กีฬา กับ การเมือง

วัชระ แวววุฒินันท์

ช่วงนี้สำหรับวงการกีฬา คงต้องยกกระแสให้กับการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 23 ที่ประเทศกัมพูชาเป็นเจ้าภาพ ในระหว่างวันที่ 5-17 พฤษภาคม 2566

โดยวันที่ 5 พฤษภาคมเป็นวันจัดพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ ซึ่งได้มีบางชนิดกีฬาได้ทำการแข่งขันไปก่อนหน้านี้แล้ว รวมถึงกีฬามหาชนอย่างฟุตบอล ทีมชายไทยก็ได้แข่งขันแมตช์แรกของรอบแบ่งกลุ่ม พบกับทีมชาติสิงคโปร์ไปแล้วเมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา ส่วนทีมหญิงก็ชนกับสิงคโปร์ไปเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม

สำหรับซีเกมส์ครั้งนี้มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายก่อนจะเริ่มการแข่งขัน ที่ทำให้ประเทศสมาชิก “หัวจะปวด” ต่อการจัดการที่ไม่เป็นมืออาชีพของเจ้าภาพในหลายๆ ด้าน รวมทั้งการออกกฎกติกาเอาเปรียบประเทศอื่น เพื่อหวังให้ตนได้เหรียญรางวัลมากที่สุด

เพื่อกัมพูชาจะได้มีโอกาสเป็นเจ้าเหรียญทองซีเกมส์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของชาติ

 

ทําไมการได้เป็นเจ้าเหรียญทองซีเกมส์ครั้งนี้ถึงได้มีความสำคัญมากขนาดนั้น จนยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มา

สำหรับชาวกัมพูชาเองแล้ว คงเป็นความภาคภูมิใจอย่างมากหากเป็นจริงตามนั้น

แต่ที่กำลังจะพูดถึงซึ่งเกี่ยวกับชื่อตอนๆ นี้ คือ “กีฬา กับ การเมือง” นั้น มันเกี่ยวพันไปถึงผู้นำของประเทศคือ นายกฯ ฮุน เซน

ต้องบอกก่อนว่ากัมพูชากำลังจะมีการเลือกตั้งใหญ่ทั่วไปในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งพรรคประชาชนกัมพูชาของนายกฯ ฮุน เซน ก็หมายมั่นปั้นมือที่จะชนะการเลือกตั้ง จนถึงกับมีข่าวว่า ฮุน เซน หวังจะใช้กีฬาซีเกมส์เป็นเครื่องมือในการสร้างคะแนนเสียงให้กับพรรคตน

นั่นหมายความว่า ฮุน เซน คงจะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้กัมพูชาได้เหรียญทองมากๆ เข้าว่า จึงได้มีเรื่องที่ชวน “หัวจะปวด” แก่ชาติสมาชิกตลอดมา เช่น การบรรจุกีฬาพื้นบ้านเข้ามาแข่งขันมากชนิดจนเกินความพอดี และแต่ชนิดกีฬาก็มีการชิงเหรียญทองจำนวนมากด้วย

หรือกีฬาที่เป็นกีฬาสากลแต่ประเทศตนไม่มีโอกาสได้เหรียญเลยก็ไม่จัด หรือถ้าจัดก็ออกกฎให้แต่ละประเทศส่งได้กี่การแข่งขันในชนิดกีฬานั้น ส่วนตนส่งได้ครบหมด

และที่ไม่เป็นสากลมากๆ คือ การตัดสินโดยกรรมการของตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นเลย และแน่นอนที่ประเทศสมาชิกพากันโวยถึงเรื่องดังกล่าว แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะจัดการแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้มากน้อยแค่ไหน

ทั้งหมดนี้คือการใช้กลยุทธ์ “ชาตินิยม” เพื่อสร้างกระแสต่อคะแนนนิยมของตนเองในที่สุด

 

เรื่องทำนองนี้ไม่ใช่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หากใครจำได้ย้อนไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2546 ชาวกัมพูชาจำนวนหนึ่งได้บุกเผาทำลายสถานทูตไทยในกรุงพนมเปญจนเสียหายหนัก ลามไปถึงตามไปทำลายโรงแรมที่พักและบริษัท ร้านค้าที่เป็นของคนไทย ซ้ำร้ายยังทำการข่มขู่และรูดทรัพย์กับคนไทยในพนมเปญอีกด้วย

สาเหตุแห่งความโกรธแค้นอย่างหนักนั้น ก็เนื่องมาจากได้มีการกุข่าวขึ้นมาว่า นางเอกสาว “กบ-สุวันนท์ คงยิ่ง” ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการทีวีรายการหนึ่งว่า เกลียดคนเขมรเหมือนกับเกลียดหมา เพราะชาวเขมรขโมยนครวัดไปจากไทย

เป็นการเต้าข่าวขึ้นมาเองโดยไม่มีหลักฐานใดๆ ทั้งสิ้น ข่าวเริ่มต้นจากหนังสือพิมพ์หัวเล็กในกัมพูชา แล้วหนังสือพิมพ์หัวใหญ่ลากมาเล่นต่อจนสร้างกระแส “เกลียดสุวนันท์” ขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ที่น่าตลกคือผู้บริหารประเทศก็รับลูกกับกระแสดังกล่าวโดยไม่ได้มีการตรวจสอบใดๆ เลย เพื่อสร้างภาพการเป็นผู้นำที่รักชาติยิ่งนัก จะไม่ยอมให้ ใครมาย่ำยีดูถูกได้ ตนจะเป็นผู้จัดการแทนพี่น้องประชาชนเอง

เป็นการใช้กระแสชาตินิยมมาจุดเพลิงให้ลุกไหม้กบ สุวนันท์ อย่างที่ตัวคุณกบเองทำอะไรไม่ได้ เพราะเธอไม่ได้ทำอะไรตามที่เป็นข่าวเลย และตกเป็นเหยื่ออย่างน่าสงสาร

ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะอีกไม่นานกัมพูชาจะมีเลือกตั้งครั้งใหญ่ และแน่นอนที่พรรคประชาชนกัมพูชาก็ชนะการเลือกตั้งตามคาด

 

กลับมายังซีเกมส์ครั้งนี้ที่มีเรื่องราวทะแม่งๆ มาก่อนจะถึงซีเกมส์เสียอีก ในเรื่องที่จู่ๆ กัมพูชาก็ลุกขึ้นมาทำการ “เคลมวัฒนธรรม” อย่างเป็นจริงเป็นจังจนน่าสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น โดยกล่าวหาว่าไทยขโมยวัฒนธรรมของเขมรไป ไม่ว่าจะเป็น นาฏศิลป์ การแต่งกาย อาหาร และประเพณีบางอย่าง

ที่เกี่ยวกับซีเกมส์หน่อยก็คือ กีฬาชกมวย ที่กัมพูชาเรียกว่า “กุนขแมร์” ซึ่งไม่ใช่มวยไทย และการแข่งขันซีเกมส์ครั้งนี้ ก็ไม่จัดมวยไทยเหมือนซีเกมส์ครั้งผ่านๆ มา แต่จัดมวยกุนขแมร์ขึ้นแทน ซ้ำกล่าวหาว่าไทยขโมยวิชามวยโบราณของตนไปเป็น “มวยไทย” นั่นแน่

ซึ่งถ้าจะว่ากันตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี พื้นที่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น มีคนหลายเชื้อชาติปักหลักสร้างบ้านสร้างเมืองมาก่อน แต่ก่อนเขตแดนต่างๆ ก็ไม่ชัดเจน ผู้คนก็เดินทางไปมาหาสู่กัน ความรู้ ความเชื่อ ศิลปะ วัฒนธรรมต่างๆ ก็มีการส่งถ่ายแลกเปลี่ยนกัน จนผสมผสานกันไป แต่ละประเทศก็นำไปพัฒนาต่อเป็นแบบฉบับของตัวเอง

จึงไม่มีใครเป็นเจ้าของวัฒนธรรมตัวจริง

 

ทั้งหมดนี้จึงเข้าใจได้ว่า กลยุทธ์ “ชาตินิยม” เพื่อการเลือกตั้งได้ถูกนำมาใช้อีกแล้ว ซึ่งสำหรับ “กีฬา” แล้วควรจะอยู่นอกเหนืออำนาจและความวุ่นวายดังกล่าว

ซึ่งจะว่าไปแล้วไม่แต่กีฬาในโซนบ้านๆ อย่างซีเกมส์ของเรา แต่กีฬามหกรรมใหญ่ระดับโลกอย่าง “โอลิมปิก” ก็ยังมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องไม่มากก็น้อย

ที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์โอลิมปิกก็คือ “โอลิมปิกปี 1972” ที่กรุงมิวนิก ประเทศเยอรมนี ระหว่างที่การแข่งขันกำลังดำเนินอยู่ จู่ๆ ในวันที่ 5 กันยายน ได้มีผู้ก่อการร้ายชาวปาเลสไตน์ 8 คน ในนาม Black September หรือกลุ่มกันยายนทมิฬ ได้สังหารนักกีฬาชาวอิสราเอล ที่เป็นประเทศคู่อริกันมานานเสียชีวิตไป 2 คน ไม่พอยังจับนักกีฬาและเจ้าหน้าที่อีก 9 คนเป็นตัวประกัน เพื่อเรียกร้องให้อิสราเอลปล่อยนักโทษปาเลสไตน์ที่คุมขังไว้จำนวน 200 คน และอีก 2 คนที่ถูกขังในคุกเยอรมันด้วย

ทางอิสราเอลปฏิเสธที่จะทำตามคำเรียกร้อง กองกำลังของเยอรมันก็ได้เข้าปราบปรามผู้ก่อการร้าย และระงับเหตุลงได้ โดยมีตัวประกันต้องเสียชีวิตลง ส่งผลให้การแข่งขันต้องหยุกชะงักไป 36 ชั่วโมง และนักกีฬาอิสราเอลเดินทางกลับประเทศทันที

 

ในกรณีของอิสราเอลและปาเลสไตน์นี้ เมื่อไม่นานมานี้ก็ได้ส่งผลต่อการแข่งขันกีฬาระดับฟุตบอลโลกมาแล้ว กล่าวคือ ประเทศอินโดนีเซีย ได้รับเลือกจาก FIFA ให้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกอายุ 20 ปี ซึ่งจะมีขึ้นในช่วงวันที่ 20 พฤษภาคม ถึง 11 มิถุนายน 2566

แต่ในเวลาอีกไม่ถึง 2 เดือน ก็เกิดเหตุการณ์เดินขบวนประท้วงของชาวอินโดนีเซียกลุ่มใหญ่ ที่ไม่ยอมรับให้นักเตะทีมชาติอิสราเอลที่เผอิญผ่านเข้ารอบสุดท้ายได้มาร่วมแข่งขัน เพราะอินโดนีเซียเป็นประเทศมุสลิมร่วมกับประเทศมุสลิมอื่นๆ ในตะวันออกกลางที่ต่อต้านอิสราเอล

เมื่อเป็นเช่นนี้ FIFA ก็ไม่มั่นใจในความปลอดภัยของการจัดการแข่งขัน จึงปลดอินโดนีเซียจากการเป็นเจ้าภาพทันที ทั้งที่อินโดนีเซียได้ลงทุนมหาศาลในการปรับปรุงสนามแข่งขันและความพร้อมต่างๆ รวมทั้งทุ่มเทงบประมาณในการพัฒนาฝีเท้านักเตะเพื่อให้สามารถสร้างผลงานได้อย่างประทับใจ

เป็นความเจ็บปวดที่เกิดจาก “การเมือง” มายุ่งเกี่ยวกับการกีฬา

 

ตัวอย่างอื่นๆ ก็มีให้เห็น เช่น ใน “โอลิมปิกปี 1936” ที่กรุงเบอร์ลินเป็นเจ้าภาพ โดยในปี 1933 พรรคนาซีได้ขึ้นมากุมอำนาจ ซึ่งได้นำเรื่องการเหยียดเชื้อชาติ สีผิว โดยเฉพาะกับชนชาวยิวมายุ่งเกี่ยวกับการจัดการแข่งขันด้วย โดยไม่อนุญาตให้นักกีฬาเชื้อสายยิวเข้าร่วมการแข่งขัน หรือแม้แต่นักกีฬาผิวสีจากประเทศอื่นที่ลงแข่งขัน ก็ได้รับการรังเกียจและการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม

ในกีฬา “โอลิมปิกปี 1948” ลอนดอนเกมส์ ซึ่งเป็นการจัดโอลิมปิกครั้งแรกหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ครั้งนั้นโอลิมปิกได้ห้ามประเทศเยอรมนี และ ญี่ปุ่น ที่ร่วมมือกันทำสงครามและเป็นฝ่ายพ่ายแพ้เข้าร่วมการแข่งขันด้วย

นี่เป็นด้านร้ายๆ ของโอลิมปิก ที่แม้จะมีอุดมการณ์ว่า กีฬาต้องแยกจากการเมืองก็ตาม

แต่โอลิมปิกในปี 2016 ที่เมืองรีโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิล ก็มีเรื่องดีๆ ที่เป็นการพยายามให้ “กีฬาอยู่เหนือการเมือง” โดยคณะกรรมการโอลิมปิกสากลได้อนุญาตให้นักกีฬาที่เป็นผู้ลี้ภัยจากประเทศต่างๆ ที่เกิดสงครามกลางเมืองได้ร่วมทำการแข่งขัน

ทั้งนี้ มองว่านักกีฬาเหล่านั้นเป็นเหยื่อจากสงครามในประเทศของตนพอแล้ว อย่าให้เป็นเหยื่อในสนามการแข่งขันกีฬาอีกเลย ทั้งที่ไม่ใช่ความผิดของพวกเขาแต่อย่างใด

โดยพวกเขาและเธอเหล่านี้เข้าแข่งขันในทีม ROT หรือ Refugee Olympic Team

 

กลับมาที่ซีเกมส์ 2023 ตอนนี้การแข่งขันเพิ่งจะเริ่มต้น ยังไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้วกัมพูชาจะได้เป็นเจ้าเหรียญทองตามที่ปรารถนาอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูหรือไม่ ระหว่างนี้นอกจากจะติดตามชมและเชียร์นักกีฬาไทยแล้ว ก็ติดตามดู “พฤติกรรม” ของเจ้าภาพว่าจะมีอะไรที่ไม่ชอบมาพากลออกมาอีกบ้าง

เมื่อทั้งโลกให้ความสำคัญกับเรื่องของกีฬาขนาดนี้ ในการหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ยามนี้ ไม่ทราบว่ามีพรรคไหนที่ให้ความสำคัญกับการผลักดันวงการกีฬาบ้านเราอย่างจริงจังบ้างไหม เพราะกีฬาเป็นเครื่องมือในการสร้างคน และสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศได้เป็นอย่างดี

กีฬากับการเมือง เหมือนกันตรงที่ ต่างก็เป็นเวทีของการแข่งขันประชันฝีมือกัน เพียงแต่พวกหนึ่งคือ นักกีฬา อีกพวกหนึ่งคือ นักการเมือง

แต่เท่าที่สังเกตคือ นักกีฬาส่วนใหญ่จะรู้แพ้ รู้ชนะ ยอมรับผลการตัดสิน และพยายามใช้ความสามารถที่มีเข้าต่อสู้อย่างตรงไปตรงมา แต่นักการเมืองบ้านเรามักใช้ เล่ห์เหลี่ยมและเงิน เป็นอาวุธในการต่อสู้มากกว่าจะใช้สติปัญญา ความสามารถ และอุดมการณ์ที่แท้จริง

แถมเมื่อผลการแข่งขันออกมาแล้ว ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ไม่ยอมรับผลการแข่งขันนั้น

ไม่อยากจะคิดเลยไปไกลถึงไหนๆ เลยว่า หากผลการเลือกตั้งไม่ออกมาตามที่ใครบางคนคาดหวังไว้ จะมี “อะไรๆ” ออกมาให้ประชาชนคนไทย “หัวจะปวด” อีกหรือไม่

ต้องติดตามตาไม่กะพริบครับพี่น้อง •

 

 

เครื่องเคียงข้างจอ | วัชระ แวววุฒินันท์