เรียนอย่างไร? ได้ “2 ปริญญา” “นิติฯ จุฬาฯ-ช่างกลปทุมวัน” เรื่องจริงของบัณฑิตหญิงแกร่ง (แถมยังคว้าเกียรตินิยม)

“ภูรินุช บัญชาจารุรัตน์” บัณฑิตสาว “2 ปริญญา” “นิติฯ จุฬาฯ-ช่างกลปทุมวัน”

คํากล่าว “ท้อเป็นถ่าน ผ่านเป็นเพชร” ที่หมายถึงการต่อสู้กับอุปสรรคจนประสบความสำเร็จและมีคุณค่าดั่งเพชร ดูจะเหมาะสมกับการฝ่าฟันอุปสรรคในวัยเรียนของ “ภูรินุช บัญชาจารุรัตน์” หญิงสาวอายุ 22 ปี ที่มีปัญหาในวัยเรียนตั้งแต่ชั้นประถม ก่อนประสบความสำเร็จบนเส้นทางการศึกษา ด้วยการคว้าปริญญาตรีสองใบ

ภูรินุชเลือกเรียนมหาวิทยาลัยพร้อมกัน 2 สถาบัน และเข้าเรียน 7 วันต่อสัปดาห์

ก่อนจบการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเกรดเฉลี่ย 3.47 พ่วงดีกรีเกียรตินิยมอันดับสอง

และคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ด้วยเกรดเฉลี่ย 3.61

กว่าจะสำเร็จการศึกษาสองปริญญา ภูรินุชเล่าว่า ตนเองได้ผ่านอุปสรรคต่างๆ มามากมาย เนื่องจากชีวิตในวัยเยาว์เป็นเด็กเรียนไม่เก่ง โดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษที่มีปัญหาจนรู้สึกกลัวมัน ทำให้ถูกเพื่อนๆ ในห้องรุมแกล้งเป็นประจำ กระทั่งท้อแท้ ก่อนจะตั้งสติได้ และฮึดสู้โดยเผชิญหน้ากับความกลัว

“คำว่า Duck ที่แปลว่าเป็ด ยังไม่รู้เลยว่ามันแปลว่าเป็ด และไม่รู้ว่า I ต้องใช้กับ am หรือ You ต้องใช้กับ are จนวันหนึ่งคุณครูเรียกให้ตอบคำถามในห้องเรียน เพื่อนๆ ในห้องก็กระซิบบอกคำตอบ แต่เป็นคำตอบที่ผิด เมื่อเราตอบไป แล้วเพื่อนๆ ก็หัวเราะกันทั้งห้อง”

ภูรินุชบอกว่า ความรู้สึกที่โดนกลั่นแกล้งในตอนนั้นทำให้เกิดความอับอาย และทุกครั้งที่ถูกแกล้งก็จะกลับมาร้องไห้ที่บ้าน แต่มีอยู่วันหนึ่งก็คิดขึ้นมาได้ว่าจะไม่ยอมถูกแกล้งแบบนี้อีกแล้ว จะต้องพัฒนาตัวเองให้ได้ นับตั้งแต่วันนั้น ภูรินุชจึงขอให้คุณพ่อช่วยสอนพิเศษภาษาอังกฤษให้ทุกวัน โดยเริ่มจากสอนการบ้าน ก่อนสอนคำศัพท์ต่างๆ ทำซ้ำแบบนี้ทุกวันจนการเรียนเริ่มดีขึ้น

แต่ก็ยังไม่ดีพอ

จุดพลิกผันอีกหนึ่งครั้งคือในช่วงเรียนมัธยมศึกษา ที่ภูรินุชต้องเปลี่ยนโรงเรียน นั่นทำให้เธอรู้ว่าความพยายามที่ทุ่มเทเรียนพิเศษทั้งภาษาอังกฤษและวิชาต่างๆ ตลอดมานั้นยังไม่ดีพอ

ภูรินุชบอกว่า เมื่อย้ายมาโรงเรียนใหม่ เป็นการเรียนในโปรแกรมภาษาอังกฤษ วิชาส่วนใหญ่จะสอนเป็นภาษาอังกฤษ อาจารย์ก็มาจากต่างประเทศ แต่ไม่ว่าอาจารย์จะสอนอย่างไร ตนก็ยังไม่เข้าใจสักที

“มีอยู่วันหนึ่ง อาจารย์เรียกเราว่า idiot ซึ่งมันคล้ายกับคำว่า stupid แต่เป็นคำที่รุนแรงกว่า เราตอบอาจารย์กลับไปว่า Thank you so much. เพื่อนๆ ในห้องเงียบกริบ เราก็ไม่ได้กวนอาจารย์ แต่ที่เราตอบไปแบบนั้นก็เพราะว่าเราแปลไม่ออก มันทำให้เราต้องพัฒนาตัวเองให้มากขึ้นอีก”

ภูรินุชเลือกจะพัฒนาตัวเองด้วยการเริ่มหันไปใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันมากขึ้น ดูหนัง ฟังเพลง ทุกอย่างเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด และพูดกับตัวเองเสมอว่ามันเป็นจุดอ่อนในตัวเรา เราจะต้องพัฒนาจุดอ่อนให้เป็นจุดแข็งให้ได้

หากทำได้ นอกจากจุดอ่อนจะลดลงแล้ว จุดแข็งในตัวเองยังเพิ่มขึ้นอีก

ตั้งแต่นั้นสาวน้อยผู้นี้จึงกลายเป็นคนที่ตั้งใจเรียนรู้มากขึ้น และอยากที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ อยู่ตลอดเวลา

เมื่อเข้าสู่มหาวิทยาลัย เธอจึงเลือกเรียนสิ่งที่ชอบพร้อมๆ กันในสองมหาวิทยาลัย ซึ่งมีภาพลักษณ์ต่างกันสุดขั้ว

ภูรินุชเล่าว่า สาเหตุที่เลือกเรียนนิติศาสตร์ เนื่องจากส่วนตัวรู้สึกว่ากฎหมายเป็นรากฐานของสังคม เปรียบเสมือนหลังคาที่ครอบคลุมทุกๆ คนอยู่ ถือเป็นเกราะที่ดีที่สุดที่จะมีไว้ปกป้องตัวเราเอง รวมไปถึงบุคคลอื่นๆ และสังคมด้วย

โดยช่วงสอบเข้ามหาวิทยาลัย เธอสอบติดคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นิติศาสตร์ (อินเตอร์) ธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา

แต่การไปเรียนต่อต่างประเทศตอนนั้นต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก จึงเลือกเรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแทน

ส่วนสาเหตุที่ภูรินุชเลือกเข้าศึกษาในสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน หรือที่หลายคนเรียกติดปากว่า “ช่างกลปทุมวัน” ไปพร้อมกันนั้น

เนื่องจากตลอดเวลาของการใช้ชีวิตวัยรุ่น เธอได้เห็นข่าวสารต่างๆ มากมายว่าสถาบันแห่งนี้มีเหตุทะเลาะวิวาทตีกันกับสถาบันช่างกลอื่นๆ บ่อยมาก ทำให้รู้สึกสงสัยว่าพวกเขาทำไปเพื่ออะไร?

ประกอบกับอยากจะรู้ว่า “ระบบช่าง” มันเป็นอย่างไร? ภูรินุชจึงขอเอาตัวเองเข้าไปมี “ประสบการณ์ร่วม” ในรั้วสถาบันแห่งนี้สักครั้ง

โดยเลือกเรียนคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้ตัวเองรู้ทันโลกปัจจุบันที่ถูกขับเคลื่อนไปด้วยเทคโนโลยีต่างๆ

การเรียนการสอนในทั้ง 2 สถาบันมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ภูรินุชอธิบายว่า การเรียนที่จุฬาฯ ไม่มีปัญหา แต่การเรียนที่เทคโนโลยีปทุมวัน ถือเป็น “โลกใบใหม่” ของชีวิตเลยทีเดียว

เนื่องจากค่านิยมของที่นี่จะเป็น “ระบบอุปถัมภ์” ต้อง “เคารพพี่ รักเพื่อน ดูแลน้อง” และไม่ได้มีแต่ด้านที่ “โหดร้าย” แต่มี “ด้านที่ดี” อยู่มาก จนทำให้รู้สึกประทับใจ เปรียบเสมือนเหรียญที่มีสองด้านเสมอ

ยกตัวอย่างการให้เกียรติผู้หญิง เพื่อนและรุ่นพี่ผู้ชายทุกคนในเทคโนโลยีปทุมวันจะให้เกียรติและดูแลเพื่อนผู้หญิงเป็นอย่างดี ห้ามมีเรื่องชู้สาวเด็ดขาด

รวมถึงเวลากลับบ้าน เพื่อนผู้ชายจะต้องไปส่งผู้หญิงก่อนเสมอ

ส่วนการรับน้องก็เหมือน “ระบบทหาร” ที่มีการวิดพื้น ลุกนั่ง และนักศึกษามีสิทธิเลือกได้ว่าจะร่วมรับน้องหรือไม่รับน้อง ไม่มีการบังคับ

เมื่อเลือกเข้าศึกษา 2 สถาบันพร้อมกัน ทำให้ภูรินุชต้องเรียนหนังสือตลอด 7 วัน โดยเรียนที่จุฬาฯ 5 วัน และเรียนที่เทคโนโลยีปทุมวันวันเสาร์-อาทิตย์

สาวน้อยสองมหาวิทยาลัยจึงต้องเผชิญหน้ากับปัญหาสำคัญเรื่อง “เวลา” เธอพยายามจัดสรรตารางเวลาชีวิตให้ลงตัว และปฏิบัติตามตารางที่วางเอาไว้อย่างเคร่งครัด จนผ่านภาวะ “เรียนหนักตลอดสัปดาห์” มาได้

นอกจากการเรียน 7 วัน ภูรินุชยังร่วมกิจกรรมเพื่อสังคมอีกมากมาย เช่น การเป็นตัวแทนเยาวชนไปพูดคุยถึงปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนร่วมกับองค์กรของทางยุโรป เป็นคณะทำงานของสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย และยังเป็นอาสาสมัครขององค์กรต่างๆ อีกหลายแห่ง

สิ่งเหล่านี้ทำให้เธอรู้สึกว่าตัวเองใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า และไม่ได้ทำให้ช่วงชีวิตวัยรุ่นขาดหายไป

ในฐานะรุ่นพี่ ภูรินุชฝากไปถึงนักเรียน นักศึกษา หรือน้องๆ ที่กำลังท้อแท้กับการเรียนว่า ขอให้รู้ใจตัวเองว่าต้องการอะไร จากนั้นควรตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน ก่อนกำหนดวิธีการที่เหมาะสม เพื่อก้าวไปให้ถึงเป้าหมาย

และทั้งหมดนี้ แม้จะมีความคิดดีๆ แค่ไหน แต่ขอให้ตระหนักว่า ถ้าไม่ลงมือทำ ก็ไม่มีทางประสบความสำเร็จ เพราะโอกาสที่ผ่านเข้ามาในชีวิต อาจมีแค่ครั้งเดียว

นอกจากนี้ ภูรินุชเชื่อว่าที่ตัวเองสามารถประสบความสำเร็จบนเส้นทางการศึกษาได้ เนื่องจาก “กำลังใจ” และ “คำแนะนำดีๆ” จากครอบครัว เพื่อน และรุ่นพี่

ดังนั้น ส่วนตัวมีความเห็นว่า หากเลือกปฏิรูปการศึกษาได้ 1 ด้าน จะขอปฏิรูปด้าน “ครูแนะแนว” เป็นสิ่งแรก เนื่องจากเห็นว่าการแนะแนวเด็กๆ ในชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษายังมีความสำคัญอยู่ เปรียบเสมือนเข็มทิศที่จะชี้ทางให้กับเด็กๆ หรือคลังกูเกิลที่เด็กๆ จะเข้าไปขอคำปรึกษาถึงการวางแผนอนาคต

หากได้ข้อมูลตรงจากคนที่มีประสบการณ์มาก่อนก็คงจะดีไม่น้อย พวกเขาจะได้รู้ว่าควรก้าวไปทางไหนและจะก้าวไปอย่างไร เช่นเดียวกับตัวเองที่มีบุคคลรอบตัวคอยแนะนำ ทำให้ประสบความสำเร็จในทุกวันนี้

สำหรับเป้าหมายในอนาคต ภูรินุชจะต้องทำงานใช้ทุนการศึกษาที่ได้รับในช่วงการเรียนปริญญาตรี โดยเข้ารับราชการที่กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม เป็นเวลา 2 ปี ก่อนไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท โดยคาดว่าอาจเป็นที่สหรัฐอเมริกา ตามความฝันสมัยจบมัธยม

หลังจากนั้น เธอยืนยันหนักแน่นว่าจะกลับมารับราชการที่ประเทศไทยต่อ เพื่อให้ความรู้ที่ตนเองมี ส่งผลประโยชน์ไปในวงกว้างถึงประชาชนและสังคม