“ในหลวง รัชกาลที่9″ชาวเอเชียคนแรกที่เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสถาบันดนตรีระดับโลก

หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 ธันวาคม 2548

“…เล่นดนตรีเพื่อให้เป็นศิลปะที่ดีให้เป็นที่นิยมของประชาชน และเพื่อให้ประชาชนได้มีความบันเทิง ให้ประชาชนได้รู้จักว่าดนตรีคืออะไร…”

พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่ชาวคณะสุนทราภรณ์  เนื่องในวาระครบ 30 ปี สุนทราภรณ์ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2512
(พิมพ์ในหนังสืออนุสรณ์ในการเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพ นายเอื้อ สุนทรสนาน, 2525 : 95)

งานช่างของในหลวงบทที่น่าจะแสดงถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ขจรขจายไปสู่การรับรู้ระดับโลก คือบทที่ 3 ว่าด้วยดนตรี

บทนี้บันทึกไว้ว่า ตลอดระยะเวลา 50 ปี ที่ทรงครองสิริราชสมบัติ เพลงพระราชนิพนธ์ที่ขับกล่อมปวงชนชาวไทยได้ยังความปลื้มปีติและความภาคภูมิใจตลอดมากับทั้งยังอาจกล่าวได้ว่า ดนตรีเป็นศิลปะเพียงแขนงเดียวที่ชาวไทยทุกเพศทุกวัยสามารถรับรู้และสัมผัสได้อย่างรวดเร็วที่สุด

พระราชกรณียกิจอันเกี่ยวเนื่องกับการดนตรีปรากฏในหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการทรงดนตรี การทรงพระราชนิพนธ์เพลง วันทรงดนตรี วงดนตรีส่วนพระองค์ เป็นเรื่องที่น่าสนใจทั้งสิ้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาดนตรีมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ 13 พรรษา ขณะประทับอยู่ที่ตำหนักวิลลาวัฒนา เมืองโลซานน์ ทรงเริ่มศึกษาดนตรีโดยทรงขอเรียนหีบเพลงชัก (accordion) แต่เป็นช่วงสั้นๆ ทรงได้ไม่นานก็ทรงเลิก

7-king-1

ช่วงที่ทรงศึกษาอย่างจริงจัง คือเมื่อพระชนมายุ 14-15 พรรษา ขณะประทับที่อาโรซา ในฤดูหนาว ได้ทอดพระเนตรดนตรีวงใหญ่ที่แสดงอยู่ในโรงแรม จึงทรงซื้อแซ็กโซโฟนอันเป็นของที่ใช้แล้วในราคา 300 ฟรังก์ แล้วทรงเริ่มศึกษาดนตรีจากครูชาวอัลซาส สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที เป็นเวลา 1 ปี แล้วเปลี่ยนเป็นสัปดาห์ละ 1 ครั้ง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องดนตรีได้ทุกชนิด แต่ที่โปรดมากคือ แซ็กโซโฟน แคลริเนต และ ทรัมเป็ต แนวทางที่ทรงศึกษาประกอบด้วยดนตรีจากตำราด้วยพระองค์เอง แล้วจึงทรงฟังดนตรีจากแผ่นเสียงเพื่อทรงศึกษาเปรียบเทียบกับบทวิจารณ์ในหนังสือด้วย

สำหรับวงดนตรีส่วนพระองค์ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทร่วมเล่นดนตรี มี 3 วง คือ วงลายคราม จัดตั้งขึ้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินนิวัติพระนครเป็นการถาวร ปี 2493 และได้ประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

ต่อมาปี 2495 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงอัมพรสถาน (อ.ส.) ขึ้นภายในพระราชวังดุสิต (ต่อมาได้ย้ายไปอยู่ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน) เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการให้สาระและการบันเทิงแก่ประชาชน มีวงดนตรีหลายวงคือวงลายคราม วงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วงสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปร่วมบรรเลงส่งกระจายเสียงด้วย วงลายครามมีนักดนตรีสมัครเล่นไปร่วมสมทบมากมายจึงรวมตัวกันจัดตั้งวงดนตรีใหม่ คือ วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ โดยบรรเลงออกอากาศทุกเย็นวันศุกร์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดิมของวงลายคราม

ช่วงต้นปี 2529 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประชวรและประทับรับการถวายพระอภิบาลที่เชียงใหม่ เมื่อทรงหายประชวร ทรงเห็นว่านายแพทย์ทั้งหลายที่เข้ามาถวายพระอภิบาล และองครักษ์ที่มาเข้าเวรและตามเสด็จฯ อยู่เป็นประจำ น่าจะได้เล่นดนตรีโดยพระองค์ทรงสอนให้ จึงให้ไปซื้อเครื่องดนตรีมาคนละชิ้น แล้วพระราชทานนามวงดนตรีนี้ว่า สหายพัฒนา

ในส่วนที่ทรงมีความสัมพันธ์กับสถาบันการศึกษา และนิสิตนักศึกษาตลอดจนคณาจารย์อย่างที่นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯ คือการเสด็จฯ ไปทรงดนตรี ณ มหาวิทยาลัยหลายแห่ง ระหว่าง พ.ศ.2500-2516 มีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรก มูลเหตุเริ่มจากอาจารย์และนิสิตประมาณ 4,000 คน ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายพระพรในโอกาสที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ ทรงประสูติในวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตในปีนั้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาจารย์และนิสิตเข้าเฝ้าฯ ในวันที่ 6 กันยายน 2500 ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร ซึ่งในวันนั้นวงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ จะออกอากาศทางสถานีวิทยุ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณาจารย์และนิสิตอยู่ฟังดนตรี และในวันนั้นนิสิตได้บริจาคเงินโดยเสด็จพระราชกุศลสมทบทุนอานันทมหิดล

หลังจากปีนั้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็กราบบังคมทูลเชิญมาทรงดนตรีเป็นประจำทุกปี โดยเปลี่ยนสถานที่ทรงดนตรีเป็นหอประชุมจุฬาฯ ต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ไปทรงดนตรีกับมหาวิทยาลัยอื่น ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ)

ใช่แต่เพียงการทรงดนตรีเป็นที่ประจักษ์แก่เหล่าพสกนิกรเท่านั้น ในปี 2503 เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกา ขณะเสวยพระกระยาหารค่ำ ณ วอชิงตันเพลส เมื่อเจ้าภาพได้ทราบว่า ทรงมีพระปรีชาสามารถพิเศษด้านดนตรี จึงกราบบังคมทูลทรงเสด็จฯ ให้ทรงดนตรีร่วมกับวงดนตรีที่จัดมาแสดงถวายหน้าพระที่นั่ง ซึ่งได้ทรงแคลริเนตพระราชทาน 2 เพลง คราวเดียวกันเมื่อเสด็จพระราชดำเนินต่อไปยังนครนิวยอร์ก ได้ทรงดนตรีร่วมกับวงดนตรีของ นายเบนนี กูดแมน นักดนตรีแจสฝีมือเยี่ยมระดับโลกอีกด้วย

maxresdefault

ครั้งที่สำคัญ คือเมื่อปี 2507 คราวเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐออสเตรียอย่างเป็นทางการ มีการแสดงดนตรี ณ คอนเสิร์ตฮอลล์ กรุงเวียนนา เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม นั้น วงดุริยางค์ซิมโฟนี ออเคสตรา แห่งกรุงเวียนนา ได้อัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์ชุด “มโนห์รา” “สายฝน” “ยามเย็น” “มาร์ชราชนาวิกโยธิน” และ “มาร์ชราชวัลลภ” ไปบรรเลง รัฐบาลออสเตรียออกอากาศการบรรเลงและข่าวนี้ทางวิทยุไปทั่วประเทศ

ต่อมาวันที่ 5 ตุลาคม 2507 สถาบันดนตรีและศิลปะแห่งกรุงเวียนนา (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยการดนตรีและศิลปะการแสดงแห่งกรุงเวียนนา) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายประกาศนียบัตรอันทรงเกียรติยิ่งแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ทรงดำรงตำแหน่งสมาชิกกิตติมศักดิ์ หมายเลข 23 และได้จารึกพระปรมาภิไธยบนแผ่นหินสลักในอาคารสถาบัน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นชาวเอเชียบุคคลแรกที่เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสถาบันดนตรีที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ขณะทรงพระชนมายุเพียง 37 พรรษาเท่านั้น

ในหลวง

cfna02-p0004211-00 cfna02-p0004210-00