้ว โดยมีผู้มาร่วมเต้นทั้งสิ้น 46,824 คน ซึ่งกินเนสส์ บุ๊ก ได้บันทึกไว้แล้ว” จากนั้นเวลา 16.50 น. พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ลงนามบันทึกสถิติโลกในกินเนสส์ บุ๊ก และทำลายสถิติโลกได้เสร็จสิ้นเมื่อเวลา 17.26 น. รวมเวลา 1 ชั่วโมง 1 นาที ขณะที่สถิติโลกเดิมทำเวลาไว้ 1 ชั่วโมง
สำหรับท่าการออกกำลังกายที่ใช้ในการบันทึกลงในกินเนสส์ บุ๊ก ได้ใช้ท่า ชกมวย การต่อย คาราเต้ และจี้กง ประกอบเพลงกราวกีฬา โดยสถิติที่ถูกบันทึกในกินเนสส์ บุ๊ก เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2541 คือประเทศเม็กซิโก ซึ่งเคยทำสถิติไว้เพียง 38,663 คน แต่สำหรับในประเทศไทยครั้งนี้ เฉพาะที่ท้องสนามหลวง นับจำนวนผู้เข้าร่วมได้ 46,824 คน
ทั้งนี้ จากการประเมินผลการจัดงานมหกรรมรวมพลังสร้างสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2546 ที่ท้องสนามหลวง กรุงเทพฯ พบว่าประชาชนที่มาร่วมงานร้อยละ 81.8 มีภูมิลำเนาในกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 90.5 สนใจมาร่วมงานเอง ร้อยละ 92.7 ออกกำลังกายเป็นประจำ ร้อยละ 74.3 คิดว่าสามารถนำข้อมูลที่ได้รับไปใช้ปฏิบัติในการดูแลสุขภาพได้มาก ร้อยละ 87.6 คิดว่าการจัดงานเช่นนี้จะทำให้ประชาชนมีการออกกำลังกายเพิ่มมากขึ้น และร้อยละ 83.9 คิดว่าการจัดงานมีผลต่อการตัดสินใจเข้าร่วมชมรมสร้างสุขภาพ
ความสำเร็จอย่างเกินความคาดหมายดังกล่าวข้างต้น กระทรวงสาธารณสุขจะได้ถือโอกาสขยายผลโดยตั้งเป้าหมายที่จะให้ปี 2547 มีผู้ออกกำลังกายทั้งสิ้น 33 ล้านคน รวมทั้งขยายงานสร้างสุขภาพตามนโยบายและนายกรัฐมนตรี ในด้านอาหารปลอดภัย มีคุณค่า และการส่งเสริมสุขภาพด้านอารมณ์ โดยมีชมรมสร้างสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้น และประชาชนที่มาร่วมออกกำลังกายทั่วประเทศครั้งนี้ เป็นฐานในการดำเนินงานต่อไป รวมทั้งที่สำคัญส่งผลให้ประเทศไทยได้รับเกียรติจากองค์การอนามัยโลกคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมส่งเสริมสุขภาพแห่งโลก ครั้งที่ 6 ที่กรุงเทพมหานคร ในปี 2548 ด้วย