Guillermo del Toro’s Pinocchio

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

หนังได้ลูกโลกทองคำไปแล้ว

ปล่อยให้หนังฉายเนิ่นนานพอสมควรน่าจะถึงเวลาพูดคุยกันได้เสียที ท่านที่ยังไม่เคยดูควรดูก่อนอ่านเพราะจะเปิดเผยตอนจบ

หนังพิน็อคคิโอครั้งนี้แตกต่างจากหนังสือของ Carlo Collodi (1826-1890) และแตกต่างจากเวอร์ชั่นของดิสนีย์ทั้งที่เป็นหนังการ์ตูนหรือหนังคนแสดงที่เพิ่งผ่านตาไปไม่นานนี้

นักเขียนคาร์โล คอลโลดี เป็นคนหนึ่งที่เชื่อมั่นในการศึกษาและเชื่อว่าการศึกษาเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาอิตาลี

หนังเรื่องนี้ฉายให้เห็นบ้านเมืองอิตาลีตั้งแต่ต้นเรื่องแต่เป็นคนละยุคสมัยกับของเขา เนื้อเรื่องในหนังจะพัวพันฟาสซิสต์และเราจะได้เห็นมุสโสลินีด้วย

อย่างไรก็ตาม หนังเชื่อมั่นในการศึกษากับพาดพิงการศาสนาคล้ายคลึงต้นฉบับ

หนังเล่าเรื่องเด็กชายหุ่นไม้ต้องไปโรงเรียนตลอดทั้งเรื่องโดยมิได้ขับเน้นว่าต้องเป็นเด็กดีบ่อยเท่าที่ดิสนีย์เคยทำไว้

ตาเฒ่าเจ็พเพ็ตโตมีงานแกะสลักรูปพระคริสต์บนไม้กางเขนที่เขาทำไม่เคยเสร็จ เหตุที่ไม่เสร็จเพราะเครื่องบินทิ้งระเบิดได้พรากเอาลูกชายคาร์โลของเขาไปเสียก่อนทั้งที่เขาทำงานให้พระผู้เป็นเจ้าอยู่แท้ๆ

เช่นนี้ศรัทธาจะไปเหลืออะไร งานแกะสลักพระคริสต์จึงหยุดไว้เพียงนั้น

เจ็พเพ็ตโตอยากตาย หนังมิได้เล่าเรื่องหุ่นไม้ต้องเป็นเด็กดีแต่เล่าเรื่องความตายเสียมากกว่าซึ่งก็ตรงกับในหนังสือที่มีความตายเกาะกุมอยู่ตลอดทั้งเล่ม

ฉากที่พิน็อคคิโอตายมีผู้คนยืมล้อมร่างของเขาถอดแบบมาจากหนังสือต้นฉบับ ต่างกันที่คนรายล้อมเขามิใช่คนเหมือนในหนัง แต่เป็นกลุ่มธำรงจริยธรรม หนึ่งในจำนวนนั้นคือจิ้งหรีด

หนังสมจริงเพราะมีความตายที่เกิดขึ้นจริงอยู่ตลอดทั้งเรื่อง นับดูเถอะว่ากว่าจะจบเรื่องมีใครตายบ้าง หมายถึงตายจริงไม่ฟื้นอีกเลย จึงออกจะขัดตาเมื่อพบว่าจิ้งหรีดเซบาสเตียนในหนังไม่เคยตาย

ส่วนนี้กลายเป็นการ์ตูนบั๊กบันนี่แท้ๆ เขาถูกทุบแบนไม่รู้กี่ครั้งแต่เด้งดึ๋งขึ้นมาใหม่หลังจากสลบไปสักครู่เหมือนวูลเวอรีน

ความหมายคือศีลธรรมและจริยธรรมไม่มีวันตาย

นางฟ้า (ซึ่งสวยงามตามสไตล์ผู้กำกับฯ คนนี้) ให้ชีวิตแก่หุ่นไม้ พี่สาวของนางฟ้าซึ่งเฝ้าดินแดนแห่งความตาย (ออกแบบได้ “งดงาม” กว่าตัวนางฟ้าเสียอีก) ทำหน้าที่รักษากติกาของความตาย

แต่เพราะพิน็อคคิโอเป็นหุ่นไม้จึงไม่รู้จักตาย อย่างไรก็ตาม เขาต้องอยู่ในดินแดนปรโลก (ซึ่งชวนให้นึกถึงโพรงกระต่ายที่อลิซตกลงไป) นานเท่านาฬิกาทรายปล่อยทรายลงหมดกระเปาะก่อนที่จะกลับไปผิวโลกใหม่ได้

นางผู้เฝ้าความตายจึงบอกว่า “ชีวิตนิรันดร์นำมาซึ่งความทุกข์นิรันดร์”

“Eternal life can bring eternal suffering” นี่คือส่วนที่ดีที่สุดของหนัง

แทรกตรงนี้สำหรับโคว้ตต่อเนื่องที่จะได้จาก Star Trek Discovery IV ในตอนใกล้จบ “ความรักจบด้วยความเศร้าเสมอ”

“Love always ends with grief” นี่เป็นความจริงอีกข้อเช่นกัน

คนเรายิ่งมีอายุยืนนาน จะไปไม่พ้นความทุกข์เสียที และเพราะชีวิตคนไม่อมตะ ดังนั้นความรักต้องจบด้วยการพลัดพรากจากสิ่งที่รักอย่างแน่นอน

น่าเสียดายที่มีแต่คนแก่จะเข้าใจสัจธรรมนี้

น่าเสียดายยิ่งกว่าถ้าแก่แล้วก็ยังไม่ยอมเข้าใจเสียที เจ็พเพ็ตโตเป็นคนหนึ่ง

พิน็อคคิโอเรื่องนี้มีเพื่อนเป็นลูกชายของฟาสซิสต์ประจำเมือง พ่อฟาสซิสต์รู้เห็นความเป็นอมตะของพิน็อคคิโอจึงหมายมั่นปั้นให้เด็กชายหุ่นไม้เป็นซูเปอร์โซลเดอร์ แล้วมองข้ามความสำคัญของลูกชายของตัวเองไปเสีย ด้วยสิ่งที่กำหนดให้ลูกชายของฟาสซิสต์น่าจะเกลียดพิน็อคคิโอเข้าไส้แต่การณ์กลับเป็นว่าเด็กชายหุ่นไม้มี “หัวใจ” มากกว่าที่ใครๆ จะเข้าใจโดยง่าย เขาเอาชนะใจลูกชายของฟาสซิสต์ได้ในภายหลัง

เมื่อเด็กสองคนถูกพ่อเกณฑ์ไปเป็นยุวชนทหารของอิตาลี ทั้งสองจึงช่วยเหลือกันต่อต้านเผด็จการอย่างน่าตื่นเต้นในตอนท้าย อันจะนำไปสู่ฉากจบที่ทุกคนรอคอย นั่นคือการผจญภัยในท้องปลาวาฬ

หนังสือต้นฉบับไม่มีปลาวาฬแต่เป็น Dogfish ตัวใหญ่ยักษ์ เป็นปลาในตระกูลฉลาม อย่างไรก็ตามปลาร้ายนี้อ้าปากสวาปามเรือของเจ็พเพ็ตโตได้ในตอนท้ายเฉกเช่นกันและมีที่ในท้องเหลือเฟือ การออกแบบรูปร่างภายนอกน่าชมเชย ช่างเป็นปลาหน้าตาอัปลักษณ์เหลือแสน เดาได้เลยว่าจุดจบไม่ง่ายเหมือนการ์ตูนของดิสนีย์เป็นแน่ แม้ความหมายจะไม่ต่างกันนั่นคือการกำเนิดใหม่

เมื่อดูถึงตอนจบจะพบว่าพิน็อคคิโอตอนท้ายต่างจากตอนต้นเป็นคนละคน หนังยาวเกือบสองชั่วโมงจนคนดูลืมว่าเขาใช้ค้อนทุบขวดแก้วในบ้านแตกไปหลายใบตอนต้นเรื่องจนถูกเจ็พเพ็ตโตเอาไปขังในตู้

คําสำคัญและหัวใจสำคัญของเรื่องคือคำว่าภาระ (burden) หากจะมีคำใดทำให้เด็กๆ เจ็บปวดดั่งที่พิน็อคคิโอเจ็บปวด นั่นคือเขาเป็นภาระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อหลุดออกมาจากปากของพ่อแม่

เมื่อเจ็พเพ็ตโตเป็นตายเท่ากัน แต่พิน็อคคิโอชิงตายไปเสียก่อน เขาต้องรอเวลาชั่วหนึ่งนาฬิกาทรายที่นานกว่าเดิมจึงจะกลับขึ้นผิวโลกได้แต่เวลานั้นพ่อคงตายไปก่อนแล้วและตายจริงๆ ไม่มีกลับ พิน็อคคิโอจึงต้องตัดสินใจว่าจะทุบนาฬิกาทรายแตกแล้วรีบกลับขึ้นไปช่วยพ่อดีหรือไม่ แต่นั่นเท่ากับเขาต้องสูญเสียชีวิตนิรันดร์ไปตลอดกาล การตายรอบต่อไปของเขาคือการตายจริงๆ

ส่วนสุดท้ายนี้เป็นการประมวลข้อขัดแย้งทั้งหมดไว้ในฉากเดียว ช่างน่าชมเชย

เขาควรไปโรงเรียนเพื่อเป็นเด็กดี ไม่ทุบขวดแก้วใดๆ แตกอีก แต่แล้วเขากลับมิได้ไปโรงเรียนเลยและยังต้องทุบกระเปาะแก้วนาฬิกาทรายแตกเพื่อจะได้เป็นเด็กดีเสียที

เป็นตัวอย่างความย้อนแย้งที่แฝงไว้ทั้งเรื่อง

คงจบมิได้ถ้าไม่พูดถึงหมาแมวที่หายไป เรื่องนี้ไม่มีหมาแมวมาล่อลวงเด็กชายหุ่นไม้ให้ไม่ไปโรงเรียน หนังใช้เวลาโฟกัสไปที่เจ้าของโรงละครสัตว์กับลิงจ๋อคู่หู ส่วนที่เหลือเป็นเรื่องของฟาสซิสต์ดังที่เล่าแล้ว ด้านหนึ่งเป็นเรื่องความละโมบและความสุขฉาบฉวย ด้านหนึ่งเป็นเผด็จการที่ไร้ความปรานี ทั้งสองด้านคือปิศาจที่แท้ซึ่งน่ากลัวกว่าความตาย

และคงจะจบมิได้ถ้าไม่ชวนดูประเด็นโกหกแล้วจมูกยืดยาวในหนังเรื่องนี้ มันมาก

“ทำไมใครๆ รู้ว่าผมโกหก”

“ก็มันอยู่บนหน้าเธอ”

และโดยไม่เชื่อสายตาว่าช่างกล้านักสร้างหนังแบบนี้ออกมาได้ การโกหกเป็นประโยชน์มากมายในตอนท้าย

ไปหาดู •

 

การ์ตูนที่รัก | นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์