คนมองหนัง : “เปรมิกาป่าราบ” น้ำยาของ “หนังผี-ตลกเกรดบี”

“เปรมิกาป่าราบ” หนังไทยส่งท้ายปี 2560 ผลงานการกำกับฯ ของ “ศิวกร จารุพงศา” จัดวางตัวเองเป็น “หนังผี-ตลกเกรดบี” อย่างชัดเจน ไม่อ้อมค้อมขวยเขิน

ซึ่งหนังก็สามารถทำหน้าที่ดังกล่าวได้ดีพอสมควร อาจมีจุดสะดุดขรุขระหรือมุขแป้กอยู่บ้างตามรายทาง แต่ความไม่ลงตัวเหล่านั้นมิได้ส่งผลให้โจทย์หรือสารหลักของภาพยนตร์หักเหผิดเพี้ยนไปมากเท่าไหร่

นอกจากนี้ “เปรมิกาป่าราบ” คืออีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า “ตระกูลหนังผี-ตลกแบบไทยๆ” นั้น อาจไม่ใช่ “ข้อจำกัด” หรือ “เพดาน” ในการเล่าเรื่องราวต่างๆ ผ่านสื่อภาพยนตร์ ดังที่มักชอบทึกทักและเหมารวมกัน

เพราะหากฉวยใช้มันให้เป็น “หนังผี-ตลกไทย” ก็อาจกลายสภาพเป็นเครื่องมือที่ช่วยเปิด “โอกาส” ให้คนทำได้พูดถึงประเด็นซึ่งไม่สามารถถูกบอกเล่าด้วยวิถีทางปกติ ตรงไปตรงมา ในสื่อบันเทิงไทยทั่วไป

ประเด็นหลักๆ ของหนังผี-ตลกเกรดบีเรื่องนี้ คือ การลุกขึ้นมาทวงแค้นของคน (ผี) ต่างด้าว/ผู้หญิง ที่ถูกเหยียด ถูกกระทำจากบรรดาผู้ชาย/ผู้มีอำนาจ/รัฐ

นี่เป็นความขัดแย้งที่ทุกคนรับรู้ว่ามีอยู่ แต่กลับถูกนำเสนอในสื่อบันเทิงกระแสหลัก ไม่ว่าจอทีวีหรือจอภาพยนตร์ ไม่เยอะนัก

อย่างไรก็ดี “เปรมิกาป่าราบ” พูดถึงปัญหาข้อนี้ด้วยมุมมองที่ไม่ได้แหลมคมแปลกใหม่มากมาย (แถมออกจะเชยนิดๆ) แต่รายละเอียดรายรอบประเด็นหลักของหนังต่างหาก ที่สนุก น่าสนใจ และน่านำมาขบคิดต่อ

จุดแรกที่ผมชอบ คือ สถานะของ “ตู้คาราโอเกะ” ใน “เปรมิกาป่าราบ”

“ตู้คาราโอเกะ” เป็นเครื่องมือสำคัญ ซึ่งตัวละครผีสาวต่างด้าวชื่อ “เปรมิกา” ใช้ล้างแค้นผู้ชายที่เคยล่วงละเมิดทางเพศ หยามเหยียดล้อเลียน และเข่นฆ่าเธอ รวมถึงผู้ชายรายอื่นๆ ที่มีความผิดบาปคล้ายคลึงกัน

ตั้งแต่ต้นจนถึงเกือบจบเรื่อง “ตู้คาราโอเกะ” (และเพลงดังจากยุค 80-90) ดูเหมือนจะเป็นเครื่องเก็บงำและเปิดเผยอดีตหรือความลับในใจของตัวละครหลายราย

ทว่า จริงๆ แล้ว สถานะสำคัญสุดของ “ตู้คาราโอเกะ” ในหนังเรื่องนี้ กลับปรากฏผ่านสายสัมพันธ์ระหว่าง “นายใหญ่” กับหญิงสาวต่างด้าวที่ถูกส่งมาขายตัวอย่าง “เปรมิกา”

ณ เบื้องต้น “ตู้คาราโอเกะ” เป็นทั้งช่องทางที่ช่วยให้ “เปรมิกา” สามารถปรับประสานต่อรองเข้ากับ “ความเป็นไทย” (ภาษาไทย) ได้ในระดับหนึ่ง และเป็นเครื่องมือที่พาเธอหลบหนีออกจากความจริง/ความทุกข์

เมื่อความขัดแย้งดำเนินไปถึงขีดสุด ความสัมพันธ์ที่มี “ตู้คาราโอเกะ” เป็นสื่อกลาง ก็ช่วยหนุนเสริมให้ “เปรมิกา” ซึ่งถูกกดขี่เหยียดหยามอยู่ตลอดเวลา สามารถเหยียดกลับหรือหัวเราะเยาะใส่ “นายใหญ่” ผู้ร้องเพลงเพี้ยนได้

แน่นอน กลยุทธ์การ “หัวร่อต่ออำนาจ” นั้นไม่ได้ “เวิร์ก” เสมอไป และผลลัพธ์หลังเสียงหัวเราะของ “เปรมิกา” ก็นำไปสู่เหตุการณ์ฆาตกรรม ซึ่งทำให้ “ผีสาวต่างด้าว” ต้องหันมาเอาคืนบรรดาผู้คน (ผู้ชาย) ที่เคยกระทำความรุนแรงต่อเธอ ด้วยความรุนแรงที่ดิบเถื่อนถึงเลือดถึงเนื้อมากกว่า ไม่ใช่อารมณ์ขบขันเฮฮา (หรือการเหยียดกลับ)

องค์ประกอบอีกส่วนที่เป็นทั้ง “จุดดี” และ “จุดด้อย” ของหนังเรื่องนี้ ก็คือ แพทเทิร์นที่คอยกำหนดบ่งชี้ว่าตัวละครรายไหนจะต้องถึงฆาตในเกมการร้องเพลงคาราโอเกะ ภายใต้อำนาจของผีสาว

โดยส่วนใหญ่ตัวละครที่ต้องตายเพราะร้องคาราโอเกะผิด/เพี้ยน จะได้แก่ผู้ชายที่เคยกระทำสิ่งแย่ๆ ต่อผู้หญิง ตั้งแต่ฆ่า, กดขี่, ทิ้งขว้าง, ทำเธอท้องแล้วพาไปทำแท้ง, ขูดรีดหรือใช้หาประโยชน์ทางธุรกิจ (มืด) เรื่อยไปจนถึงเหยียดหยาม ล้อเลียน และลวนลาม

ขณะที่ตัวละครผู้มีพฤติกรรมอยู่นอกเกณฑ์เหล่านี้กลับรอดชีวิต เช่น ตุล นักร้องหนุ่ม ผู้มีทัศนคติต่อความเป็นชายในอีกรูปแบบหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ยังมีตัวละครคู่หนึ่งซึ่งถูกเล่นงานโดยเกมคาราโอเกะสยองขวัญเป็นคู่แรกๆ ทั้งๆ ที่วิถีชีวิตและความประพฤติของพวกเธออยู่นอกเหนือจากแพตเทิร์นข้างต้น นั่นคือ คู่หูเน็ตไอดอลสาวที่ร้องเพลงไม่ได้เรื่อง

ว่าไปแล้วสองสาวคู่นี้ดูจะมีสถานะเป็น “เหยื่ออารมณ์” ของ “ผีสตรีชายขอบ” อีกต่อหนึ่ง แม้พวกเธออาจปากร้ายและไร้สาระไปนิด แต่ก็ไม่ได้ทำผิดรุนแรงจนสมควรถูกลงทัณฑ์ถึงชีวิต

มิหนำซ้ำ เธอทั้งคู่ยังมีสถานภาพเป็นเบี้ยเล็กเบี้ยน้อยในอุตสาหกรรมความบันเทิงที่ผู้ชายเป็นฝ่ายกำหนดกฎกติกาและแนวทางรสนิยม ไม่ต่างอะไรกับที่ “ผีเปรมิกา” เคยเผชิญ

“คู่หูเน็ตไอดอล” จึงกลายเป็น “เหยื่อของเหยื่อ” โดยสมบูรณ์แบบ

เรื่องตลกร้าย คือ เมื่อเปลี่ยนอัตลักษณ์ไปเป็นผี ทั้งสองสาวกลับฟื้นคืนชีวิตชีวาขึ้นมา จนมีบทบาทอันทรงคุณค่าเปี่ยมแก่นสาร และสามารถส่งรับลูกล่อลูกชนกับ “ผีเปรมิกา” ได้อย่างคล่องแคล่วลงตัว

มื่อกล่าวถึงประเด็นอัตลักษณ์แล้ว อีกจุดหนึ่งซึ่งน่าสนใจมากใน “เปรมิกาป่าราบ” คือ ชื่อเสียงเรียงนามของตัวละครนำ

หนังบอกคนดูตั้งแต่แรกว่า “ผีสาวชายชอบ” ในเรื่อง ไม่ได้มีชื่อดั้งเดิมว่า “เปรมิกา” แต่ “เปรมิกา” เป็นนามสมมุติที่จ่าตำรวจซึ่งมาทำคดีฆาตกรรมตั้งให้เธอแบบลวกๆ เพราะเห็นป้ายชื่อร้านตัดเสื้อ “เปรมิกา” ถูกเย็บติดอยู่ตรงคอเสื้อที่ศพสวมใส่

ขณะมีชีวิตเป็นมนุษย์ หญิงสาวผู้ถูกกระทำรายนี้ จึงมิได้มีชื่อว่า “เปรมิกา” ไม่มีใครล่วงรู้ด้วยซ้ำว่าชื่อจริงของเธอคืออะไร?

ที่ตลก คือ ภายหลังเธอถูกฆ่าและถูกขนานนามเสียใหม่ ตัวผีสาวเองก็ดันยอมรับชื่อสมมุตินี้ไปด้วยโดยปริยาย ดังจะเห็นได้จากชื่อเกม “เปรมิกาคาราโอเกะ” ที่เธอนำมาใช้เล่นงานล้างแค้นผู้คน

เท่ากับว่าจ่าตำรวจเป็นคนแปะป้ายระบุอัตลักษณ์บางอย่างให้แก่ผีสาว (แบบมั่วๆ) แล้วผีสาวก็นำเอาอัตลักษณ์ดังกล่าว (ที่คนอื่นสร้างขึ้นเพื่อบอกว่าเธอคือใคร โดยไม่สนใจข้อเท็จจริง) มาใช้งานหรือเปิดเผยแสดงตัวตน

นี่จึงเป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่กำกวมลักลั่นไม่น้อย หากคิดหรือตีความว่าการหลอกหลอน-แก้แค้นของ “ผีเปรมิกา” คือ “การต่อสู้ปลดปล่อย” ชนิดหนึ่ง

เพราะ “การปลดปล่อย” ที่ว่า ยังต้องหยิบยืม “ชื่อเสียงเรียงนาม” ซึ่งถูกนิยามโดยกระบวนการทำงานอันมักง่ายของเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้มีส่วนกดขี่/เพิกเฉยต่อเธอ มาใช้เป็นอาวุธต่อสู้

ประเด็นท้ายสุดที่อยากทดลองเสนอทิ้งไว้ นั้นเกิดจากปัญหาเล็กๆ ข้อหนึ่ง ซึ่ง “เปรมิกาป่าราบ” แชร์ร่วมกับหนัง-ละครไทยจำนวนมาก

ถ้าลองสังเกตให้ดี เราจะพบว่าหนัง-ละครไทยแทบทุกเรื่อง ที่ต้องมีตัวละครเป็น “ตำรวจ” มักใส่รายละเอียดเกี่ยวกับชั้นยศและตำแหน่งของข้าราชการประเภทนี้ผิดหมดเลย

จุดผิดพลาดที่เห็นได้บ่อยๆ ก็เช่นการกำหนดให้ตัวละคร “สารวัตร” เป็นเหมือนนายตำรวจผู้มีอำนาจสูงสุดในสถานี (ราวกับไม่รับรู้ถึงการดำรงอยู่ของ “ผู้กำกับการ”)

หรือการที่บรรดาตัวละครชอบเรียกสถานีตำรวจตามพื้นที่ต่างจังหวัดว่า “สน.” ซึ่งย่อมาจาก “สถานีตำรวจนครบาล” (จนเหมือนคนทำหนัง-ละคร จะไม่รู้จัก “สภ.” หรือ “สถานีตำรวจภูธร”)

ความบกพร่องสองข้อนี้ก็เกิดขึ้นใน “เปรมิกาป่าราบ” เช่นเดียวกับตัวละครผู้หมวดหนุ่มไฟแรงในหนัง ที่กล่าวแนะนำตนเองว่ามียศเป็น “ร้อยตำรวจ” แบบห้วนๆ (ไม่มีตรี, โท ต่อท้าย)

หลายปีที่ผ่านมา ผมรู้สึกว่านี่เป็น “ความไม่รู้” (ซึ่งน่าหัวเราะเยาะ) ของบรรดาคนทำสื่อบันเทิงไทย

แต่หลังจากดู “เปรมิกาป่าราบ” จบ ผมกลับพบประเด็นน่าสนใจและอยากทดลองเสนอ ว่าจริงๆ แล้ว การมั่วเรื่องยศตำรวจในหนัง-ละครไทยนั้น มีที่มาจากโลกทัศน์-วิธีคิดบางประการ

กล่าวคือ เป็นไปได้หรือไม่ว่าในการรับรู้ของผู้คนส่วนใหญ่ รายละเอียดยิบย่อยเรื่องชั้นยศ-ตำแหน่งของเจ้าหน้าที่รัฐ แทบจะ “ไม่ทำหน้าที่” หรือ “ไม่มีประโยชน์” ใดๆ ต่อสาธารณชน

ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงไม่จำเป็นจะต้องใส่ใจมันให้มากความ หรือพยายามศึกษาเข้าใจมันให้ถ่องแท้ถูกต้องเป๊ะๆ

กลับมาที่ “เปรมิกาป่าราบ” สถานภาพของตัวละครตำรวจในหนังนั้นคลุมเครือ กึ่งดิบกึ่งดี และไร้ประสิทธิภาพ

หนังมีทั้ง “ตำรวจไม่ดี” ซึ่งฝ่าฝืน-ไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง และ “ตำรวจดี” ที่พยายามจะปฏิบัติหน้าที่อย่างหนักแน่นจริงจัง แต่กลับไม่สามารถสะสางคดีได้ครบทุกขั้นตอน เพราะไปเจอสถานการณ์ “จุดไต้ตำตอ” เข้าให้

“ตำรวจดี” ทำได้แค่เพียงยืนมอง “ผีเปรมิกา” ลุกขึ้นมาชำระล้างปมแค้นทั้งหมดด้วยตัวเธอเอง

ดังนั้น หนังผี-ตลกเกรดบีส่งท้ายปี 2560 จึงอาจกำลังบอกกล่าวกับเราว่าเมื่อ “ตำรวจ” ถูกประเมินว่าไม่มีหน้าที่ทางสังคมซะแล้ว สังคมก็ไม่จำเป็นจะต้องเสียเวลาทำความรู้จักชั้นยศและตำแหน่งของพวกเขาให้เหนื่อยยาก

ดุจเดียวกันกับชั้นยศและตำแหน่งอันละเอียดลออสลับซับซ้อนของเจ้าหน้าที่รัฐประเภทอื่นๆ