‘อัคริศเฉลิม กัลยาณมิตร’ : ‘นักออกแบบเสียง’ คนสำคัญของวงการหนังไทย

คนมองหนัง

คนดูภาพยนตร์ไทยยุคนี้ โดยเฉพาะหนังอินดี้/อิสระ น่าจะคุ้นชื่อของ “อัคริศเฉลิม กัลยาณมิตร” กันเป็นอย่างดี ในฐานะ “ผู้ออกแบบเสียง” ให้แก่หนังไทยร่วมสมัยเรื่องเด่นๆ จำนวนมาก

เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้จัดกิจกรรมพูดคุยหัวข้อ “ชั้นครู 20 : อัคริศเฉลิม กัลยาณมิตร” อันเป็นส่วนหนึ่งในเทศกาลภาพยนตร์สั้นประจำปี 2565 โดยมี “นักออกแบบเสียง” ผู้นี้ มาถ่ายทอดประสบการณ์การทำงาน-ศึกษาเรียนรู้ของตนเอง

อัคริศเฉลิมจบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาการระหว่างประเทศ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ความหลงใหลใน “เสียงดนตรี” กลับนำพาเขาเข้าสู่ “โลกภาพยนตร์”

ช่วงปลายทศวรรษ 2530 ในยุคเฟื่องฟูของดนตรีแนวอินดี้-อัลเทอร์เนทีฟ อัคริศเฉลิมได้ตัดสินใจทำวงดนตรีกับเพื่อน เพื่อผลิตผลงานออกขายเองโดยไม่ได้สังกัดค่ายเพลง ปรากฏว่าเทปชุดดังกล่าวมียอดขายที่น่าพอใจตามพื้นที่รอบนอกของกรุงเทพฯ

สุดท้าย พี่ชายของเขาจึงแนะนำให้น้องชายไปศึกษาต่อที่ “Academy of Art University” ที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา โดยให้เหตุผลว่า “คนที่เรียนที่นี่จบออกมารวยทุกคน”

บัณฑิตรัฐศาสตร์ สาขาการระหว่างประเทศ ที่เคยใฝ่ฝันอยากทำงานเป็นนักการทูต จึงลองเปลี่ยนเส้นทางของตนเองด้วยการสมัครเข้าเรียนต่อสาขา “ภาพยนตร์” ที่โรงเรียนศิลปะแห่งนั้นแบบงงๆ

“ตอนนั้นเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าภาพยนตร์คืออะไร มันมีขั้นตอนในการทำอะไรยังไง”

ขอบคุณภาพจาก หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

นั่นส่งผลให้อัคริศเฉลิมต้องใช้เวลาปรับตัวกับการเป็น “นักเรียนภาพยนตร์” ที่ต่างบ้านต่างเมืองอยู่พอสมควร

“ตอนเราเรียนที่นั่นรู้สึกทรมานมาก ครั้งหนึ่งจำได้ว่า เป็นคลาสสอนทำหนังเล่าเรื่อง ตอนนั้นจะมีเพื่อนในห้องเป็นชาวเกาหลีคนหนึ่งทำหนังเก่งมาก ซึ่งประเทศนี้เขาเก่งมาตั้งแต่ยุคนั้นแล้ว

“เราก็ทำหนังไปส่งอาจารย์ จำได้ว่าเป็นอาจารย์ชาวอังกฤษที่จะคอยตำหนิงานของนักศึกษา ตอนนั้นเราร้องไห้เลย เพราะเราทำหนังเล่าเรื่องไม่ได้ ด้วยอารมณ์ว่าเราไม่อยากอยู่ตรงนี้ อยากเลิก อยากลาออกแล้ว จึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะทำหนังที่คนดูแล้วไม่รู้เรื่องขึ้นมา

“เป็นเรื่องราวของคนบ้าสองคนคุยกันบนดาดฟ้า แล้วสักพักก็มียูเอฟโอมารับไป พอฉายให้อาจารย์ดู เขาก็ทำหน้าอึ้งๆ แต่เพื่อนๆ ในห้องชอบ เป็นที่มาที่เป็นกำลังใจให้เราอยากเรียนต่อ”

ในที่สุด “นักเรียนหนังผู้ไม่ชอบการเล่าเรื่อง” ก็ค่อยๆ ค้นพบที่ทางของตนเอง

“หลังจากนั้น ไปลงเรียนวิชาหนังทดลอง เหมือนมันเปิดโลกขึ้นมาทันทีเลยว่า มันมีวิธีเล่าเรื่องอีกรูปแบบนะ หนังไม่เห็นจำเป็นที่ต้องมีนักแสดงหรือบทสนทนาอะไรมากมาย เราอยากทดลองใส่อะไร ก็ใส่เข้าไป อยากใส่เสียงแบบนั้นแบบนี้ อยากทำแบบกวีที่มีแต่ภาพและเสียงก็ได้ นั่นจึงเป็นที่มาที่เป็นฉากหลังให้รู้จักกับคำว่าหนังทดลอง”

ส่วนเหตุผลที่ทำให้เขาหันมาสนใจเรื่อง “งานเสียง” ในกระบวนการผลิตภาพยนตร์นั้น ก็มีรายละเอียดปลีกย่อยลงไปอีก

“จริงๆ ตอนที่เรียนอยากเป็นช่างภาพ เคยถ่ายหนังให้เพื่อนทีหนึ่ง สักพักเรารู้สึกรับความกดดันไม่ได้และจัดไฟไม่ค่อยเป็น ก็เลยเปลี่ยนไปถือไมค์บูมแทน เพราะเป็นตำแหน่งเดียวที่ไม่ต้องทำอะไรมากและได้ศึกษาดูทีมงานส่วนอื่นๆ

“พอเราลงเรียนคลาสหนังทดลอง มีโอกาสได้ทำหนังตัวเอง แล้วเอาไปฉายในคลาสตัดต่อ เพื่อนๆ ทุกคนในห้องก็ชอบกัน จากนั้นก็เป็นที่มาที่ทุกคนจะเอาหนังมาให้เราช่วยตัดต่อเสียง มีรับงานนอกด้วย คือช่วยถือไมค์บูมอัดให้หนังใต้ดินแถวที่เราเรียนอยู่ หลังจากนั้นก็ยาวเลย ได้ทำงานเกี่ยวกับเสียงมาจนถึงทุกวันนี้”

 

หลังเดินทางกลับจากสหรัฐ ผลงานหนังยาวเรื่องแรกที่อัคริศเฉลิมได้เข้าไปทำงานด้าน “เสียงประกอบ” ให้ (ผ่านการแนะนำของ “ลี ชาตะเมธีกุล” นักลำดับภาพคนสำคัญในวงการหนังอินดี้ไทย) ก็คือ “สัตว์ประหลาด” ของ “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” ที่ได้รับรางวัลจูรี ไพรซ์ ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ค.ศ.2004 (พ.ศ.2547)

นับจากนั้น เขาก็ได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับผลงานเกือบทุกชิ้นของอภิชาติพงศ์ ทั้งที่เป็นภาพยนตร์และวิดีโอศิลปะ

รวมทั้งได้ทำงาน “ออกแบบเสียง” (และงานเกี่ยวกับเสียงด้านต่างๆ) ให้ผู้กำกับภาพยนตร์ไทยรายอื่นๆ ด้วย เช่น เป็นเอก รัตนเรือง, คงเดช จาตุรันต์รัศมี, อาทิตย์ อัสสรัตน์, อุรุพงศ์ รักษาสัตย์, ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์, ปราบดา หยุ่น, อโนชา สุวิชากรพงศ์, พิมพกา โตวิระ และพวงสร้อย อักษรสว่าง เป็นต้น

อัคริศเฉลิมยังรับผิดชอบงานด้านเสียงให้กับหนังต่างประเทศอีกไม่น้อย ผลงานล่าสุดของเขา คือ การผสมเสียงให้แก่หนังสารคดีเวียดนามเรื่อง “Children of the Mist” ของผู้กำกับฯ หญิง “ฮาเลเสี่ยม” ซึ่งได้เข้ารอบชอร์ตลิสต์ 15 เรื่อง ที่มีลุ้นชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์สารคดีขนาดยาวยอดเยี่ยมประจำปีนี้ (แม้หนังจะไม่ได้เข้ารอบ 5 เรื่องสุดท้ายก็ตาม)

 

เมื่อมีผู้ฟังขอให้เขาช่วยอธิบายถึงความรู้สึกและความหมายเกี่ยวกับคำว่า “เสียง” ในปัจจุบัน

อัคริศเฉลิมบรรยายว่า ในเชิงกายภาพ ต้องยอมรับว่าหูของตนเองมีศักยภาพที่เสื่อมลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น เช่น จะได้ยินเสียงแหลมน้อยลง

“ถ้าพูดเรื่องของมุมมองการทำงาน เราเหมือนพยายามทำอะไรที่มันธรรมดาขึ้น แต่ถ้าไปดูในโปรแกรมงานของผมจริงๆ จะพบว่ามันมีอะไรไม่รู้เยอะแยะไปหมด ซึ่งผมเห็นด้วยกับทฤษฎีของนักออกแบบเสียงชาวอเมริกันคนหนึ่งที่แนะนำว่า ให้เอาสิ่งเล็กๆ น้อยๆ อย่างละนิดอย่างละหน่อยมารวม ๆ กัน มันก็จะเกิดสิ่งใหม่ขึ้นมา”

“นักออกแบบเสียง” มากประสบการณ์ ยังให้คำแนะนำถึงผู้สนใจที่จะทำงานแขนงนี้เอาไว้ว่า

“คนทำเสียงต้องเป็นคนฟังที่ดีและอดทน ไม่ต้องเจอคนก็ได้ เพราะคนทำเสียงนี่วันๆ เจอคนน้อยมาก ถ้าคุณรู้สึกว่าใช้ชีวิตแบบนี้ได้ คุณก็ทำงานนี้ได้ ความอดทนถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะเจอผู้กำกับฯ บอกให้แก้นู่นแก้นี่เสมอ เพราะงานออกแบบเสียงนี่มีความซับซ้อน มันจะมีแทร็กยุบยับไปหมด

“การทำเสียงมันต้องเริ่มจากการมีวัตถุดิบที่ดี หากมีโอกาส อยากแนะนำคนที่ทำงานด้านเสียงว่า อย่างแรกคือต้องมีทฤษฎีความรู้เรื่องการใช้เครื่องมือและการดูมิเตอร์ เพราะเสียงมันเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์

“พอมีความรู้เสร็จปุ๊บ เงินต้องถึง พวกอุปกรณ์ถูกและดีแทบจะไม่มีในโลก มันได้แหละ แต่ถ้าลองเปิดเทียบจริงๆ จะเห็นชัดเจนเลยว่า คุณภาพของไมค์ราคานี้กับราคานี้ มันต่างกัน อีกเรื่องคือความขยัน วินัย และการประนีประนอมระหว่างสิ่งที่เราต้องการกับสิ่งที่ผู้กำกับฯ ต้องการ

“แต่สิ่งที่ผมคิดว่า เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคนอยากทำเสียง ซึ่งผมหยิบยืมมาจากอาจารย์ที่สอนถ่ายภาพ เขาบอกให้ฝึกสมาธิด้วยการนั่งดูพระอาทิตย์ทั้งวัน เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงของมัน

“เช่นกัน ผมคิดว่าวิธีการนี้นำมาใช้กับเรื่องเสียงได้ คือเราฟังความเปลี่ยนแปลงของมัน แล้วก็แยกว่าช่วงเช้า เสียงมันเป็นยังไง กลางวัน ตอนเย็น กลางคืน มันเปลี่ยนแปลง มีลักษณะและรายละเอียดยังไง เสียงมันแน่นหรือบางยังไง

“คือฝึกแค่นี้ ไม่ต้องทุกวันก็ได้ นั่งเฉยๆ กินกาแฟ คิดงานอะไรไม่ออก ลองทำที่ร้านกาแฟก็ได้ มันทำได้ทุกที่ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เราจะได้รู้สึกรักและรู้จักสำรวจตัวเอง หรือจะอีกขั้น ก็คือเข้าป่าไปเลย ไปนั่งอัดเสียงเงียบๆ แล้วจะได้รู้ว่ามันมีอีกโลกหนึ่งอยู่ในป่า” •

 

ขอบคุณเนื้อหาจาก

รายงานพิเศษเรื่อง “เสียง” ของนักออกแบบเสียง เรียบเรียงโดย อธิพันธ์ สิมมาคำ https://www.fapot.or.th/main/information/article2/view/58

 

| คนมองหนัง