เป็นจีน เพราะรู้สึก

วัชระ แวววุฒินันท์

“จีนไทยไม่ใช่อื่นไกล พี่น้องกัน”

ประโยคนี้เราได้ยินกันจนชิน ชินเสียจนเราไม่ได้รู้สึกเอะใจอะไร เพราะในความรู้สึกของคนไทยส่วนมากในปัจจุบันก็ไม่ได้มีอคติหรือความคิดที่ไม่ดีกับคนเชื้อสายจีน

กับคนไทยเชื้อสายจีนหลายคนที่ได้พิสูจน์ตัวเอง ก่อร่างสร้างตัวจนมีฐานะดี เป็นปึกแผ่นมั่นคง มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในสังคมก็มาก หลายคนก็ชื่นชม

ตอนเด็กๆ ผมมีเพื่อนในห้องที่ตัวขาว ตาตี่ ตาชั้นเดียว ก็รู้จากภาพลักษณ์ได้ทันทีว่าครอบครัวเป็นจีน บางคนมีชื่อเล่นแต่เพื่อนๆ ก็พากันเรียกไอ้ตี๋ เท่าที่จำได้ก็เป็นการเรียกตามความเคยชิน มิได้มีการหยามเหยียดอยู่ในนั้นแต่อย่างใด

และไอ้ตี๋ก็ยังคบค้าสมาคมกันกับเพื่อนตัวดำๆ คนอื่นอย่างกลมกลืน มีบ้างที่เพื่อนตี๋ไม่ได้อยู่เล่นสนุกกับคนอื่น เพราะต้องรีบกลับไปช่วยขายของที่บ้าน ทำให้เรารู้ได้เองว่าคนจีนมักทำการค้า ค้าใหญ่ค้าน้อยก็ว่ากันไป

จนเมื่อได้อ่านหนังสือ เป็นจีน เพราะรู้สึก ของสิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์ ผลงานของสำนักพิมพ์มติชน นี่เอง จึงได้เริ่มเข้าใจถึงบริบทก่อนหน้านี้ ที่ “ความเป็นจีน” ได้รับการปฏิบัติอีกแบบที่ต่างจาก 40-50 ปีมานี้

 

“คนจีนโพ้นทะเล” และ “เสื่อผืนหมอนใบ” เป็นคำที่มาคู่กัน ให้ภาพของการเดินทางอพยพมาจากผืนแผ่นดินใหญ่จีนอันอยู่ไกล มายังสยามเพื่อหวังว่าจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ โดยมีคำว่า “พึ่งโพธิสมภาร” ตามมา เนื่องด้วยผู้ครองสยามสูงสุดก็คือพระมหากษัตริย์

คนจีนที่อพยพมานั้นส่วนใหญ่มาจากดินแดนทางตอนใต้ของประเทศจีน ได้แก่ มณฑลกวางตุ้ง ฮกเกี้ยน และไหหลำ มณฑลเหล่านี้จะมีเมืองท่าเป็นประตูออกสู่ประเทศต่างๆ คนจีนรุ่นบุกเบิกจะล่องมากับเรือสำเภาที่มาค้าขายกับสยาม เมื่อขึ้นบกมาได้ก็ตั้งใจปักหลักอยู่ที่นี่ ดีกว่าอดตายอยู่ที่เก่า

สยามแต่ก่อนพื้นที่ทำกินมีอยู่มาก และเป็นอิสระ คนจีนเองนั้นขยันอดทนและสู้งานหนักอยู่แล้ว จึงไม่ย่อท้อ ถ้าไม่ถางที่ทำเอง ก็เป็นลูกจ้างเขา ก่อนจะขยับฝีมือมาเป็นเจ้าของกิจการในเวลาต่อมา

ยิ่งถ้าทำการค้าขายแล้ว ย่อมต้องเกี่ยวพันกับผู้มีอำนาจและผู้คุมกฎอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หนทางหนึ่งของการทำมาค้าขายให้สะดวกก็คือ ความสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจ

ในสมัยรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับฉายาว่า “เจ้าสัวแห่งสยาม” เพราะพระองค์ทรงเก่งเรื่องการค้า ไทยมีเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่ล่องทะเลไปค้าขายกับจีน เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้าและวัฒนธรรมระหว่างกัน คนจีนหลายคนก็ได้มามียศมีตำแหน่งที่สยามด้วย

ในสมัยต่อมา แม้สยามจะเปิดรับคนจีนให้เข้ามาอยู่ในเมืองไทย แต่ก็ต้องคอยสอดส่องดูแลควบคุม เพราะการเมืองในจีนแผ่นดินใหญ่เองก็เกิดการสู้รบชิงอำนาจกัน แน่นอนที่ย่อมส่งผลมายังคนจีนโพ้นทะเลในเมืองสยามไม่มากก็น้อย ซึ่งต้องคอยจับตา และควบคุมดูแล พร้อมออกกฎระเบียบต่างๆ

ในหนังสือ “เป็นจีน เพราะรู้สึก” ตอนหนึ่งผู้เขียนได้เขียนไว้ว่า

“ในช่วง พ.ศ.2453 ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คนจีน ในกรุงเทพฯ ได้รวมตัวกันผละงาน ปิดห้างร้านประท้วงนโนบายการเก็บภาษีเพิ่มเติมของรัฐสยาม การประท้วงครั้งนี้แทบทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ในพระนครเป็นอัมพาต ผู้คนไม่สามารถซื้อหาสินค้าอุปโภคและบริโภคได้นานถึง 3 วัน”

นี่สะท้อนให้เห็นถึงกิจการค้าขายในพระนครส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือของคนจีน

 

เมื่อเปลี่ยนผ่านมาสู่สมัยรัชกาลที่ 6 ความสัมพันธ์ของรัฐไทยกับคนจีนในไทยก็ยังคง คุกรุ่นอยู่ และตอนนั้นยังมีเรื่องของสิทธิสภาพนอกอาณาเขตที่พระราชอำนาจของกษัตริย์ไม่สามารถแผ่ไปได้ถึง คนจีนในสยามจึงอาศัยช่องทางดังกล่าวในการต่อต้านเนืองๆ การสร้างระบอบเพื่อควบคุมคนจีนจึงเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐสยามยามนั้น

เมื่อมีบทพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้าที่ชื่อ “พวกยิวแห่งบูรพาทิศ” ออกมา ที่ให้ภาพความเห็นแก่ตัวไม่เห็นแก่ประเทศที่อยู่อาศัยของคนจีน จึงสร้างความรู้สึกอับอายจนนำไปสู่ความเจ็บปวดทางความรู้สึกให้แก่คนจีนในไทยได้

ยิ่งเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ที่มุ่งมั่นในการสร้าง “ชาตินิยม” ด้วยกฎระเบียบต่างๆ ที่เชิดชูความเป็นไทย พร้อมจำกัดและกำจัด “ความเป็นจีน” มากขึ้น เช่น สั่งปิดโรงเรียนจีน เข้าควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และปราบปรามกิจกรรมทางการเมืองของคนจีน ก็ยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกถูกกดขี่ในหมู่คนจีนมากขึ้น

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ที่กองทัพญี่ปุ่นบุกไทย โดยที่ไทยมีท่าทียินยอมให้กับญี่ปุ่น และรัฐบาลจอมพล ป.ก็มีความสัมพันธ์อันดีกับญี่ปุ่น ก็ทำให้คนจีนในไทยเคียดแค้นรัฐบาลไทยยิ่งขึ้น

เพราะก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นก็ได้แผ่อิทธิพลรุกรานไปยังประเทศจีน และตีเมืองของจีนหลายเมืองได้ พร้อมกดขี่ข่มเหงรังแกคนจีนอย่างหนักมาแล้ว

แม้จะอยู่ไกลกัน แต่กระแสความเกลียดชังของคนไทยเชื้อสายจีนก็สามารถรับรู้ได้

จึงเกิดการที่คนไทยเชื้อสายจีนบางคนได้เข้าร่วมกับขบวนการเสรีไทยเพื่อต่อต้านญี่ปุ่นด้วย จนเมื่อสงครามโลกยุติลง ญี่ปุ่นพ่ายแพ้ คนจีนในไทยจึงได้รวมตัวกันฉลองชัยชนะด้วยการจุดประทัดและโบกธงชาติจีนท้าทายรัฐไทย โดยในหนังสือตอนหนึ่งเขียนว่า

“ในวันที่ 21 กันยายน เกิดการปะทะด้วยความรุนแรงระหว่างคนไทยเชื้อสายจีนกับกองกำลังตำรวจและทหารไทย เหตุเกิดจากตำรวจไทยพยายามลดธงชาติจีน… การประดับธงดังกล่าวขัดกับกฎหมายไทยที่ระบุให้การประดับธงชาติในที่สาธารณะจะต้องประดับคู่กับธงชาติไทย เหตุการณ์ลุกลามกลายเป็นจลาจลเยาวราช”

หนังสือ “เป็นจีน เพราะรู้สึก” สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์ สำนักพิมพ์มติชน

ในสมัยรัชกาลที่ 8 พระองค์ใช้เวลาส่วนใหญ่ที่ต่างประเทศเพราะยังทรงพระเยาว์และยังต้องรับการศึกษา ต่อเมื่อพระองค์มีชันษา 19 พรรษาจึงได้เสด็จกลับประเทศไทยเป็นครั้งที่ 2

ในการนี้เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2489 พระองค์เลือกที่จะเสด็จเยี่ยมพี่น้องคนไทยเชื้อสายจีนในแถบเยาวราช อันเป็นการแสดงออกถึงการให้ความสำคัญกับพสกนิกรเหล่านี้

ทำให้บรรยากาศระหว่างคนไทยเชื้อสายจีนกับผืนแผ่นดินไทยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้นดีขึ้นทันตา

ซึ่งในสมัยรัชกาลก่อนหน้านี้ ก็ได้ใช้กุศโลบายควบคุมด้วยความเมตตากับคนไทยเชื้อสายจีนเป็นหลัก พระมหากษัตริย์จะเรียกมาใกล้ชิดดูแลอย่างพ่อปกครองลูก

ซึ่งได้ผลมากกว่าการควบคุมแบบปราบปรามอย่างที่รัฐบาลไทยในยุคต่อมาทำ ซึ่งพิสูจน์ได้ว่าไม่เป็นผล

ในสมัยรัชกาลที่ 7 ในปี 2470 พระองค์ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดโรงเรียนจีน และได้มีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า

“ในโรงเรียนของท่าน ท่านย่อมสั่งสอนให้นักเรียนรักประเทศจีน ข้าพเจ้ายังหวังว่าท่านจะสอนให้รักเมืองไทยด้วย เพราะท่านทั้งหลายได้มาตั้งคหสถานอาศัยอยู่ประเทศสยาม ได้รับความคุ้มครองร่มเย็นเป็นอย่างดีจากรัฐบาลสยาม มีสิทธิทุกอย่างเหมือนคนไทย ได้รับความสุขสบายมั่งคั่งสมบูรณ์ในประเทศสยาม”

กุศโลบายนี้ใช้ได้แม้ในโอกาสต่อมา เช่น การที่รัฐบาลของ พล.อ.ปรม ติณสูลานนท์ ออกกฎหมายรับคนไทยที่เข้าป่าจับปืนให้กลับคืนสู่สังคมในฐานะผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย แทนการปราบปรามที่ไม่ได้ผล ก็ทำให้เหตุการณ์ทางการเมืองเกี่ยวกับลัทธิคอมมิวนิสต์ในไทยสงบลงได้

หรือที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงใช้ความเมตตากับคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกับคนกลุ่มน้อยในการสร้างงานสร้างอาชีพ สร้างอนาคตบนแผ่นดินไทยให้พวกเขา ก็ทำให้คนเหล่านั้นยินยอมพร้อมใจเป็นคนไทยที่ดีไปโดยปริยาย ครั้งหนึ่งที่พระองค์เคยพระราชทานสัมภาษณ์นักข่าวต่างประเทศถึงเรื่องการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ และพระองค์ทรงตอบว่า

“เราไม่ได้ต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ แต่เราต่อสู้กับความอดอยากหิวของประชาชน”

 

ในหนังสือ “เป็นจีน เพราะรู้สึก” ได้บอกถึงบริบทที่หลายสิ่งหลายอย่างมามีอิทธิพลต่อคนจีนในไทย ก็ด้วยเพราะสามารถเป็น “ที่ลี้ภัยทางอารมณ์” ได้ เช่น ภาพยนตร์จากฮ่องกง ที่ในหนังสือกล่าวไว้ว่า “สำหรับชุมชนจีนในไทย ฮ่องกงเป็นตัวแบบของความเปลี่ยนแปลงในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ด้วยฮ่องกงมีภาพลักษณ์ที่ทั้งเป็นจีนและทันสมัยแบบตะวันตกในเวลาเดียวกัน”

หรืออย่างนิยายกำลังภายใน ที่กลายเป็นที่นิยมอย่างมาก ต้องเข้าคิวเช่ามาอ่านกัน เพราะได้ให้ภาพที่ตอบสนองอารมณ์ของการต่อสู้ความอยุติธรรม ความเป็นฮีโร่ของนักสู้ที่ไร้อำนาจ ที่แม้ต่ำต้อยแต่ก็ยืนสู้กับผู้มีอำนาจต่างๆ ซึ่งได้กลายเป็นจุดเร้าให้เกิดปฏิกิริยาทางการเมืองต่อรัฐบาลเผด็จการของไทยในยุคสมัยต่อมา

รวมถึงนิยายที่สะท้อนชีวิตของคนจีนในไทยที่ถูกกดขี่ เอาเปรียบ และย่ำยีจากผู้มีอำนาจ เช่น “จดหมายจากเมืองไทย” “เยาวราชในพายุฝน” “อยู่กับก๋ง” หรือ “ลอดลายมังกร” ในยุคต่อมา เป็นต้น

จากการถูกกดขี่ และเป็นผู้ถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากชนชั้นปกครองนี่เอง เมื่อมีโอกาสที่จะได้แสดงออกถึงการต่อสู้ คนจีนในไทยก็ใช้โอกาสนั้นทันทีอย่างไม่เกรงกลัวต่ออันตราย

ในหนังสือชี้ให้เห็นถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่แกนนำส่วนหนึ่งเป็นลูกคนจีน และที่เด่นชัดมากๆ ที่หลายคนคงคุ้นตาจาภภาพในข่าว คือ “ไอ้ก้านยาว” หรือ ประพัฒน์ แซ่ฉั่ว ที่ควงไม้ท่อนยาวๆ ยืนประจันหน้ากับทหารที่มีปืน

หรือในยุคต่อมาของพฤษภาทมิฬ 2535 ที่มีการชุมนุมขนานใหญ่ ภายใต้ชื่อ “ม็อบมือถือ” สิ่งนี้เป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของคนชั้นกลางในสังคมที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับการพยายามสืบทอดอำนาจของ รสช.ในตอนนั้น ซึ่งคนชั้นกลางในขณะนั้นส่วนใหญ่แล้วก็มาจากคนไทยเชื้อสายจีนนั่นเอง

หากดูถึงตัวบุคคลที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์การเมืองไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมานี้ ก็จะปรากฏชื่อของ “ทักษิณ ชินวัตร” และ “สนธิ ลิ้มทองกุล” ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งคู่แม้จะอยู่คนละขั้ว แต่ก็เป็นคนไทยเชื้อสายจีนเหมือนกัน ซึ่งในการปลุกระดมทางการเมืองของสนธิ ก็ยังมีการใช้ถ้อยคำที่ว่า “ลูกจีนรักชาติ” เข้ามากระตุ้นอารมณ์ของพี่น้องคนไทยเชื้อสายจีนอีกด้วย

 

เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยเชื้อสายจีน ที่มีต่อแผ่นดินไทยจากอดีตจนมาถึงปัจจุบัน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมือง

ปัจจุบันนี้ คนไทยเชื้อสายจีนที่เป็นคนรุ่นใหม่ก็มีความคิด ความเชื่อ ที่แตกต่างออกไปจากรุ่นก่อน การรู้สึกว่า “เป็นจีน” ก็อาจจะรู้สึกคนละแบบกับคนรุ่นพ่อ รุ่นปู่ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า คนไทยแท้ๆ หรือคนไทยที่มีเชื้อสายจีนนั้นได้กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกันไปแล้ว ยิ่งยามนี้ประเทศจีนได้ลุกขึ้นพัฒนาและก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว มีอิทธิพลต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งประเทศเล็กๆ อย่างไทยด้วย ก็ยิ่งสัมพันธ์และใกล้ชิดกันในทุกมิติ

นี่ไม่นับเรื่อง “ทุนจีนสีเทา” ที่ร้อนแรงอยู่ตอนนี้นะครับ

เพราะไม่ว่าจะรู้สึกว่า “เป็นไทย” หรือ “เป็นจีน” มากน้อยแค่ไหน แต่หากอยู่ในความคิดที่ปรารถนาดีต่อแผ่นดินไทยอย่างแท้จริงแล้ว ก็น่ายกย่องสรรเสริญทั้งสิ้น

ส่วนตัวผมเองนั้นลำบากอยู่ เพราะถ้าเป็นไทยก็เป็น “ไทยเล็ก” ถ้าเป็นเจ๊กก็เป็น “เจ๊กดำ” จะมีใครคบไหมเนี่ย

สวัสดีครับ หนีฮ่าว •

 

 

เครื่องเคียงข้างจอ | วัชระ แวววุฒินันท์