IL BUCO : ‘ความลึกล้ำพันลึก’

นพมาส แววหงส์

“เป็นประสบการณ์หนังที่แปลกแหวกแนว ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือนจริงๆ…”

เหลือบไปเห็นว่าคอลัมน์นี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วใช้ประโยคนี้ลงท้าย เมื่อพูดถึงหนังเรื่อง Beau Is Afraid

สัปดาห์นี้ก็ขอเปิดคอลัมน์สำหรับ Il Buco ด้วยประโยคเดียวกันนี้แหละค่ะ

แต่อาจจะต้องขอเปลี่ยนคำสักคำในประโยค…จาก “ใคร” เป็น “อะไร”

Il Buco หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า The Hole เป็นหนังที่ได้รับคัดเลือกเข้าประกวดในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่เวนิซครั้งที่ 78 และได้รับรางวัล Special Jury Prize

สร้างประสบการณ์การดูหนังแบบแปลกใหม่ ชวนให้คิดพิศวง ชวนให้ขบคิดถึง ตั้งคำถามโลกแตกเกี่ยวกับชีวิต แบบไม่เหมือนหนังเพื่อความบันเทิงเรื่องอื่นใดเลย

จังหวะการเดินเรื่อง การตัดภาพและการเล่าเรื่องออกจะละม้ายคล้ายคลึงกับการสร้างหนังสารคดี

แถมด้วยการแทบไม่ใช้บทพูดที่ฟังเป็นเรื่องเป็นราวเป็นภาษามนุษย์เลยก็ว่าได้ จะเว้นก็แต่ตอนเปิดกับตอนปิดเรื่อง เหมือนปกหนังสือปกหน้าปกหลังเท่านั้น

ถ้าไม่นับช่วงสั้นๆ ช่วงเปิดเรื่องกับช่วงปิดท้าย ซึ่งให้ความกระจ่าง หรือส่อนัยถึงความหมายอันลึกล้ำของหนัง ตลอดความยาวร่วมชั่วโมงครึ่ง เราไม่ต้องเข้าใจภาษาอิตาเลียนก็จะเข้าใจหนัง โดยไม่จำเป็นต้องมีซับภาษาไทยด้วยซ้ำ

ผู้เขียนเชื่อว่าคนดูชาวอิตาเลียนเองก็คงฟังบทสนทนาที่มีอยู่ประปรายไม่มากไม่มายนัก แบบเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา คือแทบจับความอะไรไม่ได้เหมือนกัน

นั่นหมายความว่าบทพูดที่เราได้ยินประปรายไม่ได้สำคัญต่อการเล่าเรื่องหรือบอกนัยสำคัญของความหมายที่ซ่อนอยู่ ภาษาที่มนุษย์ใช้พูดจาสื่อสารกันเป็นเพียง “เสียงนกเสียงกา” อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ข้ามกาลเวลา ข้ามมิติของปริภูมิ

หนังเปิดเรื่องด้วยภาพที่เราเห็นในโปสเตอร์นั่นแหละค่ะ คือปากถ้ำที่มองจากเบื้องล่างขึ้นสู่ท้องฟ้า มีต้นไม้ใบหญ้าประปราย และเห็นหัววัวสองตัวผลุบโผล่อยู่

เป็นการมองสิ่งที่อยู่บนพื้นโลกจากเบื้องล่างในความมืดมิด

ตามมาด้วยเรื่องของสิ่งก่อสร้างฝีมือมนุษย์ที่ทะยานสู่เบื้องบน ซึ่งเป็นตึกสูงที่สุดในอิตาลีขณะนั้น

ตามด้วยทัศนะสั้น ๆ จากถ้อยคำของคนทำความสะอาดกระจกตึกสูง (สมัยนี้เขาเรียกอาชีพนี้ว่า “สไปเดอร์แมน” ใช่หรือเปล่าก็ไม่รู้) ซึ่งบอกว่าชอบการทำงานแบบนี้มาก เพราะถูกชักรอกขึ้นไปเช็ดกระจกหน้าต่างตามชั้นต่างๆ มองเห็นชีวิตของผู้คนที่ทำงานหนักอย่างน่าเหนื่อยหน่ายอยู่ด้านใน

ท้องเรื่องของหนังเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นใน ค.ศ.1961 ตึกพิเรลลีเพิ่งสร้างเสร็จในมิลาน เมืองธุรกิจในภาคเหนือที่ร่ำรวยของอิตาลี

ในช่วงเดียวกันนั้น กลุ่มนักสำรวจถ้ำที่ยังไม่เคยมีใครเคยสำรวจลงไปถึงก้นบี้ง ซึ่งประกอบด้วยคนหนุ่มอายุน้อย ก็เดินทางลงไปยังที่ราบคาลาเบรียทางภาคใต้ของอิตาลี เพื่อสำรวจความลึกของถ้ำพอลลิโนที่ยังไม่เคยมีใครสำรวจมาก่อน

กลุ่มนักสำรวจถ้ำนี้ไปตั้งแคมป์อยู่ใกล้ปากถ้ำ ชาวบ้านแถบนั้นแทบไม่ได้ให้ความสนใจอะไรเลย

มีเพียงชายเลี้ยงแกะชราผิวพรรณเหี่ยวย่นคนเดียวเท่านั้นที่เฝ้ามองดูพวกเขาอย่างสนใจท่ามกลางวันเวลาในชีวิตที่เคลื่อนคล้อยผ่านไปในแต่ละวัน

หนังเล่าเรื่องราวคู่ขนานกันไประหว่างคนรุ่นหนุ่มผู้ต้องการคลี่คลายความลึกลับที่ซ่อนอยู่ในธรรมชาติ ซึ่งยังไม่มีใครเคยค้นพบ…

…กับชายชรากรำโลกผู้กำลังเดินทางไปสู่จุดสุดท้ายบั้นปลายชีวิตที่ยังเป็นความลึกลับสำหรับมนุษยชาติเช่นเดียวกัน

เหมือนกับจะให้เป็นอุปมาอุปไมยสำหรับการเดินทางครั้งยิ่งใหญ่เข้าสู่โลกด้านในของเราในส่วนที่ยังเป็นปริศนาอันมืดมนและลึกล้ำ

การสำรวจซอกโพรงในถ้ำที่ลดเลี้ยวและลึกล้ำเป็นความท้าทายอย่างยากลำบากของคนรุ่นนั้น ซึ่งยังไม่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าไปช่วยอำนวยความสะดวก

ดังนั้นภาพที่เราเห็นคือ การสำรวจแบบมนุษย์ยุคหินก็ว่าได้ ด้วยการจุดไฟเผากระดาษที่ฉีกจากนิตยสาร ทิ้งลงไปเพื่อหยั่งความลึกดู

เปลวเพลิงในความมืดเป็นภาพอุปมาที่ให้ความหมายคมชัดค่ะ

ผู้เขียนชอบองค์ประกอบที่เล่าเรื่องราวตรงนี้ จากการใช้ภาพประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ ที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร ฉีกออกและจุดไฟเผาเพื่อสำรวจถ้ำในครั้งนี้

ชวนให้นึกไปถึงโครงการสำรวจดวงจันทร์ในยุคของเคนเนดี้ อันยังคงตราตรึง น่าตื่นเต้นและไม่เคยลบเลือนไปจากความทรงจำของคนรุ่นผู้เขียน

ตลอดระยะเวลาอันยาวนานในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ มนุษย์พยายามสำรวจความลี้ลับของจักรวาลทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง และลึกลงไปภายใน

ขอเตือนก่อนว่าไม่ใช่หนังสำหรับคนดูทั่วไปที่เรียกร้องต้องการความบันเทิงนะคะ

ช่วงแรกๆ ผู้เขียนก็รู้สึกอึดอัดอยู่บ้างจากความเงียบของหนังและการพยายามจับต้นชนปลายของตัวเอง แต่ที่ทำให้นึกแปลกใจตัวเองคือ ไม่ได้รู้สึกง่วงหรือเบื่อจนสัปหงกหรือทนนั่งต่อไปไม่ไหวเลย ยังนั่งดูต่อไปจนถึงตอนลงจบ…คือความสำเร็จของการสำรวจถ้ำลึกครั้งนี้ โดยนักสำรวจวาดแผนที่ซอกโพรงอย่างละเอียดลออ จนไปถึงทางตัน หรือก้นความลึกของถ้ำที่ 687 เมตร

ว่ากันว่าถ้ำแห่งนี้เป็นหนึ่งในถ้ำที่ลึกที่สุดในโลกที่มนุษย์ลงไปสำรวจแล้ว

หนังมีความงามของตัวมันเอง และนับเป็นประสบการณ์ดูหนังสำหรับคนที่อยากใคร่ครวญถึงความหมายในชีวิตและให้เวลาเงียบๆ แก่การมองชีวิตอย่างที่มันเป็น…

อย่าไปหวังอะไรมากกว่านั้นนะคะ •

IL BUCO

กำกับการแสดง

Michelangelo Frammartino

แสดงนำ

Nicola Lanza

Antonio Lanza

Leonardo Larocca

ภาพยนตร์ | นพมาส แววหงส์