ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 ตุลาคม 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
พระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ปรากฏเป็นที่ประจักษ์แก่ชาวไทยและชาวโลก
อันนำมาสู่การทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลระดับนานาชาติมากมาย
พระราชกรณียกิจในทุกด้านไม่ว่าการพัฒนาคุณภาพชีวิต การแพทย์และการสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม สังคม เทคโนโลยีการประดิษฐ์ ฯลฯ ไม่เพียงก่อคุณประโยชน์ยิ่งใหญ่มหาศาลแก่ประชาชนและราชอาณาจักรไทย สิ่งเดียวกันนั้นยังเกิดแก่ชาวโลก
จึงไม่แปลกหากโลกชื่นชมยกย่องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศว่าเป็น “พระมหากษัตริย์นักพัฒนา”
รางวัลที่ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวาย ได้แก่
16 ธันวาคม 2510 เหรียญทองจากการแข่งขันเรือใบ ประเภทโอ.เค. ทรงชนะเลิศการแข่งขันเรือใบนานาชาติ ในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ
19 กรกฎาคม 2518 เหรียญรัฐสภายุโรป จากรัฐสภายุโรป กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม
8 กันยายน 2529 รางวัลสันติภาพของสมาคมอธิการบดีระหว่างประเทศ จากสมาคมอธิการบดีระหว่างประเทศ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี
21 กรกฎาคม 2530 เหรียญทองสดุดีพระเกียรติคุณ ในฐานะทรงพระปรีชาสามารถในการพัฒนาชนบท จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ประเทศไทย
29 ตุลาคม 2530 เหรียญจำลองโดโนแวน (William J. Donovan Medal Award) จากองค์การโอเอสเอส (OSS : The Office of Stategic Services) นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
14 ธันวาคม 2530 เหรียญดุษฎีกิตติมศักดิ์ของโอลิมปิก “อิสริยาภรณ์โอลิมปิกชั้นสูงสุด (ทอง)” จากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC : International Olympic Committee)
3 ตุลาคม 2532 เหรียญทองเฉลิมฉลองการประชุมทางวิชาการร่วมกัน ระหว่างราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยและราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งอังกฤษ จากราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งอังกฤษ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร
17 สิงหาคม 2534 เหรียญสดุดีพระเกียรติคุณขององค์กรโรตารีสากล องค์กรโรตารีสากล รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา
2 ธันวาคม 2534 เหรียญฟีแล (Philae Medal) จากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส
4 พฤศจิกายน 2535 เหรียญประกาศเกียรติคุณ ในฐานะทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจดีเด่นเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ เกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา
24 พฤศจิกายน 2535 เหรียญทองสาธารณสุขเพื่อมวลชน ขององค์กรอนามัยโลก (WHO) นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส
26 มกราคม 2536 เหรียญสดุดีพระเกียรติคุณด้านการสงวนรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ จากสมาคมนานาชาติด้านนิเวศวิทยาทางเคมี รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา
25 กุมภาพันธ์ 2536 เหรียญสดุดีพระเกียรติคุณนานาชาติ จากสมาคมควบคุมการกัดเซาะผิวดินนานาชาติ รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา
30 ตุลาคม 2536 รางวัลรากหญ้าแฝกชุบสำริด จากธนาคารโลก กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา และรางวัลสดุดีพระเกียรติคุณนานาชาติ จากสมาคมควบคุมการกัดเซาะผิวดินนานาชาติ สหรัฐอเมริกา
12 ธันวาคม 2537 เหรียญสดุดีพระเกียรติคุณในฐานะที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด จากโครงการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย
2 ธันวาคม 2538 เหรียญแอกริโคลา (Agricola Medal) จากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี
5 มิถุนายน 2539 เหรียญสดุดีพระเกียรติคุณ ในฐานะทรงห่วงใยและอุทิศพระองค์ในการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรและพสกนิกรโดยส่วนรวม จากสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ เมืองลากูนา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์
24 ตุลาคม 2539 รางวัลสดุดีพระเกียรติคุณในฐานะที่ทรงบำเพ็ญประโยชน์เพื่อมนุษยธรรมในระดับผู้นำประเทศ จากองค์กรโรตารีสากล รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา
13 พฤศจิกายน 2539 รางวัล “พาร์ทเนอริง ฟอร์ เวิลด์ เฮลท์ อวอร์ด” (Partnering for World Health Award) จากวิทยาลัยแพทย์โรคทรวงอกแห่งสหรัฐอเมริกา รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา
14 กุมภาพันธ์ 2540 รางวัลสดุดีพระเกียรติคุณด้านอุตุนิยมวิทยา องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส
25 มิถุนายน 2540 เหรียญทองสดุดีพระเกียรติคุณ ในฐานะที่ทรงเป็นผู้นำและชี้แนะแนวทางการแก้ไขปัญหาโรคขาดสารไอโอดีในประเทศไทย (ICCIDD Gold Medal)
จากองค์การสภาการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนนานาชาติ (ICCIDD : International Council for the Control of Iodine Deficiency Disorders) กรุงออตตาวา แคนาดา
8 กรกฎาคม 2540 รางวัลสดุดีพระเกียรติคุณด้านวรรณกรรม จากคณะกรรมการรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (รางวัลซีไรต์)
10 ธันวาคม 2540 อิสริยาภรณ์สูงสุดทางการกีฬา (OCA Merit Award) จากสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย
24 พฤศจิกายน 2541 เหรียญทองในฐานะที่ทรงอุทิศพระองค์เพื่อการรณรงค์เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพปอดระดับโลก จากสหพันธ์องค์กรต่อต้านวัณโรคและโรคปอดนานาชาติ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส
3 มีนาคม 2542 รางวัลในฐานะที่ทรงอุทิศพระองค์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะด้านสาธารณสุขและการศึกษา จากสโมสรไลออนส์สากล รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา
8 ธันวาคม 2542 เหรียญเทเลฟู้ด (TeleFood Medal) จากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO : Food and Agriculture Organization) กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี
18 มกราคม 2543 เหรียญทองแซนฟอร์ด (Sanford Medal) จากคณะการดนตรีแห่งมหาวิทยาลัยเยล รัฐคอนเนคติคัต สหรัฐอเมริกา
19 กุมภาพันธ์ 2543 ด้วยลาลาอูนิส (Lalaounis Cup) จากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล นครโลซาน สมาพันธรัฐสวิส
31 พฤษภาคม 2543 รางวัลสดุดีพระเกียรติคุณขององค์กรอนามัยโลก โล่เฉลิมพระเกียรติ WHO Plague จากองค์การอนามัยโลก (WHO : World Health Organization) นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส
มิถุนายน 2543 เหรียญรางวัล “เมริต เดอ แลงวองซิยง” (Merit de L”Invention) รางวัลสดุดีพระเกียรติคุณของสมาคมนักประดิษฐ์แห่งราชอาณาจักรเบลเยียม จากสมาคมนักประดิษฐ์ แห่งราชอาณาจักรเบลเยียม กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม
2 พฤศจิกายน 2543 เหรียญเบิร์กลีย์ (The Berkeley Medal) จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์กลีย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
16 กุมภาพันธ์ 2544 เหรียญ Prix OMPI Femme Inventeur Brussels EUREKA 2000 รางวัลสิ่งประดิษฐ์ดีเด่นระดับโลก จากองค์การบรัสเซลส์ ยูเรกา ในงานบรัสเซลส์ ยูเรกา 2000, เหรียญ Gold Medal with Mention รางวัลสรรเสริญในพระอัจฉริยภาพแห่งการใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ, ถ้วย Grand Prix International รางวัลผลงานด้านการประดิษฐ์ดีเด่นสูงสุด, ถ้วย MINISTER J. CHABERT รางวัลผลงานด้านสิ่งประดิษฐ์ดีเด่น
ในโอกาสพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำ”เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย” หรือ”กังหันน้ำชัยพัฒนา” ไปจัดนิทรรศการในงานบรัสเซลส์ ยูเรกา 2000 ระหว่างวันที่ 14-20 พฤศจิกายน 2543 ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม
ถ้วย Yugoslavia รางวัลสรรเสริญในพระอัจฉริยภาพด้านการประดิษฐ์ จากสหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวีย
26 พฤศจิกายน 2544 เหรียญสดุดีพระเกียรติคุณ “โกลเด้น ชายนิง ซิมโบล ออฟ เวิลด์ ลีดเดอร์ชิพ” (Golden Shining Symbol of World Ledership) จากสภามวยโลก กรุงเม็กซิโกซิตี้ สหรัฐเม็กซิโก
27 มีนาคม 2545 ถ้วย D”Un Concept Nouveau de Developpement de la Thailande รางวัลผู้ให้แนวคิดใหม่เพื่อการพัฒนาประเทศไทย, ถ้วย Special PRIX รางวัลสดุดีพระเกียรติคุณด้านการประดิษฐ์คิดค้นทฤษฎีใหม่ “น้ำมันปาล์ม”และ”ฝนหลวง”
เหรียญ Gold Medal with Mention รางวัลสดุดีพระเกียรติคุณด้านการประดิษฐ์คิดค้นโครงการน้ำมันไบโอดีเซล สูตรสกัดจากน้ำมันปาล์ม, เหรียญ Gold Medal with Mention รางวัลสดุดีพระเกียรติคุณด้านการประดิษฐ์คิดค้นโครงการทฤษฎีใหม่
เหรียญ Gold Medal with Mention รางวัลสดุดีพระเกียรติคุณด้านการประดิษฐ์คิดค้น”โครงการฝนหลวง” จากองค์การบรัสเซลส์ ยูเรกา ในงานบรัสเซลส์ ยูเรกา 2011 ระหว่างวันที่ 13-18 พฤศจิกายน 2544 ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม
25 กุมภาพันธ์ 2547 รางวัลสดุดีพระเกียรติคุณของโครงการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์แห่งสหประชาชาติ (UN-HABITAT Scroll of Honour Award) จากโครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา
23 พฤษภาคม 2548 รวงข้าวทองคำ (Golden Ear of Paddy) จากสมาคมสินเชื่อการเกษตรและชนบทภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
26 พฤษภาคม 2549 รางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ (The UNDP Human Development Lifetime Achievement Award) จากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP : United Nations Development Programme) นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
โดย นายโคฟี่ อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติในตอนนั้น เป็นผู้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลด้วยตัวเอง พร้อมกล่าวเชิดชูพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
เป็น”พระมหากษัตริย์นักพัฒนา”
ทำให้นานาประเทศตื่นตัวภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง จุดประกายแนวคิดการพัฒนาแบบใหม่สู่นานาประเทศ
20 มิถุนายน 2549 อิสริยาภรณ์สดุดีลูกเสือโลก รางวัลอันทรงเกียรติสูงสุดขององค์การลูกเสือโลก (The Bronze Wolf) จากมูลนิธิลูกเสือโลก นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส
พุทธศักราช 2551 รางวัล WIPO Global Leaders Award จากองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO)
นอกจากนี้ สหพันธ์สมาคมนักประดิษฐ์ระหว่างประเทศ ซึ่งมีสมาชิก 84 ประเทศทั่วโลก ยังมีมติให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปี ซึ่งเป็นวันที่ทรงได้รับการจดสิทธิบัตรกังหันน้ำชัยพัฒนา
เป็นวันนักประดิษฐ์โลกด้วย