ว่ายเพื่อศักดิ์ศรีความเป็นคน

วัชระ แวววุฒินันท์

ช่วงที่ผ่านมา เราได้ฟังข่าวแผ่นดินไหวขนาด 7.5 แมกนิจูดที่ประเทศตุรเคีย ซึ่งถือว่าเป็นมหาวิปโยคครั้งใหญ่ก็ย่อมได้ เพราะมีผู้เสียชีวิตกว่า 10,000 คน และไร้ที่อยู่อาศัยนับแสนคน

แม้เหตุการณ์ที่ว่าจะเกิดที่ตุรเคีย แต่ก็ส่งผลความเสียหายไปประเทศใกล้เคียงด้วย โดยเฉพาะกับซีเรียที่มีพรมแดนติดกัน หลายเมืองของซีเรียก็พังถล่มและผู้คนต้องเสียชีวิตและบาดเจ็บมากมาย

และเป็นเหมือน “เคราะห์ร้ายซ้ำซ้อน” เพราะในขณะที่การให้ความช่วยเหลือกับผู้คนของซีเรียต้องเร่งทำอย่างทันทีทันใด แต่ในบางพื้นที่ที่เสียหายนั้น เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลซีเรียไม่สามารถปฏิบัติการได้เต็มที่ เพราะอยู่ในการยึดครองของกลุ่มที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล

นั่นก็เพราะเหตุจากสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นกับซีเรียมาตั้งแต่ปี 2011 และยืดเยื้อต่อเนื่องมาจนบัดนี้ และส่งผลต่อความเป็นความตายของพี่น้องชาวซีเรียด้วยกันเอง

จากประเด็นตรงนี้ทำให้ผมนึกย้อนไปถึงภาพยนตร์ที่ชื่อ “The Swimmers” ซึ่งเป็นผลงานสร้างของ Netflix ในปี 2022 ที่หลายคนอาจจะได้เคยดูมาแล้ว

The Swimmers เป็นผลงานกำกับฯ ของ แซลลี่ เอล โฮไซนี สร้างขึ้นจากเรื่องจริงของนักกีฬาว่ายน้ำระดับทีมชาติของซีเรียวัย 18 ปีที่ชื่อ “ยุสรา มาร์ดินี่” (Yusra Mardini) กับพี่สาวของเธอที่ชื่อ “ซาร่า” และเป็นนักว่ายน้ำเช่นกัน ซึ่งสุดท้ายยุสราก็ได้ลงแข่งขันในกีฬาโอลิมปิก 2016 ที่ริโอ เดอ จาเนโร ตามความใฝ่ฝันของเธอ

แต่ทว่า ไม่ได้ลงแข่งในนามของประเทศซีเรียบ้านเกิดเมืองนอน หากลงแข่งในนามของ ROT หรือ Refugee Olympic Team นั่นเอง

ใช่แล้วครับ เธอลงแข่งในนามของ “ผู้ลี้ภัย” เพราะเธอและพี่สาวจำเป็นต้องหนีออกมาจากบ้านเกิดเนื่องจากเหตุการณ์สู้รบกันของรัฐบาลและฝ่ายกบฏที่ต้องการล้มล้างรัฐบาล

 

ทั้งสองมีพ่อเป็นโค้ช และความฝันของลูกๆ ก็มาจากความฝันของผู้เป็นพ่อ เพราะในวัยหนุ่มเขาก็เป็นนักว่ายน้ำชั้นยอดของซีเรีย และหวังอย่างยิ่งว่าสักวันหนึ่งจะได้มีโอกาสไปแข่งขันในกีฬาอันยิ่งใหญ่คือโอลิมปิก

แต่ความฝันของเขาก็มีอันพังทลายลง เพราะเขาถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารเป็นเวลาสองปี ต้องทิ้งสระว่ายน้ำไปสู่สนามรบ แขนที่เคยจ้วงว่ายกลับต้องไปแบกกระบอกปืน นั่นทำให้เขาฝากความหวังกับลูกสาวทั้งสองอย่างยิ่งยวด และผลักดันให้พวกเธอฝึกว่ายน้ำตั้งแต่อายุ 3 ขวบ

หากไม่มีเหตุการณ์ของสงครามกลางเมือง ก็เชื่อว่าโอกาสที่ว่าไม่น่าจะไกล เพราะลูกสาวทั้งสองคว้าแชมป์ว่ายน้ำในประเทศมาตั้งแต่ยังเล็ก และในการจับเวลาในท่าที่ถนัดครั้งล่าสุด ก็สามารถทำสถิติได้ดี โดยเฉพาะกับยุสราที่พ่อแอบหวังอย่างมาก

ฉากที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจนต้องอพยพหนี เกิดขึ้นในระหว่างที่ยุสราลงทำการแข่งขันในสระว่ายน้ำแห่งหนึ่งของเมืองดามัสกัด เมืองหลวงของซีเรีย เกิดมีการยิงปะทะกันขึ้นและมีลูกระเบิดตกลงมาที่สระว่ายน้ำจนเกิดความเสียหายอย่างมาก โชคดีที่ยุสราและนักกีฬาคนอื่นไม่เป็นอะไร

แต่นั่นก็เป็นเข็มปลายแหลมที่จี้มาเพื่อบอกว่า ต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว เพราะอยู่ต่อไปอย่างนี้ก็ซ้อมว่ายน้ำไม่ได้ และซีเรียคงไม่พร้อมเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกในปีหน้าแน่ๆ

เป็นความคิดของซาร่าผู้พี่สาวที่บอกพ่อกับแม่ว่า ให้ตนและน้องสาวลอบหนีออกจากซีเรียเพื่อเดินทางไปยังประเทศเยอรมนี ที่นั่นเปิดรับผู้อพยพลี้ภัยจากสงครามตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีแองเกลา แมร์เคิล

และที่นั่นจะได้มีโอกาสซ้อมว่ายน้ำได้ ไม่เท่านั้นยุสราที่อายุ 17 ปียังสามารถทำเรื่องขอครอบครัวย้ายไปอยู่ด้วยกันได้

แรกๆ พ่อก็ไม่ยอม แต่สุดท้ายก็จำต้องให้ โดยให้เดินทางไปกับ “นีซ่าร์” ญาติสนิทที่เป็นผู้ชาย และให้เดินทางทางบก ลอบข้ามพรมแดนระหว่างประเทศเพื่อไปยังยุโรปให้ได้

หนังแสดงให้เห็นถึงความลำบากและอันตรายจากการเดินทางแบบผู้ลี้ภัยหนีสงครามครั้งนี้ของทั้งสามคนได้อย่างชวนลุ้นและติดตาม โดยเฉพาะตอนที่นีซ่าร์เปลี่ยนแผนให้เดินทางทางเรือเพื่อข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปขึ้นฝั่งที่ประเทศกรีซ

แผนการนี้กระทำผ่านคนที่หากินกับผู้อพยพจึงถูกเอาเปรียบสารพัด การเดินทางบนเรือนั้นพบว่ามันอันตรายอย่างยิ่ง เพราะเป็นเรือยางสภาพเก่าๆ ขนาดใหญ่ที่น่าจะนั่งได้แค่ 10 คน แต่นี่ปาเข้าไปร่วม 20 คนและมีเด็กทารกด้วย ทั้งหมดต้องเดินทางข้ามทะเลกว้างข้ามคืน ที่มีคลื่นขนาดใหญ่ถาโถมเข้าหาเรือ จนทำให้มีน้ำเจิ่งนองในเรือยางนั้น ซ้ำร้ายเครื่องยนต์ยังมาดับเข้าให้อีก

ในท่ามกลางความมืดนั้น ซาร่าตัดสินใจกระโดดจากเรือลงไปในน้ำ พยุงตัวไว้กับการเหนี่ยวเชือกจากเรือ และออกแรงว่ายเพื่อดันเรือให้พุ่งไปข้างหน้า ยุสรากระโดดลงไปทำตามอย่างพี่สาว รวมทั้งมีผู้ชายอีก 2 คนที่ว่ายน้ำเป็นพากันกระโดดลงไปช่วยกัน

ตอนแรกผมนึกว่าเป็นการต่อเติมของหนังเพื่อให้เนื้อเรื่องสนุก แต่พอได้ค้นเรื่องราวดูก็พบว่าเป็นเหตุการณ์จริง ยิ่งทำให้ชื่นชมในความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญของพี่น้องสองคนนี้อย่างมาก

เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นก็เหมือนแสงสว่างที่ส่องสว่างเข้ามาในชีวิต ด้วยแลเห็นชายฝั่งอยู่ลิบๆ นั่นคือชายหาดของเกาะเลสโบส ประเทศกรีซ

เมื่อทุกคนที่รอดมาได้สะบักสะบอมขึ้นไปยังเกาะ จึงได้ถอนหายใจเฮือกใหญ่ แต่นี่เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น ยังต้องเดินทางอีกไกล จากกรีซ ไปฮังการี ออสเตรีย และเข้าเยอรมนี โดยการหลบๆ ซ่อนๆ ไม่อย่างนั้นก็จะถูกจับ และต้องตกเป็นเหยื่อของพวกมิจฉาชีพที่หากินกับผู้อพยพ เหมือนเมื่อครั้งที่หนีมาทางเรือ

ที่เกาะเลสโบสนี้ ภาพของหนังได้ฉายให้ผู้ชมได้สะอึกสะทกสะท้านใจ คือ เมื่อทุกคนพอจะมีแรงเดินต่อ ก็ออกเดินจากชายหาดสู่แผ่นดินใหญ่ จะเห็นว่ามีกองของเสื้อชูชีพที่ถอดกองไว้รายทางเป็นพื้นที่กว้างมาก น่าจะหลายพันตัว เป็นหลักฐานอันโหดร้ายของการพยายามดิ้นรนหนีตายเพื่อชีวิตที่ดีกว่าของมนุษย์ที่ไร้ทางออกในดินแดนบ้านเกิดตนเอง

นั่นเป็นผลพวงจากสิ่งนั้นสิ่งเดียว คือ “สงคราม”

ผมจะไม่เล่ารายละเอียดถึงการผจญภัยของสามคน เอาเป็นว่าสุดท้ายพวกเขาก็ไปถึงเบอร์ลินจนได้ ภาพและดนตรีตอนนี้สดใสขึ้นมารับกับอารมณ์ที่บรรลุเป้าหมายของผู้อพยพทั้งหลาย

เมื่อมาถึงเยอรมนี หนังเพิ่งเล่าไปได้ครึ่งเรื่องเอง เพราะที่เหลือหนังพาให้เราเห็นถึงว่าอะไรๆ มันไม่ง่าย เพราะพวกเธอจะต้องอยู่ในค่ายที่พักของผู้อพยพ รอเวลาไปกับการทำเรื่องขอลี้ภัย ที่ไม่ใช่ว่าจะได้ง่ายๆ ต้องรอเป็นหลายเดือนและเป็นปี

ไม่พูดถึงกับความคิดที่ว่า ยุสราจะขอนำครอบครัวให้ตามมาอยู่ด้วยกัน เพราะเรื่องนี้มันยุ่งยากซับซ้อนและกินเวลานานมาก ตอนนี้ยุสราก็อายุ 17 ปลายๆ แล้ว อีกไม่กี่เดือนก็จะ 18 ซึ่งไม่ทันกับการขอแน่นอน

เมื่อเรื่องนี้ไม่เป็นผล ยุสราก็หันไปสู่เป้าหมายต่อไปคือ การว่ายน้ำเพื่อให้ได้ไปแข่งที่โอลิมปิกที่ใกล้จะมาถึง โชคดีที่มีคนให้โอกาสเธอและพี่สาวได้ใช้สระในการฝึกซ้อม และช่วยดูแลการซ้อมให้ด้วย และยุสราก็สามารถตีตื้นฝีมือเอาสถิติที่ดีพอจะไปโอลิมปิกกลับคืนมา

แต่นั่นคือการไปร่วมโดยไม่ใช่ในทีมชาติซีเรีย เพราะเธอคือผู้อพยพ เหมือนนักกีฬาทีมชาติชาติอื่นๆ ที่ไม่สามารถลงแข่งขันในนามประเทศบ้านเกิดตนเองได้

ในเรื่องนี้ต้องขอชื่นชม “โธมัส บาค” ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ที่เล็งเห็นความสำคัญที่ว่า กีฬาต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งก็คือหัวใจหลักของโอลิมปิกนั่นเอง บาคจึงได้เปิดโอกาสให้นักกีฬาที่เป็นผู้ลี้ภัยได้ลงทำการแข่งขัน ภายใต้ชื่อทีมว่า Refugee Olympic Team หรือ ROT

ซึ่งในการแข่งขันริโอเกมส์ โอลิมปิก 2016 นี้ มีนักกีฬาที่ลงแข่งขันในนาม ROT อยู่ 4 ประเทศ ได้แก่ ซีเรีย เอธิโอเปีย ซูดานใต้ และดีอาร์ คองโก

ยุสราแม้จะเสียใจที่ตนไม่สามารถลงแข่งขันในนามซีเรียได้ แต่อย่างน้อยเธอก็ได้ทำตามความฝันของตนเองและของพ่อ

ประโยคที่ซาร่าพี่สาวพูดให้กำลังใจและเตือนสติน้องสาวนั้นน่าประทับใจว่า

“เธอไม่น่าจะได้มาตรงนี้ เธอน่าจะจมอยู่ที่ก้นทะเลกรีก หรือนอนอยู่ข้างถนนในฮังการี หรือเธอน่าจะตายคาหลุมที่ดาเรย์ยา แต่เธอก็ได้มาถึงวันนี้ รู้ไหมว่า นักกีฬาโอลิมปิกคือ คนที่ทำเรื่องสุดยอด เพราะฉะนั้น เธอควรเป็นตัวแทนเราทุกคน”

คำว่า “เป็นตัวแทนเราทุกคน” ของซาร่า คงไม่ได้หมายความเฉพาะครอบครัวของเธอ หรือพลเมืองของซีเรีย แต่น่าจะหมายถึงผู้คนนับล้านๆ คนที่เป็นผู้ลี้ภัยเพราะผลพวงอันโหดร้ายของสงคราม บางคนเอาชีวิตไม่รอด บางคนมีชีวิตอยู่อย่างไร้จุดหมาย บางคนรอวันที่จะถูกส่งตัวกลับ

แต่การว่ายของยุสราจะเป็นการให้กำลังใจที่สำคัญกับคนเหล่านั้นได้ และที่สำคัญเป็นการประกาศศักดิ์ศรีของการเป็นมนุษย์ที่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น โชคชะตาจะโหดร้ายเพียงใด ก็ไม่มีใครจะมาลดทอนมันลงได้

และในการแข่งขัน ยุสราก็สามารถว่ายในท่าผีเสื้อที่เธอถนัดเอาชนะคู่แข่ง คว้าเหรียญทองมาครองได้ เป็นชัยชนะของผู้ลี้ภัยโดยแท้

ในเรื่องจริง ยุสราได้จุดประกายพลังสำคัญให้กับโลก เธอได้รับเลือกให้เป็นฑูตสันถวไมตรีของ UNHCR เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจดีดีกับผู้อื่น และเธอก็ได้ลงแข่งขันในโอลิมปิกครั้งถัดมาที่ประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย

ส่วนซาร่าพี่สาวของเธอค้นพบหนทางของตนเอง โดยการไปทำงานเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่ศูนย์ ณ เกาะเลสโบส เพื่อให้ชีวิตใหม่แก่ผู้อพยพเหมือนที่เธอเคยได้รับมาหลังจากเอาชนะความตายจากการข้ามทะเลมาได้

แม้จะเป็นเรื่องดีดีที่ให้กำลังใจผู้รับรู้ได้เป็นอย่างดี แต่เรื่องทั้งหมดนี้ก็ไม่น่าจะเกิดขึ้น ถ้าไม่ใช่เพราะสงครามของคนกลุ่มหนึ่งที่หวังช่วงชิงอำนาจซึ่งกันและกัน จนส่งผลกระทบอันใหญ่หลวงกับผู้คนนับหลายล้านคนทั่วโลก

และเชื่อได้ว่าเรื่องเลวร้ายนี้ก็จะยังคงดำเนินต่อไป และต่อไป •

 

เครื่องเคียงข้างจอ | วัชระ แวววุฒินันท์