‘ซีรีส์ที่ดูจบ’ ในปี 2022

คนมองหนัง

ขอเริ่มต้นปีใหม่ 2023/2566 ด้วยการเขียนถึง “ซีรีส์” ที่ได้ดูตลอดปีที่ผ่านมา

สาเหตุที่เลือกใช้คำว่า “ซีรีส์ที่ดูจบ” ทดแทน “ซีรีส์ที่ชอบ” ก็เพราะสำหรับรูปแบบการบริโภคยุคปัจจุบัน ทั้งสองสิ่งดูจะกลืนกลายเป็นสิ่งเดียวกันไปแล้ว

คือถ้าเรานั่งดูซีรีส์เรื่องไหนแล้วรู้สึกไม่ชอบหรือไม่อยากติดตามต่อ เราก็สามารถเลิกดูมันกลางคัน (อาจมีบางเรื่องที่ดูค้างไว้ แล้วค่อยกลับมาสานต่อภารกิจให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ในภายหลัง)

แต่ถ้าซีรีส์เรื่องไหนโดนใจเรา เราก็มักจะดูมันรวดเดียวจบภายในระยะเวลาอันสั้น หรือทันทีที่อีพีสุดท้ายถูกปล่อยออกมา

ต่อไปนี้ คือ “ซีรีส์ที่ผมดูจบ” ในปี 2022/2565

Call My Agent

Call My Agent

ซีรีส์ว่าด้วยเรื่องราวชีวิต การแข่งขัน ความขัดแย้งของเหล่า “ผู้จัดการดารา” ในวงการบันเทิงฝรั่งเศส

เมื่อปีก่อนๆ ผมเคยดูซีซั่น 4 (ซึ่งเป็นซีซั่นล่าสุด) ของซีรีส์จบไป ก่อนจะย้อนดูไปซีซั่น 1 แบบทิ้งค้างเอาไว้ แล้วจึงค่อยๆ มาไล่ดู 3 ซีซั่นแรกจนแล้วเสร็จในช่วงต้นปี 2022

จุดเด่นของซีรีส์ฝรั่งเศสเรื่องนี้ คือ สามารถทำให้เราทั้งรักและเกลียดตัวละครแต่ละรายได้อย่างน่าทึ่ง (เช่น จะมีช่วงเวลาหนึ่ง ที่เรารู้สึกเห็นใจและเข้าใจที่ตัวละครตัดสินใจทำอะไรบางอย่างลงไปมากๆ แต่ต่อมา เรากลับพบว่าการตัดสินใจดังกล่าวมันแย่และเห็นแก่ตัวฉิบหาย)

ขณะเดียวกัน ซีรีส์ก็พูดเรื่องเพศสภาพที่ลื่นไหลได้น่าสนใจ ผ่านหนึ่งในตัวละครนำที่เป็นเลสเบียนแต่พลั้งเผลอไปมีลูกกับผู้ชาย ซึ่งพอเรื่องราวถูกนำไปรีเมกในบริบทของวัฒนธรรมอื่นๆ เช่น เกาหลี ความลื่นไหลเช่นนี้จะสูญหายหรือโดนแก้ไขปรับเปลี่ยน

Cathedral of the Sea

Cathedral of the Sea
และ Heirs to the Land

ซีรีส์สเปน 2 เรื่อง (ท้องเรื่องอยู่ในบาร์เซโลนา) ที่เป็นภาคต่อกัน แต่ผมดันเริ่มต้นดูภาค 2 คือ “Heirs to the Land” ก่อน แล้วจึงค่อยย้อนกลับไปดูภาคแรก คือ “Cathedral of the Sea”

ทั้งสองภาคเล่าถึงการก่อตัวและเอาตัวรอดในประวัติศาสตร์ของชนชั้นกระฎุมพี ผ่านความสัมพันธ์ระหว่าง “สมาคมวิชาชีพ” (guild) กับชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ เช่น กษัตริย์ ขุนนาง นักรบ นักบวช ได้อย่างเข้มข้น

นอกจากการฉาย “มุมโหด” ให้เห็นว่า ชนชั้นนำและนักรบในช่วง “ยุคกลางต่อเรอเนสซองส์” นั้นสามารถถูกฆ่าล้างโคตรกันได้ตลอด เมื่อ “การเมืองเปลี่ยน” (ขณะที่ชาวบ้านชาวเมืองชนชั้นล่างก็ตายได้ง่ายๆ ด้วยโรคภัย-ความอดอยาก-การถูกกดขี่ข่มเหง) จนเป็นเหตุผลว่าเพราะเหตุใด ชนชั้นกระฎุมพีจึงต้องเลือกต่อสู้ยืนหยัดอย่าง “สันติ” ผ่าน “การไม่ใช้ความรุนแรง”

ซีรีส์สองเรื่องนี้ยังฉายภาพรายละเอียดน่าสนใจอื่นๆ อีกเยอะแยะ เช่น บทบาท-อิทธิพลที่ไม่สม่ำเสมอของสถาบันกษัตริย์ใน “เมืองท่า” อย่างนครบาร์เซโลนา ความขัดแย้งทางศาสนา (คริสต์-ยิว-อิสลาม) ตลอดจนประวัติศาสตร์สังคมเกี่ยวกับเรื่องครอบครัวของสังคมยุโรปยุคนั้น

Downton Abbey

Downton Abbey

เป็นซีรีส์อีกเรื่อง (ชุด) หนึ่ง ที่ผมดูแบบค้างๆ คาๆ มานานพอสมควร จนเพิ่งมาดูจบครบทุกซีซั่นในปีที่แล้ว

ทุกครั้งที่ได้ดูซีรีส์เรื่องนี้แบบทีละนิดละหน่อย จะนึกถึงงานเขียนในภาษาไทยอยู่สองชิ้น

ชิ้นแรก คือ งานที่อธิบายถึง “หน้าที่” ของระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย โดย “ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์” ซึ่งมีเนื้อหาสอดคล้องกับซีรีส์ ที่ไม่ได้ต้องการเน้นย้ำว่า “โลกด้านบน” ของชนชั้นสูง-เจ้าที่ดิน กับ “โลกด้านล่าง” ของเหล่าคนรับใช้ ใน “Downton Abbey” นั้นขัดแย้งกันอย่างไร แต่พยายามเสนอว่าสองชนชั้นที่แตกต่าง สามารถค้ำจุน-เกื้อหนุนกันอย่างไรมากกว่า

นอกจากนั้น อีกหนึ่งประเด็นที่ซีรีส์ชุดนี้เล่าถึงบ่อยๆ คือ การพยายามเริ่มต้นชีวิตคู่/ครอบครัวรอบใหม่อยู่เสมอของบรรดาชนชั้นนำอังกฤษ (หลังสามีหรือภรรยาของพวกเขาเสียชีวิตลง) ซึ่งทำให้นึกถึงหนังสือ “ชีวิตเหมือนฝัน” ของ “คุณหญิงมณี สิริวรสาร” อยู่ไม่น้อย

The Empress

The Empress

ซีรีส์เยอรมันที่เล่าเรื่องราวในวัยสาวจนถึงช่วงเข้าวังระยะแรกของ “จักรพรรดินีเอลิซาเบธ” แห่งออสเตรีย-ฮังการี

ซีรีส์ (ที่เข้าใจว่าคงจะมีซีซั่นใหม่ตามมา) นำเสนอภาพลักษณ์ของเด็กสาวที่มีความเป็นขบถต่อปทัสถานต่างๆ และพยายามขัดฝืนระเบียบประเพณีทั้งหลายในราชสำนักไปเสียหมด ตั้งแต่เรื่องเครื่องแต่งกายไปจนถึงการแสดงบทบาททางการเมืองที่เหมาะสมของจักรพรรดินี ท่ามกลางเกมชิงอำนาจอันสลับซับซ้อน และเสียงที่เริ่มดังขึ้นของสามัญชน

ซีรีส์เรื่องนี้คล้ายจะมี “ภาคต่อ” หรือ “โลกคู่ขนาน” เป็นภาพยนตร์เรื่อง “Corsage” ที่ออกฉายในปีเดียวกัน โดยหนังเรื่องนั้นจะกล่าวถึงชีวิตวัยกลางคนที่ไม่มีความสุขของ “จักรพรรดินีเอลิซาเบธ” รวมทั้งภาวะย้อนแย้งระหว่างการค่อยๆ กลืนกลายเข้าไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับระบบระเบียบที่พระองค์เคยต่อต้านในวัยเยาว์ กับความเป็นขบถที่ยังหลงเหลืออยู่

Kleo

Kleo

ซีรีส์เยอรมันที่เล่าเรื่องราวของสปายสาวฝ่ายเยอรมนีตะวันออกที่ถูกทรยศหักหลังโดยพวกเดียวกัน (ทั้งคนรักและคุณตา) ในปลายยุคสงครามเย็น ก่อนที่เธอจะออกมาก่อปฏิบัติการล่าล้างแค้นภายหลังการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน พร้อมมีนายตำรวจคดีเศรษฐกิจที่ดูเป็น “คนขี้แพ้” จากฝั่งตะวันตก คอยให้ความช่วยเหลือ

ซีรีส์มีความเนิร์ดๆ เพี้ยนๆ ตลกๆ (ช่วงท้ายไปไกลถึงขั้นมียูเอฟโอ-มนุษย์ต่างดาวด้วย) แต่ก็มีรูปแบบการนำเสนอที่แปลกตาดี เช่น จะมีบางอีพีที่นำเอาฟอร์มของละครเวทีมาใช้ประโยชน์ได้อย่างน่าทึ่ง

จากเงื่อนปมต่างๆ ที่เพิ่งถูกคลี่เผยในอีพีสุดท้าย เข้าใจว่าซีรีส์คงจะมีซีซั่นใหม่ตามมา

Gloria

Gloria

ซีรีส์โปรตุเกสที่เล่าเรื่องราวการหักเหลี่ยมเฉือนคมในยุคสงครามเย็น ผ่านมุมมองของตัวละครนำวิศวกรหนุ่ม บุตรชายรัฐมนตรี ที่มีอีกสถานภาพหนึ่งเป็น “สายลับเคจีบี” ซึ่งเข้าไปแทรกซึมในสถานีวิทยุที่ดำเนินการโดย “ซีไอเอ”

นอกจากการเป็นพื้นที่ให้สองขั้วอุดมการณ์มาปะทะกัน ซีรีส์ยังฉายภาพให้เห็นถึงปัญหาอีกชุดที่ประเทศโปรตุเกสต้องเผชิญในทศวรรษ 1960

นั่นคือการที่ดินแดนอาณานิคมในทวีปแอฟริกากำลังทำสงครามปลดแอกตนเอง ซึ่งบีบให้คนโปรตุเกสที่ไม่เห็นด้วยกับการส่งทหารไปรบในแอฟริกาต้องเข้าร่วมกับฝ่ายซ้าย ขณะที่สหรัฐก็พยายามรักษาระยะห่างจากรัฐบาลโปรตุเกสในประเด็นดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม บทสรุปจบของซีรีส์เรื่องนี้ นั้นมี “อาการฝืน” และจงใจจะ “ลอยตัวพ้นการเมือง” มากเกินไปหน่อย

The Playlist

The Playlist

ซีรีส์สวีเดนเล่าเรื่องราวว่าด้วยกลุ่มคนที่มีส่วนในการก่อตั้ง “Spotify” ผู้ให้บริการสตรีมเพลงผ่านระบบดิจิตอลเจ้าใหญ่ของโลก

สำหรับใครที่ไม่รู้ประวัติความเป็นมาของ “Spotify” ซีรีส์เรื่องนี้ก็ให้ข้อมูลพื้นฐานในประเด็นดังกล่าวได้ค่อนข้างครบถ้วน หรือถ้าใครชอบดูดราม่าหนักๆ นี่ก็เป็นซีรีส์ที่บอกเล่า “แง่มุมสีเทา” ตลอดจน “ด้านมืด” ของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี

จุดโดดเด่นสุดของ “The Playlist” คือวิธีการนำเสนอ ที่ในแต่ละอีพีจะเล่าเรื่องโดยอิงอยู่กับมุมมอง-โลกทัศน์ของตัวละครหลักแต่ละราย ดังนั้น คนที่เป็น “ตัวเอก” ในอีพีหนึ่งๆ อาจกลายสถานะเป็น “ตัวร้าย” “ตัวประกอบ” หรือกระทั่ง “คนไร้ตัวตน” ในอีพีอื่นๆ

ทั้งนี้ มีบางอีพีที่เลือกนำรูปแบบของละครเวทีมารับใช้เรื่องราวได้อย่างทรงประสิทธิภาพ (คล้ายคลึงกับกรณีของ “Kleo”) และผมจะชอบอีพีสุดท้าย ที่พูด/ทำนายถึง “เหตุการณ์อนาคต” ซึ่งยังไม่เกิดขึ้น สวนทางกับอีพีก่อนๆ ที่มีลักษณะย้อนรำลึกทบทวน “เหตุการณ์ในอดีต”

Twenty-Five Twenty-One

Twenty-Five Twenty-One

ซีรีส์ดังจากเกาหลีที่นำเสนอ “ประเด็นไม่ใหม่” แต่กลับเอาคนดูได้อยู่หมัด ผ่านการย้อนรำลึกถึงอดีตที่สวยงาม-อ่อนเยาว์, การตระหนักถึงภาวะเติบโต-เปลี่ยนผ่านที่ต้องแลกด้วยความพลัดพราก และความเป็นจริงในปัจจุบันที่อย่างไรเสียก็ไม่สามารถหวนไปบรรจบกับอดีตได้อย่างแนบสนิท

ในอีกด้านหนึ่ง นี่คือ “ซีรีส์กีฬา” ที่ถ่ายทอด “โลกของกีฬาฟันดาบ” ออกมาได้อย่างสนุกสนาน เข้มข้น และเข้าใจไม่ยาก อีกทั้งยังมีการสร้าง “โอลิมปิก-เอเชี่ยนเกมส์ปลอม” ที่ไม่เคยมีอยู่จริง ได้อย่างเป็นระบบและ “สมจริง” เลยทีเดียว

Black Dog

Black Dog

ซีรีส์เกาหลีที่นำเสนอประเด็น “การเมืองในโรงเรียน” และ “การเมืองในระบบการศึกษา” ได้อย่างสนุกเข้มข้นมีมิติ และฉายภาพความเป็นมนุษย์ของบรรดาตัวละครครูออกมาได้อย่างมีเลือดเนื้อ คือ มีทั้งด้านดีและด้านไม่ดี เป็นทั้งตัวแทนของระบบอำนาจที่ยึดกุมโดยผู้ใหญ่ และเป็นปากเสียงเรียกร้องแทนเด็กๆ

ผู้สร้างให้ความสำคัญต่อประเด็นข้างต้น จนเลือกตัดองค์ประกอบเรื่อง “ความรัก” ระหว่างตัวละครออกไปอย่างน่าชื่นชม

อย่างไรก็ดี ซีรีส์มีจุดอ่อนอยู่ตรงอีพีท้ายๆ ที่เล่าเรื่องราวยืดเยื้อเยิ่นเย้อเกินความจำเป็น

Extraordinary Attorney Woo

Extraordinary Attorney Woo

หลายคนคงสนใจกับประเด็นหลักของซีรีส์ ที่เล่าเรื่องของตัวละครนำ ซึ่งมีอาการ “ออทิสติก” แต่เป็นอัจฉริยะทางด้านกฎหมาย (และเป็นเนิร์ดวาฬ) รวมถึงสารที่บอกว่าโลกอันเต็มไปด้วยการแข่งขันใบนี้ ยังมีแง่มุมงดงามสว่างสดใสดำรงอยู่

แต่มีอีกประเด็นหนึ่งที่ผมคิดว่าผู้สร้างพยายามซ่อนแฝงเอาไว้ นั่นคือ การตอบโต้-ท้วงติงกระแส #metoo ผ่านเรื่องราวของ “ผู้ชาย” ซึ่งยอมเลี้ยงดูลูกสาวที่ป่วยเพียงลำพัง ทั้งยังยอมละทิ้งอนาคตของตนเอง เพื่อให้ “ผู้หญิง” อดีตคนรัก สามารถเติบโตและใช้ชีวิตในฐานะ “ชนชั้นนำ” ของสังคมต่อไปได้

Alchemy of Souls Part 1

Alchemy of Souls Part 1

ซีรีส์แนวกำลังภายใน-แฟนตาซีจากเกาหลี ซึ่งถ้าใครไม่ติดขัดกับ “ตรรกะเหนือจริง” บางประการของ “โลกสมมุติ” ใบนี้ ก็คงจะสามารถติดตามดูกันได้อย่างเพลิดเพลิน

ประเด็นสำคัญสุดของซีรีส์ คือ ปมปัญหาว่าด้วยการสลับสับเปลี่ยน-เก็บงำอัตลักษณ์ อันเกิดจากอวิชชา “แปรวิญญาณ” ซึ่งถูกเล่าเคียงคู่ไปกับบรรดาตัวละครและของ/สัตว์วิเศษที่มีเอกลักษณ์น่าจดจำ, เกมถ่วงดุลอำนาจระหว่างราชสำนักกับ “จอมเวท” (ลูกผสมระหว่าง “จอมยุทธ์” กับ “ขุนนาง”) และซับพล็อตเรื่องความรักผนวกด้วยมุขตลกเล็กน้อยตามรายทาง