“พระบรมราชชนก“ ต้นแบบความ “พอเพียง“ นายร้อยโทผู้รับพระราชทานเงินเดือนเพียง 130 บาท

หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 มกราคม 2551 ขอบคุณภาพประกอบจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

ความจริงแล้วพระราชจริยวัตรอันงดงาม และสมถะ ของทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ นั้นล้วนถูกหล่อหลอมมาจากสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทั้งสิ้น

ไม่ว่าจะเป็นการที่ทรงตั้งพระทัยที่จะเป็น “ครู” และการปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ที่อุทิศให้เกิดความผาสุกแก่ปวงชนชาวไทย

แม้กระทั่งการดำเนินชีวิตส่วนพระองค์ ล้วนเป็นไปด้วยความ “เรียบง่าย”

แม้กระทั่งคำว่าระบบ “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่ยิ่งใหญ่ในวงวิชาเศรษฐศาสตร์ ล้วนแตกหน่อก่อเกิดมาจากการอบรมเลี้ยงดูของ “พระบรมราชชนก” กับ “พระบรมราชชนนี”

cfna02-p0003298-00

ภาพการเสด็จประทับในชนบทกันดารและสถานที่ประทับในเขตอุทยานแห่งชาติแทบจะทั่วประเทศ ของ สมเด็จพระพี่นาง เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อย่างไม่ถือพระองค์ นั้นเป็นไปตามธรรมชาติ ที่ทรง “เรียนรู้” จาก “พระบรมราชชนนี”

“แม่เล่าให้ฟัง” ที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงประพันธ์ไว้อย่างรักใคร่ในพระบรมราชชนนีนั้น ยังแสดงถึงความ “สมถะ” ในทุกด้าน

ทรงเล่าไว้ว่า…

“เมื่อแม่เป็นเด็กอยู่ที่บ้านฝั่งธนบุรี เวลาต้องแต่งตัวเรียบร้อยคือเมื่อไปวัดอนงค์หรือไปบ้านพ่อชู แม่จะนุ่งผ้าโจงกระเบน แต่เวลาอยู่บ้านบางครั้งก็จะนุ่งกางเกงขาก๊วย ซึ่งเป็นกางเกงผ้าธรรมดาๆ ขาสามส่วน เมื่อไปโรงเรียนแล้วก็นุ่งผ้าโจงกระเบน”

แม้กระทั่งการเสด็จพระราชดำเนิน ไปในต่างประเทศ “พระบรมราชชนนี” ยังคงเป็นผู้ที่เรียบง่ายไม่เปลี่ยนแปลง

“เมื่อไปสหรัฐถึงแม้ว่าจะได้ตัดเสื้อแบบสากลแล้วหลายชุด แม่และแม่อุบลก็ยังต้องนุ่งผ้าโจงกระเบนตลอดเวลาที่เดินทาง เมื่อถึงสหรัฐแล้วจึงได้แต่งเสื้อกระโปรง” สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงบันทึก

พระจริยวัตร ที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงปฏิบัตินั้นเล่า ก็สอดคล้องคล้ายคลึงกับ “พระบรมราชชนก” อย่างยิ่ง ไม่ว่าการที่ทรงเป็น “ครู” และการเป็นองค์อุปถัมภ์นักเรียนให้ได้รับโอกาสทางการศึกษา

cfna02-p0011242-58

โดยพระบรมราชชนก ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ ทรงช่วยเหลือบุคคลต่างๆ ให้ได้รับการศึกษา อาทิ นายประสบ สุขุม (พระพิศาลสุขุมวิท) และ นายประดิษฐ์ สุขุม (หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์) ซึ่งเป็นบุตรของเจ้าพระยายมราช

แม้กระทั่งการ “รับราชการ” ของพระบรมราชชนก ก็ยังทรงเป็นไปอย่าง “ธรรมดา”

โดยเมื่อพระบรมราชชนก เสด็จกลับประเทศไทยในปี 2460 ท่านทรงเข้ารับราชการในราชนาวีไทย ได้รับยศเป็น “นายร้อยโท” รับพระราชทานเงินเดือนเพียง 130 บาท โดยทรงวางพระองค์เป็น “ทหารเรือธรรมดาผู้หนึ่ง” และมีพระประสงค์ที่จะให้ทุกคนลืมว่า ฐานันดรศักดิ์ของพระองค์คือ “เจ้าฟ้า”

มีตัวอย่างเล่าว่า ตามประเพณีของทหารเรือ ณ ที่หน้ากระทรวงทหารเรือนั้น หากมีพระราชวงศ์เสด็จ ทหารรักษาการณ์ จะต้องตั้งแถวถวายความเคารพ แต่สำหรับ “พระบรมราชชนก” แล้ว พระองค์ท่านให้เว้นการกระทำนั้นแก่พระองค์

และเมื่อถึงคราวต้องฝึกภาคปฏิบัติ พระองค์จะไม่ยอมขอสิทธิใดๆ ในฐานะ “เจ้าฟ้า” แต่ทรงขอเพียงสิทธิที่ทหารเรือพึงจะได้เท่านั้น จึงทรงเป็น “เจ้าฟ้า” อันเป็นที่รักและเคารพแก่ทหารเรืออย่างยิ่ง

แม้กระทั่งงานพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ก็ทรงจัดขึ้นอย่าง “เรียบง่าย” ที่วังสระปทุม โดยมีพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปเป็นองค์ประธาน

ในการนี้ทรงโปรดให้มีการพระราชทานเลี้ยงน้ำชาแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาทที่เสด็จไปร่วมในพระราชพิธีด้วย

จากนั้นอีก 8 วัน เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ได้ขอพระราชทานจัดเลี้ยงฉลองพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสอีกครั้ง ซึ่งได้จัดขึ้นอย่างเรียบง่ายเช่นกัน ณ ที่บ้านศาลาแดง ของเจ้าพระยายมราช (ปัจจุบันคือ โรงแรมดุสิตธานี)

งานเลี้ยงเมื่อ 98 ปีก่อนนั้น มีอาหารคาวหวานตามสมควร อาทิ หูฉลามน้ำแดง, หมูหัน, หน่อไม้ผัดปูทะเล, แฮ่กึ๊น, นกผัดเปรี้ยวหวาน, เกยยังก๊กเซี่ยงบี้, ผัดหอยนางรมใส่ไข่ ผัดใบคะน้า และ รังนก ไอศครีม ผลไม้

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงเขียนบันทึกเรื่องนี้ไว้ว่า “ทูลกระหม่อมอาแดงทรงเสกสมรสกับหม่อสังวาลย์ ทำกันค่อนข้างเงียบมากที่วังสระปทุม ทูลกระหม่อมลุงเสด็จพระราชดำเนิน มีข้าราชการสำนักมาด้วยมากมาย แต่ไม่มีเจ้านายอื่นๆ เลย”

สำหรับการใช้ชีวิตในต่างประเทศเมื่อร้อยปีที่แล้ว “พระบรมราชชนก” ในฐานะ “พระราชโอรส” ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ยังทรงใช้ชีวิตอย่าง “พอเพียง”

“ทูลกระหม่อมอาแดงนั้น ทรงเป็นเจ้าฟ้าที่ร่ำรวยมั่งคั่งมากที่สุดพระองค์หนึ่ง ในบรรดาเจ้าฟ้าด้วยกัน แต่ท่านทรงระมัดระวังกระเหม็ดกระแหม่ในการใช้จ่ายเป็นที่สุด แทนที่จะเสด็จไปประทับโฮเต็ลชั้นเอก กลับประทับโฮเต็ลที่ซอมซ่อที่สุดอยู่ใกล้ๆ สถานทูต อันเป็นทำเลที่ไม่หรูหราเสียเลยในกรุงลอนดอน” พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ในฐานะ “หลานอา” ทรงบันทึกไว้

และพระราชจริยวัตรอันสมถะ ทั้งของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่มีพระราชประสงค์จะช่วยเหลือให้ประชาชนผู้ทุกข์ยากนั้น ล้วนเป็นการเจริญรอยตาม “พระบรมราชชนก” โดยแท้

ดังที่พระองค์เจ้าหลายพระองค์ ต่างบันทึกไว้สอดคล้องกันว่า พระบรมราชชนกนั้น “ท่านต้องการจะเก็บรายได้ของท่านไว้เป็นส่วนมากเพื่อทำการกุศลอย่างมากมาย ด้วยเหตุนี้ผู้ซึ่งรู้จักทูลกระหม่อมอาแดงดี จึงรักใคร่นับถือบูชาท่านอย่างดูดดื่ม”

ทั้งการดำรงพระชนม์ชีพอย่าง “สมถะ” และ “การให้” แก่พสกนิกรไทยอย่างไม่มีที่สิ้นสุดนั้น จึงควรอย่างยิ่งแล้ว ที่ประชาชนทั่วทั้งแผ่นดิน จะไว้อาลัย และ “เสียสละ” เพื่อการกุศล เพื่อปฏิบัติบูชา แด่ “สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์”

 

 

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จศรีนครินทราบรมราชชนนี *** Local Caption *** ภาพสแกนจากฐานข้อมูลห้องสมุดภาพ

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช *** Local Caption *** ภาพสแกนจากห้องสมุดภาพ

cfna02-p0011192-21 cfna02-p0011113-08