“ตับอ่อนเธอนั้นขอฉันเถอะนะ” กับญี่ปุ่นสมัยใหม่

ในช่วงปีสองปีมานี้ ภาพยนตร์ญี่ปุ่นที่เล่นกับมิติทับซ้อนของเวลามีออกมาอย่างต่อเนื่อง

นับแต่ความสำเร็จอย่างภาพยนตร์อะนิเมะ your name และภาพยนตร์รักอารมณ์ชวนฝันอย่าง Tomorrow I will Date With Yesterday”s you จนมาถึง The 100th Love With You ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญในเรื่องของเวลาได้เป็นอย่างดี และมีความหมายลึกซึ้งน่าจดจำทั้งในฉบับภาพยนตร์และหนังสือ

ดังคำพูดที่กล่าวว่า “ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต ปัจจุบันขณะเท่านั้น คือเวลาแท้จริง” และ “จงทำทุกวินาทีของชีวิตให้มีความสุข”

ซึ่งในระยะหลังๆ มานี้ หนังญี่ปุ่นแนวรักโรแมนติกหลายต่อหลายเรื่อง มักชอบเล่นกับประเด็นเหล่านี้ ราวกับจะบอกว่าชีวิตนั้นสั้นนัก แต่การได้รักและได้ทำในสิ่งที่รักนั้นยืนยาวกว่าและจะไม่ทำให้เราหวนกลับมาเสียใจในภายหลัง

ซึ่งชวนให้คิดถึงเหตุการณ์ความรุนแรงฉับพลันที่มักเกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัวและความตายมาเยือนอย่างไม่ทันรู้ตัว เช่นเดียวกับเหตุภัยพิบัติต่างๆ และข่าวอาชญากรรมสะเทือนขวัญที่มักเกิดขึ้นในสังคมญี่ปุ่นที่ในสายตาของ “คนนอก” พากันชื่นชมและมองญี่ปุ่นเป็นประเทศที่สวยงาม ผู้คนอัธยาศัยดีมีมารยาท เคารพกฎกติกา เป็น 1 ในประเทศอันดับต้นๆ ที่นักท่องเที่ยวอยากมาเยือนมากที่สุด

ตรงนี้จึงนับเป็นความขัดแย้งไม่น้อย หากมองอีกด้านที่มักเป็นข่าวด้านลบอยู่เนืองๆ

ในหนังสือ ญี่ปุ่นสมัยใหม่ : ความรู้ฉบับพกพา ของ คริสโตเฟอร์ โกโต-โจนส์ ย่อโลกความ “เป็นญี่ปุ่น” ไว้อย่างน่าสนใจและบันทึกเหตุการณ์สำคัญๆ ทางประวัติศาสตร์ครอบคลุมไว้หลายช่วงตอน

โดยเฉพาะเหตุการณ์ความรุนแรงนั้น คาโต้ โนริฮิโระ นักเขียนนักวิจารณ์ผู้ทรงอิทธิพล กล่าวว่า ญี่ปุ่นมองอดีตและอัตลักษณ์ของตนเกือบจะเหมือนโรคร้าย ภายใต้แรงกดดันจากสหรัฐอเมริกาในยุคหลังสงคราม สังคมญี่ปุ่นป่วย ชอบถูกทำร้าย และเป็นโรคจิตเภท สิ่งจำเป็นต้องทำคือการหารือกันอย่างตรงไปตรงมาว่าอัตลักษณ์แท้จริงของญี่ปุ่นคืออะไร

มูราคามิ ฮารูกิ นักเขียนชื่อดังได้อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านของตัวเองผ่านบันทึกปากคำของเหยื่อผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ โอม ชินริเคียว ในผลงาน Underground สารคดีเล่มแรกของเขาด้วยเช่นกัน และกล่าวด้วยสายตาของคนนอก (ซึ่งเจ้าตัวมักออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านเกิดอยู่เนืองๆ และนักเขียนในญี่ปุ่นเองมักค่อนแคะว่างานเขียนของเขาไม่มีจิตวิญญาณความเป็นญี่ปุ่นเหลืออยู่) ว่า

…ญี่ปุ่นสมัยใหม่ไม่อาจมอบความรู้สึกร่วมในเชิงอัตลักษณ์และชุมชนให้กับประชาชนได้ ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ศตวรรษที่ 21 โอมเหมือนชาติภายในชาติอีกที เป็นชาติย่อยที่ตรงกับจินตนาการของผู้ที่ไม่ถูกวัตถุบังตา มันคือปัจจุบันที่แตกต่าง (ชนิดที่สังคมเคยกลัวว่าเป็นที่สิงสถิตของพวกโอตากุ) ซึ่งเชื่อว่าจะกำจัดสิ่งชั่วร้ายไปจากปัจจุบันที่แท้จริงได้ (หน้า 192-193)

ท่ามกลางความสับสนอลหม่านของญี่ปุ่นสมัยใหม่ นักเขียนหญิงอย่าง โยชิโมโต บานานา ก็เป็นอีกกระบอกเสียงหนึ่งที่ถ่ายทอดภาวะแปลกแยกดังกล่าวผ่านผลงานของเธอด้วยเช่นกัน

“หลับ” เป็นนิยายขนาดสั้น 3 เรื่อง ซึ่งมีจุดศูนย์รวมเดียวกันคือปัญหาเรื่องความรักและการไม่สามารถหาทางออกให้กับตัวเองได้

การนอนหลับไม่อยากตื่นหรือนอนไม่หลับตลอดคืนจนต้องปลีกวิเวกตัวตนอย่างไร้จุดหมาย จึงเป็นทางออกที่ตัวละครต่างใช้รับมือเพื่อหลีกหนีความจริงที่ต้องเผชิญ ซึ่งก็คือการไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคมเมืองที่ตนอาศัยอยู่ได้นั่นเอง (ในนิยายเรื่องคิทเช่น บานานาก็ใช้ห้องครัวเป็นสัญลักษณ์แทนการหลีกเร้นตัวตนเช่นกัน)

ราวกับหากญี่ปุ่นย้อนเวลากลับไปแก้ไขอดีตบางช่วงตอนได้ บางช่วงตอนทางหน้าประวัติศาสตร์ก็คงจะเปลี่ยนไป กลไกของชีวิตคงไม่เป็นอัตราเร่งและกลายเป็นปัจเจกเช่นทุกวันนี้ และความสุขก็คงจะไม่หยุดอยู่แค่ในอดีตที่ได้แต่หวนหาความเป็นครอบครัวใหญ่ (มิใช่เพียงพ่อแม่ลูก แต่รวมถึงปู่ย่าตายายในบ้านหลังเดียวกัน)

และคุณค่าของเวลาที่มีอยู่แต่ในภาพยนตร์รักโรแมนติกที่ทำออกมาเพียงเพื่อเยียวยาและปลอบประโลมใจ

ช่นเดียวกับภาพยนตร์รักเรื่องล่าสุด “ตับอ่อนเธอนั้นขอฉันเถอะนะ” (KIMI NO SUIZO WO TABETAI-แทบกุมความสำเร็จเดียวกันมา เพราะทั้งตัวผู้กำกับฯ โช ทสึกิคาวะ ก็มาจาก The 100th Love With You และมือเขียนบท โทโมโกะ โยชิดะ มาจาก Tomorrow I will Date With Yesterday”s you)

ซึ่งเล่าเรื่องราวความป่วยไข้ของ “ซากุระ” กับช่วงเวลาสั้นๆ ผ่านสมุดบันทึกของเธอในทุกวันของความสุขกับการได้ทำในสิ่งที่อยากทำและได้รักในสิ่งที่อยากรัก ได้หัวเราะสนุกร่วมกับเพื่อนๆ ในทุกเวลาที่ยังมีลมหายใจเหลืออยู่ “จงทำทุกวินาทีของชีวิตให้มีความสุข” จึงเป็นหัวใจสำคัญของหนังที่ส่งตรงถึงคนดูเพื่อบอกให้เราทุกคนใช้ชีวิตที่มีอยู่ให้คุ้มค่าที่สุด

เหมือนที่ซากุระได้บอกกับชายหนุ่มผู้เป็นหนอนหนังสือของเธอว่าให้ “ออกไปใช้ชีวิต”

ซึ่งกว่าที่เจ้าตัวจะค้นพบความสุขที่แท้ของการมีชีวิตอยู่ ก็เมื่อเขาได้มาพบจดหมายฉบับหนึ่งที่เธอซุกซ่อนเอาไว้ในหนังสือเจ้าชายน้อย

ท้ายข้อความในจดหมายเขียนว่าให้เขา “ออกไปใช้ชีวิต” ซึ่งเป็นคำที่เขารอคอยมายาวนานถึง 12 ปีกว่าที่ชีวิตจะคลี่คลายและนับต่อจากวันนี้ที่จะล่วงรู้ความหมายของการมีชีวิตอยู่มากขึ้น ทั้งเรื่องการตัดสินใจไม่ลาออกจากการเป็นอาจารย์สอนหนังสือ และการกลับไปขอเป็นเพื่อนกับเพื่อนสาวคนสนิทของซากุระ (เธอเคยเกลียดหน้าเขามากตอนสมัยเรียน) ในวันที่ชีวิตของเธอกำลังก้าวเข้าสู่ประตูวิวาห์กับเพื่อนร่วมห้องของเขาเอง

แง่หนึ่งเวลาทุกข์ทรมาน 12 ปี ได้กักขังเขาไว้มิให้ก้าวออกไปไหนราวกับกาลเวลาหยุดนิ่ง อีกแง่หนึ่ง เวลา ที่ได้ล่วงเลยจนได้มาล่วงรู้ความลับบางอย่างก็ได้ปลดปล่อยความซ้ำซากจำเจของชีวิตให้เขาได้มีชีวิตอยู่ต่อไป

และเป็น “ชีวิตใหม่” ที่เมื่อเธอบนสวรรค์มองลงมาจะได้เห็นรอยยิ้มที่มีความสุขของเขาอีกครั้ง

ฉากหนึ่งที่ฝ่ายชายพูด (แต่ฝ่ายหญิงไม่อาจได้ยินแล้ว) ว่า “ฉันอยากกินตับอ่อนของเธอ” จึงนับเป็นฉากหนึ่งในคำบอกรักที่ไม่สามารถหาคำอื่นใดมาทดแทนได้ เป็นความหมายหนึ่งเดียวซึ่งเป็นความลับระหว่างเขาและเธอเพียงสองคน

มองในมุมกว้างกว่าปัจจุบันขณะที่เราทุกคนกำลังหายใจอยู่บนโลกใบเดียวกัน เราคงไม่ปฏิเสธว่า เรารีบเร่งใช้ชีวิตไปกับการเรียน การทำงานหามรุ่งหามค่ำ การเก็บสะสม ฯลฯ แต่ทว่าหลายคนไม่ได้ใช้ชีวิต หลายคนจากไปก่อนวัยอันควร หลายคนยังไม่ได้รักและถูกรัก หลายคนยังไม่รู้จักคุณค่าของเวลาที่มีอยู่ เราจึงใช้เวลาที่มีไปอย่างไร้ค่า และ “ฆ่า” เวลาที่มีอยู่อย่างไร้ความหมาย

ความรักของหนังรักเรื่องนี้ “ตับอ่อนเธอนั้นขอฉันเถอะนะ” จึงเป็นอีกภาพสะท้อนหนึ่งในจำนวนภาพยนตร์รักหลายต่อหลายเรื่องที่เข้าฉายในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน เพื่อตอกย้ำและแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของเวลาที่มีอยู่และพลังแห่งรักแท้ที่จะไม่มีวันเลือนหายไปตามกาลเวลา

หากความเป็นญี่ปุ่นสมัยใหม่ในทุกวันนี้จะเดินให้ช้าลงและหยุดละเลียดอยู่กับปัจจุบันขณะได้เหมือนในภาพยนตร์บ้างก็คงจะดี

ข้อมูลประกอบการเขียน

ญี่ปุ่นสมัยใหม่ : ความรู้ฉบับพกพา /คริสโตเฟอร์ โกโต-โจนส์ เขียน/ พลอยแสง เอกญาติ แปล

หลับ โยชิโมโต บานานา เขียน/ เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย แปล