เจนวิทย์ เชื้อสาวะถี : บันเทิงไทยใต้ร่มพระบารมี (4) – เวิร์คพอยท์…แหล่งผลิตงานเฉลิมพระเกียรติครบวงจร

ในจำนวนเพลงเฉลิมพระเกียรติที่ผลิตใหม่หลังการสวรรคตเมื่อ 13 ตุลาคม 2559 ซึ่งมีจำนวนมากกว่าสามร้อยเพลง 2 ใน 10 เพลงเฉลิมพระเกียรติที่ถูกเปิดฟังบ่อยที่สุด เป็นผลงานการผลิตของ “บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน)”

อันดับที่ 4 “ฟ้าร้องไห้” และอันดับที่ 9 “ลำภูไทด้วยหัวใจที่ฮักพ่อ”

“ฟ้าร้องไห้” เวิร์คพอยท์ร่วมกับ “ชลธี ธารทอง” ศิลปินแห่งชาติ ซึ่งนั่งเป็นกรรมการให้รายการชิงช้าสวรรค์ ประพันธ์คำร้องและทำนอง โดยระดมพลศิลปินชั้นครู เช่น แม่ผ่องศรี วรนุช, ไวพจน์ เพชรสุพรรณ, ชินกร ไกรลาศ, สดใส รุ่งโพธิ์ทอง, สุนารี ราชสีมา มาร่วมร้อง

“ลำภูไทด้วยหัวใจที่ฮักพ่อ” อาศัยบรรดาพิธีกร และกรรมการ จากรายการไมค์ทองคำหมอลำฝังเพชร ที่เวิร์คพอยท์เป็นผู้ผลิตมาร่วมจัดทำ เช่น “สลา คุณวุฒิ” ประพันธ์คำร้องและทำนอง โดยที่ สลา คุณวุฒิ, แม่บานเย็น รากแก่น, อี๊ด โปงลาง และ ตุ๊กกี้ ขับร้องเพลง ทั้งสองบทเพลงมีจุดเด่นอยู่ที่การบรรยายถึงความทุกข์ระทมของคนไทยได้จับใจ

หลังการสวรรคต เวิร์คพอยท์ยังผลิตเพลงเฉลิมพระเกียรติอีกสองเพลง คือ “บทเพลงของพ่อ” ร่วมขับร้องโดยศิลปินชั้นนำของไทยกว่า 20 ชีวิต

ผลิตซ้ำเพลง “ความฝันอันสูงสุด” ขับร้องโดยศิลปินเด็กจากรายการต่างๆ รวม 12 คน ที่เวิร์คพอยท์เป็นผู้ผลิต ไม่ว่าจะเป็นรายการไมค์ทองคำเด็ก, ละครเวทีนิทานหิ่งห้อย และ The Voice Kid มาร่วมร้องเพลงกับศิลปินเพลงปลุกใจ “สันติ ลุนเพ่”

 

เมื่อใกล้วันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ช่องเวิร์คพอยท์ ได้จัดทำ “คุณพระช่วยเทปพิเศษ” จำนวนถึง 17 ตอน นำเสนอพระมหากรุณาธิคุณด้านต่างๆ เช่น ศาสตร์พระราชา, หนังสือที่ทรงพระราชนิพนธ์ โดยรายการ “คุณพระช่วย” ที่อยู่กับสังคมไทยมาร่วม 13 ปี ถือเป็นหนึ่งในรายการที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย และมักนำเสนอความวิจิตรงดงามของพิธีกรรม ประเพณี วัฒนธรรมในราชสำนักอยู่เป็นระยะอีกด้วย

ทั้งยังมีการนำละครเฉลิมพระเกียรติที่เวิร์คพอยท์ได้เคยผลิตกลับมาฉายซ้ำอีกครั้ง ในจำนวนนี้คือ ละครเฉลิมพระเกียรติชุด “พ่อ” ที่ผลิตในโอกาสพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ ในปี 2542 นำเสนอผ่าน 6 เรื่องโดย 6 พระเอก เป็นเรื่องราวของคนธรรมดาที่ได้รับแรงบันดาลใจในการต่อสู้ชีวิตตามหลักคำสอนของในหลวง

ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2560 เวิร์คพอยท์ยังเปิดโรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ จัดนิทรรศการงานศิลปะที่ได้รับแรงบันดาลใจจากในหลวง ร.9 โดยศิลปินที่นำผลงานมาจัดแสดงร่วม 12 ท่าน

ในช่วงเวลาหลังการสูญเสียครั้งใหญ่ของคนไทย “โต๊ะกลม” บริษัทในเครือเวิร์คพอยท์ เจ้าของผลงาน “โหมโรง เดอะมิวสิคัล” งานละครเวทีที่ช่วยเตือนสังคมไทยถึงภัยจากเหตุแห่งการไร้ราก ไร้แผ่นดิน ยังได้ผลิตละครเวทีเรื่องใหม่ “รองเท้าของพ่อ” นำเสนอความขัดแย้งระหว่างพ่อและลูก ระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ ระหว่างการเติบโตจากศูนย์แบบค่อยเป็นค่อยไป กับการเติบโตแบบเร็วและก้าวกระโดด ละครเวทีเรื่องนี้คือ allegory หรือนิทานเปรียบเทียบชั้นดี ถึงในหลวง ร.9

ละครเวทีได้แรงบันดาลใจจากเพลง “พ่อ” ที่ประพันธ์โดย “ประภาส ชลศรานนท์” และขับร้องโดย “ไพบูลย์ เกียรติเขียวแก้ว”

มีท่อนสำคัญคือ “พ่อยิ่งใหญ่เหมือนภูเขาเราจะตาม”

และนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณสูงสุด เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระรูปพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ประกอบมิวสิกวิดีโอเพลง “พ่อ” ที่ประภาสประพันธ์ เพื่อเป็นกำลังใจแก่จิตอาสาเฉพาะกิจ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

 

เวิร์คพอยท์ก่อตั้งในปี 2532 และจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนในปี 2547

ระยะเวลาเกือบสามสิบปี ทำให้บริษัทแตกแขนงความถนัดและความเชี่ยวชาญออกไปในหลายสาขา ตั้งแต่ รายการโทรทัศน์, สถานีโทรทัศน์ออกอากาศในระบบดิจิตอล, การผลิตและตัดต่อภาพ, การผลิตภาพยนตร์, การจัดแสดงละครเวที คอนเสิร์ตและโชว์บิซ, การผลิตสื่อสิ่งพิมพ์, การผลิตบทเพลง, การรับจ้างจัดกิจกรรมทางการตลาด, โรงละครและสตูดิโอบันทึกเสียง

เวิร์คพอยท์ คือผู้นำในอุตสาหกรรมความบันเทิงของไทย และเอเชียอาคเนย์ มีศักยภาพในระดับที่สามารถผลิตความบันเทิงแบบครบวงจร มีคุณภาพสูง ในแง่นี้จึงเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตงานเฉลิมพระเกียรติแบบครบวงจรอีกด้วย

นอกจากที่ได้ไล่เรียงไปข้างต้นแล้ว เวิร์คพอยท์ยังมีงานเฉลิมพระเกียรติในระดับที่เป็นหมุดหมายอีกหลายชิ้น

เพลง “ปั่นจักรยาน” ผลงานการประพันธ์ของประภาส ดังกึกก้องทั้งแผ่นดินผ่านช่องทางต่างๆ ในโอกาสจัดกิจกรรม “BIKE FOR MOM ปั่นเพื่อแม่” และ “BIKE FOR DAD ปั่นเพื่อพ่อ” ในปี 2558 ซึ่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พระยศขณะนั้น) ได้เสด็จฯ ทรงเป็นประธานในพิธีเปิดและปิดกิจกรรม และทรงนำขบวนจักรยานเฉลิมพระเกียรติด้วยพระองค์เอง

นอกจากประพันธ์บทเพลงแล้ว เวิร์คพอยท์ยังรับหน้าที่ผลิตมิวสิกวิดีโอประกอบเพลงนี้ โดยระดมทัพคนบันเทิงร่วมเอ็มวีกันอย่างคับคั่ง

“ปัญญา นิรันดร์กุล” ผู้บริหารบริษัท ยังนั่งเป็นที่ปรึกษา/อนุกรรมการ ในฝ่ายจัดแสดงคอนเสิร์ต “บทเพลงเพื่อแม่” ซึ่งจัดขึ้นหลังกิจกรรมปั่นจักรยานสิ้นสุดลง ณ บริเวณสนามเสือป่า สำนักพระราชวังอีกด้วย

 

เวิร์คพอยท์ โดยฝีมือการรังสรรค์บทเพลงของประภาส ยังได้ผลิตเพลงเฉลิมพระเกียรติในโอกาสสำคัญต่างๆ เช่น ร่วมกับสภาสังคมสงเคราะห์ฯ ผลิตเพลง “แก้วกัลยา” ในโอกาสคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในปี 2549

ร่วมกับเครือซิเมนต์ไทย จัดทำสารคดีดนตรีเล่าเรื่อง “น้ำคือชีวิต” นำเสนอพระราชกรณียกิจของในหลวง ร.9 ในเรื่องน้ำ ในโอกาสฉลองครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี โดยประภาสร่วมกับศิลปินสามวง คือ คาราบาว เฉลียง และโมเดิร์นด็อก ประพันธ์บทเพลง “น้ำคือชีวิต” “แก้มลิง” “เพราะไหลผ่านเมือง” “แผ่นดินนี้ก่อนเคย” “เลี้ยงเมฆ” และ “เวิ้งว้าง” ประกอบสารคดีชุดนี้

ร่วมกับกระทรวงกลาโหม กองทัพไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผลิตเพลง “ครองแผ่นดินโดยธรรม” ในปี 2554 จุดเด่นของเพลงนี้อยู่ที่การบรรจุพระปฐมบรมราชโองการลงในบทเพลง

ร่วมกับศิลปินหลายร้อยชีวิต นำบทเพลงสำคัญของแผ่นดิน “สดุดีมหาราชา” มาขับร้องและเรียบเรียงใหม่ในโอกาส 5 ธันวาคม 2556

ในกิจกรรม Bike For Mom ประภาสยังประพันธ์เพลง “ผู้หญิงของแผ่นดิน” เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติ โดยเปรียบแม่เหมือนดอกไม้ ภูผา ขุนเขา สายน้ำ ซึ่ง “งดงามดุจดังดอกไม้ สดใสชื่นใจเมื่อยามได้ยล” “มั่นคงดุจดังภูผา ปะทะลมแรงหยุดพายุให้บางเบา”

ประภาสยังประพันธ์บทเพลงว่าด้วยความรักชาติ รักแผ่นดิน อีกหลายชิ้น หนึ่งในนั้นคือเพลง “วันพรุ่งนี้” ซึ่งเวิร์คพอยท์ได้มอบเพลงนี้ให้กับ คสช. หลังการรัฐประหารในปี 2557 เพื่อเป็นสื่อหนึ่งในการรวมใจคนไทย และนำไปใช้ในกิจกรรมของศูนย์ปรองดองสมานฉันท์

 

ในด้านการผลิตละครโทรทัศน์ เวิร์คพอยท์ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณสูงสุด หนึ่งในนั้นคือ การผลิตละครเฉลิมพระเกียรติ เรื่อง “คือสายใยแห่งรัก” เนื่องในโอกาสวันแม่แห่งชาติ ในปี 2550 ละครเรื่องนี้สร้างจากบทพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร นำเสนอเรื่องราวของแม่ 3 คน ที่มีวิธีการเลี้ยงลูกแตกต่างกันไป และแต่ละวิธีการเลี้ยงก็ส่งผลให้ลูกของทั้ง 3 เติบโตเป็นคนที่มีนิสัยต่างกันไป

ในแขนงงานธุรกิจรับจ้างจัดงานก็มีงานที่เป็นหมุดหมายหลายชิ้น หนึ่งในนั้นคือ อาคารจัดแสดงประเทศไทย หรือ Thailand Pavilion ในงาน World Expo 2015 ที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี หนึ่งในส่วนสำคัญของนิทรรศการ คือการนำเสนอเรื่องราว “กษัตริย์แห่งเกษตร”

ผ่านแนวพระราชดำริการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืนในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

 

ในท่ามกลางการแข่งขันของอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงในไทย ซึ่งผู้เล่นตัวใหญ่ๆ ได้ล้มหายตายจาก และอ่อนพลังลงไปมาก เมื่อพิจารณาจากรายได้ทีวีดิจิตอลในปี 2559 จะพบว่า เวิร์คพอยท์ยังคงแข็งแกร่ง สังเกตได้จากรายได้ร่วม 2,121 ล้านบาท โดยเป็นรองเพียงช่อง 7 ซึ่งมีรายได้กว่า 2,576 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังประเมินกันว่า ในปี 2560 เวิร์คพอยท์จะมีรายได้เติบโตอย่างก้าวกระโดดอยู่ที่ 225% มาอยู่ที่ 715 ล้านบาท จากปี 2559 ที่มีกำไรประมาณ 199 ล้านบาท ขณะที่ปี 2561 ประเมินว่าจะมีกำไรร่วม 969 ล้านบาท และในปี 2562 จะมีกำไรทะลุ 1 พันล้านบาท

นอกจากนี้ ช่อง YouTube ของเวิร์คพอยท์ทีวี ยังติดอันดับ 1 ในหมวดทีวีในไทย ขณะที่ยอดผู้ติดตามและกดไลก์แฟนเพจก็เป็นอันดับ 1 ในไทยราว 11 ล้านคน

ความสำเร็จในเชิงรายได้เป็นผลจากศักยภาพในการผลิตงานระดับนวัตกรรม เห็นได้จากยอดขายลิขสิทธิ์รายการไปต่างประเทศของเวิร์คพอยท์ซึ่งจนถึงขณะนี้มีมากถึง 19 รายการ ความสำเร็จเหล่านี้มาทั้งจากการเข้าใจรสนิยมคนไทย ความคิดสร้างสรรค์ และประสบการณ์จากการได้ผลิตงานในระดับโลกหลายชิ้น ไม่ว่าจะเป็น Thailand”s Got Talent ,The Voice Thailand, The Mask Singer และ The X Factor Thailand ประสบการณ์เหล่านี้เองช่วยขยับโลกแคบๆ ให้กว้างไกลออกไป

ด้วยศักยภาพ และฐานประสบการณ์เหล่านี้เอง จะช่วยให้เราได้เห็นงานเฉลิมพระเกียรติในแบบแผนใหม่ๆ รอเราอยู่ในอนาคต