พระราชนิพนธ์ใน ‘สมเด็จพระเทพฯ’ เล่าถึง ‘แซกโซโฟน’ ตัวแรกของในหลวงรัชกาลที่9

ความนำ

เมื่อ พ.ศ.2530 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงพระราชนิพนธ์บทความเรื่อง “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาดนตรี” ซึ่งมีเนื้อหาสาระที่น่าสนใจยิ่ง และมีผู้ขอพระราชทานไปพิมพ์เผยแพร่ในสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ หลายครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อ พ.ศ.2539 ในหนังสือ ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์ รัตนสาร

ข้าพเจ้าเพิ่งไปชมนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่กรมศิลปากรจัดขึ้นที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ส่วนที่เกี่ยวกับการดนตรีมีภาพถ่ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดนตรี โน้ตเพลงพระราชนิพนธ์ เครื่องดนตรีส่วนพระองค์หลายชนิด โน้ตเพลงและเครื่องดนตรีบางส่วนที่มิได้แสดงไว้ที่ศูนย์วัฒนธรรม ผู้ที่สนใจอาจจะไปชมได้ที่หอรัชมงคล สวนหลวง ร.9

ผู้ที่สนใจในด้านดนตรีเคยมาไต่ถามข้าพเจ้าว่า ทราบบ้างไหมว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเรียนดนตรีมาอย่างไร ซึ่งก็ตอบลำบาก เพราะเป็นเรื่องก่อนเกิดที่ไม่ได้เห็นด้วยตนเอง ทราบบ้างตามที่ทรงเล่า จึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเล่าให้ผู้อื่นฟังถึงวิธีการเรียน เผื่อจะเป็นคติที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ก็ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต

 

เมื่อทรงศึกษาอยู่ในโรงเรียนทั้งในประเทศไทยและประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก็ได้ทรงเรียนขับร้อง แต่ไม่ได้เรียนโน้ต เมื่อพระชนมายุได้ 13 ปี ได้ทรงเรียนแอคคอร์เดียนได้ไม่มากนัก เพราะไม่สนพระทัย (ทรงเรียกว่าไม่ติด)

สมเด็จพระพี่นางฯ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงเรียนเปียโน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงเรียน แต่เมื่อมีพระชนม์ได้ประมาณ 14-15 ปี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปที่ภูเขา ได้ทอดพระเนตรวงดนตรีที่เขาเล่นที่โรงแรมก็โปรด มีพระราชประสงค์จะทรงแตร แต่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีไม่ทรงเห็นด้วย เพราะเหตุว่าการเป่าแตรต้องใช้กำลังมาก อาจเป็นอันตตรายแก่สุขภาพได้ จึงทรงผ่อนผันให้เล่นแซกโซโฟนแทน

7-king

ครูสอนดนตรีชื่อ นายเวย์เบรชท์ (Weybrecht) เป็นชาวอัลซาส (Alsace) ซึ่งเป็นแคว้นของฝรั่งเศสที่พูดภาษาเยอรมัน เวลาพูดภาษาฝรั่งเศสยังมีสำเนียงเยอรมันติดมาบ้าง นายเวย์เบรชท์ทำงานอยู่ร้านขายเครื่องดนตรี (ขายทุกๆ ยี่ห้อ) และยังเป็นนักเป่าแซกโซโฟนอยู่ในวงของสถานีวิทยุ เขาเล่นดนตรีได้หลายอย่างรวมทั้งคลาริเนตด้วย

แซกโซโฟนที่ทรงเล่นตอนนั้นเป็นของเก่า (เก่าแปลว่าใช้แล้ว ไม่ใช่ของโบราณ) ราคา 300 ฟรังค์สวิส “รัฐบาล” คือสมเด็จพระศรีฯ พระราชทานเงินสนับสนุน 150 ฟรังค์ ส่วนอีก 150 ฟรังค์เอาเงินสโมสรออก (เป็นเงินที่พระเจ้าอยู่หัว 2 พระองค์ทรงเข้าหุ้นกัน)

เมื่อครูมาตอนแรกๆ พระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลไม่ทรงเรียนอยู่มาวันหนึ่งไปทรงซื้อคลาริเตนมาขอเรียนด้วย ครเวย์เบรชท์มาสอนสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ครั้งละครึ่งชั่วโมงต่อพระองค์ (เรียนทีละพระองค์ เพราะเรียนคนละอย่าง) เรียนไปได้สักปีหนึ่งก็เปลี่ยนเป็นเรียนสัปดาห์ละครั้งเดียว เมื่อพอจะเล่นได้ครูก็เขียนโน้ตเพลงให้เล่นได้ 3 คน เป็น Trio มีคลาริเนต 1 แซกโซโฟน 2 เพลงที่เล่นเป็นพวกเพลงคลาสสิก ตอนเล่นเพลงด้วยกันนี้เล่นเป็นพวกเพลงคลาสสิก ตอนเล่นเพลงด้วยกันนี้เล่นฟรีครูไม่คิดค่าสอน แม้แต่ค่าสอนก็คิดไม่แพงคือครั้งละ 3 ฟรังค์ ถ้าไปโรงเรียนดนตรีจริงๆ เขาจะเรียก 5 ฟรังค์ ครูคนนี้มาสอนให้ถึงบ้านด้วยนอกจากการเล่นเครื่องดนตรีแล้ว ครูยังสอนวิชาการดนตรีให้ด้วย รวมทั้งการเขียนโน้ต สเกลต่างๆ

คลาริเนตนั้นทรงเอาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลมาทรงเป่า ครูเวย์เบรชท์แนะนำ 2-3 ครั้ง สำหรับแตรนั้น สนพระทัยจึงไปเช่ามาเล่น เขาให้เช่าทีละเดือน ครั้งแรกที่เช่ามาเป็นแตรคอร์เนต อีกหลายปีจึงทรงซื้อเอง ดูเหมือนว่าแตรทรัมเปตเครื่องแรกที่ทรงซื้อจะเป็นแตรยี่ห้อเซลเมอร์ สั่งซื้อจากอังกฤษ แต่เป็นของฝรั่งเศส (เครื่องนี้พระราชทานวงสุนทราภรณ์ไป) ภายหลัง (สัก 30 กว่าปีมาแล้ว ข้าพเจ้ายังไม่เกิด) จึงซื้อใหม่ยี่ห้อเซลเมอร์เหมือนกัน ครูเวย์เบรชท์บอกว่าแตรดีที่สุดคือ ยี่ห้อกูร์ตัว แต่ไม่ได้ทรงซื้อ เพิ่งซื้อเมื่อปีที่แล้วนี่เอง (พ.ศ.2529) คลาริเนตที่ทรงใช้แต่แรกยี่ห้อเลอบลองค์ แซกโซโฟนยี่ห้อ เอส เอ็ม แอล (Strasser Marigaux Lemaire)

k8185820-2-1

สำหรับเครื่องดนตรีต่างๆ ที่ทรงเล่นมีเปียโนไม่เคยทรงเรียนจริงจังจากใคร เล่นเอาเองดูโน้ต เรียนวิธีประสานเสียง กีตาร์ทรงเล่นเมื่อพระชนม์ราว 16 พรรษา เพื่อนที่โรงเรียนเป็นรุ่นที่อายุมากกว่าให้ยืมเล่น ภายหลังเอาไปคืน เขาเห็นว่าสนใจจึงให้เลย

ขลุ่ย ทรงเมื่อพระชนม์ประมาณ 16-17 พรรษา เห็นว่าราคาไม่แพงนัก เล่นไม่ยากนิ้วคล้ายๆ แซกโซโฟน

คุณพระเจนดุริยางค์เป็นอีกท่านที่กราบบังคมทูลแนะนำเกี่ยวกับการดนตรี โปรดคุณพระเจนฯ มาก ทรงพิมพ์ตำราที่คุณพระเจนฯ ประพันธ์ขึ้นทุกเล่ม ระหว่างการพิมพ์และตรวจปรู๊ฟได้ความรู้เกี่ยวกับดนตรีมาก ส่วนไหนที่ไม่เข้าพระทัยก็มีรับสั่งถามคุณพระเจนฯ เรื่องการพิมพ์หนังสือนี้ คุณแก้วขวัญ วัชโรทัย เลขาธิการพระราชวังคนปัจจุบันทราบดี เพราะเป็นผู้ที่ทรงมอบหมายให้ดำเนินการ ได้ทราบว่าคุณพระเจนฯเองก็ปรารภว่าในด้านทฤษฎีไม่ทรงทราบมากนัก แต่ทำไมเคาะเสียงถูกต้องทุกที รับสั่งเล่าว่า คุณพระเจนฯ เป็นคนถือธรรมเนียมว่า สอนพระเจ้าแผ่นดินไม่ได้ แต่จะแนะนำถวายหรือกราบบังคมทูล

สมัยทรงพระเยาว์บางทีทรงซื้อแผ่นเสียงมาฟัง ถ้าเป็นแผ่นเสียงเพลงคลาสสิก “รัฐบาล” ให้ ถ้าเป็นเพลงแจ๊สต้องออกเอง

ทรงเล่นแตรอยู่พักหนึ่งเกิดปวดพระศอเล่นไม่ได้ เลิกไปนาน ภายหลังจึงลองเป่าอีก ปรากฏว่าทรงพระสำราญดี

ตอนหลังเคยเห็นทรงไวโอลินด้วย คิดว่าทรงเล่นเอาเองไม่มีครูสอน

50635_253671

นอกจากทรงเล่นดนตรีแล้วยังทรงสอนให้ผู้อื่นเล่นด้วย เคยเล่าพระราชทานว่าได้สอนคนตาบอดเล่นดนตรี สอนลำบากเพราะเขาไม่เห็นท่าทาง เมื่อพยายามอธิบายจนเข้าใจสามารถเป่าออกมาเป็นเพลงไพเราะได้ หรือแม้แต่โน้ตเดียวในตอนแรก ดูสีหน้าเขาแสดงความพอใจและภูมิใจมาก

ทรงแนะนำวิธีการเล่นดนตรีพระราชทานผู้อื่นที่มาเล่นดนตรีถวายหรือเล่นร่วมวง ดูเหมือนจะเคยมีรับสั่งว่าการเล่นดนตรีทำให้เกิดความสามัคคี ว่าเป็นนักดนตรีเหมือนกัน

o0f58z5m5grh1rrc8ba-o

เมื่อประมาณเกือบ 2 ปีมาแล้วที่สกลนครทรงนำแตรไปด้วย และได้มีพระราชกระแสเกี่ยวกับเรื่องแตรกับคุณหมอทวีศักดิ์ ซึ่งเล่นแตรในวง อ.ส. เคยเรียนแตรมาหลายปีแล้ว ข้าพเจ้านั่งอยู่ตรงนั้นพร้อมกับคนอื่นๆ อีกหลายคน คิดอยู่ว่าน่าจะเรียนบ้าง เพราะตอนนี้ฟังท่านคุยกันไม่รู้เรื่อง ต่อมาแปรพระราชฐานไปที่จังหวัดนราธิวาส ข้าพเจ้าพยายามไปฟังพระราชกระแสเรื่องแตรนี้อีก คงจะทรงเห็นข้าพเจ้าดูอย่างสนใจ จึงยื่นแตรพระราชทานและสั่งให้ไปยืนเป่าอยู่ไกลๆ เป่าเท่าไรเสียงก็ไม่ออก จนในที่สุดเสียงออกมาดัง “ปู่” เป็นเสียงต่ำมาก ทรงพระสรวล มีรับสั่งว่าเสียงแบบนี้ไม่มีใครเขาเป่ากัน

เมื่อกลับกรุงเทพฯ แล้วข้าพเจ้าให้คนไปซื้อแตรทำในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนมา (ข้าพเจ้าชอบแตรขึ้นมาก เพราะซื้อด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเอง) ราคา 3,000 บาท ไปแนะนำให้คนอื่นๆ ที่ตามเสด็จซื้อแตรชนิดต่างๆ มา ส่วนมากจะซื้อยี่ห้อเดียวกับข้าพเจ้า แต่ผู้ซื้อทีหลังกลับได้ราคาต่ำกว่า

เมื่อทรงเห็นมีเครื่องดนตรีกัน จึงทรงนึกสนุกสอนให้พวกเราเป่าแตรกัน เริ่มด้วยข้าพเจ้าเป็นนักเรียนหมายเลข 1 เป็นหัวหน้าชั้น ที่จริงข้าพเจ้าอยากเรียนคลาริเนต เพราะได้เห็นการเดี่ยวคลาริเนตเพลงไทย ไพเราะมาก แต่มีรับสั่งให้เรียนแตรไปก่อนเพราะเสียงดังดี (วงของเราเป็น (Brass Band) และการดูแลรักษาแตรง่ายกว่าคลาริเนต ภายหลังเมื่อเป่าแตรพอได้แล้ว จึงมีรับสั่งว่าถ้าอยากเล่นคลาริเนตเมื่อไรให้ทูลขอ ไม่ต้องไปซื้อ แต่ข้าพเจ้าก็ยังไม่อยากเป่าเห็นว่ายังเป่าแตรไม่เก่ง

ทรงสอนตั้งแต่เรื่องส่วนต่างๆ ของแตร กำพวด (mouth piece) ต่างกันเสียงก็ต่างกัน เป่าได้ยากง่ายต่างกัน เริ่มต้นเป่าเสียงต่างๆ ทีละเสียง เริ่มแต่เสียงที่ไม่ใช้นิ้วกด ต้องหัดทำปากให้แข็งๆ (ทำยากมาก) เป่าให้สูงขึ้นทุกทีๆ เช่น โด ซอล โด มี ภายหลังจึงเรียนเสียงอื่นที่ต้องใช้นิ้วเรียนเสกล บางทีก็ทรงให้หมอทวีศักดิ์สอน เมื่อเล่นเสียงต่างๆ พอจะได้ก็ให้เล่นเพลงง่ายๆ เช่น เพลง Three Blind Mice, Old Folk at Home, Home Sweet Home เวลาเล่นข้าพเจ้ามักขี้โกง ใช้นำเอาแทนที่จะดูโน้ต ทรงบังคับให้ดูโน้ตไปพลางจนอ่านโน้ตออก จากเพลงพื้นฐานก็ทรงเขียนแบบฝึกหัดให้หัดเป่า และโน้ตเพลงต่างๆ ให้เล่นประสานเสียงกัน บางทีพวกเราก็ไปหาเพลงจากข้างนอก (เรียกว่าเพลงนอกหลักสูตร) มาเล่น เช่น เพลงไทย อย่างคลื่นกระทบฝั่งลาวดวงเดือน ลาวดำเนินทราย ลาวคำหอม นกขมิ้น มาเล่น

thaihealth_c_biklorsu1258

ภายหลังทรงมีวิธีหัดให้เป่าเสียงยาวๆ และแม่นยำ โดยการให้เป่าแตรแบบทหาร เช่น แตรนอน ขณะนี้แทนที่จะเป่าคนเดียวทั้งหมด ต้องเล่นคนละโน้ตแบบเล่นอังกะลุง เป็นการฝึกหัดปาก (เพราะเป็นเพลงที่ไม่ใช้นิ้วเลย) แตรกินข้าวถูกให้เป่าทีละคน แตรเคารพ เสียงสุดท้ายต้องเป่าให้ยาวจนหมดลม การฝึกที่หนักที่สุดคือการเดินแถวแล้วเป่าไปพลาง เมื่อโดนเข้าด้วยตนเองทำให้เห็นใจทหารที่ต้องเป่าเป็นชั่วโมงๆ ในวันสวนสนาม

บางเพลงที่ทรงเขียนโน้ตพระราชทานมีบทที่ต้องเล่นเดี่ยว (Solo) ส่วนมากจะทรงเอง ให้พวกเราเล่นเสียงประสานให้ถูกต้อง บางทีเคยให้เราเล่นบท Solo เหมือนกัน (แต่เขียนบทพระราชทาน) มีรับสั่งว่าการสอนดนตรีนี่เองที่ทำให้สนพระทัยคอมพิวเตอร์ ทรงหาโปรแกรมที่เขียนโน้ตได้ ได้ทรงเขียนโน้ตบางเพลงด้วยคอมพิวเตอร์ พระราชทานแจกให้เล่น และได้ทรงพระราชนิพนธ์เพลงด้วยคอมพิวเตอร์ แต่ยังไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัยจึงยังไม่ออกเผยแพร่

ทรงทราบวิธีการซ่อมแตรเป็นอย่างดี โดยทรงทราบจากพระเจนดุริยางค์ จากร้านซ่อม-ขายเครื่องดนตรีที่ทรงรู้จัก และจากการสังเกต ทรงรู้จักลักษณะพิเศษของแตรทุกยี่ห้อ ข้าพเจ้าไปอินเดียก็ซื้อแตรทำในอินเดียมาถวาย น้องข้าพเจ้าไปเกาหลีก็ซื้อแตรเกาหลีมาถวาย ทรงสอนให้ช่างซึ่งไม่เคยทราบเรื่องแตรเลยซ่อมแตรได้

ในโอกาสสำคัญๆ เช่น วันเฉลิมพระชนมพรรษาพวกเราวงดนตรีที่ได้รับพระราชทานชื่อว่า “วงสหายพัฒนา” ได้เล่นเพลงถวาย ใช้เพลงสดุดีมหาราชาเพลงทรงพระเจริญ และเพลงอื่นๆ ถือเป็นการแสดงความจงรักภักดีและแสดงความกตัญญูแก่ผู้เป็น “ครู” ตามประเพณีของไทยด้วย