อิสรภาพของ ‘จาฟาร์ ปานาฮี’ : เมื่อผู้กำกับฯ อิหร่าน ‘ประท้วงอดน้ำ-อาหาร’ ในเรือนจำ

คนมองหนัง
(Photo by ATTA KENARE / AFP)

“จาฟาร์ ปานาฮี” เป็นหนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์ระดับโลกคนสำคัญของประเทศอิหร่าน พิสูจน์ชัดด้วยการที่เขาเคยได้รับรางวัลจากสามเทศกาลหนังสำคัญของทวีปยุโรป

คือ ได้รับรางวัลสิงโตทองคำที่เทศกาลภาพยนตร์เวนิส ประเทศอิตาลี เมื่อปี 2000 จากผลงานเรื่อง “The Circle” ได้รับรางวัลหมีทองคำที่เทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เมื่อปี 2015 จากผลงานเรื่อง “Taxi Tehran” และได้รับรางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี 2018 จากผลงานเรื่อง “Three Faces”

อย่างไรก็ดี เมื่อเดือนกรกฎาคมปีก่อน ปานาฮีวัย 62 ปี กลับถูกจับกุมตัว และต้องรับโทษในเรือนจำ ท่ามกลางเสียงคัดค้านของวงการหนังอิหร่านและประชาคมภาพยนตร์นานาชาติ

 

ย้อนไปเมื่อปี 2010 ปานาฮีเคยถูกตัดสินลงโทษจำคุกเป็นเวลา 6 ปี ในข้อหา “โฆษณาชวนเชื่อเพื่อต่อต้านระบบการปกครอง” เนื่องจากเขาได้แสดงจุดยืนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลผ่านการทำภาพยนตร์และการประท้วง

คราวนั้น ปานาฮีถูกคุมขังในเรือนจำอยู่สองเดือน ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวแบบมีเงื่อนไข กล่าวคือ เขาถูกห้ามเดินทางออกนอกประเทศและห้ามสร้างภาพยนตร์ ทั้งยังต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการถูกกักบริเวณในบ้านพัก ตลอด 12 ปีที่ผ่านมา

กระนั้นก็ตาม นักทำหนังรายนี้ยังพยายามอาศัยช่องโหว่ทางข้อกฎหมาย จนสามารถหาหนทางเล็ดลอดในการสร้างสรรค์ผลงานอยู่ได้เป็นระยะๆ

เช่น การแอบถ่ายหนังด้วยกล้องดิจิทัลและไอโฟน แล้วลักลอบนำภาพยนตร์ที่ตัดต่อสมบูรณ์ออกไปฉายยังเทศกาลต่างประเทศ ผ่านสื่อกลางเล็กๆ อย่างยูเอสบีไดรฟ์

หรือในบางกรณี ผู้กำกับฯ รายนี้ก็ไปถ่ายทำหนังบนรถแท็กซี่ โดยที่ปานาฮีสวมบทเป็นโชเฟอร์ด้วยตัวเอง

จาฟาร์ ปานาฮี (คนกลาง) ภายหลังได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ FAMILY HANDOUT / AFP

กระทั่งเมื่อปี 2022 ความขัดแย้งระหว่างปานาฮีกับอำนาจรัฐก็ปะทุร้อนขึ้นอีกรอบ

เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นเมื่อมีผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอิหร่านสองราย ได้ออกมาวิจารณ์รัฐบาลผ่านโซเชียลมีเดีย หลังเกิดเหตุอาคาร 10 ชั้นถล่ม จนมีผู้เสียชีวิตกว่า 40 คน ก่อนที่คนทำหนังทั้งคู่จะถูกจับกุม และโดนลงโทษในข้อหายุยงให้เกิดความไม่สงบ และคุกคามความปลอดภัยทางจิตวิทยาในสังคม

ปานาฮีได้ออกมาร่วมประท้วงการจับกุมดังกล่าว และเมื่อเขาเข้าไปนั่งรับฟังการพิพากษาคดีของเพื่อนร่วมวิชาชีพ คนทำหนังอาวุโสรายนี้ก็ถูกจับกุมตัวทันที โดยศาลแถลงเหตุผลว่ามีการยกเลิกเงื่อนไขปล่อยตัวปานาฮีเมื่อปี 2010 นั่นส่งผลให้เขาต้องกลับเข้าไปรับโทษในเรือนจำ

ไม่กี่เดือนถัดมา คนในแวดวงภาพยนตร์อิหร่านจำนวนไม่น้อยก็ถูกจับกุมพร้อมกับประชาชนอีกนับพันราย ภายหลังเกิดเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงต่อกรณีที่หญิงสาววัย 22 ปี ชื่อ “มาห์ซา อามินี” เสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัว จากข้อหาละเมิดกฎระเบียบเกี่ยวกับการแต่งกายของสตรี

เดือนตุลาคมปีที่แล้ว ศาลฎีกาอิหร่านได้เพิกถอนคำพิพากษาลงโทษปานาฮีเมื่อ 12 ปีก่อน และมีคำสั่งให้ไต่สวนคดีรอบใหม่ แต่กระนั้น ผู้กำกับภาพยนตร์คนนี้ก็ยังคงถูกคุมขังภายในเรือนจำเรื่อยมา

 

เดือนกุมภาพันธ์ ต้นปี 2023 ภายหลังถูกจองจำมาเป็นเวลาเกือบ 7 เดือน “จาฟาร์ ปานาฮี” ก็ตัดสินใจประท้วงรัฐบาล-กระบวนการยุติธรรมอิหร่าน และเรียกร้องอิสรภาพที่ตนเองพึงได้รับ ด้วยการ “อดอาหาร-อดน้ำ”

ปานาฮีได้ระบุผ่านแถลงการณ์ที่เผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยภรรยาของเขาว่า “ผมจะยังคงประท้วงอดน้ำและอาหารต่อไป อาจจนกระทั่งถึงตอนที่ร่างกายอันไร้ชีวิตของผม ถูกปลดปล่อยออกมาจากเรือนจำ”

การประท้วงดำเนินไปได้สองวัน ในที่สุด ทางการอิหร่านก็คืนสิทธิการประกันตัวให้แก่ปานาฮี และปลดปล่อยเขาให้ออกมาต่อสู้คดีภายนอกเรือนจำ

หากพิจารณาในบริบทข้ามวัฒนธรรมแล้ว “จาฟาร์ ปานาฮี” ย่อมเป็น “มิตรสหายร่วมชะตากรรม” กับ “ตะวัน-แบม” อย่างมิต้องสงสัย •

 

ข้อมูลจาก

https://www.theguardian.com/film/2023/feb/03/iranian-film-maker-jafar-panahi-released-on-bail-after-hunger-strike

https://www.bbc.com/news/world-middle-east-64519948

https://www.theguardian.com/film/2022/jul/19/jafar-panahi-sentenced-to-six-years-in-jail