เก็บตกออสการ์ 2023

วัชระ แวววุฒินันท์

เมื่อฉบับที่แล้ว ผมได้เขียนถึงหนัง “All Quiet on The Western Front” ไป โดยทิ้งท้ายให้ติดตามดูว่า ในการประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 95 นี้ จะคว้าไปได้กี่รางวัล

ผลลัพธ์คือจากการเข้าชิง 9 รางวัล สามารถเก็บไปได้ 4 รางวัลคือ ภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม, ถ่ายภาพยอดเยี่ยม, ออกแบบงานสร้างยอดเยี่ยม และดนตรีประกอบยอดเยี่ยม ซึ่งถือว่าสมราคาดี

ส่วนภาพยนตร์ที่คว้ารางวัลไปมากที่สุดเป็นหนังที่ชื่อยาวกว่าเสียอีก นั่นก็คือ “Everything Everywhere all at once” มีชื่อไทยที่ผมรู้สึกขัดหูมากคือ “ซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์ส” เรื่องนี้เข้าชิง 11 รางวัล และคว้าไปถึง 7 ซึ่งเป็นรางวัลใหญ่ทั้งสิ้น คือ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม, นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม, สมทบชายและหญิงยอดเยี่ยม, บทดั้งเดิมยอดเยี่ยม และตัดต่อยอดเยี่ยม

มาพูดถึงภาพรวมของงานกันก่อน

งานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 95 ในปีนี้จัดออกมาแบบเรียบง่ายไม่หวือหวาอะไรมาก ด้วยความยาวราว 3 ชั่วโมง ทำให้ตัวงานกระชับไม่เยิ่นเย้อ

เพราะช่วงหลังยอดคนดูของงานถ่ายทอดสดออสการ์ได้ตกลงอย่างมาก จึงไม่จำเป็นต้องจัดงานให้ใหญ่และกินเวลานานๆ ให้เปลืองสตางค์

โทนของฉากและมีเดียบนเวทีออกแนว Retro ดูย้อนสมัย แต่ก็ยังคงความมีคุณค่าตามสไตล์ออสการ์

บนเวทีไม่ได้มีการแสดงโชว์อะไรที่หวือหวา ฮือฮา ซึ่งก็เป็นการโชว์เพลงที่ได้เข้าชิงรางวัลเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมนั้นก็ขายเนื้อๆ ไม่เน้นโปรดักชั่นแต่อย่างใด

พิธีกรหลักของงานคือ Jimmy Kimmel ซึ่งเป็นพิธีกรรายการทอล์กโชว์ของช่อง abc ที่ชื่อ Jimmy Kimmel Live

รายการของเขาออกแนวเสียดสีการเมือง แต่ในเวทีออสการ์นี้ไม่ได้แวะไปหยิกแกมหยอกฟากการเมืองแต่อย่างใด

อาจไม่อยากให้เกิดดราม่าใดๆ ตามมาก็ได้ หรือไม่ก็อาจจะกลัวคนที่เชียร์ฝั่งการเมืองที่เขาแขวะ จะขึ้นเวทีมาต่อยหน้าเอา เหมือนเหตุการณ์ปีที่แล้วก็ไม่รู้

ซึ่งทางโปรดิวเซอร์ของออสการ์ก็ใช้ประโยชน์จากการเป็นพิธีกรทอล์กโชว์ของเขา โดยให้เขาพูดอย่างเดียวในโชว์เปิดรายการ แถมประหยัดตังค์ได้ด้วย

ซึ่งถ้าเทียบกับบางปีที่ผ่านมา พิธีกรหลักนอกจากจะพูดแล้วยังมีร้องมีเต้น หรือร่วมทำโชว์ให้ตื่นตาตื่นใจอีกด้วย

สำหรับจิมมี่แล้ว มีกิมมิกนิดเดียวตอนหัวที่เปิดด้วยภาพหนังล้อเลียนเรื่อง Top Gun : Maverick

โดยให้เขาเป็นหนึ่งในคนขับเครื่องบินรบ และพูดจาโต้ตอบกับทอม ครูซส์ ก่อนจะกระโดดร่มลงมาบนเวทีก็เท่านั้น

ส่วนช่วงประกาศรางวัลต่างๆ ก็มีนักแสดงหลากหลายจับคู่กันมาเป็นผู้ประกาศ มีพูดจาแซวหยอกกันให้พอได้ยิ้มหรือหัวเราะบ้าง

อย่างพระเอกฮิวจ์ แกรนท์ ที่จับคู่กับอดีตนางเอกแอนดี้ แม็กโดเวลล์ ที่เคยร่วมงานกันในหนังเรื่อง “Four Weddings and a Funeral” ก็แซวตัวเองว่า เขาสองคนไม่ได้พบกันนาน แต่เธอยังดูดีเพราะใช้มอยเจอร์ไรเซอร์เสมอ

ต่างกับเขาที่ไม่ได้ใช้เลย ซึ่งผู้ชมจะสามารถเห็นความแตกต่างของใบหน้าของเราทั้งสองได้อย่างชัดเจน

เป็นมุขตลกประเภทแซวสังขารตัวเอง

Jimmy Kimmel

กลับมาที่รางวัล ที่คว้าเป็นกอบเป็นกำหน่อยก็จะมีสองเรื่องข้างต้นที่พูดถึงไปแล้ว ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็ได้ไปตัวเดียว สองตัวบ้าง และที่ไม่ได้เลยก็มาก

เช่น หนังขวัญใจมหาชนในปีที่ผ่านมาอย่าง Top Gun : Maverick ก็ได้ไปแค่รางวัลเดียว คือ บันทึกเสียงยอดเยี่ยม

ส่วน Avatar : The Way of Water ก็ได้ไปแค่หนึ่ง คือ เทคนิคพิเศษยอดเยี่ยม ซึ่งควรจะต้องได้อยู่แล้ว

หรืออย่าง Black Panther : Wakanda Forever ก็ได้แค่รางวัลเดียวเช่นกันคือ ออกแบบเครื่องแต่งกาย

ในขณะที่รางวัลเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมก็สร้างความฮือฮา และเป็นสถิติใหม่ กับการที่เพลงจากภาพยนตร์อินเดียสามารถคว้ารางวัลนี้ไปครองได้เป็นครั้งแรก จากเพลงชื่อ “Naatu Naatu” จากหนังเรื่อง “RRR” ซึ่งผู้ที่ได้รับรางวัลบอกว่า ตัวเองฟังเพลงของวง The Carpenter มาตั้งแต่เด็ก แล้วก็ได้ร้องเพลง Top of the World ออกมา โดยแปลงเนื้อให้เข้ากับหนังที่ตนทำด้วย

เป็นมุขฮาน่ารักๆ จากฝั่งอินเดียที่มอบให้กับงาน

แต่จะว่าไปก็น่าภูมิใจไม่น้อย เพราะเพลงนี้สามารถเอาชนะเพลงอื่นที่เข้าชิงจากการร้องของนักร้องดังอย่าง Lady Gaga และ Rihanna ไปได้

มิเชล โหย่ว

ผลรางวัลในครั้งนี้ดูจะให้น้ำหนักกับผลงานของคนเอเชียไม่น้อย การที่หนังอย่าง “Everything Everywhere all at once” ได้รับรางวัลสำคัญๆ ไป ทั้งที่มีหน้าตาของเนื้อหา และผู้แสดงหลักล้วนเป็นชาวเอเชียเกือบทั้งสิ้น ก็พอจะยืนยันน้ำหนักนี้ได้ดี

ซึ่งหนังสัญชาติเกาหลีอย่าง Parasite เคยทำเอาไว้มาแล้วเมื่อ 3 ปีก่อน

“มิเชล โหย่ว” ที่ได้รับรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ก็สร้างสถิติเป็นนักแสดงหญิงชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้ ซึ่งเธอก็ได้พูดถึงเรื่องเชื้อชาติบนเวทีด้วย โดยบอกว่า ขอมอบรางวัลนี้เพื่อเป็นกำลังใจให้กับคนหนุ่มสาวทุกคนที่มีหน้าตาแบบเธอ (หมายถึงเป็นชาวเอเชีย)

และได้บอกด้วยว่า ใครจะฝันอะไรขอจงฝันให้ใหญ่ และทำมันให้เป็นจริงขึ้นมา เหมือนที่เธอทำได้ในวันนี้

พร้อมกับทิ้งท้ายไว้ว่า อย่าให้ใครมาบอกเราว่า มันหมดยุค หรือพ้นวัยของเราแล้ว ดูอย่างเธอสิ เธอพิสูจน์แล้วว่าเธอทำได้

คี อุย ควาน

ส่วนนักแสดงร่วมอีกคนที่เล่นเป็นสามี คือ “คี อุย ควาน” ก็ได้รับรางวัลนักแสดงสมทบชายไปครอง

เขาดีใจมากกับรางวัลนี้ ซึ่งก็น่าจะเป็นเช่นนั้นเพราะจากที่เคยแสดงหนังเรื่องแรกไว้ในวัยเด็ก จากตอนนั้นเวลาก็ล่วงเลยมาถึง 40 ปี กว่าที่เขาจะได้รับโอกาสดีๆ อีกครั้ง และเขาก็ทำมันออกมาได้อย่างน่าประทับใจจนคว้ารางวัลมาได้

เขาถึงกับร้องไห้ออกมาตอนรับรางวัลมาไว้กับมือ และบอกว่าแม่ของเขาอายุ 84 ปีแล้ว เขาขอมอบรางวัลนี้ให้กับแม่ จากนั้นน้ำตาก็พรั่งพรูตามมา

และเขายังกล่าวว่า

“ผมเริ่มต้นชีวิตบนเรือ และใช้เวลาหลายปีอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย แต่ฮอลลีวู้ดได้หยิบยื่นโอกาสให้กับผม มันเป็นความฝันอันยิ่งใหญ่แบบ American Dream… ขอให้ทุกคนจงเชื่อมั่นในความฝัน ความฝันจะทำให้คุณมีชีวิตต่อไปได้ ผมเคยเกือบทิ้งมันไป แต่เพราะความฝันทำให้ผมมีวันนี้ได้”

เจมี่ ลี เคอร์ติส

ส่วนรางวัลประกอบหญิงยอดเยี่ยมก็มาจากหนังเรื่องเดียวกัน คือ “เจมี่ ลี เคอร์ติส” ที่ไม่น่าเชื่อว่าเธออยู่ในวงการมานานกว่า 30 ปี แต่เพิ่งได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์ครั้งนี้เป็นครั้งแรก และเธอก็คว้ามันมาได้จากการเข้าชิงครั้งแรกนี้

จึงไม่แปลกใจที่จะเห็นเธอดีใจแบบสุดๆ ตอนได้รับรางวัล เธอพูดซ้ำๆ ว่า “ฉันชนะออสการ์แล้ว ฉันชนะแล้ว” พร้อมสีหน้า และแววตาของความปีติยิ่ง

อีกหนึ่งรางวัลสำหรับรางวัล BIG 4 ด้านการแสดง คือ นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ก็เป็นของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงเป็นครั้งแรกเหมือนกัน นั่นคือ “เบรนแดน เฟรเซอร์” จากเรื่อง The Whale ที่นับได้ว่าเป็น Big Back หรือการกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ของตัวเขาเลยก็ว่าได้

เพราะจากที่ต้องผจญกับโรคซึมเศร้าเป็นเวลานานจนต้องออกจากวงการไปเพื่อรักษาตัว ในขณะที่เขายังรักอาชีพนักแสดงและวงการบันเทิงอยู่มาก

จนวันนี้ที่เขาได้มีโอกาสกลับมาแสดงฝีมือทางการแสดงอีกครั้ง และเขาก็ทำมันสำเร็จด้วยวัย 54 ปี

หากจะย้อนดูผู้ที่เคยได้รับรางวัลนำชายยอดเยี่ยมใน 5 ปีหลังที่ผ่านมา จะพบว่าถ้าไม่เป็นบทที่มีตัวตนจริงๆ อย่างนักร้องดัง “เฟรดดี้ เมอร์คิวรี่” หรือ “ริชาร์ด วิลเลี่ยม” (พ่อของนักเทนนิส วีนัสและเซเรน่า วิลเลี่ยม) หรือ “นายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิล” ก็จะเป็นบทของผู้ที่โดดเดี่ยวเดียวดาย ต้องต่อสู้กับสังคมและสภาพแวดล้อมที่โหดร้าย อย่างบท Joker ของ โจควิน ฟีนิกซ์ หรือบทพ่อที่ความจำเสื่อม ใน Father ของแอนโธนี่ ฮ็อปปินส์

สำหรับบทชาลีในเรื่อง The Whale นี้ก็เช่นกัน เบรนแดนสวมบทบาทเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่ป่วยเป็นโรคอ้วนขั้นรุนแรง และเวลาในชีวิตกำลังจะหมดลง เขาจึงพยายามใช้เวลาที่เหลืออยู่เพื่อเยียวยาปัญหาของเขาและครอบครัวที่แตกร้าวมานาน

แดนเนียล ควอน กับแดเนียล ไชเนิร์ต

สําหรับรางวัลใหญ่อีกรางวัลหนึ่งที่ “Everything Everywhere all at once” ได้รับไปก็คือ ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ซึ่งผู้กำกับฯ ในเรื่องนี้มีอยู่สองคน คือ แดนเนียล ควอน กับแดเนียล ไชเนิร์ต

พวกเขาเรียกกันเองว่า The Daniels นับว่าเป็นอีกรางวัลที่ถ้าดูจากชื่อชั้นแล้วก็ถือได้ว่ามาไกลมาก เพราะคู่แข่งคนอื่นมีทั้งชื่อเสียงและผลงานมานาน

ตอนหนึ่งของการกล่าวบนเวที เขาบอกว่า “สำหรับหนังเรื่องนี้ เป็นที่ซึ่งเราได้พึ่งพากันและกัน ท่ามกลางโลกปัจจุบันที่ยุ่งเหยิงวุ่นวาย และในโลกที่อินเตอร์เน็ตเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว หนังเรื่องนี้เราทำด้วยความศรัทธาเต็มเปี่ยม และดีใจที่ผู้คนสัมผัสมันได้”

ซึ่งหากจะดูจากตัวหนังแล้ว “Everything Everywhere all at once” เป็นหนังที่บอกเล่าด้วยมิติที่ซับซ้อนของยูนิเวิร์ส ตัวละครเอกของเรื่องที่ Yeoh ได้รับมีตัวตนที่หลากหลายในหลายหลากมิติ แต่ไม่ว่าจะยุ่งเหยิงวุ่นวายอย่างไร สิ่งหนึ่งที่นับว่าเป็นแก่นสำคัญของเรื่องก็คือ ความรักความสัมพันธ์ในครอบครัว ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญและยิ่งใหญ่มากสำหรับมนุษย์ ที่ไม่ว่าจะอยู่ในมิติ ในภพ ในรูป ในนามอันใดก็ตาม

ความรักของคนเป็นแม่ที่มีต่อลูก ของภรรยาที่มีต่อสามี ของลูกที่มีต่อพ่อ ที่เธอแสดงก็ลึกซึ้งกินใจ และเอาผู้ชมจนอยู่หมัดได้ เห็นหนังวุ่นวายยุ่งเหยิงอย่างนี้ แต่การแสดงของเธอก็เรียกน้ำตาจากผู้ชมในช่วงเวลาสำคัญได้เหมือนกัน

ดังนั้น หากซือเจ๊คนนี้จะทะลุมัลติเวิร์สบ้าง ก็พอให้อภัยได้ ฮะ ฮะ ฮ่า •

 

เครื่องเคียงข้างจอ | วัชระ แวววุฒินันท์