เมื่อคนแก่ส่งคนหนุ่มไปรบ

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอฉบับนี้ ผมจะเขียนถึงภาพยนตร์เรื่อง “All Quiet on the Western Front” หรือชื่อไทยว่า “แนวรบด้านตะวันตก เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง”

จริงๆ เรื่องนี้เคยถูกสร้างมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 1930 หรือราว 93 ปีมาแล้ว เป็นการสร้างจากฮอลลีวู้ด ซึ่งต่างจากครั้งนี้ที่สร้างโดย Netflix และเป็นหนังจากเยอรมนีตามเนื้อเรื่องที่แท้จริง ผลงานการกำกับฯ และเขียนบทของ “เอ็ดเวิร์ด เบอร์เกอร์” ชาวเยอรมัน

สำหรับตัวหนังเรื่องนี้ก็มีคุณภาพจนได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลในเวทีต่างๆ มาแล้ว โดยล่าสุดจากรางวัล BAFTA หรือ British Academy Film and Television Arts ที่เป็นดั่งออสการ์ของประเทศอังกฤษ ก็สามารถคว้ามาได้ถึง 7 รางวัล จากการเข้าชิง 14 รางวัล และหนึ่งในเจ็ดนั้นก็คือรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

และยังมีรางวัลออสการ์ครั้งที่ 95 ที่รออยู่อีก จากการเข้าชิงถึง 9 รางวัล ต้องรอลุ้นกันว่าสุดท้ายแล้วจะคว้ามาได้กี่ตัว

All Quiet on the Western Front เป็นหนังสือนิยายมาก่อน เขียนโดย “เอริช มาเรีย เรอมาร์ก” เมื่อปี 1929 เขียนจากประสบการณ์จริงที่เขาได้เข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 และได้นำประสบการณ์อันโหดร้ายที่พบเจอกับตัวมาถ่ายทอดเป็นตัวอักษร ซึ่งเป็นนิยายที่ออกแนวต่อต้านสงคราม และได้รับความนิยมด้วยยอดขายถึง 3 ล้านเล่ม และได้รับการแปลถึง 45 ภาษา

แต่ผู้นำกองทัพนาซีไม่นิยมด้วย ถึงกับสั่งให้เผาหนังสือเล่มนี้ทิ้งในปี 1933

ภาพยนตร์สงครามนั้นมีให้เราได้ชมอยู่ไม่น้อย แต่สำหรับเรื่องนี้ความพิเศษคือ เป็นการถ่ายทอดจากสายตาของทหารเยอรมัน ซึ่งส่วนใหญ่เราจะรับรู้จากฝ่ายตรงข้ามเสียมากกว่า และมองเยอรมนีเป็นผู้ร้าย

เรื่องนี้จะว่าไปไม่ใช่แค่เยอรมนีเท่านั้นที่เป็น “ผู้ร้าย” แต่ทุกประเทศที่ก่อสงครามล้วนควรถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ร้ายของความสงบสุขของโลกทั้งนั้น

หนังเปิดเรื่องด้วยฉากรบที่ดุเดือดและเหมือนจริง มีการใช้ Long Take หรือ ถ่ายด้วยกล้องเดียวยาวถึง 2 นาที ผ่านทหารที่ชื่อ “ไฮน์ริช เกอเบอร์” แสดงถึงความแม่นยำของโปรดักชั่นที่ต้องผสมผสานกันอย่างดีทั้ง นักแสดงนำ นักแสดงร่วม เทคนิคต่างๆ กล้อง แสง เสียง

แล้วหนังก็เริ่มแนะนำตัวให้เรารู้จักตัวละครที่เป็นกลุ่มเด็กหนุ่มที่เป็นเพื่อนกัน แต่ละคนมีวัย 17-18 ปี ซึ่งกำลังจะสมัครไปรบอย่างลิงโลด เริงร่า เหมือนจะได้ไปท่องเที่ยวในสถานที่ที่สวยงามและฝันไว้ ไม่มีภาพความโหดร้ายของสงครามอยู่ในหัวเลยสักนิด

ยิ่งพอหนุ่มๆ ได้รับการปลุกเร้าจากผู้นำของกองทัพในวันที่ไปสมัครเป็นทหาร ได้บอกว่าพวกเขาเป็น “เยาวชนเหล็กแห่งเยอรมนี” ก็ยิ่งนำมาซึ่งความฮึกเหิมเต็มที่

ในกลุ่มนี้มีตัวเอกที่ชื่อ “พอล บอยเมอร์” ที่จะเล่าเรื่องราวจากนี้ไปจนจบ

หากใครเคยเห็นโปสเตอร์ก็คือคนที่มีหน้าขนาดใหญ่ขึ้นมาโดดๆ นั่นล่ะ แสดงโดย “เฟลิกซ์ คัมเมอเรอร์” ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าเป็นผลงานการแสดงเรื่องแรกของเขา

ตอนที่เขาเข้าแถวเพื่อรับชุดเครื่องแบบทหารนั้นเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของการจะก้าวเข้าสู่สมรภูมิรบ ที่จริงๆ แล้วชุดที่รับมานั้นก็คือเครื่องแบบเดิมของทหารที่ชื่อ ไฮน์ริช เกอเบอร์ ตอนต้นเรื่องนั่นเอง เพราะเมื่อทหารเสียชีวิต จะมีหน่วยที่แยกเอาเสื้อผ้าจากศพมาทำความสะอาดให้ใหม่ เพื่อที่จะนำไปให้ทหารรุ่นต่อไปได้ใช้

จากจุดจบในสนามรบของคนคนหนึ่ง ก็ได้เริ่มต้นใหม่กับนักรบคนต่อไป

ฉากหลังของหนังคือสนามเพลาะที่อยู่ทางฝั่งตะวันตกของเยอรมนีที่มีพรมแดนติดกับฝรั่งเศส

เป้าหมายของกองทัพเยอรมนีทางฟากนี้คือการบุกเข้าไปจนถึงปารีสนั่นเลย

แต่ผลของการปฏิบัติการรบนั้นแทบไม่ก้าวหน้า ลุกคืบได้ไม่กี่เมตร แต่ต้องถอยร่นมาเป็นสิบๆ เมตร

จนใช้เวลาราวๆ 3-4 อาทิตย์โดยไม่สามารถรุกคืบได้ตามเป้าหมายได้เลย และมีทหารเสียชีวิตถึง 40,000 คน

นั่นคือที่มาของชื่อ “แนวรบตะวันตก เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง”

เรื่องราวของหนังเกิดขึ้นในช่วงปลายของสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่กองทัพเยอรมนีเริ่มเพลี่ยงพล้ำในหลายๆ พื้นที่รวมทั้งที่ฝั่งตะวันตกนี้ด้วย

หนังไม่ไยดีผู้ชมโดยการกระหน่ำใส่ความโหดร้ายของสงครามแบบเต็มๆ มีฉากการต่อสู้ที่ถึงเลือดถึงเนื้อ ยิงเป็นยิง แทงเป็นแทง ระเบิดให้เห็นร่างที่กระเด็นกระดอน และฉีกขาดจากพิษของแรงระเบิด ถ้าใครใจเสาะหน่อยอาจรับไม่ได้

เหล่ากลุ่มเพื่อนที่เริ่มต้นเรื่อง ต่างพากันพบกับความเป็นจริงของสงคราม บางคนสติแตกร้องจะกลับบ้าน และต้องจบชีวิตลงในเวลาไม่นาน

เพื่อนๆ ที่เหลืออยู่จำต้องจับปืนสู้ต่ออย่างไม่รู้จะทำอะไรได้ดีกว่านั้น สู้อย่างบ้าคลั่ง ทั้งที่หวาดกลัวและเหน็ดเหนื่อย

ทหารในเรื่องไม่ได้ถูกนำเสนอภาพให้เป็นวีรบุรุษหรือนักรบที่เก่งกล้าแต่อย่างใด หากมีความเป็นปุถุชนคนธรรมดาที่มีเจ็บ มีกลัว มีเหนื่อย อ่อนล้า สิ้นหวัง และ หิวโหย จนบางครั้งต้องเห็นแก่ตัว เห็นแก่ชีวิตตนเองเพื่อเอาชีวิตให้รอด

มีหลายๆ ฉากที่ให้ความสะเทือนใจ อย่างตอนที่พอลต้องตกอยู่ในแอ่งน้ำตื้นๆ โดยมีเขากับทหารฝรั่งเศสคนหนึ่งเท่านั้น แน่นอนที่ต่างฝ่ายต่างก็ต้องมุ่งประหัตประหารกัน เพราะถ้าเราไม่ทำเขา เขาก็จะทำเรา

พอลเป็นฝ่ายชนะ โดยการกระหน่ำแทงมีดสั้นไปที่หน้าอกของอีกฝ่ายจนอีกฝ่ายหมดแรงจะสู้ หากแต่ทหารคนนั้นยังไม่ตายในทันที อาการของคนใกล้จะตายที่ไม่ว่าจะเป็นคนชาติไหน เป็นศัตรูหรือไม่ก็ตาม แต่มันได้ทำให้จิตสำนึกลึกๆ ของการเป็นคนของพอลผุดขึ้นมา

เขาพยายามจะช่วยเหลือทหารคนนั้นเท่าที่จะเป็นไปได้อย่างทุลักทุเล แต่สุดท้ายก็ทนพิษบาดแผลไม่ไหวต้องตายลง พอลยิ่งรู้สึกไม่ดีอย่างหนักเมื่อเขาค้นตัวทหาร และพบภาพของเมียและลูกน้อยของทหารผู้นั้นซุกอยู่

เขาเก็บภาพนั้นไว้ด้วยน้ำตา และสัญญาว่าจะนำไปบอกกับเธอคนนั้นเอง

ความสะเทือนใจที่ยิ่งกว่าอีกเหตุการณ์หนึ่ง คือ การที่ตัวแทนฝ่ายเยอรมนีขอเข้าพบตัวแทนกองทัพฝรั่งเศสเพื่อเจรจาหยุดยิง เพราะตระหนักได้ถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้นยามนี้ ที่รบยังไงก็ไม่มีทางชนะ นายพลของฝรั่งเศสที่เป็นต่อยื่นสัญญายอมยุติสงครามพร้อมเงื่อนไขมากมายให้เยอรมนีเซ็น โดยมีเวลาให้คิด 72 ชั่วโมง

ใน 72 ชั่วโมงนั่น บนโต๊ะเจรจาเกิดอะไรขึ้นไม่รู้ แต่ในสนามเพลาะ ทหารทั้งสองฝ่ายยังตั้งหน้าตั้งตาประหัตประหารกัน ซึ่งก็เห็นได้ชัดว่าฝ่ายเยอรมนีนั้นเป็นฝ่ายที่ต้องถอยร่นและสูญเสีย

ตัวแทนเยอรมนีซึ่งเป็นพลเรือนที่ประสงค์จะให้ยุติสงคราม ได้มาหารือกับนายพลของกองทัพที่ยังกระหายสงครามและไม่ยอมแพ้อยู่ ตัวแทนคนนั้นได้กล่าวว่า

“สิ่งเดียวที่ขวางกั้นเราไว้จากการหยุดยิง ก็คือความภูมิใจปลอมๆ ถึงเวลาที่จะรับมือกับความเหลวแหลก ที่คุณกับเหล่านายพลของคุณทิ้งไว้ให้พวกเราแล้ว”

เมื่อครบกำหนด ซึ่งตรงกับเช้าตรู่ของวันที่ 11 พฤศจิกายน 1918 ทางฝ่ายเยอรมนีก็จำยอมเซ็นสัญญายุติสงคราม ซึ่งทางฝรั่งเศสก็ได้บอกว่าจากนี้จนถึงเวลา 11 นาฬิกา สัญญานี้จะบังเกิดผล

ทหารที่อยู่แนวหน้าได้รับทราบข่าวการยุติสงครามต่างก็ดีใจ และพวกเขาที่เหลืออยู่กำลังจะได้กลับบ้าน แม้ว่าบางคนจะต้องพิการก็ตาม ความหวังถึงความสุขได้ฉายออกมาทางแววตาอย่างเด่นชัด มีการร้องรำทำเพลงอย่างรื่นเริง

แต่ใครจะเชื่อว่า ในตอนที่เหลือแค่ 15 นาทีจะถึงเวลา 11 นาฬิกา นายพลผู้บ้าสงครามและไม่ยอมแพ้ ยังออกคำสั่งให้เด็กหนุ่มที่น่าสงสารเหล่านั้นออกไปสู้กับข้าศึก ใครขัดขืนก็ยิงทิ้ง

เป็น 15 นาทีที่โหดร้ายเหลือเกิน 15 นาทีที่พวกเขายังต้องจับปืนแล้วบุกไปฆ่าเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน กล้องจับให้เห็นถึงแววตาของพอลที่เหน็ดเหนื่อยเสียเหลือเกินแล้ว ในแววตานั้นมีแต่ความสิ้นหวังกับทุกอย่างในชีวิต และเขาก็ต้องประจันหน้ากับข้าศึก ทั้งสองต่อสู้กันอย่างจะเป็นจะตาย และสุดท้ายพอลก็พลาดท่าโดนแทงด้วยดาบปลายปืนจากข้างหลังสิ้นชีวิตในทันที

พลันที่เขาโซเซล้มลง ก็มีเสียงประกาศเวลา 11 นาฬิกา หยุดยิง สงครามยุติแล้ว

มันช่างน่าเศร้าเสียเหลือเกินสำหรับชีวิตเด็กหนุ่มคนหนึ่ง ที่ต้องมาจบชีวิตด้วยคำสั่งโง่ๆ ที่มีแต่อหังการ์ในตัวเองเท่านั้น หากคนสั่งก็ได้แต่นั่งเคียดแค้นอยู่แดนหลัง ปล่อยให้เยาวชนเหล็กเหล่านั้นต้องสังเวยชีวิตลงอย่างน่าอนาถ

แฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ ประธานาธิบดีคนที่ 32 ของสหรัฐอเมริกา เคยกล่าวไว้ว่า “War is young men dying and old men talking”

ถ้าแปลแบบเสริมความหน่อยก็จะเป็น “สงคราม คือ การที่คนแก่สองคนที่รู้จักกันและเกลียดกัน ได้สั่งให้คนหนุ่มที่ไม่ได้เกลียดกันและไม่รู้จักกันให้ไปฆ่ากัน”

ตอนนี้โลกของเรายังมีคนแก่ที่แสวงหาอำนาจไม่รู้จบอยู่เต็มไปหมดในหลายๆ ประเทศ และเชื่อว่าเราก็จะต้องสังเวยชีวิตคนหนุ่มอีกนับแสนนับล้านคนต่อไป เพราะคำคำเดียวเท่านั้น

“สงคราม” •

เครื่องเคียงข้างจอ | วัชระ แวววุฒินันท์