‘นักดนตรีระดับโลก’ เบื้องหลังอัลบั้ม ‘มาลีวัลย์และชรัส’

คนมองหนัง

อัลบั้ม “มาลีวัลย์และชรัส” (พ.ศ.2528) มีหลายสถานะในหน้าประวัติศาสตร์เพลงไทยยุคทศวรรษ 1980

เริ่มตั้งแต่การเป็นอัลบั้มเพลงไทยสากลที่มีสีสันดนตรีโดดเด่นจัดจ้านมากที่สุดชุดหนึ่ง ณ ห้วงเวลานั้น

การเป็นผลงานเปิดตัวของนักร้องหญิงชาวฟิลิปปินส์ที่เติบโตในเมืองไทยอย่าง “มาลีวัลย์ เจมีน่า” ก่อนที่เธอจะกลายเป็นหนึ่งในดีว่าคนสำคัญแห่งยุค 90

การเป็นผลงานที่ขับเน้นสถานภาพนักแต่งเพลงฝีมือดีและโปรดิวเซอร์หัวก้าวหน้าของ “ชรัส เฟื่องอารมย์” และ “พนเทพ สุวรรณะบุณย์”

ยิ่งกว่านั้น นี่ยังเป็นอัลบั้มเพลงไทยที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปอัดเสียงกันถึงประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมียอดนักดนตรีระดับโลกหลายรายเข้ามาร่วมบันทึกเสียงในสตูดิโอให้

ด้านหนึ่ง จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่สำเนียงดนตรีซึ่งปรากฏในอัลบั้มชุด “มาลีวัลย์และชรัส” จะฟังดูอินเตอร์มากๆ

อีกด้านหนึ่ง เมื่อพิจารณาเครดิต-ชื่อเสียงของนักดนตรีต่างชาติที่มาบันทึกเสียงให้ผลงานชุดนี้เป็นรายบุคคลแล้ว คนฟังเพลงรุ่นหลังอาจนึกแปลกใจและตั้งคำถามว่า บุคลากรระดับสุดยอดเหล่านั้นเข้ามาอัดเสียงให้ผลงานเพลงไทยชุดหนึ่งได้อย่างไร?

 

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมกราคม 2563 ผมและทีมผลิตคอนเทนต์ของเว็บไซต์ https://feedforfuture.co/ เคยไปพูดคุยกับ “พนเทพ สุวรรณะบุณย์” ซึ่งเป็นโปรดิวเซอร์ของอัลบั้ม “มาลีวัลย์และชรัส” ร่วมกับ “ชรัส เฟื่องอารมย์” ทั้งยังเป็นผู้เรียบเรียงดนตรีทั้งหมดของงานชุดนั้น

โดยพนเทพได้เล่าถึงเบื้องหลังในการผลิตผลงานแจ้งเกิดของมาลีวัลย์ไว้ว่า

“มิล่า (มาลีวัลย์) เขาอยากจะทำอัลบั้ม แล้วก็เพื่อนเขามีคอนเน็กชั่นอยู่ที่อเมริกา ให้แต๋ม (ชรัส) ช่วยแต่งเพลงให้ แต๋มก็มาหาพี่บอกว่า ไม่มีคนทำดนตรี พี่ก็รู้สึกว่า (ตัวเอง) มันแกะ (เพลงสากล) มาเยอะ มันอัดอั้น มันก็อยากจะปล่อยของ มีเพลงที่แต๋มแต่งมาปั๊บ ไอ้เราก็อยากที่จะแบบ ตรงเพลงนี้ถ้าเผื่อใส่ริธึ่มแบบนี้มันจะเท่มากเลยนะ

“คือเมื่อก่อนนี้ นึกออกไหมว่าเพลงไทยเวลาที่แต่งมาร้องมาธรรมดาเนี่ย ก็จะเป็นเพลงไทยปกติ ถ้าเราไม่ได้นึกก้าวข้ามไป แต่เวลาที่พี่ฟังเพลง พี่ไม่อยากให้มันเป็นเหมือน (เพลงไทย) ทั่วๆ ไป เพราะว่าเราเล่นเพลงสากลมาตลอด แล้วเราก็รู้สึกว่า จริงๆ แล้ว ไอ้ตรงนี้มันเอามาใส่เพลงไทยได้

“(เลยอยาก) ลองดู ก็เลยรับปากกับแต๋มว่า โอเค ทำก็ได้ ก็เอามาทำ ทีละเพลง ทีละเพลง ทีละเพลง แล้วก็ไปอัดที่อเมริกา”

ในห้องบันทึกเสียงที่แอลเอ มีนักดนตรีระดับสุดยอดฝีมือของยุคสมัยนั้นมาร่วมบันทึกเสียงให้อัลบั้ม “มาลีวัลย์และชรัส” ดังที่พนเทพได้ระบุรายนามเด่นๆ เอาไว้ 3 คน

“มี ‘แลร์รี คาร์ลตัน’ (ยอดมือกีตาร์ที่เคยบันทึกเสียงให้ศิลปินดังระดับโลกมากมาย และเป็นเจ้าของ 4 รางวัลแกรมมี อวอร์ด) เล่นโซโล่ (กีตาร์)

“มี ‘เออร์นี วัตต์ส’ (ยอดมือแซ็กโซโฟนแนวแจ๊ซและริธึ่มแอนด์บลูส์ เจ้าของ 2 รางวัลแกรมมี่ อวอร์ด) เป่าแซ็กฯ

“แล้วก็ ‘โพลิโน ดา คอสตา’ (‘เปาลินโญ ดา กอสตา’ – ยอดมือเพอร์คัสชั่นชาวบราซิล ที่เคยร่วมงานกับทั้งวงเอิร์ธ วินด์ แอนด์ ไฟร์, ไมเคิล แจ๊กสัน, มาดอนนา และเซลีน ดิออน ฯลฯ) เล่นเพอร์คัสชั่น”

 

เมื่อสอบถามว่า เพราะเหตุใดพนเทพ ชรัส และค่าย “ไนท์สปอต” ซึ่งเป็นผู้ผลิตอัลบั้มชุดดังกล่าว จึงสามารถดึงเอานักดนตรีมือต้นๆ ของอุตสาหกรรมดนตรีอเมริกันมาร่วมงานได้

พนเทพบอกเล่ารายละเอียดออกมาแบบเรียบง่ายว่า

“คืออย่างนี้ มันฟลุกมากเลยตรงที่เพื่อนมาลีวัลย์ที่เขาติดต่อที่อเมริกาเนี่ย ห้องอัดเสียงนี้ ตัวเจ้าของห้องอัดเสียงเป็นคนในวงการพอดี แต่เป็นคนรุ่นเก๋า แล้วก็รู้จักนักดนตรีเยอะ ตัวเองเกษียณแล้วแหละ แต่ว่าให้เช่าห้องอัดเสียง

“เวลาที่เราติดต่อไป เราก็บอกว่าเราไม่มีนักดนตรี (เจ้าของห้องอัดเสียง) บอกไม่เป็นไร ไอเป็นเพื่อนพวกนี้ (ทีมนักดนตรีที่มาบันทึกเสียงให้อัลบั้ม ‘มาลีวัลย์และชรัส’)

“พวกนี้จริงๆ แล้วเขาเป็นนักดนตรีบันทึกเสียงระดับดังเลย แต่ว่าช่วงที่ว่างๆ ที่เขาไม่ได้ทำอะไร เขาเหมือนกับ (อยาก) ซ้อมมือ เขาก็ (บอก) จ้างถูกๆ ก็ได้ เหมือนกับมาเล่นสนุกๆ กับเพื่อน ซึ่งพี่ก็ไม่เคยรู้เลยนะว่าสังคมที่นั่นเขาเป็นแบบนี้ พอไปแล้วถึงได้รู้ว่า มันเป็นสังคมที่รู้สึกว่า เออ จิตใจมันดี

“นักดนตรีที่นั่น โอ้โห พอมาเจอที่ห้องอัดมันแฮปปี้ ซ้อมกันทีครึ่งค่อนวัน นั่งแจมกันอยู่นั่นแหละ สนุก เราถึงได้รู้ว่า คนที่รักดนตรีนี่มันรักจริงๆ มันขอให้ได้เล่นกับพรรคพวก แค่นี้ก็แฮปปี้แล้ว แล้วก็สื่อสารกัน

“พี่น่ะทำโน้ต (เพลง) ไปเต็มเลย เพราะพี่เกร็งมาก พอพี่รู้ว่ามีใครมาเล่นให้บ้าง โอ้โฮ พี่เกร็งเลย พี่เพิ่งเคยทำ (งาน) เป็นโปรดิวเซอร์ก็คืออันนี้ แล้วก็พอจะเขียนโน้ตได้ แยกโน้ตได้ เพราะเคยเรียนมา แต่ว่าเรียนไม่เยอะ พี่นั่งไปบนเครื่องบินนี่เกร็งเลย เตรียมโน้ตไปเป็นปึกๆ แล้วก็นั่งอ่านๆๆ เพราะเราจะต้องไปสื่อสารกับเขา

“แต่พอไปถึงแล้ว บรรยากาศมันเป็นอีกอย่างหนึ่ง คือโอเคเลย เขาก็ไม่ได้ซีเรียส เหมือนกับว่า โอ้โห ยูจะต้องมานั่งแบบเป๊ะๆ อย่างนี้ (เขาก็) มานั่งคุยกัน ว่ายูต้องการแบบไหน เราต้องการแบบนี้นะ ริธึ่มแบบนี้ ตรงนี้ขอให้มันมีโซโล่แบบนี้นะ โอเค (เขา) ทำให้ดู อะไรอย่างนี้ ก็ไม่ยาก ง่ายๆ

“แล้วมือเบสที่มาอัดให้ตอนนั้น (‘เจสัน เชฟฟ์’ – สมาชิกวงชิคาโกระหว่างปี 1985-2016) คือมือเบสวงชิคาโกตอนนี้ ที่ร้องแทน ‘ปีเตอร์ เซเทรา’ แต่ตอนนั้นยังไม่ได้เข้าชิคาโก (คนนี้) นิสัยดี”

 

ทั้งหมดคือรายละเอียดเกี่ยวกับอัลบั้ม “มาลีวัลย์และชรัส” ที่ผมเคยได้รับฟังจากพนเทพ

อย่างไรก็ดี นอกจากคนดนตรีระดับพระกาฬ 3+1 รายข้างต้นแล้ว หากใครไปตรวจสอบข้อมูลบนปกอัลบั้ม ย่อมพบว่ายังมีนักดนตรีฝีมือเยี่ยมอีกจำนวนหนึ่งที่เข้ามาร่วมบันทึกเสียงให้กับผลงานเพลงไทยชุดนี้ ได้แก่

“แบรด โคล” (คีย์บอร์ดโซโล่) มือคีย์บอร์ดที่เคยร่วมงานกับศิลปินดังหลายคน อาทิ ไมเคิล โบลตัน, ฟิล คอลลินส์, บีบี คิง และนาตาลี โคล เป็นต้น

“แอรอน ซิกแมน” (คีย์บอร์ด) นักประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก เช่น หนังชุด “Step Up”

“บัสซี” หรือ “บัสส์ ฟีเทน” (กีตาร์) นักดนตรีที่มีผลงานของตนเองและบันทึกเสียงให้ศิลปินรายอื่นๆ มากมาย รวมทั้งเป็นเจ้าของระบบตั้งสายกีตาร์ชื่อดัง (The Buzz Feiten Tuning System)

และ “เจฟฟ์ ฮัลล์” (กลอง) นักดนตรี-นักแต่งเพลงฝีมือดี หนึ่งในผลงานโด่งดังของเขา คือ การร่วมแต่งเพลง “Piano In The Dark” ขับร้องโดย “เบรนดา รัสเซลล์” ที่เข้าชิงรางวัลแกรมมี่ อวอร์ด สาขาเพลงแห่งปี เมื่อ ค.ศ.1988 •

 

| คนมองหนัง