‘อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล’ ความสัมพันธ์ของมนุษย์ และกระแสสำนึกของโลก

คนมองหนัง

ระหว่างวันที่ 4-16 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้มีการจัดกิจกรรมเรโทรสเปกทีฟ เพื่อฉายผลงานภาพยนตร์ทั้งยาวและสั้นเรื่องสำคัญของ “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” ผู้กำกับฯ ชาวไทย ณ “ฟิล์ม แอต ลินคอร์น เซ็นเตอร์” ที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา

ดังนั้น จึงมีบทสัมภาษณ์อภิชาติพงศ์หลายชิ้นที่ปรากฏตามสื่ออเมริกันสำนักต่างๆ

หนึ่งในนั้น คือบทสนทนาระหว่างคนทำหนังที่โด่งดังระดับโลกชาวไทย กับ “เจสัน มิลเลอร์” คนรักหนังและคอลัมนิสต์ด้านภาพยนตร์ชาวสหรัฐ ที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ thefilmstage.com

นี่คือเนื้อหาน่าสนใจบางส่วนจากบทสนทนาดังกล่าว

มิลเลอร์ : ขอเท้าความถึงอะไรสักเล็กน้อยก่อนจะเริ่มต้นคำถาม ย้อนไปเมื่อปี 2011 ตอนนั้น ผมมีอายุ 17 ปี ผมพยายามหาทางติดต่อคุณผ่านช่องคอมเมนต์ในเว็บไซต์บริษัท “คิก เดอะ แมชชีน” ของคุณ เพราะผมอยากให้โรงภาพยนตร์อิสระที่คอนเนตทิคัตได้จัดฉายหนังเรื่อง “ลุงบุญมีระลึกชาติ” ซึ่งคุณไม่เพียงแต่ช่วยเหลือเรื่องการจัดฉายหนัง แต่ยังสไกป์เข้ามาแนะนำหนังเรื่องนั้นด้วยตนเองอีกด้วย

อภิชาติพงศ์ : โห ผมเคยทำอย่างนั้นจริงๆ เหรอ?

มิลเลอร์ : มันถือเป็นประสบการณ์ที่สำคัญมากๆ สำหรับคนรักหนังรุ่นเยาว์คนหนึ่ง ดังนั้น ผมจึงขอขอบคุณคุณสำหรับการอุทิศเวลาในครั้งนั้น แล้วก็ขอบคุณคุณสำหรับการอุทิศเวลาในคราวนี้ด้วย

อภิชาติพงศ์ : ขอบคุณเช่นกัน ขอบคุณที่เคยพยายามติดต่อผม และรู้สึกยินดีมากที่ได้สนทนากับคุณอีกครั้ง

มิลเลอร์ : อาการเจ็บป่วยทนทุกข์ทรมานของร่างกายมนุษย์ คือ หนึ่งในลักษณะเด่นที่ปรากฏอยู่เสมอในผลงานของคุณ จากอาการไตวายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรรมเก่าของลุงบุญมี สู่อาการป่วยไข้หลับไหลของทหารจำนวนมากใน “รักที่ขอนแก่น” รวมถึงอาการเจ็บป่วยของตัวเองที่กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของหนังยาวเรื่องล่าสุด “Memoria”

ในแง่หนึ่ง เรื่องเหล่านี้เหมือนจะเชื่อมโยงกับประสบการณ์ของตัวคุณเองที่เติบโตขึ้นมาในโรงพยาบาล (เพราะการมีพ่อแม่เป็นหมอ) แต่มีอะไรอีกไหมที่ยึดโยงคุณเข้ากับแนวคิดเรื่องความอ่อนแอของร่างกายมนุษย์อย่างสืบเนื่องมาเป็นเวลาร่วม 20 ปี?

อภิชาติพงศ์ : มันเป็นแค่การทำให้คนดูได้ตระหนักถึงสภาพร่างกายของมนุษย์เหรอ? เปล่าเลย นอกจากเรื่องความเจ็บป่วยทางกายแล้ว นี่ยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับความผันแปรหรือความหลากหลายของอาการเจ็บปวดที่ไม่เคยหยุดนิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเจ็บปวดในความทรงจำของเรา

ดังนั้น ผมจึงเห็นว่านอกเหนือจากเรื่องโรคไตหรืออาการหัวปะทุ (Exploding Head Syndrome) แล้ว เรื่องเหล่านี้ยังนำพาเหล่าตัวละครและคนดูหนังไปสู่ประเด็นว่าด้วยอาการเจ็บป่วยของโลก และความผูกพันที่เรามีกับอาการเจ็บป่วยดังกล่าว

สำหรับผม ทั้งหมดทั้งมวลของการออกไปทำงานถ่ายหนังเรื่อง “Memoria” ล้วนข้องเกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ เพราะก่อนหน้านั้น ผมจะวิตกกังวลถึงปัญหาเรื่องความแตกต่างทางภาษาและวัฒนธรรม แต่ในที่สุด มันก็กลายเป็นเรื่องราวของความเป็นมนุษย์ที่แสนบริสุทธิ์

มันก็แค่การไปใช้ชีวิตกับทิลดา (สวินตัน) รวมถึงบรรดาทีมงานกองถ่าย ในสถานที่เฉพาะแห่งหนึ่ง แล้วพวกเราก็พูดขึ้นว่า “มาลองทำอะไรกันเถอะ”

มิลเลอร์ : “Memoria” คือหนังยาวของคุณที่ใช้ทีมงานเบื้องหลังขนาดใหญ่ที่สุด แต่ผมรู้มาว่าในหนังยาวเรื่องแรกของคุณอย่าง “ดอกฟ้าในมือมาร” นั้น มีหลายๆ ฉาก ที่ใช้ทีมงานเบื้องหลังแค่ห้าคน

สำหรับคุณ มีมันจุดเชื่อมโยงกันไหมระหว่างขนาดเล็ก-ใหญ่ของโปรเจ็กต์ภาพยนตร์กับความเป็นไปได้ในการทดลองทำอะไรบางอย่างที่มีความแปลกใหม่? และมันมีสิ่งที่คุณกังวลเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้บ้างหรือไม่?

อภิชาติพงศ์ : ใช่ แต่ความท้าทายที่เกิดขึ้นกลับมีลักษณะที่แตกต่างออกไปจากที่หลายคนคาดคิด

ในความเป็นจริง ยิ่งคุณมีทีมงานจำนวนมาก คุณจะยิ่งสามารถทดลองทำอะไรใหม่ๆ ได้เยอะขึ้น เพราะเมื่อคุณมีทีมงานแค่ห้าคน คุณจะทำอะไรไม่ได้มากนักหรอก คุณไม่สามารถจะเปลี่ยนไอเดียระหว่างการถ่ายทำได้ หรือไม่อาจตัดสินใจเปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่ได้ เวลามีทีมงานน้อยคน ความยืดหยุ่นในการทำงานก็มักจะมีน้อยลงตามไปด้วย

แต่ก็อีกนั่นแหละ มันขึ้นอยู่กับแผนการถ่ายทำที่วางเอาไว้ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมผมจึงมักเน้นย้ำให้ความสำคัญกับช่วงเวลาในการฝึกซ้อมก่อนถ่ายทำจริง เพราะมันคือช่วงเวลาอันมีค่า ที่เราจะสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ สามารถทดลองด้นสด และสามารถจะผูกมิตรภาพระหว่างคนในกองถ่ายได้

ผมมีแนวคิดว่าตนเองต้องทำงานกับ “เพื่อน” เสมอ มันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะทำความเข้าใจ ไม่แต่เพียงในช่วงเวลาที่ถ่ายหนังด้วยกัน แต่ยังรวมถึงช่วงเวลาที่ได้ใช้ชีวิตร่วมกันด้วย

มิลเลอร์ : หนังเกือบทั้งหมดของคุณที่นำมาฉายในงานเรโทรสเปกทีฟครั้งนี้ ล้วนเป็นผลงานการลำดับภาพโดยเพื่อนร่วมงานที่ทำงานกับคุณมายาวนาน นั่นคือ “ลี ชาตะเมธีกุล”

คุณคิดว่ายังมีอะไรที่คงเดิมและมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไป หลังจากที่คุณทั้งสองคนได้ทำงานร่วมกันมาจนเข้าสู่ทศวรรษที่สามแล้ว

อภิชาติพงศ์ : สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปเลย ก็คือ ความไว้เนื้อเชื่อใจ จริงๆ แล้ว ลีจะทำงานแบบ “นักผจญภัย” มากกว่าผมเสียอีก เพราะโดยปกติ เขาจะไม่ได้ไปออกกองกับพวกเรา เขาจะไม่รู้เบื้องหลังการถ่ายทำ ไม่รู้ว่าเราต้องใช้เวลาไปมากเท่าไหร่กับการถ่ายทำฉากนั้น ไม่รู้รายละเอียดอีกมากมายหลายอย่าง

ดังนั้น ลีจึงพร้อมที่จะตัดฉากบางฉากออกไปจากหนัง เพราะเขาไม่ได้ต้องทุ่มเทเวลาและอารมณ์ให้กับกระบวนการถ่ายทำฟุตเทจดังกล่าว นั่นคือสิ่งที่ผมรู้สึกสนุกมากๆ เมื่อได้ร่วมงานกับเขา

มิลเลอร์ : คุณคิดว่ามันเป็นประโยชน์กับตัวหนังเองหรือไม่? ที่คนตัดต่อหนังไม่ได้มีสายสัมพันธ์ทางอารมณ์ความรู้สึกกับฟุตเทจที่ถูกบันทึกมา

อภิชาติพงศ์ : ใช่เลย นั่นเป็นเรื่องแน่นอนที่สุด ลีมักจะเซอร์ไพรส์ผมอยู่หลายหน เวลาเขาเอ่ยขึ้นว่า “เฮ้ย เจ้ย (ชื่อเล่นของอภิชาติพงศ์) เราจะตัดฉากนี้ออกไปได้มั้ย?” แล้วผมก็จะพูดกับเขาว่า “คุณรู้มั้ยว่าเราต้องเสียเวลาและเงินไปกับฉากนี้มากเท่าไหร่?”

ผมว่ามันต้องเป็นเรื่องที่ดีมาก ที่คุณ (ในฐานะนักลำดับภาพ) ไม่ได้ผูกมัดตัวเองเข้ากับความทรงจำในฟุตเทจ

มิลเลอร์ : คุณเคยใช้ชีวิตอยู่ที่อเมริกา นี่คือชาติที่ถูกก่อตั้งขึ้นมาจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และการใช้ความรุนแรงผ่านสถาบันทางอำนาจต่างๆ คุณเคยครุ่นคิดอย่างจริงจังเกี่ยวกับการเดินทางมาถ่ายทำหนังที่สหรัฐอเมริกาบ้างหรือไม่?

อภิชาติพงศ์ : ประเทศไทยก็เต็มไปด้วยการใช้ความรุนแรงโดยอำนาจรัฐเช่นกัน มันเป็นอย่างที่ผมพูดไว้ก่อนหน้านี้ นี่คือเรื่องของความเป็นมนุษย์ ผมคิดว่าพวกเราทั้งหมดต่างไหลเลื่อนเคลื่อนไหวไปพร้อมๆ กัน เป็นกระแสสำนึกในระดับโลก

แล้วทำไมผมถึงจะไม่คิด (เรื่องการถ่ายทำหนังในอเมริกา) ล่ะ?

มันก็เป็นเหมือนที่ผมพูดว่า นี่คือเรื่องราวของสภาพการณ์ที่พวกเราต่างต้องแชร์ร่วมกัน •

เนื้อหาจาก https://thefilmstage.com/apichatpong-weerasethakul-on-evolving-cinematic-memories-and-a-shared-global-consciousness/

ภาพประกอบจากเพจเฟซบุ๊ก Film at Lincoln Center

 

| คนมองหนัง