The Whale : วาฬที่โดดเดี่ยวด้วยความรู้สึกผิด

วัชระ แวววุฒินันท์

“The Whale” เป็นชื่อภาพยนตร์ที่นักแสดงคือ “เบรนแดน เฟรเซอร์” คว้ารางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมไปครองจากเวทีออสการ์ปีล่าสุดที่เพิ่งประกาศผลไปเมื่อ 13 มีนาคมที่ผ่านมา

“The Whale” สร้างเป็นภาพยนตร์โดยดัดแปลงจากที่เป็นละครเวทีมาก่อน เหมือนหนังเรื่อง “The Father” ที่ทำให้แอนโธนี่ ฮอปกินส์ ได้รับรางวัลนำชายยอดเยี่ยมไปครองเป็นตัวที่ 2 จากเวทีออสการ์ปีที่แล้ว

ด้วยความเป็นละครเวทีมาก่อน จึงเอื้อต่อความน่าสนใจในบุคลิกของตัวละครได้มาก เพราะองค์ประกอบของละครเวทีที่ไม่ได้มีโปรดักชั่นใหญ่โต มักจะมีเสน่ห์คือความซับซ้อนของตัวละครในเรื่องให้ชวนติดตามและประทับใจได้ไม่ยาก

ซึ่งเรื่อง “The Whale” ก็เช่นกัน

ภาพยนตร์เรื่องนี้กำกับฯ โดย “ดาเรน อโรนอฟสกี” ที่จบด้านภาพยนตร์จากฮาร์วาร์ด และมีประสบการณ์กำกับละครเวทีหลายเรื่องมาก่อนในขณะที่เรียนอยู่ที่นั่น เขาจึงดึงความเป็นละครเวทีมาเติมด้วยศักยภาพของความเป็นหนังให้สามารถถ่ายทอดอารณ์ เรื่องราว ออกมาได้อย่างวิเศษ

และเขานี่เองที่ทำให้ “นาตาลี พอร์ตแมน” ได้รับรางวัลออสการ์นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมมาแล้วจากเรื่อง Black Swan ซึ่งในปีนี้เขาก็ทำได้อีกครั้งกับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม โดยเฟรเซอร์ นั่นเอง

เฟรเซอร์ รับบท “ชาร์ลี” ชายที่ป่วยด้วยโรคอ้วนขั้นรุนแรง และกำลังอยู่ในช่วงสุดท้ายของชีวิต เฟรเซอร์ต้องเสริมร่างกายหัวจรดเท้าเพื่อให้สมกับเป็นชายที่มีน้ำหนักตัว 136 ก.ก. ซึ่งในหนังก็ทำให้เชื่อได้ว่าเขามีน้ำหนักเช่นนั้นจริงๆ

แม้ส่วนต่างๆ ของร่างกายและใบหน้าจะถูกเสริมเติมแต่งด้วยเทคนิคการแต่งหน้าและเอฟเฟ็กต์ แต่ยังเปิดพื้นที่ให้ดวงตาของเฟรเซอร์ได้มีโอกาสแสดงออกถึงอารมณ์และความรู้สึกที่ซ่อนอยู่ได้อย่างดี มีทั้งความเหน็ดเหนื่อย โดดเดี่ยว สิ้นหวังในการมีชีวิต และรู้สึกผิดลึกๆ อยู่ตลอดเวลา

โดยเฉพาะกับลูกสาวคนเดียวของเขา

ชาร์ลีใช้ชีวิตคนเดียวในอพาร์ตเมนต์ เรื่องราวทั้งหมดจะเกิดขึ้นที่นี่ แต่ด้วยมุมกล้องและการตัดต่อ ช่วยทำให้คนดูไม่รู้สึกอึดอัดและน่าเบื่อกับความยาวเกือบสองชั่วโมงของหนัง ชาร์ลีรับจ้างสอนหนังสือทางออนไลน์ในวิชาภาษาอังกฤษเกี่ยวกับการเรียงความ ตลอดระยะเวลาที่สอนเขาจะปิดกล้องไว้เพื่อไม่ให้นักเรียนของเขาได้เห็นสภาพที่แท้จริงของเขา

ประเด็นหนึ่งของหนังที่ปรากฏในกระบวนการสอนของชาร์ลีคือ “ความจริงในความรู้สึก” เขาได้สั่งการบ้านให้นักเรียนได้เขียนบทวิจารณ์หนังสือในมุมมองของตนมาส่ง

ซึ่งเขาก็พบว่ามันดูปลอมสิ้นดี นักเรียนมักจะประดิษฐ์การเขียนเพื่อให้ถูกใจผู้สอน (ตามที่พวกเขาคาดหวัง)

จนเมื่อเขาบอกว่าให้ทิ้งการบ้านที่สั่งไป และให้เขียนอะไรก็ได้ถึงความรู้สึกที่แท้จริงของตนเอง

สิ่งที่นักเรียนเขียนกลับมาเป็นสิ่งที่จริงมากๆ ในความรู้สึกของพวกเขาที่มีต่อชีวิต ซึ่งชาร์ลีรู้สึกว่านั่นแหละเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ที่ทุกคนต้องรู้จักตัวเองและกล้าที่จะเปิดเผยมัน

การรู้จักตัวเองและกล้าที่จะเปิดเผยมันของชาร์ลีก็คือ การที่เขาได้ยอมรับว่าเขาเป็นเกย์ แม้จะแต่งงานมีลูกสาวแล้วก็ตาม เขาได้ทิ้งครอบครัวไปอยู่กับแฟนหนุ่มเมื่อ “เอลลี่” ลูกสาวของเขาอายุเพียง 8 ปี และนั่นเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของครอบครัวเขา

แมรี่ภรรยาของเขารับไม่ได้แน่นอน และเธอยินดีที่จะเลี้ยงลูกตามลำพัง ขอเพียงแต่เขาช่วยรับผิดชอบส่งค่าเล่าเรียนของเอลลี่มาให้เท่านั้นพอ ในเรื่องคือเวลาที่ล่วงเลยมาแล้ว 9 ปี เอลลี่อายุ 17 และกำลังจะเรียนต่อมหาวิทยาลัย

ฉากที่แมรี่มาหาชาร์ลี ทั้งสองย้อนไปขุดถึงอดีต และมีปากเสียงกัน ในตอนที่แมรี่จะออกไป เธอได้กล่าวว่า

“ฉันได้ทำหน้าที่ของฉันคือ การเลี้ยงดูเอลลี่ เธอก็ทำหน้าที่ของเธอคือการส่งเงินก็เท่านั้น”

แม้เขาจะช่วยเรื่องเงินค่าเรียนของลูกเหมือนเป็นการไถ่ความผิด แต่ลึกๆ แล้วเขารู้สึกว่ามันไม่ได้ช่วยอะไร เพราะเขายังรักลูกสาวคนเดียวเสมอ และรู้สึกผิดที่ตนทิ้งเธอไป ที่เขาโหยหาในใจคือความปรารถนาจะได้ใกล้ชิดกับลูก และเยียวยาความรู้สึกที่มีต่อกัน

โดยเฉพาะในช่วงสุดท้ายของชีวิตที่โรคได้ทำร้ายเขาจนจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่เกิน 7 วัน

ในตอนต้นเรื่องที่เขาเหมือนกำลังจะตาย เราจะได้เห็นเขาพยายามอ่านบทความจากหน้ากระดาษหนึ่งอย่างทุลักทุเลและทรมาน

เมื่อเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่เผอิญได้ผ่านเข้ามาและเปิดประตูเข้ามาในห้องของเขา และได้อ่านบทเรียงความนั้นให้ชาร์ลีฟังอย่างงงๆ เราจะได้เห็นอาการที่ดีขึ้นของชาร์ลี

เหมือนการได้ฟังเรียงความนันเป็นเครื่องปั๊มหัวใจให้เขาได้มีชีวิตอยู่ต่อได้

ในตอนท้ายหนังจะเฉลยว่าเรียงความนั้นเป็นฝีมือการเขียนของเอลลี่ลูกสาวของเขาเอง

เป็นเรียงความที่เธอเขียนออกมาได้อย่าง “น่าทึ่ง” ในสายตาของเขา

เพราะเธอเขียนออกมาจากความรู้สึกจริงๆ ข้างในจากการอ่านนิยายเรื่อง “Moby-Dick” ของเฮอร์แมน เมลวิลล์

เธอวิพากษ์ตัวละครเอกและเห็นว่าเขาเป็นตัวละครที่เห็นแก่ตัวอย่างมาก โดยเฉพาะกับการที่ตัวละครพยายามฆ่าปลาวาฬคือ “Moby-Dick” ให้ได้ทั้งๆ ที่ปลาวาฬนั้นไม่รู้สึกอะไรไม่ดีต่อเขาเลย

นี่คือ “ความจริง” ที่ชาร์ลีรู้สึกชื่นชมลูกสาวของเขา ที่หาไม่ได้จากความเรียงของนักเรียนในคลาสออนไลน์

ที่สำคัญคือ เขารู้สึกว่าบทเรียงความนี้เป็นสิ่งเดียวที่ผูกพันและยึดโยงระหว่างเขากับลูกสาวได้

และในตอนท้ายที่เขากำลังจะตาย หลังจากพ่อลูกมีปากเสียงกันอย่างหนัก และชาร์ลีได้ขอให้เอลลี่อ่านบทเรียงความที่เธอเขียนอีกครั้งทั้งๆ ที่เธอไม่ได้อยากอ่านและกำลังจะทิ้งเขาไป

แต่เมื่อเธอตะโกนอ่านมัน เธอก็ค่อยๆ ร้องไห้ออกมา และในทุกคำที่เธออ่านเหมือนมีพลังวิเศษที่ทำให้ผู้เป็นพ่อสามารถค่อยๆ ลุกขึ้นยืนด้วยตัวเองโดยไม่ต้องใช้ไม้ค้ำหรือรถเข็นช่วย และค่อยๆ สืบเท้าเดินอย่างช้าๆ เพื่อมาหาลูก ซึ่งที่ผ่านมาเขาไม่สามารถทำเช่นนั้นได้เลย

ฉากนี้ทำให้ผมนึกถึงหนังเรื่อง “What’s eating Gilbert Grape” ที่แม่ของดิคราปิโอ ที่ตอนที่แสดงเรื่องนี้เขาอายุ 19 ปีเอง และเป็นเด็กออทิสติก ซึ่งโดนตำรวจจับไปขังที่โรงพัก แม่ซึ่งมีน้ำหนักมากได้แต่นอนบนเตียง กลับพาร่างอันใหญ่โตของตนเองลุกจากเตียง ก้าวอย่างช้าๆ ไปขึ้นโรงพักเพื่อรับตัวลูกกลับบ้าน

เป็นพลังที่เกิดขึ้นจากความรักอันยิ่งใหญ่นั่นเอง

เรื่องนี้ก็เช่นกัน การที่เอลลี่อ่านเรียงความนั้นมันเหมือนเป็นสิ่งที่ทำให้ชาร์ลีได้บรรลุในช่วงสุดท้ายของชีวิต และบัดนี้เขาก็พร้อมจะจบชีวิตตัวเองลงด้วยจิตวิญญาณที่แจ่มใสสุกสว่าง ซึ่งภาพในหนังก็สะท้อนผ่านแสงสว่างเจิดจ้าจากภายนอก ที่ส่องผ่านตัวลูกสาวของเขามาหาเขา

และภาพที่เท้าของเขาเบาและลอยขึ้นจากพื้นก็เป็นสัญลักษณ์ของการปลดปล่อยทุกอย่างบนโลกนี้ลง

ต้องชื่นชมการแสดงของเฟรเซอร์อย่างมาก ที่นอกจากจะแบกน้ำหนักจากการเสริมร่างกายแล้ว ยังแบกหนังทั้งเรื่องในฐานะศูนย์กลางของเรื่องไว้ได้ ในฉากที่เขาตั้งหน้าตั้งตายัดของกินมากมายเข้าในร่างกาย เพื่อไม่ให้ตัวเองต้องทรมานทั้งทางกายและใจ เรียกความตื่นตะลึงให้กับผู้ชมได้

สายตาที่เขาแสดงออกกับตัวละครแวดล้อมแต่ละตัวก็ทำให้เรารับรู้และสะท้อนใจในชะตาชีวิตของเขา โดยเฉพาะเมื่อเขาอยู่กับ “ลิซ” เพื่อนชาวเอเชียที่เป็นดั่งพยาบาลจำเป็นที่คอยดูแลเขามาตลอด โดยใช้ทั้งไม้แข็งและไม่นวมเข้ากำกับเขา และลิซจะเจ็บปวดไปกับชาร์ลีด้วยเสมอ โดยเฉพาะในช่วงสุดท้ายของเพื่อนคนนี้ ลิซก็ยิ่งรู้สึกแย่ไปด้วย แต่เธอก็เต็มไปด้วยความเข้าใจในตัวเขา

ลิซ รับบทโดยนักแสดงชาวเวียดนามที่ชื่อ “ฮงเชา” เธอแสดงได้อย่างวิเศษจนได้เข้าชิงนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมรางวัลออสการ์ในปีนี้ด้วย

แม้สุดท้ายจะพลาดรางวัลให้กับป้าเจมมี่ ลี เคอร์ติส ไปก็ตาม แต่ก็เชื่อว่าผู้ชมจะต้องประทับใจในความสามารถทางการแสดงที่เป็นธรรมชาติของเธอแน่นอน

นักแสดงคนอื่นก็ทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างดี ทั้ง “เซดี ซิงค์” ที่รับบทเอลลี่ บทที่เหมือนเด็กร้ายและปิดกั้นตัวตนที่แท้ของตัวเองแม้แต่กับพ่อ เปิดโอกาสให้เธอได้แสดงความสามารถออกมาได้ดีเกินคาด

รวมถึงนักแสดงในบทแมรี่ ภรรยาที่โผล่มาแค่ซีนเดียว หรือโทมัส เด็กหนุ่มที่โผล่มาตอนต้นเรื่อง และได้มาพัวพันในความเชื่อเรื่องศาสนาของชาร์ลีด้วย ก็ทำให้หนังมีมิติมากขึ้น

ความบังเอิญที่รู้สึกคือ ในขณะที่ชีวิตจริงของเฟรเซอร์ต้องประสบกับเหตุการณ์ที่เหมือนฝันร้ายจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศจากผู้บริหารใหญ่คนหนึ่งของวงการ จนทำให้เขากลายเป็นโรคซึมเศร้า และจมปลักอยู่กับความรู้สึกแย่ๆ นั้นอยู่นับสิบๆ ปี ก่อนจะกล้าออกมาเปิดเผยความจริง

แต่บทที่เขาหวนกลับมาแสดงและสร้างชื่อเสียงอีกครั้ง กลับเป็นบทคนรักร่วมเพศที่เขาเคยมีประสบการณ์อันเลวร้ายในฐานะเหยื่อมาแล้ว และเขาก็แสดงให้เราเชื่อว่าเขามีความรักลึกซึ้งกับแฟนหนุ่มคนนั้นจริงๆ

จนเมื่อแฟนต้องมาจบชีวิตลง นั่นแหละทำให้เขาละทิ้งชีวิต ปล่อยตัวเองให้อ้วนและจมปลักอยู่กับความเศร้าตลอดมา

หากใครชอบหนังที่ดูสนุก ไม่ขอแนะนำให้ชมเรื่องนี้ แต่ใครใคร่เสพความลุ่มลึกและปรัชญาของชีวิต เชื่อว่าจะดูหนังเรื่องนี้ได้อย่างดื่มด่ำและสนุกกับการเรียนรู้ชีวิตของตัวละครแต่ละตัว

สุดท้ายแล้วสิ่งที่ได้จากหนัง “The Whale” ก็คือ ภาพจากภายนอกไม่สามาถบอกตัวตนที่แท้จริงของคนเราได้ มนุษย์ทุกคนนั้นล้วนมีความเห็นแก่ตัว และกลัวต่อการยอมรับความเป็นจริงของชีวิตที่เจ็บปวด จนทำให้สามารถทำร้ายความรู้สึกของคนอื่นได้โดยไม่ตั้งใจ

ฉะนั้น ดูให้ดีนะครับ คนที่มายกมือไหว้และเห็นคุณค่าของเราเสียเหลือเกินในยามนี้ โดยมีคำสัญญาดีๆ ชวนฝันมาป้ายยาเรา อย่าเพิ่งเชื่อ จงศึกษาดูลึกๆ ให้ถ่องแท้ก่อน

แม้จะไม่ดีที่สุด ก็เลือกเอาที่แย่น้อยที่สุดละกัน หากเลือกแล้วผลลัพธ์ออกมาไม่ใช่อย่างที่เราตั้งความหวัง ก็ตัวใครตัวมันล่ะ ผมช่วยได้เท่านี้ แฮ่ม •

 

เครื่องเคียงข้างจอ | วัชระ แวววุฒินันท์