‘หนังที่ชอบ’ ในรอบปีที่ผ่านมา

คนมองหนัง

ต้องยอมรับว่าการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้ผมดูภาพยนตร์-หนังขนาดยาวน้อยลงมากๆ

ไม่ใช่แค่เพราะการไม่ค่อยได้เข้าโรงภาพยนตร์เพียงเท่านั้น แต่พอปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมารับชมมหรสพความบันเทิงผ่านทางระบบสตรีมมิ่งในโลกออนไลน์ รสนิยมการชมสื่อบันเทิงของตนเองก็เปลี่ยนแปลงไปพอสมควร

กล่าวคือ หันไปดูซีรีส์ต่างๆ มากขึ้น และดูหนังยาวไม่มากเท่าสมัยก่อน

ด้วยเหตุนี้ ในรอบปี 2022/2565 ที่ผ่านมา ถ้าถามว่ามีหนังยาวเรื่องไหนที่ผมชอบหรือประทับใจบ้าง คำตอบที่รวบรวมได้ก็มีไม่ถึง 10 เรื่อง

และนี่คือรายละเอียดคร่าวๆ ของหนังเหล่านั้น

Benedetta

“พอล เวอร์โฮเวน” ผู้กำกับฯ รุ่นอาวุโส ยังคงทำหนังเกี่ยวกับผู้หญิง เซ็กซ์ อำนาจ ศีลธรรม และความเป็นมนุษย์ ได้อย่างคมคาย-สนุกสนานเสมอ

ภาพยนตร์เรื่องนี้พาคนดูย้อนกลับไปสู่โบสถ์แม่ชีในศตวรรษที่ 17 พร้อมด้วยเรื่องราวดราม่าที่ตบตีกันเข้มข้นประหนึ่ง “ละครหลังข่าว”

แต่ขณะเดียวกัน หนังก็คลี่เผยให้เราตระหนักถึงเหลี่ยมมุมของความสัมพันธ์ทางอำนาจอันสลับซับซ้อนอีกมากมาย ทั้งระหว่างพระเจ้า/พระแม่กับมนุษย์ ระหว่างผู้ใหญ่กับผู้น้อยในโบสถ์ ระหว่างศาสนจักรกับอารามเล็กๆ ระหว่างบุรุษกับสตรี ระหว่างผู้หญิงด้วยกันเอง

เรื่อยไปถึงโอกาสในการลุกฮือขึ้น “ปฏิวัติ” โค่นล้มอำนาจศาสนา-อำนาจรัฐ โดยสามัญชน

(สามารถดูหนังเรื่องนี้ได้ทางเน็ตฟลิกซ์)

Return to Seoul

ผลงานเรื่องล่าสุดของ “ดาวี ชู” ผู้กำกับฯ สายเลือดกัมพูชา ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในฝรั่งเศส ไม่ได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสังคมกัมพูชาดังเช่นภาพยนตร์ขนาดยาวสองเรื่องที่ผ่านมาของเขา

หากขยับขยายไปถ่ายทอดชีวิตของ “พลเมืองโลก” ใน “วัฒนธรรมข้ามชาติ” ผ่านตัวละครเชื้อสายเกาหลี ที่ได้รับการเลี้ยงดูเป็นบุตรบุญธรรมในครอบครัวชาวฝรั่งเศส ก่อนจะเดินทางย้อนกลับมาตามหา “ตัวตน” ที่ประเทศบ้านเกิด

ถ้าจะมองว่าหนังเรื่องนี้เป็น “หนังเกาหลี” วิธีการฉายภาพตัวละคร รูปแบบในการเล่าเรื่อง ตลอดจนการกำกับการแสดงที่แตกต่าง ก็ส่งผลให้งานของดาวี ชู มีความผิดแผกไปจาก “สื่อบันเทิงเกาหลีร่วมสมัย” ส่วนใหญ่

ถ้าการผงาดขึ้นของวงการ “เค-ป๊อป” คือ พลังด้านบวกของการเป็น “พลเมืองโลก” และ “วัฒนธรรมข้ามชาติ” หนังเรื่องนี้ก็เตือนเราให้หันไปมองมุมอับแง่ลบตรงอีกด้านของเหรียญ เมื่อ “พลเมืองโลก” อีกหลายราย ต้องกลายเป็น “คนไร้ตัวตน” ที่ไม่ได้เป็นคนของประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือแม้กระทั่งอาจไม่ได้เป็นคนของโลกใบนี้เลยด้วยซ้ำ

(หนังน่าจะเข้าฉายที่เมืองไทยในปี 2566)

Leonor will Never Die

ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของ “มาร์ติกา รามิเรซ เอสโกบาร์” ผู้กำกับฯ หญิงชาวฟิลิปปินส์ ที่สนุก มีอารมณ์ขัน และน่าสนใจมากๆ

หนังมีจุดยืนที่ชัดเจนในการเฉลิมฉลองและรำลึกถึงวัฒนธรรมละครน้ำเน่าทางโทรทัศน์ รวมถึงหนังบู๊เกรดบียุค 80 (แฟนหนัง-ละครชาวไทยน่าจะอินได้ไม่ยาก) ผ่านชะตากรรมของตัวละครอดีตนักเขียนบทหญิงผู้ยิ่งใหญ่ที่ตกอับในวัยชรา ซึ่งพยายามจะรื้อฟื้นคุณค่า-ความใฝ่ฝันของตนเอง

สำหรับผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ “มหรสพความบันเทิงเกรดบี” ที่เข้าถึงประชาชนหมู่มาก มิได้มีสถานะเป็นเพียงแค่โลกสมมุติปลอมๆ ที่มนุษย์ใช้เป็นเครื่องมือหลีกหนีออกจากโลกความจริงอันเจ็บปวดหรือไร้ที่ทางสำหรับตนเอง

แต่นี่คือโลกของ “ความเป็นไปได้” หรือ “ความจริง” แบบอื่นๆ ที่ทำให้ชีวิตของพวกเขาและเธอมีคุณค่า-ความหมายขึ้นมา ในฐานะผู้กระทำการที่เปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการอันเพริศแพร้ว

(หนังน่าจะเข้าฉายที่เมืองไทยในปี 2566)

Memoria

ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องล่าสุดของ “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” คนทำหนังไทยที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในระดับนานาชาติ

ในแง่หนึ่ง ความสำคัญของหนังเรื่องนี้อาจอยู่ตรงที่นี่เป็นหนังยาวเรื่องแรกของอภิชาติพงศ์ที่ไปถ่ายทำนอกประเทศไทย (โคลอมเบีย) ทั้งเขายังได้ “ทิลดา สวินตัน” นักแสดงหญิงมากประสบการณ์ชาวสหราชอาณาจักร มารับบทนำ

แต่อีกด้านหนึ่ง หนังยังช่วยเปิดมุมมอง-โลกทัศน์ใหม่ๆ ให้แก่คนดูว่า นอกจากการย้อนระลึกทบทวน “ความทรงจำบาดแผล” ในระดับสาธารณะ จะทำได้ผ่านเรื่องเล่าและภาพต่างๆ (ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว) แล้ว

เครื่องมืออีกประเภทที่ช่วยย้ำเตือนให้สังคมไม่ลืมเลือนความทรงจำเหล่านั้น ก็ได้แก่ “สรรพเสียง” อันไม่ทราบแหล่งที่มาแน่ชัด ซึ่งแทรกซึมอยู่ในสภาพแวดล้อมต่างๆ รายรอบตัวเรา

RRR

ภาพยนตร์แอ๊กชั่นย้อนยุคจากตอลลีวู้ด (อุตสาหกรรมหนังอินเดียที่ใช้ภาษาเตลูกูในการสื่อสาร) ผลงานของ “เอส. เอส. ราจามูลิ” ผู้กำกับฯ ซึ่งโด่งดังจากหนังทวิภาค “Bahubali” อันลือลั่น

ด้านหนึ่ง นี่คือหนังชาตินิยมฮินดูที่มีผู้ร้ายชัดๆ แบนๆ เป็น “เจ้าอาณานิคมอังกฤษ” (แม้จะมีตัวละครฝรั่งที่เคียงข้างคนอินเดียอยู่บ้าง) แต่อีกด้าน นี่ก็เป็นสื่อบันเทิงสมัยใหม่ที่ถักทอผสมผสานตัวเองเข้ากับปกรณัมโบราณอย่าง “รามายณะ” และ “มหาภารตะ” ได้อย่างน่าทึ่ง

และก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เร้าใจ เข้มข้น ดุเดือด และทรงพลัง

(สามารถดูหนังเรื่องนี้ในฉบับพากย์เสียงภาษาฮินดีได้ทางเน็ตฟลิกซ์)

Coven of Sisters

ภาพยนตร์ย้อนยุคของ “ปาโบล อเกวโร” ผู้กำกับฯ ชาวอาร์เจนตินา เล่าเรื่องราวในศตวรรษที่ 17 เมื่อขุนนาง-ตุลาการจากฝรั่งเศส เดินทางมาล่าแม่มด-สาวกซาตานในแคว้นบาสก์ กระทั่งมีการจับกุมตัวเด็กสาวกลุ่มหนึ่งมาสอบสวน เพราะมีเสียงเล่าลือว่าพวกเธอเคยเข้าไปประกอบกิจกรรมแปลกประหลาดในป่ายามค่ำคืน

หญิงสาวเหล่านั้นจึงปั่นหัวบรรดาขุนนางผู้ชายกลับ ผ่านการสมยอมเป็นแม่มด ล่อลวงข่มขวัญพวกเขาด้วยบทเพลงพื้นบ้านและพิธีกรรมรอบกองไฟ แม้สุดท้าย พวกเธอจะไม่ใช่ผู้ชนะในโลกความจริง แต่อย่างน้อย ก็มิได้ถูกลงโทษเผาร่างกายตามกระบวนการทางกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม

ทั้งยังสามารถครอบงำความคิด-จินตนาการของผู้มีอำนาจบางส่วนได้สำเร็จ

(สามารถดูหนังเรื่องนี้ได้ทางเน็ตฟลิกซ์)

Corsage

ผลงานภาพยนตร์พีเรียดของผู้กำกับฯ หญิงชาวออสเตรีย “มารี ครอยต์เซอร์” เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ “จักรพรรดินีเอลิซาเบธ” แห่งออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งเป็นคล้ายๆ “ภาคต่อ” (โดยบังเอิญ) ของซีรีส์เรื่อง “The Empress” ที่ออกฉายในเน็ตฟลิกซ์

ถ้าซีรีส์เรื่องนั้นถ่ายทอดชีวิตของจักรพรรดินีสาวที่ถูกคัดเลือกให้ได้รับตำแหน่งแบบพลิกความคาดหมาย พระองค์แปลกแยกกับระบบระเบียบต่างๆ ในราชสำนัก และพยายามขบถต่อทุกสิ่งรายรอบตัว รวมทั้งยืนยันที่จะมีจุดยืนทางการเมืองของตนเอง

หนังเรื่องนี้ก็พูดถึงจักรพรรดินีคนเดิมในวัยกลางคน ที่เอียนราชสำนัก เบื่อหน่ายการเมือง แล้วหันไปใส่ใจจริงจังกับการควบคุมน้ำหนัก (ขณะที่ในซีรีส์ พระองค์จะเคยรู้สึกอึดอัด-ต่อต้านกับการต้องสวมเครื่องแต่งกายที่บีบรัดเรือนร่างจนแน่นเพื่อให้มีเอวคอดกิ่ว) รวมทั้งเพลิดเพลินไปกับการเดินทางท่องเที่ยว (ขี่ม้า เสพยา และคบชู้)

หนังยังมีจุดเด่นตรงการปรุงแต่งองค์ประกอบ “ความเป็นนิยาย” เพิ่มลงไปใน “ประวัติศาสตร์” โดยครอยต์เซอร์สามารถนำพาจักรพรรดินีเอลิซาเบธไปพบ “หลุยส์ เลอ แปรงซ์” หนึ่งในผู้ให้กำเนิดภาพยนตร์โลก ได้อย่างมีนัยยะน่าสนใจ และพลิกผันให้วาระสุดท้ายในพระชนม์ชีพ ที่จริงๆ เป็นโศกนาฏกรรม กลายสภาพเป็นความโรแมนติกและเสรีภาพได้อย่างน่าประทับใจ

(หนังน่าจะเข้าฉายที่เมืองไทยในปี 2566)

Saint Omer

หนังยาวเรื่องแรกของ “อลิซ ดิออป” ผู้กำกับฯ หญิงชาวฝรั่งเศสเชื้อสายเซเนกัล เล่าเรื่องราวของอาจารย์มหาวิทยาลัย-นักเขียนหญิงผิวดำ ซึ่งเข้าไปนั่งฟังการพิจารณาคดีที่มีผู้ต้องหาเป็นหญิงสาวชาวเซเนกัลรายหนึ่ง ที่ถูกกล่าวหาว่าฆ่าลูกสาววัยทารกของเธอเอง

ดิออปพาผลงานภาพยนตร์ของตนเองให้เดินทางไปไกลกว่าหนังแนว “คอร์ตรูม ดราม่า” ธรรมดา ด้วยการเชื่อมโยงประเด็นเรื่องภาวะ “หลังอาณานิคม” ความเหลื่อมล้ำในสังคมฝรั่งเศส (ซึ่งสร้างผลกระทบต่อประชากรผู้อพยพ) ความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และการเข้าอกเข้าใจกันระหว่างลูกผู้หญิง ให้เข้ามาหนุนเสริมและขัดแย้งกัน

ได้อย่างลึกซึ้งและสั่นสะเทือนหัวใจ

(หนังน่าจะเข้าฉายที่เมืองไทยในปี 2566) •

 

| คนมองหนัง