RRR ‘ตัวเป็นทาส ใจเป็นไท’

นพมาส แววหงส์

หนังเรื่องนี้เกือบจะตกสำรวจไปแล้วเชียว หลังจากที่ได้ดูมาพักใหญ่หลายเดือนแล้ว

รับรองว่าจะทำให้อมยิ้มไปแทบทั้งเรื่องและอารมณ์ดีหลังจากดูจบ

…ความยาวสามชั่วโมงเจ็ดนาทีของหนังเป็นไปตามมาตรฐานบอลลีวู้ด เขาว่าหนังอินเดียถ้าไม่ยาวแขกไม่ดูค่ะ เสียเงินไปดูหนังแล้วทั้งที ต้องยอมเสียเวลานั่งให้คุ้มค่า…

เป็นหนังสุดยอดแห่งความบันเทิงแบบที่เรียกว่า “เมโลดราม่า” หวือหวาสุดกู่เลยเชียวล่ะ

นอกจากอาการอมยิ้มแก้มตุ่ยแล้ว ยังต้องอ้าปากค้าง ขากรรไกรค้าง และตาค้างด้วยอาการตะลึงตะไลเหลือเชื่อและคาดไม่ถึงในหลายบทหลายตอน โดยเฉพาะต่อความเก่งกาจเกินมนุษย์มนาของพระเอกทั้งคู่

ที่เพิ่งมาได้ฤกษ์เขียนถึงตอนนี้ เพราะเพิ่งมีเรื่องสะกิดให้นึกถึงจากการประกาศผลรางวัลเพลงยอดเยี่ยมสำหรับภาพยนตร์

แม้จะมีเค้าโครงจากตัวบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ชนชาติอินเดียช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ยี่สิบ ซึ่งถูกอังกฤษปกครอง…ที่เรียกว่า “ยุคราช” (Raj)…แต่ก็เป็นเรื่องจริงแบบอิงนิยายเสียละมาก

สะท้อนให้เห็นความบีบคั้นของคนที่โดนกดขี่ข่มเหงรังแกอย่างไม่เห็นหัวเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ความน่าชิงชังของยุคที่คนผิวขาวแผ่อิทธิพลเพ่นพ่านไปทั่วโลกเพื่อยึดครองให้ตกเป็นอาณานิยมของตัวเอง

ตามหัวข้อคอลัมน์ข้างต้น ซึ่งพลิกด้านจากสำนวนปกติว่า “ตัวเป็นไท ใจเป็นทาส” ให้เป็น “ตัวเป็นทาส ใจเป็นไท”

เหตุการณ์ในเรื่องสะท้อนให้เห็นภาพขบวนการปลดปล่อยอินเดียจากการถูกกดขี่ข่มเหงโดยชนผิวขาว ซึ่งถึงแม้จะไม่ได้ก้าวไปถึงขั้นขบวนการเรียกร้องเอกราชเต็มรูปแบบ แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งในความเป็นมาเป็นไปและการที่ต้องลุกฮือขึ้นขับไล่ทรราช

อินเดียได้รับเอกราชเมื่อ ค.ศ.1950 และเหตุการณ์ในหนังเกิดในราว ค.ศ.1920 โดยที่หนังนำการต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรมในชีวิตของวีรบุรุษนักสู้ชาวพื้นเมืองสองคนที่ต่างคนต่างอยู่และไม่เคยได้พบปะเจอะเจอกันในชีวิตจริงเลย มาผสานเข้าด้วยกัน

วีรบุรุษทั้งสอง ผู้มีอนุสาวรีย์รูปปั้นเป็นเครื่องเชิดชูเกียรติมาถึงปัจจุบัน คือ

โกมาราม ภีม (Komaram Bheem) และ อัลลูรี สีตารามา ราชู (Alluri Sitarama Raju)

เอส. เอส. ราชาโมลี (อ่านแบบไทยๆ จากชื่อ S.S. Rajamouli) ผู้สร้างเรื่องราว เขียนบทและกำกับหนัง ให้สัมภาษณ์ว่าได้รับแรงบันดาลใจจากหนัง The Motorcycle Diaries เกี่ยวกับชีวิตของวีรบุรุษนักปฏิวัติในอเมริกาใต้ ผู้กลายเป็นใบหน้าหนวดเคราครึ้มจากโปสเตอร์หรือท้ายสิบล้อ คือ เช กูวารา ที่คนทั่วโลกรู้จักกันดี

นอกจากนั้น ราชาโมลียังเริ่มคิดสร้างสรรค์บทหนังด้วยวลีที่เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างสรรค์งานศิลปะ คือ

What if?

“จะเกิดอะไรขึ้น ถ้า…” หรือสั้นๆ ว่า “ก็ถ้า…”

ในที่นี้คือ…ก็ถ้าวีรบุรุษร่วมสมัยทั้งสองที่ต่างฝ่ายต่างต่อสู้เพื่อปลดแอกให้แก่ชนเผ่าของตน ได้เจอะเจอกันและกลายมาเป็นเพื่อนกันล่ะ

นั่นคือที่มาของ RRR

ซึ่งมีที่มาคือ ตัวอาร์ทั้งสามนี้เป็นตัวย่อจากชื่อของผู้ที่ร่วมแรงร่วมใจกันในโครงการภาพยนตร์เรื่องนี้นับแต่แรกคือ ผู้กำกับฯ (Rajamouli) และนักแสดงนำสองคน (Rama Rao และ Ram Charan)

ตอนเปิดตัวโครงการ ซึ่งยังไม่มีชื่อหนังที่แน่นอน เลยเอาอักษรย่อของชื่อทั้งสามมาประสมกัน

ครั้นต่อมา ก็เลยคิดหาที่มาเอาจากเนื้อในของหนัง

ไม่ว่าจะเป็น Roudram Ranam Rudhiram (Fierce Death Blood) ในภาษาเตลูกู ซึ่งเป็นภาษาถิ่นที่ใช้พูดกันในหนัง

หรือปรับให้กลายเป็นภาษาอังกฤษว่า Rise Roar Revolt

หรืออักษร R จากตัวสะกดในคำที่เป็นชื่อตอนของหนัง คือ stoRy, fiRe, wateR

พระเอกทั้งสองมีความมุ่งมั่นสู้ไม่ถอย ฝ่าฟันไปข้างหน้าไม่ว่าจะมีอุปสรรคใดมาขัดขวาง ทั้งเก่ง ทั้งแกร่ง ทั้งกล้าเหนือคนธรรมดาไปตั้งอยู่บนแท่นของวีรบุรุษขั้นเทพ

ซึ่งหนังชูให้สูงเลิศลอย ดังนั้น จากชื่อเสียงเรียงนามของวีรบุรุษนักสู้นั้นเอง ซึ่งได้มาจากตำนานเทพที่กลายเป็นมหากาพย์เรื่องสำคัญของอินเดีย-รามายณะ และมหาภารตะ

ภีมะ จากมหาภารตะ เป็นหนึ่งในนักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ตระกูลเการพ

และภีม (เอ็น.ที. รามา ราว จูเนียร์) เป็นชื่อของพระเอกชาวพื้นเมืองชนเผ่ากอนด์ ซึ่งมีเด็กหญิงตัวน้อยถูกลักพาตัวไปต่อหน้าต่อคนทั้งหมู่บ้าน เนื่องจากพรสวรรค์ทางศิลปะของแม่หนูน้อยไปเข้าตาภริยาผู้เย่อหยิ่งจอมโหด (อลิสัน ดูดี้) ของข้าหลวงอังกฤษประจำอินเดีย (เรย์ สตีเวนสัน)

ส่วนราม หรือพระราม นั้นคนไทยเรารู้จักกันดีอยู่แล้วจากวรรณคดีเรื่อง รามเกียรติ์ ที่ได้อิทธิพลมาจากรามายณะของอินเดีย

อัลลูรี สีตารามา ราชู (ราม ชารัน) แฝงตัวมาอยู่ในกองรักษาความปลอดภัยของอังกฤษ เพื่อชิงอาวุธปืนจากคลังแสงไปติดอาวุธให้เพื่อนร่วมขบวนการต่อต้านการกดขี่ของอังกฤษ ราชูจะได้ภาพของพระรามที่ถูกลักพาตัวไป…เหมือนนางสีดาที่ถูกลักพาตัวไปยังกรุงลงกา…จนไปเจอรูปปั้นของเทพเจ้าผู้มีธนูเป็นอาวุธประจำองค์กลางป่า เลยใช้คันศรและลูกธนูแผลงศรใส่ศัตรูจนวอดวายราพณาสูรไป

เพลงประกอบภาพยนตร์ที่ชนะรางวัลไป คือเพลง Naatu Naatu ซึ่งแปลว่า Dance Dance และเปิดตัวในวินาทีที่คาดไม่ถึงที่สุด…เป็นการหักมุมจนพูดไม่ออกบอกไม่ถูก…

เป็นการชิงชัยในสนามแข่งระหว่างชนผิวขาวกับคนพื้นเมืองอินเดีย เรื่องราวกำลังเข้มข้นถึงขั้นใกล้จะปะทะลงไม้ลงมือกันแล้วเชียว ทว่า การต่อกรกลับกลายเป็นการเต้นแบบสุดชีวิตจิตใจของฝ่ายอินเดีย พระเอกสองคนเต้นด้วยสเต็ปอันทรงพลังท่ามกลางเสียงเชียร์และสายตาชื่นชมจากฝ่ายสตรีอังกฤษ

เป็นนาทีที่น่าจดจำอย่างยิ่งจุดหนึ่งของหนัง แล้วยังมีการต่อสู้อีกหลายฉากที่ชวนตื่นตาตื่นใจ ไม่ว่าจะเป็นฉากพระเอกสยบพยัคฆ์เจ้าป่าหรือเสือโคร่งตัวโตด้วยมือเปล่าแบบฉิวเฉียด

ฉากที่พระเอกอีกคนต่อสู้กับฝูงชนนับหมื่นโดยลำพังคนเดียว

ฉากที่พระเอกทั้งสองร่วมแรงร่วมใจร่วมมือกันช่วยเด็กชายที่ตกอยู่ในกองเพลิงกลางน้ำ และทำสำเร็จอย่างฉิวเฉียด

ฉากที่พระเอกโดนเฆี่ยนประจานต่อหน้าฝูงชน เพื่อให้คุกเข่ายอมสยบราบคาบต่อผู้ปกครองที่กดขี่ เลือดโชกท่วมตัวแทบสิ้นสติสมปฤดี แล้ววินาทีนั้นพระเอกก็ร้องเพลงออกมาด้วยวลีที่เป็นชื่อของตัวเอง “โอ…โกมารัน ภีม” ซึ่งกระตุ้นให้ฝูงชนฮึกเหิมจนก่อจลาจลขึ้น

นี่เป็นหนัง “อินเดี้ย-อินเดีย” ค่ะ เป็นความสนุกเร้าใจ ชวนเพลิดเพลินและทำได้ดีมากในองค์ประกอบต่างๆ

ไม่สงสัยเลยว่าทำไมถึงได้ชนะใจคนดูทั่วโลกไปได้ในเวลารวดเร็ว… •

RRR

กำกับการแสดง

S.S. Rajamouli

นำแสดง

N.T. Rama Rao Jr.

Ram Charan

Ajay Devgn

Alia Bhatt

Ray Stevenson

Alison Doody

Olivia Morris

 

ภาพยนตร์ | นพมาส แววหงส์