หน้า 8 : ไม่เปลี่ยน

จากวันแรกที่เป็น “นายกรัฐมนตรี” จนถึงวันนี้

แนวคิดเรื่องการแก้ปัญหาราคาข้าวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยังคงเหมือนเดิม

คือ ต้องแก้ปัญหาระยะยาว

แก้ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง

ไม่ใช่แก้ปัญหาปลายทางด้วยการซื้อข้าวจากชาวนาในราคาสูงกว่าตลาด

ไม่แปลก ที่รัฐบาลชุดนี้จะโจมตีนโยบายการจำนำข้าวของรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อย่างรุนแรง

และเล่นงานทุกรูปแบบ จนถึงขั้นยึดทรัพย์เพื่อให้รับผิดชอบต่อการขาดทุน

แต่เมื่อราคาข้าวปีนี้ตกต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์

พล.อ.ประยุทธ์ ก็จำเป็นต้องใช้วิธีการที่เขาปฏิเสธมาตลอด

นั่นคือ การแก้ปัญหาที่ “ปลายทาง”

แต่เลี่ยงบาลีด้วยการไม่ “จำนำข้าว”

แต่ “จำนำยุ้งฉาง”

 

มีคนบอกว่ารัฐบาลชุดนี้แก้ปัญหาแบบ “นักบัญชี”

ฝัง “ตัวเลข” การอุดหนุนชาวนาในรูปแบบอื่น

อย่างเช่น “ข้าวปทุมธานี”

แทนที่จะจ่ายเงินให้ชาวนาเป็น “ราคาข้าว” 11,300 บาท

เขาเปลี่ยนเป็นให้สินเชื่อจำนำยุ้งฉางตันละ 7,800 บาท

เงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพ ไม่เกิน 10 ไร่ คิดเป็นตันละ 2,000 บาท

ค่าเตรียมข้าวขึ้นยุ้งฉางและค่าฝากเก็บ 1,500 บาท

ถ้าชาวนาไม่มาเอาข้าวจากยุ้งฉาง ในบัญชีจะบันทึกเป็นต้นทุนการซื้อข้าวเพียง 7,800 บาท

อีก 3,500 บาทไม่ถือว่าเป็น “ต้นทุน”

ดังนั้น ถ้าขายได้ตันละ 8,000 บาท ก็ถือว่า “กำไร”

ทั้งที่รัฐควักกระเป๋าให้ชาวนา 11,300 บาท

จริงๆ คือ “ขาดทุน”

แต่ในทางบัญชีถือว่า “กำไร”

ไม่เหมือนกับรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” ที่เล่นแบบเปิดเผย จำนำข้าว 15,000 บาท

ต้นทุนในบัญชีจึงเป็น 15,000 บาท

ขายต่ำกว่านั้น

…ขาดทุน

ต้อง “ยึดทรัพย์”

 

ทุกครั้งที่พูดถึงการซื้อข้าวจากชาวนา พล.อ.ประยุทธ์ จะออกตัวทุกครั้งว่ารัฐบาลไม่มีเงิน

แต่เมื่อหันกลับไปดูงบประมาณปี 2560 ของรัฐบาล

ปรากฏว่างบประมาณของกระทรวงกลาโหมมากกว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กว่า 1 เท่าตัว

และเมื่อย้อนกลับไปดูงบประมาณของกระทรวงกลาโหมในอดีต

จะพบว่าหลังการรัฐประหารปี 2549 ตัวเลขพุ่งสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด

ปี 2549 งบฯ ของกระทรวงกลาโหม อยู่ที่ 85,000 ล้านบาท

แต่ปี 2560 พุ่งขึ้นเป็น 214,000 ล้านบาท

สูงขึ้นประมาณ 130,000 ล้านบาท

ตถตา…

…มันเป็นเช่นนั้นเอง