ไปดูคอนเสิร์ต ‘พัลป์’ ที่ลอนดอน (จบ) : วงดนตรี ‘ธรรมดาๆ ที่แสนพิเศษ’ วงหนึ่ง

คนมองหนัง

พ้นจากมิติเรื่อง “เพลงการเมือง” คอนเสิร์ตใหญ่ของ “พัลป์” ที่ “ฟินส์บิวรีพาร์ก” ยังมีองค์ประกอบน่าประทับใจอีกหลายจุด

แน่นอนว่าหนึ่งในเพลงเด่นที่ทางวงต้องนำมาขับร้อง-บรรเลงกันตั้งแต่ช่วงต้นๆ (เล่นเป็นเพลงที่สี่) ก็คือ “Something Changed” เพลงรักเนื้อหาคมคายชวนขบคิด ซึ่งมีท่วงทำนองหวานซึ้งไพเราะที่สุดของ “พัลป์” และดูจะเป็นผลงานไม่กี่เพลงของพวกเขาที่ได้รับอิทธิพลจาก “เดอะ บีตเทิลส์” มาบ้างไม่มากก็น้อย

เนื้อหาของเพลงรักเพลงนี้เล่นกับประเด็นสากล ผ่านคำถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นในวันนี้ ถ้าเราไม่ได้ตัดสินใจลงมือทำอะไรบางอย่างและได้เจอใครบางคนในวันนั้น

พูดอีกอย่างคือ เพลงได้ระบุถึงความสำคัญของบุคคลคนหนึ่งและเหตุการณ์บางเหตุการณ์ ซึ่งจะส่งผลให้ชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล

อย่างไรก็ดี ณ เวทีคอนเสิร์ตที่ลอนดอน “พัลป์” มิได้นำเพลงเพลงนี้มาร้องบรรเลงในฐานะเพลงรักเพลงหนึ่งเพียงเท่านั้น แต่ “จาร์วิส ค็อกเกอร์” และมิตรสหาย ยังอุทิศเพลงดังกล่าวให้แก่ “สตีฟ แม็กคีย์” มือเบสในยุคคลาสสิคไลน์อัพที่เพิ่งเสียชีวิตลงขณะมีอายุ 56 ปี เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

เพราะแม็กคีย์คือบุคคลอีกคนหนึ่งที่ก้าวเดินเข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตของเพื่อนร่วมวงที่เหลือ ไม่ให้เหมือนเดิมอีกต่อไป

 

เพลงอีกกลุ่มที่สร้างความสุขให้แก่แฟนเพลง ทั้งกลุ่มที่มีอายุ 40-50 ปีขึ้นไป ตลอดจนคนหนุ่มสาวที่พลัดหลงเข้ามาบ้างประปราย ได้อย่างเท่าเทียมกัน ก็ได้แก่เพลงที่มีเนื้อหาในแนว “ข้ามวันพ้นวัย” (coming of age) ที่สะท้อนถึงภาวะการเติบโตเปลี่ยนผ่านของวัยรุ่นทุกยุคสมัย

ไม่ว่าจะเป็น “Disco 2000” “Babies” “Razzmatazz” และ “Do You Remember the First Time?” ซึ่งจาร์วิสได้มอบเพลงหลังสุดนี้ให้แก่บรรดาแฟนเพลงที่เคยเดินทางเข้ามาชมคอนเสิร์ตของพวกเขาที่ “ฟินส์บิวรีพาร์ก” เมื่อปี 1998 หรือ 25 ปีก่อน

ลักษณะร่วมของเพลงกลุ่มนี้ คือ การพูดถึงเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศอย่างมีเสน่ห์ บางเพลงก็เปี่ยมอารมณ์ขัน ส่วนบางเพลงก็เจือกลิ่นเศร้า

ขณะที่เพลงเพราะๆ หม่นๆ เช่น “Underwear” ก็เป็นอีกบทเพลงที่ถ่ายทอดเรื่องราวบนเตียงออกมาด้วยมุมมองค่อนข้างดาร์ก

ทั้งยังมีเพลงที่บอกเล่าถึง “วัฒนธรรมการใช้ยาเสพติด” ผ่านท่วงทำนองสนุกสนานและสีสันทางดนตรีอันแพรวพราว อย่าง “Sorted for E’s & Wizz”

 

ย้อนไปในยุคบริตป๊อปฟูเฟื่อง “พัลป์” เคยรับงานแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์อยู่บ้าง และเพลงในหนังที่พวกเขานำมาเล่นที่ “ฟินส์บิวรีพาร์ก” ก็ได้แก่ “Like a Friend” เพลงจากภาพยนตร์เรื่อง “Great Expectations” ฉบับปี 1998 ซึ่งนำแสดงโดย “กวินเน็ธ พัลโทรว์” และ “อีธาน ฮอว์ก”

กระนั้นก็ตาม ผมรู้สึกเสียดายไม่น้อย ที่พวกเขาไม่ได้เล่นเพลง “Mile End” อีกหนึ่งเพลงที่ตีแผ่ปัญหาชนชั้นในสังคมอังกฤษได้อย่างเผ็ดร้อน ซึ่งถูกนำไปใช้ประกอบภาพยนตร์ในความทรงจำของหลายๆ คน เรื่อง “Trainspotting” (1996)

นอกจากนี้ ผมยังผิดหวังนิดๆ (แต่พอคาดเดาได้อยู่แล้ว จากการตรวจสอบรายชื่อเพลงที่ “พัลป์” เล่นบนเวทีอื่นๆ ก่อนหน้าวันที่1 กรกฎาคม) ที่พวกเขาไม่ร้อง-บรรเลงเพลง “Bar Italia” แทร็กสุดท้ายจากอัลบั้ม “Different Class” ที่เล่าถึงชีวิตผุๆ พังๆ ตายซาก ซึ่งคล้ายจะไร้เรี่ยวแรงต่อสู้-ต่อต้านกับอะไรอีกแล้ว ผ่านการดำรงอยู่ของร้านกาแฟเก่าแก่ย่านโซโห

หากจะให้สรุปภาพรวมของประสบการณ์การได้ดู “พัลป์” แสดงสดเป็นครั้งแรก (และอาจจะครั้งเดียว) ในชีวิต ก็ต้องบอกว่า นี่เป็นเหมือนภารกิจการเติมเต็มความปรารถนาส่วนบุคคลของตนเอง ที่อยากจะได้ดูคอนเสิร์ตของ “วงรัก” สักหนหนึ่ง

แม้ “พัลป์” ที่ผมได้เจอ จะไร้ซึ่งสมาชิกในยุครุ่งเรืองบางคน เช่น แม็กคีย์ที่เสียชีวิต ตลอดจน “รัสเซลล์ ซีเนียร์” มือกีตาร์-ไวโอลิน ที่แยกตัวออกจากวงหลังปี 2011

ส่วน “ริชาร์ด ฮอว์ลีย์” นักร้อง-นักแต่งเพลง มือกีตาร์ และโปรดิวเซอร์ฝีมือดีอีกรายจากเชฟฟิลด์ ซึ่งเป็นดั่ง “สมาชิกขาจร/แขกรับเชิญขาประจำ” ก็ไม่ได้ขึ้นเวทีที่ลอนดอน แต่ไปร่วมแจมกับวงบนเวทีที่บ้านเกิด

ขณะที่สมาชิกจากยุคคลาสสิคไลน์อัพที่เหลือก็อยู่ในวัยใกล้ปลดเกษียณกันหมดแล้ว เนื่องจากจาร์วิส และ “แคนดิดา ดอยล์” มือคีย์บอร์ดหญิงของวง ต่างก็จะมีวัยครบ 60 ปีในปีนี้ ด้าน “นิค แบงก์ส” มือกลองก็กำลังจะมีอายุครบ 58 ปี ในปลายเดือนกรกฎาคม แม้แต่สมาชิกหลักที่อ่อนเยาว์ที่สุดอย่าง “มาร์ก เวบเบอร์” (กีตาร์-คีย์บอร์ด) ก็จวนจะมีอายุ 53 ปีเต็มเช่นกัน

ทั้งนี้ ต้องยอมรับด้วยว่า การแสดงสดของ “พัลป์” ไม่ได้มีอะไรชวนว้าวชวนทึ่งในทางดนตรี

เปรียบเทียบง่ายๆ ให้เห็นภาพ คือ ก่อนหน้าจะบินไปลอนดอน ผมมีโอกาสชมโชว์ของ “เดเมียน ไรซ์” นักร้อง-นักแต่งเพลงชาวไอริช ซึ่งบินมาเปิดคอนเสิร์ตที่ยูเนียนมอลล์ ลาดพร้าว คราวนั้น ผมยังมีความรู้สึกว่า “หมอนี่มันยอดมนุษย์และมหัศจรรย์จริงๆ”

เช่นเดียวกับการได้ดูคอนเสิร์ตใหญ่ “40 ปีของพี่กับน้อง” ของ “ดิ อินโนเซ้นท์” เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ที่การโซโล่กีตาร์หลายๆ ครั้งของ “ชาตรี คงสุวรรณ” นั้นน่าปรบมือหรือร้องกรี๊ดให้มากๆ

 

ทว่า สิ่งสำคัญที่ “พัลป์” มี ก็คือ เรื่องเล่าอันทรงพลังว่าด้วยผู้คนธรรมดาสามัญ ตลอดจนวิถีชีวิตและกิจวัตรประจำวันอันแสนปกติของมนุษย์เหล่านั้น ซึ่งโลดแล่นไปตามคลื่นลมผันผวนของอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ นานา ตั้งแต่ความโกรธ ความเศร้า ไปจนถึงความยียวนกวนโอ๊ย และการมีอารมณ์ขัน

นี่เป็น “คุณค่า” ที่ถูกซุกซ่อนอยู่ในวงดนตรี ซึ่งดูเหมือนไม่ได้มีฝีไม้ลายมือวิเศษเลอเลิศวงหนึ่ง

ไม่ต่างอะไรกับการที่พวกเขาเลือกใช้ชื่อวงว่า “Pulp” ที่แปลว่า “หนังสือ (โป๊) หรือสิ่งของราคาถูก-คุณภาพต่ำ” และเริ่มต้นทำงานเพลงตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1970 ด้วยแนวดนตรี “พังก์” ซึ่งหยาบ ดิบ และง่าย

(จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ “พัลป์” จะเชิญ “เว็ต เลก” วงดนตรีหญิงคู่แนว “โพสต์-พังก์” รุ่นใหม่ ซึ่งเพิ่งได้รับรางวัลบริต อวอร์ดส์ และแกรมมี่ อวอร์ดส์ มาเป็นหนึ่งในวงเปิดบนเวทีของพวกเขาที่กรุงลอนดอน)

เพราะสุดท้ายแล้ว กาลเวลาก็ช่วยยืนยันว่า “เนื้อหาสาระ” และ “อารมณ์ความรู้สึก” ที่ไหลเลื่อนเคลื่อนไหวอย่างเปี่ยมพลวัตอยู่ภายใต้ภาพลักษณ์ภายนอกอันไม่วิเศษวิโสต่างหาก

ที่กลายเป็นคุณสมบัติพิเศษสุดของวงดนตรีวงนี้ •

 

| คนมองหนัง