ALL QUIET ON THE WESTERN FRONT : ‘สมรภูมิ’

นพมาส แววหงส์

นวนิยายเยอรมันจากปลายปากกาของ เอริก มาเรีย รีมาร์เก ที่เขียนใน ค.ศ.1928…เพียงสิบปีเศษๆ หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และแปลเป็นภาษาอังกฤษในชื่อ All Quiet on the Western Front

“ทุกอย่างเงียบสงบที่ด่านด้านตะวันตก” เป็นการย้อนแย้งแฝงนัยของเรื่องราวและสถานการณ์ที่นำเสนอ

ชื่อนี้เป็นชื่อที่ติดหูจนกลายเป็นสำนวนที่ใช้กันแพร่หลายในภาษาอังกฤษไปแล้ว แม้ว่าชื่อเยอรมันดั้งเดิมถ้าแปลตรงตัวจะต้องใช้ว่า “ไม่มีอะไรใหม่ทางทิศตะวันตก”

นวนิยายของรีมาร์เกถูกประณามโดยเจ้าหน้ารัฐฝ่ายโฆษณาชวนเชื่อว่า “ไม่รักชาติ” และทำให้เขาต้องเนรเทศตัวเองออกจากเยอรมนีไปเป็นพลเมืองของประเทศที่เป็นกลางอย่างสวิตเซอร์แลนด์

อย่างไรก็ตาม นวนิยายเรื่องนี้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์หลังจากเขียนขึ้นไม่นาน และได้รับออสการ์ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (1930) ในพิธีประกาศรางวัลครั้งที่สาม รวมทั้งการกำกับยอดเยี่ยมจากฝีมือของลูวิส ไมล์สโตน

มาถึงตอนนี้นวนิยายได้รับการนำมาสร้างใหม่ด้วยฝีมือของเพื่อนร่วมชาติชาวเยอรมันเป็นครั้งแรก และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์อีกครั้ง ทั้งในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมจากเยอรมนี

นี่เป็นหนังต้านสงครามที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งที่เคยดู

“สาร” ของหนังดังกึกก้องสะท้อนไปทั่วและตราตรึงอยู่ในใจ ในเรื่องที่ว่าสงครามเป็นเรื่องไร้เหตุผล ไร้แก่นสารและสูญเปล่าโดยสิ้นเชิง มีอยู่ก็เพียงแค่ศักดิ์ศรีของคนในกลุ่มผู้นำและความภูมิใจลมๆ แล้งๆ ของเลือดรักชาติที่ถูกปลุกและปั่นขึ้นในใจของคนหนุ่มที่แสวงหาความหมายในชีวิต

ช่วงต้นที่เปิดเรื่องให้ภาพที่ผิดแผกแตกต่างกับตอนท้ายอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ

หนุ่มน้อยวัยใกล้สิบแปด พอล บอมเมอร์ (เฟลิกซ์ คัมเมอเรอร์) ได้รับการปั่นหัวให้เลือดรักชาติขึ้นสมอง และแม้ว่าเขาจะยังไม่ถึงวัยเกณฑ์ทหารไปรับใช้ชาติดี แต่เขาก็ปลอมลายมือพ่อเซ็นชื่อเพื่อจะได้เข้าไปรับใช้ชาติในยามสงคราม ร่วมกับเพื่อนฝูงที่พร้อมจะเดินแถวเข้าสู่สนามรบเพื่อเกียรติภูมิของชาติที่จะยอมให้ใครมาลบหลู่ศักดิ์ศรีไม่ได้

โดยไม่รู้หรือเฉลียวใจสักนิดว่าชีวิตที่จะตามต่อจากนั้นมาจะต้องเจอะเจอกับความเลวร้ายอย่างไร และจะไม่มีวันได้กลับมาใช้ชีวิตเยี่ยงผู้คนปกติได้อีกแล้ว

หนังนำเสนอได้ดีมากในช่วงที่พอลเดินเข้าแถวด้วยร่างเปลือยเปล่า ไปลงทะเบียนรับชุดทหารอย่างภาคภูมิใจ เขาวางเครื่องแบบทหารไว้ในอ้อมแขนสองข้างขณะเดินออกจากแถวไป…แต่ก็หวนกลับมาใหม่ เพื่อจะบอกว่า เครื่องแบบชุดนี้คงเป็นของคนอื่น เพราะมีชื่อใครก็ไม่รู้ติดอยู่

เจ้าหน้าที่ไม่แสดงอาการแปลกใจใดๆ ได้แต่ฉีกป้ายชื่อออก และบอกเพียงว่า เจ้าของชื่อคงเอามาคืนเพราะไซซ์นี้มันเล็กไปสำหรับเขาน่ะ…ว่าพลางก็โยนป้ายชื่อเก่าทิ้งลงพื้นอย่างไม่อินังขังขอบ

กล้องแพนตามลงไปจับภาพที่พื้น เห็นมีป้ายชื่อแบบเดียวกันนี้ทิ้งเกลื่อนกลาดระเกะระกะ

แปลว่าเครื่องแบบทหารของคนที่ตายไปก็เอามารีไซเคิลสำหรับทหารชุดใหม่ต่อไปที่จะเข้าสู่สนามรบแนวหน้า ซึ่งมีทีท่าว่าอาจไม่แคล้วจะต้องเจอชะตากรรมอย่างเดียวกัน

โดยคำสั่งของเบื้องบนที่เล่นเกมชิงความเป็นเจ้าโลกกัน

…ให้เดินหน้าก็ต้องเดิน ให้ถอยหลังก็ต้องถอย ให้เลี้ยวซ้ายก็ต้องเลี้ยว ให้เลี้ยวขวาก็ต้องเลี้ยง ให้หยุดเดินก็ต้องหยุด…

คนตัวเล็กตัวน้อยเป็นเพียงตัวหมากบนกระดานในเกมการแข่งขันของชนชั้นผู้นำ

พอล หนุ่มน้อยผู้เพิ่งจะจบจากโรงเรียนมัธยม ยังไม่ทันได้เข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย ต้องเดินทัพมุ่งหน้าเข้าสู่สมรภูมิ พร้อมเพรียงกับเพื่อนร่วมชาติผู้อ่อนวัยไปจนถึงวัยฉกรรจ์ ด้วยเสียงเพลงปลุกใจที่ร่วมขับขานอย่างฮึกเหิมใจ

แต่ในสนามรบด้านทิศตะวันตก ซึ่งตรึงกำลังกันอยู่ในสนามเพลาะในฝรั่งเศส ต่อสู้กับทหารฝรั่งเศส

ตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำบ้าง มีชัยบ้างในวันเดือนปีที่ผ่านไป

โดยไม่มีวันหยุด หรือลาพักจากสถานการณ์ตึงเครียดของการรบ

นอนกลางดินกินกลางทราย เนื้อตัวสกปรกหมักหมม

และอดอยากยากแค้น หิวโหยจนบางครั้งต้องไปขโมยห่านของชาวนาท้องถิ่นมาต้มกินกันให้อิ่มท้องหายอยากไปชั่วครั้งชั่วคราว

พอลสนิทสนมกลมเกลียวกับเพื่อนร่วมชาติที่มีพื้นเพแตกต่างกันอยู่กลุ่มหนึ่ง และต้องเห็นพวกเขาจากไปในลักษณาการต่างๆ

มีฉากหนึ่งที่พอลตกอยู่ในหลุมกับศัตรูที่เพิ่งต่อสู้ประหัตประหารกันมา ท่ามกลางการต่อสู้ในสนามรบเหนือหัวขึ้นไป และการเผชิญหน้าในระยะประชิดกับศัตรู ก็ดึงเอามนุษยธรรมในตัวเขาออกมา

เมื่อใดที่เราเห็นคนอื่นเป็นคนเหมือนๆ กับเรา เจ็บปวด กระหาย ทุรนทุราย อย่างเดียวกับที่มนุษย์อย่างเราก็อาจต้องทนทุกข์เหมือนกัน เมื่อนั้นแหละความเป็นศัตรูจะปลาสนาการหายไป เหลือแต่ความเห็นอกเห็นใจในกันและกัน

แต่ส่วนใหญ่ในสมรภูมิรบ ข้าศึกมักจะซ่อนหน้าอยู่เบื้องหลังในความมืด หรือความเลือนราง หรือในรถถังที่คืบคลานเข้ามาบดขยี้ ดังนั้น การเข่นฆ่าฝ่ายตรงข้ามจึงเป็นไปโดยอัตโนมัติ

นี่เป็นหนังที่ทรงพลังยิ่ง เกี่ยวกับสิ่งที่ใครๆ ก็ไม่อยากเผชิญหน้า และพยายามหลีกเลี่ยงไปไกลสุดกู่ ถ้าทำได้ จึงไม่ใช่หนังที่น่าเพลิดเพลินเจริญใจ แม้ว่าการเดินเรื่องจะดึงให้เราอยู่กับตัวละคร และเสนอภาพที่แสดงความเปรียบต่าง (contrast) กันของสภาพอันน่าหดหู่สะเทือนใจในสมรภูมิ ตัดกับสภาพหรูหราสุขสบาย เหลือกินเหลือใช้ ของผู้นำในระดับสูง

สมรภูมิด้านตะวันตก…ซึ่งตรึงกำลังกันอยู่หลายปี… นี้เป็นจุดตัดสินผลการแพ้ชนะในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง อันมีการลงนามในข้อตกลงพักรบ (armistice) อันจะนำไปสู่สนธิสัญญาแวร์ซายส์ในเวลาต่อมา

การพักรบครั้งนี้ตกลงกำหนดไว้ในวันที่ 11 เดือน 11 (พฤศจิกายน) เวลา 11 น.

ดูเป็นฤกษ์งามยามดีด้วยตัวเลขสวยๆ ที่ฟังดูดีอยู่หรอก (สำนวนว่าการทำอะไร “at the eleventh hour” แปลว่า ทำในชั่วโมงสุดท้ายก่อนกำหนด หรือก่อนที่จะสายเกินแก้)

แต่ประเด็นก็คือ กำหนดการที่เนิ่นนานออกไปนี้สร้างความเสียหายและการสูญเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก…โดยไม่จำเป็นเลย

หนังจบลงด้วยภาพที่หลอกหลอนติดตามาก ซึ่งทำให้หนังส่งสารที่มีพลังยิ่ง

โลกเราต้องการหนังแบบนี้แหละที่จะเตือนตาเตือนใจให้คนรุ่นใหม่ที่อาจไม่เคยเห็นหรือเผชิญความยากลำบากของชีวิต ได้ตระหนักถึงมหาภัยของสงคราม… •

ALL QUIET ON THE WESTERN FRONT

กำกับการแสดง

Edward Berger

นำแสดง

Felix Kammercer

Albrecht Such

Edin Hasanovec

Daniel Bruhl

 

ภาพยนตร์ | นพมาส แววหงส์