ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ : Faces Places สร้างประชาธิปไตยด้วยเรื่องเล่าที่หลากหลาย

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ในภาพยนตร์ที่ถูกยกย่องเป็นหนึ่งในสุดยอดหนังแห่งปีอย่าง Faces Places ซึ่งมีชื่อไทยว่า “ถ่ายภาพเธอไว้ ให้โลกจดจำ” คนจำนวนมากชื่นชมหนังในประเด็นมิตรภาพของคนต่างวัยที่ความแตกต่างลงเอยอย่างอ่อนหวาน

แต่ที่จริงหนังสื่อประเด็นมนุษยนิยมเยอะมาก และความเหนือชั้นของคนทำหนังก็ปรากฏในหนังอย่างสมบูรณ์

เพื่อขยายประเด็นนี้ให้ชัดเจนขึ้น ต้องระบุอีกครั้งว่าผู้กำกับหนังเรื่องนี้คือ อานเญส วาร์ดา เป็นคนทำหนังหัวก้าวหน้าของฝรั่งเศสกลุ่ม Left Bank คนสุดท้ายที่ยังทำหนังอยู่ วาร์ดาจึงเป็นอนุสาวรีย์ที่มีชีวิตของผู้กำกับที่ใช้ชีวิตแบบโบฮีเมียน, ทำหนังที่ขยายพรมแดนของหนังไม่หยุด, นิยมประชาธิปไตย และเอียงซ้ายทางการเมือง

พูดให้เจาะจงลงไป วาร์ดาเชื่อว่าความธรรมดาคือความงาม เธอให้สัมภาษณ์หลายครั้งว่าผู้มีอำนาจคือคนที่ไร้ความน่าสนใจอย่างถึงที่สุด

หนังของเธอให้น้ำหนักกับคนหาเช้ากินค่ำซึ่งไร้เสียงในสังคมมนุษย์ ต่อให้คนผู้นั้น จะไม่ใช่ขบถท้าทายสังคมหรือตั้งตัวป็นตัวแทนคนส่วนใหญ่เลยก็ตาม

ในภาพยนตร์ซึ่งชื่อจากภาษาฝรั่งเศสคือ Visages Villages ราชินีแห่งคนทำหนังเดินทางกับช่างภาพระดับโลกอย่างเจอาร์ไปถ่ายภาพคนตามหมู่บ้านต่างๆ

หนังจึงเป็นสารคดีเรื่องศิลปินทำงานศิลปะ

แต่ในการตัดสินใจว่าจะถ่ายใครในสถานที่ไหน ศิลปินหัวก้าวหน้าคู่นี้บอกโลกไปพร้อมๆ กันว่าคนแบบไหนและพื้นที่อะไรที่สำคัญ

ในวินาทีที่หนังเริ่มต้นจนฉากสุดท้าย ผู้กำกับฯ ให้น้ำหนักกับการถ่ายคนระดับล่างสุดที่ทำมาหากินตามพื้นที่สามัญ หรือไม่ก็คือคนทำงานศิลปะที่ตั้งต้นแบบไม่มีอะไรในฝรั่งเศสร่วมสมัย โลกของหนังเรื่องนี้จึงเป็นโลกที่คนทำงานมีค่า เช่นเดียวกับวิถีชีวิตของคนธรรมดาตามร้านกาแฟ, โรงงาน, เหมืองเก่า, หมู่บ้านร้าง, ทุ่งนา ฯลฯ

ในช่วงต้นของหนังเรื่องนี้ วาร์ดาและเจอาร์ขับรถที่มีตู้ถ่ายภาพไปจอดกลางลานหมู่บ้านในฝรั่งเศสตอนใต้ จากนั้นก็เชิญชวนให้ผู้คนขึ้นรถไปถ่ายภาพเหมือนตัวเองอย่างไรก็ได้ตามใจ

ส่วนในฉากถัดจากนั้น วาร์ดานำเจอาร์ไปเขตเหมืองเก่าทางฝรั่งเศสตอนเหนือเพื่อถ่ายภาพบ้านคนงานเหมืองละแวกสุดท้ายที่กำลังจะถูกทำลาย

เมื่อหนังเดินหน้าต่อไป ศิลปินคู่นี้จะทำงานคู่ขนานแบบนี้กันไปตลอด วาร์ดาเลือกผู้คนและสถานที่ เจอาร์ถ่าย ผู้ชมจะเห็นผู้กำกับฯ ให้พนักงานร้านกาแฟ, เมียนักสหภาพแรงงาน, ชาวนา, หญิงเลี้ยงแพะ, นักแสดงละครตกงาน ฯลฯ เล่าเรื่องชีวิต

ส่วนช่างภาพจะติดตั้งภาพคนเหล่านี้บนพื้นที่สาธารณะหรือสถานที่สำคัญของเมือง

เราอาจพูดอีกอย่างก็ได้ว่า Faces Places เป็นหนังที่ศิลปินหัวก้าวหน้าตอกย้ำคุณค่าของการสร้างพื้นที่สาธารณะและความทรงจำของปัจเจกชน

คนที่สนใจความสัมพันธ์ของพื้นที่กับมนุษย์นั้นรู้มานานแล้วว่าพื้นที่สัมพันธ์กับประชาธิปไตย เหตุผลคือการใช้พื้นที่มีบางด้านที่ถูกกำหนดจากความสัมพันธ์ทางสังคม ถนน, ชื่อตึก, ผังเมือง, หอประชุม, สนามกีฬา ฯลฯ จึงเป็นสัญลักษณ์ทางอำนาจของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเสมอ ไม่ว่าวัตถุประสงค์ในการใช้สอยจะคืออะไรก็ตาม

พูดแบบเปรียบเปรย อนุสาวรีย์เป็นเรื่องการเมืองไม่น้อยไปกว่ารัฐประหารหรือการเลือกตั้ง หรือถ้าจะพูดเชิงหลักการ พื้นที่สาธารณะเกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยเพราะการใช้พื้นที่สะท้อนว่าใครใหญ่ในสังคม

นอกจากพื้นที่จะบอกว่าใครใหญ่อย่างที่พูดไป การออกแบบพื้นที่ยังกำกับพฤติกรรมมนุษย์จนถ่ายทอดความคิดบางอย่างได้ด้วย

ป้ายเขตทหารห้ามเข้าปลูกฝังการรับรู้ว่าห้ามยุ่งเรื่องทหารก่อนได้รับอนุญาต

การย้ายสภาให้พ้นเขตสถานที่สำคัญคือการสื่อสารว่าตัวแทนประชาชนด้อยค่า ถึงแม้การโยกย้ายจะอ้างว่าที่เดิมแออัดก็ตาม

มองในมิตินี้ พื้นที่เกี่ยวพันกับประชาธิปไตยเพราะทำให้มนุษย์รู้ว่ากติกาอะไรห้ามเปลี่ยนแปลง เพดานของการปกครองโดยคนส่วนใหญ่คือทุกคนต้องรู้ว่าตัวเองควรอยู่ตรงไหน ใครเป็นใคร ใครทำอะไรได้แค่ไหน และประชาชนอย่าคิดเปลี่ยนกติกาจนเกินไป

ขณะที่ผู้มีอำนาจใช้พื้นที่ควบคุมสังคม สังคมประชาธิปไตยก็ปรับเปลี่ยนให้พื้นที่พูดเรื่องประชาชนมากขึ้น ฝรั่งเศสมีรูปปั้นเยอะแยะเพื่อสดุดีนักปฏิวัติ ค.ศ.1789, อเมริกาสร้างสภาให้โดดเด่นเหนือภูมิทัศน์รอบข้าง, อัมสเตอร์ดัมทำหมุดรำลึกคนรักเพศเดียวกันที่ถูกฆ่า ส่วนไทยทำอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญกลางถนนของระบอบก่อนประชาธิปไตย

คู่ขนานไปกับพื้นที่และอาคารสถานที่เพื่อประชาชนแบบตรงๆ พื้นที่ของประชาชนอาจอยู่ในรูปพิพิธภัณฑ์, ลาน, หอประชุม ฯลฯ เพื่อเล่าเรื่องคนที่ประวัติศาสตร์ระดับชาติไม่พูดถึงก็ได้ ตัวอย่างเช่นศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราชที่วัดไตรมิตร, พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย, อนุสรณ์สถานจิตร ภูมิศักดิ์ หรืออุทยานประวัติศาสตร์ถังแดง

ด้วยเหตุดังนี้ พื้นที่ของประชาชนจะอยู่ในรูปพื้นที่ซึ่งพูดถึงประชาชนในระดับมวลรวมก็ได้ หรือจะเป็นพื้นที่ตอกย้ำคุณค่าของคนแต่ละกลุ่มก็ได้เหมือนกัน

ภายใต้ผิวหน้าเรื่องการร่วมเดินทางของคนต่างวัยอันแสนหวาน Faces Places บันทึกการทำงานของศิลปินผู้แปลงพื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่ประชาชนซึ่ง “ประชาชน” ในทีนี้ไม่ได้มีนัยยะเชิงกลุ่มล้วนๆ แต่ประชาชนคือปัจเจกที่แต่ละคนมีเรื่องเล่ามีชีวิตที่มีคุณค่าตลอดเวลา

จากมุมมองที่เห็นว่าประชาชนมีเสียงที่หลากหลายจากความไม่ได้เป็นหนึ่งเดียว หนังให้ตัวละครแต่ละคนเล่าเรื่องที่หลากหลายตามความทรงจำส่วนบุคคล ผลก็คือมนุษย์ทุกคนเป็นศูนย์กลางของเรื่องเล่า หรือพูดอีกอย่างคือหนังเป็นเสมือนสมุดบันทึกสรรพเสียงที่หลากหลาย (Univocal Commentary) ในสังคม

หนึ่งในฉากที่ทรงพลังของหนังเรื่องนี้คือการติดตั้งภาพเมียกรรมกรอู่เรือบนคาร์โกสูงเกือบสิบชั้น หนังทำแบบนี้หลังผู้กำกับฯ คุยกับพวกผู้หญิงว่าพวกเธอสำคัญเท่าสามี, กระตุ้นให้ผู้หญิงเลิกคิดว่าตัวเองคือช้างเท้าหลัง, ผู้หญิงสามคนพูดถึงความปีติที่มีคนเห็นคุณค่าสักครั้งในชีวิต ปิดท้ายด้วยวาร์ดาพูดกับเจอาร์ว่าสักวันผู้หญิงจะโบยบินสู่เสรี

วิธีทำหนังแบบนี้ทำให้ตัวละครมีอิสรภาพในการเล่าความทุกข์จนคลี่ให้ผู้ชมเห็นว่ามนุษย์ถูกทำร้ายด้วยเรื่องคร่ำครึมากขนาดไหน

ทำไมเมียนักสหภาพไม่มีเกียรติเท่ากรรมกรชาย?

ถ่านหินอาจเป็นธุรกิจไร้อนาคต แต่คนงานเหมืองควรถูกเหยียบย่ำอย่างนั้นหรือ?

ฟังคนไร้บ้านบ้างได้มั้ยว่าเขามีชีวิตและจินตนาการถึงชีวิตอย่างไร?

เมื่อเรื่องเล่าของแต่ละคนมีค่า ชีวิตทุกคนก็มีความหมาย ภาพถ่ายทำให้โลกกลายเป็นนิทรรศการแสดงมนุษยภาวะที่ทุกคนเห็นความสำคัญของคนอื่น ความแปลกแยกในหนังถูกสร้างเพื่อเตือนใจว่าโลกเปลี่ยนได้ มนุษย์ไม่จำเป็นต้องอยู่อย่างแปลกแยก และทั้งหมดนี้มีจุดเริ่มต้นตรงการยอมรับว่าทุกคนกำเนิดมาเท่าเทียมกัน

แน่นอนว่าผู้กำกับฯ อย่างวาร์ดานั้นไม่ควรถูกลดทอนให้เป็นคนทำหนังตีแผ่สังคม

วาร์ดาทำ Faces Places โดยมีตัวเองเป็นตัวละครที่เดินทางเพื่อพบพานคนที่ไม่รู้จักในดินแดนที่เป็นอื่นไม่รู้จบ

งานชิ้นนี้สื่อประเด็นทางจริยศาสตร์ว่าคนอื่นและความเป็นอื่นสำคัญกว่าที่เราคิด การฟังจึงสำคัญต่อการสร้างสังคมประชาธิปไตย

Faces Places เป็นหนังคุณภาพสูงที่เต็มไปด้วยพลังทางศิลปะและเรื่องเล่าทางสังคม นี่คืองานที่ชี้ให้เห็นอย่างแยบคายว่าโลกหลากหลาย ปัจเจกชนสำคัญ และมนุษย์นั้นต่อต้านระบบที่เลวร้ายเสมอ ต่อให้จะอยู่ในจุดที่คนอื่นแทบมองไม่เห็นก็ตาม

ไม่มีทางที่หนังยกย่องคนธรรมดาเข้ากระดูกดำแบบนี้จะเกิดได้ในสังคมที่ไร้ประชาธิปไตย