Y2K Culture : งานชุดแรกที่ ‘ผิดฝาผิดตัว’ ของ ‘จ๊อบ บรรจบ’

คนมองหนัง

กระแส “Y2K” กำลังย้อนกลับมาในปี 2023

แม้เดิมที คำดังกล่าวคือศัพท์เฉพาะ สื่อถึงปัญหาระดับมหึมาทางคอมพิวเตอร์ที่อาจส่งผลกระทบใหญ่หลวงในช่วงเปลี่ยนผ่านสหัสวรรษ (แต่สุดท้าย กลับไม่มีอะไรเกิดขึ้น)

แต่ “Y2K” ที่หวนมาฮอตฮิตทั้งในต่างประเทศและบ้านเรา ณ ปัจจุบัน ดูจะเน้นหนักไปยังเรื่องแฟชั่น-การแต่งกาย

สื่อต่างชาติบางสำนักอธิบายปรากฏการณ์นี้ผ่านแง่มุมเรื่อง “อารมณ์โหยหาอดีต” โดยตีความว่าภายหลังยุคโควิดแพร่ระบาด ผนวกด้วยปัญหาทางสังคมต่างๆ อีกสารพัด เช่น ความอยุติธรรม-การเลือกปฏิบัติในทางเชื้อชาติ/สีผิว, ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจทั่วโลก ตลอดจนปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ในต้นทศวรรษ 2020

การโหยหายุคสมัยแห่งอดีต เมื่อราวสองทศวรรษก่อน จึงกลายเป็นเครื่องมือหรือยานพาหนะที่พาคนหนุ่มสาวสมัยนี้หลบลี้หลีกหนีออกจากโลกความจริง ไปสู่บรรยากาศประมาณปี 2000 ที่พวกเขาและเธอเชื่อว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีและราบรื่นไร้กังวลมากกว่า

สำหรับในบริบทเฉพาะของวงการแฟชั่น กระแสมินิมอลลิสต์ (น้อยแต่เก๋) ที่ส่งอิทธิพลต่อรสนิยมของคนรุ่นใหม่มานานหลายปี ก็ถูกแทนที่ด้วยการกลับไปใส่อะไรเยอะๆ ล้นๆ เกินๆ หรือจับเอานู่นนี่มาผสมปนเปกัน คล้ายๆ วัยรุ่นยุคปลาย 1990 ถึงต้น 2000

ยิ่งกว่านั้น การดำรงอยู่ของเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตยังเอื้อให้เกิดหอจดหมายเหตุออนไลน์ชั้นดี ที่ช่วยให้วัยรุ่นยุคใหม่สามารถย้อนกลับไปแสวงหาแรงบันดาลใจหรือภาพอ้างอิงจากยุคต้น 2000 กันได้อย่างง่ายดาย

รวมทั้งสามารถนำสิ่งเหล่านั้นมาแพร่กระจายได้อย่างกว้างขวางรวดเร็ว

นี่คือภาพรวมย่นย่อของกระแสแฟชั่น “Y2K” ที่กำลังอยู่ในสภาวะ “เกิดใหม่”

 

เอาเข้าจริง นอกจากเรื่องการแต่งกายแล้ว กระแส “Y2K” ยังอาจนำพาให้เราย้อนกลับไปขบคิดถึงประเด็นทางวัฒนธรรมแขนงอื่นๆ ที่ก่อตัวและมีพลวัตอย่างน่าสนใจ ณ ห้วงเวลาเดียวกัน

ตามประสาคนฟังเพลง ผมรู้สึกว่า “เพลงไทยยุคต้น 2000” ก็มีเรื่องราวน่าสนใจแฝงอยู่ไม่น้อย

“เพลงไทยยุค 2000” ไม่ได้มีลักษณะโดดเด่นชัดเจนแบบ “เพลงป๊อปยุคก่อนอุตสาหกรรมดนตรี” ในยุค 80 ไม่ได้มีอัตลักษณ์เฉพาะเป็น “แกรมมี่ซาวด์” “อาร์เอสซาวด์” “นิธิทัศน์ซาวด์” กระทั่ง “เบเกอรี่ซาวด์” แบบ “เพลงไทยยุค 90”

แม้เพลงป๊อปไทยยุคต้นสหัสวรรษใหม่อาจถูกปกคลุมด้วยกระแส “เกิร์ลกรุ๊ป” อยู่บ้าง ทว่า เมื่อพิจารณาไปยังรายละเอียดเล็กน้อยปลีกย่อย เรากลับได้พบกับภาวะผิดฝาผิดตัว จับแพะชนแกะ หรือการก้าวข้ามพรมแดนเดิมๆ อย่างชุลมุนวุ่นวาย อยู่เต็มไปหมด (ไม่ต่างอะไรกับแฟชั่น “Y2K” ที่มีลักษณะเยอะ ล้น และผสมปนเป)

บริบทสำคัญที่กระตุ้นให้เพลงป๊อปไทยยุคเริ่มต้นทศวรรษ 2000 มีความหลากหลายเกินคาดคิด ก็คือ สภาวะหลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง พ.ศ.2540 (ค.ศ.1997) ที่ส่งผลให้บรรดาคนทำเพลงจากค่ายอินดี้-อัลเทอร์เนทีฟ ขนาดกลาง-ขนาดเล็กซึ่งผุดขึ้นมาราวดอกเห็ดในช่วงกลางทศวรรษ 1990 ถูกกวาดต้อนเข้าไปอยู่ในสองค่ายเพลงยักษ์ใหญ่

ด้วยเหตุนี้ ทั้งตึกแกรมมี่และอาร์เอส จึงเต็มไปด้วยทีมผลิตเพลงหรือค่ายเพลงย่อยๆ จำนวนมาก

แต่กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น ก็ต้องแลกมากับอัตลักษณ์ทางด้านแนวดนตรีที่จะค่อยๆ เบลอร์และพร่าเลือนไป

ผลงานเพลงไทยอัลบั้มหนึ่งที่ออกวางจำหน่ายใน ค.ศ.2000 (พ.ศ.2543) และมีองค์ประกอบที่ “ไม่น่าเข้ากันได้” มารวมอยู่เต็มไปหมด ก็คืออัลบั้มชุด “job 2 do” โดย “จ๊อบ-บรรจบ พลอินทร์” (ซึ่งยังคงโด่งดังในฐานะศิลปินแนวเร็กเก้ ที่มีกลุ่มแฟนเพลงเฉพาะจำนวนไม่น้อย มาจนถึงทุกวันนี้)

ขอบคุณภาพประกอบจาก Facebook บรรจบ พลอินทร์

ก่อนปี 2000 “จ๊อบ บรรจบ” เป็นชายไทยจากภาคใต้ที่เคยแต่งงานกับภรรยาชาวต่างชาติ และย้ายไปใช้ชีวิตที่เมืองนิวคาสเซิล ประเทศอังกฤษ นั่นทำให้เขามีโอกาสตระเวนแสดงดนตรีเปิดหมวกไปทั่วสหราชอาณาจักรเป็นเวลา 17 ปี

พอเข้าสหัสวรรษใหม่ จ๊อบจึงเดินทางกลับบ้านเกิด และนำเอาผลงานเพลงภาษาไทยที่เขาแต่งเก็บเอาไว้มานำเสนอกับบริษัทแกรมมี่

ในที่สุด อัลบั้มชุดแรกในชีวิตของเขาก็ถูกผลิตออกมา โดยมีการบรรยายลักษณะเด่นบนเครดิตปกเทป-ซีดีเอาไว้ว่า นี่เป็นการผสมผสานระหว่างดนตรีพื้นบ้านไทยในท้องถิ่นภาคใต้ที่เรียกว่า “ลิเกป่า” (รองเง็ง) กับดนตรีแนวแอฟริกันมิวสิก

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากมุมมองปัจจุบัน ผลงานชุด “job 2 do” กลับถูกประกอบสร้างขึ้นมาจากภาคส่วนต่างๆ ที่แลดูแปลกแยก-ผิดฝาผิดตัว

ประการแรกสุด หลายคนคงลืมไปแล้วว่า อัลบั้มชุดดังกล่าว (ซึ่งไม่โด่งดังเท่างานอีก 2-3 ชุดถัดมา ที่ทำในนามศิลปินอิสระ) ของ “จ๊อบ บรรจบ” นั้นออกกับค่าย “แกรมมี่โกลด์” ในเครือแกรมมี่

ในตอนนี้ แทบทุกคนล้วนตระหนักได้ตรงกันว่า “แกรมมี่โกลด์” คือ ค่ายเพลงลูกทุ่งยักษ์ใหญ่ ทว่า หากย้อนไปเมื่อ 23 ปีก่อน ภาพ “ความเป็นค่ายลูกทุ่ง” ของ “แกรมมี่โกลด์” ยังไม่ได้ชัดเจนขนาดนั้น

นี่ทำให้อัลบั้ม “job 2 do” ดูจะไร้ตำแหน่งแห่งที่อันแน่ชัดในทางการตลาดตามไปด้วย โดยมีสถานะเป็นเหมือนงานทดลองกึ่งเวิลด์มิวสิก ซึ่งเป็น “ชายขอบของค่ายใหญ่” จะเอาไปเปิดในสถานีวิทยุเพลงป๊อปวัยรุ่นที่ต้นสังกัดครอบครองอยู่หลายคลื่นก็ไม่ได้ จะนำไปเผยแพร่ในสถานีเพลงลูกทุ่งก็ดูไม่ลงตัว

(กรณีทำนองนี้ยังเกิดขึ้นอีกหลายเคส เช่น อัลบั้มชุดแรกของ “ลานนา คัมมินส์” ในปี 2547/2004 ที่ทางค่ายไม่แน่ใจว่าควรนำไปประชาสัมพันธ์ในช่องทางไหนดี แต่ทางทีมผลิตเพลงตัดสินใจนำวิดีโอโปรโมตศิลปินไปเปิดตัวผ่านโทรทัศน์ช่อง “เอ็มทีวี ไทยแลนด์”)

CD Album : Job บรรจบ / อัลบั้ม Job 2 do / สังกัดแกรมมีโกลด์

ประการต่อมา บุคลากรเบื้องหลังอัลบั้ม “job 2 do” มีความหลากหลาย และมี “ความเป็นแกรมมี่ดั้งเดิม” น้อยมาก

งานชุดนี้มี “จ๊อบ บรรจบ” และ “ปรีชา สาลิกา” รับหน้าที่โปรดิวเซอร์ แต่คนเบื้องหลังที่สำคัญมากๆ อีกรายหนึ่ง ซึ่งเป็นทั้งเอ็กเซ็กคิวทีฟ โปรดิวเซอร์ และผู้กำกับการร้อง-การเรียบเรียงดนตรี ก็คือ “ธนิต เชิญพิพัฒธนสกุล”

สำหรับแฟนเพลงยุค 90 รวมถึงคนที่ศึกษาเรื่องอุตสาหกรรมเพลงป๊อปไทยยุค 90 จากมุมมอง-หลักฐานในทศวรรษ 2020 การได้เห็นชื่อธนิต (หรือ “พี่เต้ง”) ปรากฏอยู่บนปกอัลบั้มของศิลปิน (ชายขอบ) ค่ายแกรมมี่ ย่อมดูเป็น “เรื่องแปลกประหลาด” เอามากๆ

เพราะสถานภาพที่โดดเด่นที่สุดของธนิต คือ การเป็นคนดนตรีเบอร์ต้นๆ และกำลังหลักสำคัญของค่ายอาร์เอสยุครุ่งเรือง (ก่อนที่เขาจะโยกย้ายข้ามฝั่งมาอยู่กับแกรมมี่ในช่วงปี 2000 พอดี)

8 ใน 10 เพลงจากอัลบั้มชุดแรกของจ๊อบ เขียนคำร้อง แต่งทำนอง และเรียบเรียงดนตรีโดยตัวศิลปินเอง

มีแค่ 2 เพลงที่ใช้บริการทีมเขียนเพลงของแกรมมี่ คือ “แบมือ” และ “กอดฉันไว้” (เพลงที่น่าจะเป็น “ที่รู้จัก” มากที่สุดจากผลงานชุดนั้น และหวนมาโด่งดังอีกรอบในเวอร์ชั่นของวง “พาราด็อกซ์”)

ทั้ง 2 เพลงนี้ เขียนคำร้อง-ทำนองโดย “ปิติ ลิ้มเจริญ” (พี่ตู๋ วงนั่งเล่น) และเรียบเรียงดนตรีโดยธนิต (ซึ่งก็เป็นสมาชิกยุคเริ่มต้นของ “วงนั่งเล่น” เช่นกัน)

ถ้าเทียบกับบรรทัดฐานการทำงานในค่ายแกรมมี่ยุค 90 นี่ก็เป็นวิธีการผลิตผลงานที่แปลกออกไป เพราะมิได้แยกขาดทีม/คนเขียนคำร้อง และทีม/คนแต่งทำนอง ออกจากกัน

เนื่องจากปิติที่เคยเริ่มต้นทำงานกับค่าย “คีตา” และ “วอร์นเนอร์ มิวสิก” เป็นบุคลากรที่สามารถรับเหมาทำงานเขียนคำร้องและแต่งทำนองได้อย่างสำเร็จรูปด้วยคนคนเดียว

 

แม้อัลบั้ม “job 2 do” จะไม่ประสบความสำเร็จทางด้านยอดขาย และไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง แถมยังเข้าไม่ถึงกลุ่มแฟนเพลงเฉพาะแนวอีกด้วย

แต่อย่างน้อย งานชุดนั้นก็หนุนส่งให้ “จ๊อบ-บรรจบ พลอินทร์” ได้รับรางวัลสีสัน อะวอร์ดส์ ครั้งที่ 13 ในสาขา “ศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยม” ขณะมีวัย 40 ต้นๆ สร้างสถิติเป็นศิลปินอายุมากที่สุดที่ได้รับรางวัลสาขานี้ (เจ้าของสถิติเดิม คือ “อารักษ์ อาภากาศ” ที่ได้รับรางวัล “ศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยม” ในวัย 30 ปลายๆ)

ก่อนที่ “จ๊อบ บรรจบ” จะค่อยๆ หาที่ทาง-กลุ่มคนฟังของตัวเองได้เจอ ผ่านการผลิตผลงานชุดต่อๆ มา ซึ่งไม่ได้ออกกับค่ายยักษ์ใหญ่แล้ว

จนสามารถปักหลักเล่นดนตรี-ทำเพลงในเมืองไทยมาถึงปัจจุบัน •