AIR | ‘แบรนด์ดัง’

นพมาส แววหงส์

คงแทบไม่มีใครไม่รู้จักรองเท้า “แอร์จอร์แดน” อันเป็นความสำเร็จยิ่งใหญ่ที่ทำให้แบรนด์ “ไนกี้” ผงาดขึ้นสู่ตำแหน่งยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งในวงการรองเท้ากีฬา สยบรัศมีของแบรนด์เด่นดังอื่นๆ ในวงการกีฬาไปด้วยศักดิ์ศรีอันน่าภาคภูมิ

Air เป็นหนังที่เล่าถึงความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ของไนกี้

เมื่อหนังเปิดเรื่องใน ค.ศ.1984 “ไนกี้” พร้อมด้วยตราสัญลักษณ์ “สวู้ช” (swoosh) ที่มีหน้าตาเหมือนเครื่องหมายถูก (ซึ่งเคยตกเป็นข่าวดังกระหึ่มเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์งานออกแบบโลโก้สินค้าอย่างไม่เป็นธรรม) พร้อมคำขวัญ “Just Do It” เป็นบริษัทผลิตรองเท้ากีฬาที่เป็นรองสองแบรนด์ดังอย่าง “อาดิดาส” และ “คอนเวิร์ส” อยู่หลายขุม

“ไนกี้” ตั้งชื่อแบรนด์ตามองค์เทพีแห่งชัยชนะในปกรณัมปรัมปราของกรีกโบราณ นางมีปีกเหาะเหินไปได้ในอากาศ และทำหน้าที่มอบรางวัลให้แก่ผู้ชนะ โดยที่สมัยต่อมาชาวโรมันเรียกเทพกัญญาองค์นี้ว่า “วิกตอเรีย” ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า victory (ชัยชนะ) นั่นเอง

เทพีแห่งชัยชนะ…ผู้ประทับบัลลังก์ข้างวรกายของมหาเทพซุสบนวิมานชั้นฟ้าที่เรียกว่าโอลิมปุส และเหาะเหินเดินอากาศแล่นลิ่วไปเพื่อนำมงกุฎไปสวมใส่แก่ผู้ชนะในการชิงชัยองค์นี้… เป็นชื่อที่เหมาะสมสำหรับรองเท้ากีฬา

และทำให้ไนกี้ผงาดขึ้นในส่วนแบ่งการตลาดของรองเท้าวิ่ง

ยอดขายของไนกี้ขณะนั้นเทไปครองใจนักวิ่งทั้งหลายเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ยอดขายรองเท้าบาสเกตบอลต่ำมากจนแทบจะต้องปิดตัวอยู่แล้ว

งบฯ ของบริษัทที่จัดให้แผนกรองเท้าบาสเกตบอลมีเพียงเศษเสี้ยวเดียว การจัดสรรงบฯ สำหรับการเซ็นสัญญากับนักบาสที่มีชื่อเสียง เพื่อให้มาเป็นหน้าตาและตัวแทนของบริษัทได้เพียงสองแสนห้าหมื่นดอลลาร์ต่อปี…เซ็นสัญญากับนักบาสอาชีพได้เพียงไม่กี่คน

ซันนี่ วัคคาโร (แมตต์ เดมอน) เป็นผู้บริหารฝ่ายการตลาด ซึ่งแทบจะต้องอ้อนวอนขอให้หัวหน้าทีมการตลาด ร็อบ สตราสเซอร์ (เจสัน เบตแมน) และซีอีโอ ฟิล ไนต์ (เบน แอฟเฟล็ก) มองการณ์ไกลโดยเทงบทั้งหมดไปไว้กับนักบาสดาวรุ่งคนเดียวที่เขาเห็นว่ากำลังพุ่งแรง พุ่งสูงและพุ่งโลด

นั่นคือ ไมเคิล จอร์แดน ที่ยังเพิ่งก้าวออกจากรั้วกีฬามหาวิทยาลัย และยังไม่ได้ทำผลงานเข้าตาใครๆ มากนัก

แน่นอนว่าทั่วโลกจะได้รู้จักไมเคิล จอร์แดน ต่อมาในฐานะนักบาสฝีมือแม่นฉมังและฝีเท้าแคล่วคล่องว่องไวที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา

หนังที่ตั้งชื่อสั้นๆ เพียงคำเดียวว่า Air นี้ ตั้งใจหลีกเลี่ยงไม่นำเสนอแคแร็กเตอร์ของจอร์แดนตรงๆ โดยให้คนดูเห็นตัวไมเคิล จอร์แดน (เดเมียน ยัง) วอบแวบ แค่ผ่านๆ และผิวเผิน

ซึ่งน่าจะเป็นการตัดสินใจที่ชาญฉลาดของผู้กำกับฯ (เบน แอฟเฟล็ก) และผู้เขียนบทมือใหม่ (อเล็กซ์ คอนเวอรี) ที่ไม่เน้นไปที่ตัวไมเคิล จอร์แดน แต่นำเสนอจากบุคคลแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเซ็นสัญญาความร่วมมือระหว่างธุรกิจเครื่องกีฬาและตัวนักกีฬาครั้งประวัติศาสตร์นี้

ในหนังบทบาทสำคัญในฝ่ายจอร์แดนไปตกอยู่กับเดลอริส จอร์แดน (วิโอลา เดวิส) แม่ผู้เชื่อมั่นในตัวลูกชายและเป็นต้นคิดในการยื่นข้อเสนอใน “ดีล” ที่จะเป็นการ “พลิกเกม” ในวงการธุรกิจกีฬาที่เฟื่องฟูกับนักกีฬาขวัญใจคนดูผู้เป็นตัวแทนของสินค้า

ซึ่งให้ความเป็นธรรมแก่ตัวนักกีฬาที่ใช้ชื่อเสียงกิตติศัพท์ของตัวเองวางเดิมพันไว้ในธุรกิจที่ทำกำไรมหาศาล

ผู้เขียนได้ดู Air ทางช่อง Amazon Prime โดยบังเอิญ แต่สะดุดตากับชื่อผู้กำกับฯ และรายชื่อนักแสดง โดยเฉพาะเมื่อเห็นแมตต์ เดมอน มาเข้าทีมกับเบน แอฟเฟล็ก อีกครั้ง หลังจากที่สหายสนิทคู่นี้ฝากฝีมือสร้างชื่อเสียงในวงการไว้ตั้งแต่ครั้ง Good Will Hunting (1997)

และเมื่อนั่งเกาะติดจอดูตลอดความยาวเกือบสองชั่วโมงโดยไม่ได้ลุกไปไหน แรกทีเดียวก็น่าจะเพราะ “รัศมีดารา” หรือ star power

แม้ว่าแมตต์ เดมอน จะไม่เหลือเค้าของภาพลักษณ์คมกริบของ “เจสัน บอร์น” ในไตรภาคของหนังยอดจารชนคนเก่งอยู่เลย

และเบน แอฟเฟล็ก ก็แปลกตามาในรูปลักษณ์ของซีอีโอผมหยิกหยอยทั้งหัว นักปฏิบัติสมาธิตามแนววัชรยานของทิเบต

เจสัน เบตแมน (จาก Ozark) เป็นผู้บริหารฝ่ายการตลาดที่สองจิตสองใจอยู่กับการเทหมดหน้าตักหรือการเล่นเกมอย่างปลอดภัยโดยเฉลี่ยความเสี่ยงไปกับนักกีฬาหลายคน

บทที่ชนะใจคนดูมาจากคริส เมสซีนา ซึ่งเล่นเป็นเดวิด ฟอล์ก ผู้จัดการตัวแสบของไมเคิล จอร์แดน ที่พ่นคำด่า (อันน่าขัน) เป็นไฟแลบ รู้ตัวว่าตัวเองไร้ญาติขาดเพื่อนจนต้องตายอย่างโดดเดี่ยวในที่สุด

และอีกบทที่กินขาดไปเลย คือ วิโอลา เดวิส นักแสดงผู้เล่นบทไหนก็ได้ใจไปทุกบทบาท คราวนี้เธอเล่นเป็นแม่ของไมเคิล จอร์แดน ผู้มีอิทธิพลในการตัดสินใจของลูกชาย

แต่แรกเริ่ม ไมเคิล จอร์แดน ไม่สนใจจะมาเป็นหน้าตาของไนกี้ด้วยการใช้รองเท้าไนกี้เลยแม้แต่น้อย ความสนใจของเขาอยู่ที่สองบริษัทใหญ่ คืออาดิดาส และคอนเวิร์ส

ขณะที่กำลังพิจารณาข้อเสนอเพื่อเซ็นสัญญาธุรกิจกับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง ไนกี้…ด้วยความเชื่อมั่นเต็มร้อยของซันนี่ วัคคาโร และความพยายามในการโน้มน้าวให้ผู้บริหารบริษัทเชื่อตามเขา…ก็แทรกตัวเข้ามาด้วยศรัทธาในฝีมือดาวรุ่งพุ่งแรงของจอร์แดน

นี่เป็นเรื่องราวของ “ไก่รองบ่อน” หรือ “เบี้ยล่าง” ในเกม ซึ่งพากเพียรพยายามใช้ทุกกลเม็ดในการชิงชัย ซี่งในที่นี้คือการเซ็นสัญญากับนักบาสดาวรุ่งพุ่งแรง

และแน่นอนว่าผลก็เป็นไปอย่างที่เราท่านรู้ๆ กันแล้ว คือ ไมเคิล จอร์แดน กลายเป็นตัวแทนของแบรนด์ไนกี้ และมีสินค้าในชื่อแบรนด์ของตัวเอง คือ แอร์จอร์แดน ที่เป็นความสำเร็จขั้นปรากฏการณ์ และพลิกสถานะของไนกี้ให้ก้าวขึ้นสู่แบรนด์อันดับหนึ่งของโลกกีฬา

รวมทั้งเป็นการพลิกเกมในสัญญาข้อตกลงทางธุรกิจในวงการกีฬาด้วย นั่นคือเป็นครั้งแรกที่นักกีฬามีเอี่ยวอยู่ในผลกำไร หรือได้รับเปอร์เซ็นต์ส่วนแบ่งจากรายได้ในการขายสินค้า

หนังจบลงด้วยตัวหนังสือที่บอกความสำเร็จมหาศาลของแบรนด์ “แอร์จอร์แดน” ซึ่งซีอีโอบริษัทคาดการณ์ยอดขายไว้ที่ 3 ล้านดอลลาร์ แต่กลับพุ่งขึ้นไปถึง 126 ล้านในปีแรกปีเดียว

อย่างหนึ่งที่น่าดีใจกับนักกีฬาผู้สร้างชื่อเสียงขึ้นมาจากน้ำพักน้ำแรง คือความเป็นธรรมและการไม่ถูกธุรกิจในโลกทุนนิยมและบริโภคนิยมเอารัดเอาเปรียบจนเกินไป

เป็นหนังดีที่เล่าเบื้องหลังความสำเร็จในโลกของธุรกิจเครื่องกีฬา และชวนเพลิดเพลินเจริญใจจากองค์ประกอบต่างๆ ที่ลงตัวไปหมด

รวมทั้งการย้อนยุคไปสู่ทศวรรษ 1980 ที่…สำหรับคนวัยเกษียณแล้ว…ดูเหมือนกับว่ากาลเวลาเพิ่งผ่านไปเมื่อวานซืนนี้เองค่ะ •

AIR

กำกับการแสดง

Ben Affleck

แสดงนำ

Ben Affleck

Matt Damon

Ben Affleck

Jason Bateman

Chris Messina

Chris Tucker

Viola Davis

ภาพยนตร์ | นพมาส แววหงส์