ภาพยนตร์ : FINCH ‘เปลวสุริยะ’ / นพมาส แววหงส์

นพมาส แววหงส์

 

 

FINCH

‘เปลวสุริยะ’

 

กำกับการแสดง

Miguel Sapochik

 

นำแสดง

Tom Hanks

Caleb Landry Jones

 

“เปลวสุริยะ” เป็นสาเหตุของโลกาวินาศที่เกิดขึ้นในโลกใน Finch หนังเรื่องใหม่เกี่ยวกับโลกอนาคตในระยะใกล้ ซึ่งแอปเปิลซื้อสิทธิ์ไป หลังจากงานสร้างและกำหนดการออกฉายที่เลื่อนแล้วเลื่อนอีกจากสถานการณ์โควิด

สำหรับนักดาราศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์นอกโลกทั้งหลาย เปลวสุริยะ คือพายุสนามแม่เหล็กบนดวงอาทิตย์ที่ดูเหมือนการเกิดขึ้นของเปลวไฟสว่างจ้าอย่างฉับพลัน ส่งผลให้เกิดการเผาไหม้จากรังสีอัลตราไวโอเล็ตในชั้นบรรยากาศของโลก เป็นรูพรุนเหมือนเนยแข็งสวิส หรือสวิสชีส ตามถ้อยคำของตัวละครในหนัง

สวิสชีสเป็นสัญนิยมของเนยแข็ง ซึ่งเราคุ้นเคยกันดีจากรูปลักษณ์ที่บอกได้ทันทีว่าคืออะไร เป็นเนยแข็งประเภทที่มีรูพรุนทั่ว อย่างที่เรามักเห็นตัวการ์ตูนที่เป็นหนูชอบแทะกินอยู่บ่อยๆ มาแต่ไหนแต่ไร

เปลวสุริยะทำลายชั้นโอโซนในบรรยากาศ ทำให้รังสียูวีลอดผ่านเข้ามาเผาไหม้สรรพสิ่งบนโลกที่มนุษย์อาศัยอยู่นี้ ทำให้อุณหภูมิเวลากลางวันขึ้นสูงถึง 70 องศาเซลเซียส จนมนุษย์ทนทานไม่ได้ นอกจากจะหุ้มห่อตัวให้มิดชิดด้วยเสื้อผ้าและอุปกรณ์ชนิดพิเศษ

นี่เป็นภาพเริ่มต้นของหนัง

 

ทอม แฮงส์ ซึ่งเราจะรู้จักเขาในเวลาต่อมาในชื่อของฟินช์ ไวน์เบิร์ก ขับรถที่มีความแกร่งเหมือนรถถังหุ้มเกราะ ฝ่าไปในเมืองที่มีสภาพเป็นเมืองร้าง ที่เสมือนผู้คนทิ้งเมืองไปอย่างกะทันหันโดยไม่ได้เตรียมตัว ระแวดระวังภยันตรายที่อาจพบเห็นได้ทุกขณะ และมองหาสิ่งที่อาจนำมาใช้เป็นเครื่องยังชีพต่อไป

ฟินช์สวมอุปกรณ์ป้องกันตัวเองในสถานการณ์ที่เป็นพิษภัยขั้นรุนแรง แบบที่เรียกว่า hazmat หรืออุปกรณ์ป้องกันภัยที่ทำด้วย hazardous material

ดูเหมือนว่าฟินช์จะใช้ชีวิตแบบนี้มาพักใหญ่ๆ แล้ว เพราะเขาขับรถไป ร้องเพลงไป และเพลงที่เขาร้องก็เป็นเพลงที่เรารู้จักกันดีและหนังหลายเรื่องชอบใช้

นั่นคือเพลง American Pie ซึ่งมีท่วงทำนองชวนให้ร้องเล่นได้อย่างครึกครื้น แต่มีเนื้อเพลงที่ซ่อนความหมายอันชวนพิศวงงงงันแบบที่ต้องตีความต่ออีกเยอะ โดยเฉพาะสำหรับตอนที่ลงท้ายว่า This will be the day that I die… และ the day the music died…

ว่ากันว่าเพลงของดอน แม็กลีน เพลงนี้เป็นเพลงที่นำมาใช้ในภาพยนตร์มากที่สุดเพลงหนึ่ง อาจจะรองจาก Over the Rainbows ก็ได้ละมัง

ฟินช์ออกหาอาหารและเครื่องยังชีพ โดยมีหุ่นยนต์ผู้ช่วยชื่อ ดิวอี้ ซึ่งสร้างให้มี “นัยน์ตา” สำหรับมองเห็น และ “กระบะ” สำหรับบรรทุกข้าวของ

และกลับเข้าที่พักในอาคารชั้นใต้ดิน ในบริษัทเทคโนโลยีที่เขาเคยทำงานให้

ก็ถ้าไม่มีสถานที่แบบนั้น ตัวละครคงไม่สามารถเปิดหน้าเปิดตาให้คนดูเห็นได้ตลอดเรื่อง ซึ่งก็คงเป็นความน่ารำคาญอย่างหนึ่ง เหมือนกับการที่เราต้องสวมแมสก์ปิดหน้าปิดตากันเวลาเจอผู้คนอยู่ในเวลานี้

 

 

ฟินช์ไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวอย่างโดดเดี่ยวนัก เขามีสุนัขตัวเล็ก ซึ่งเขาตั้งชื่อว่า “กู๊ดเยียร์” เหมือนยี่ห้อยางรถยนต์ ซึ่งเขาเก็บมาเลี้ยงภายหลังจากวันสิ้นโลก เนื่องจากเจ้าของหมาหาชีวิตไม่แล้ว

และฟินช์รักมันเหมือนลูก หาของกินได้ ก็จะต้องนึกถึงกู๊ดเยียร์ก่อน และเขารู้ตัวว่าร่างกายกำลังอ่อนแอลงมาก และอาจไม่มีชีวิตยืนยาวคอยดูแลเจ้ากู๊ดเยียร์ไปตลอด

ฟินช์กำลังประดิษฐ์หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ หรือ “เอไอ” (Artificial Intelligence) ขึ้น โดยต้องขอยืมชิ้นส่วนสำคัญจากดิวอี้ นั่นคือ เลนส์ที่จะใช้เป็นนัยน์ตา

นอกเหนือจากการทำทุกอย่างเพื่อปกป้องชีวิตมนุษย์ผู้เป็นเจ้าของแล้ว หุ่นตัวนี้ได้รับคำสั่งเฉพาะเป็นพิเศษว่า ในกรณีที่มนุษย์ผู้ออกคำสั่งหาชีวิตไม่แล้ว หุ่นจะต้องคอยพิทักษ์ดูแลกู๊ดเยียร์ต่อไป

และเนื่องจากความจำเป็นที่ต้องหลบภัยพิบัติเฉพาะหน้า การดาวน์โหลดข้อมูลให้แก่หุ่นจึงยังทำได้ไม่ครบถ้วนบริบูรณ์ หุ่นบอกว่ายังดาวน์โหลดไปได้เพียง 72 เปอร์เซ็นต์ ยังไม่พร้อมสำหรับการปฏิบัติงานเต็มรูปแบบ

แต่ฟินช์ก็จำเป็นต้องเร่งร้อนอพยพหนีภัยเฉพาะหน้าไปก่อนเวลาอันควร

 

ทอม แฮงส์ เล่นหนังทั้งเรื่องอยู่คนเดียว โดยไม่มีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์คนไหนเลย นอกจากฉากสั้นๆ ที่นำไปสู่การพบกู๊ดเยียร์ สงสัยจะเป็นผลจากการปรับบทด้วยมาตรการรักษาระยะห่างของโควิดละกระมัง

อีกทั้งยังทำให้นึกว่าทอม แฮงส์ คงต้องเป็นตัวเลือกตัวแรกของผู้สร้างหนังแน่นอน เนื่องจากเขาเคยเล่นหนังแบบโซโลมาแล้ว อย่างเช่นใน Castaway ซึ่งเขาไปติดเกาะและไม่ได้เจอหน้าผู้คนอยู่นาน และต้องพูดคุยอยู่กับ “เพื่อนในจินตนาการ” ซึ่งเป็นลูกบอลที่ไร้ชีวิต

ดังนั้น การเล่นคนเดียวพูดคุยอยู่กับหมาที่ไม่โต้ตอบและหุ่นยนต์ที่โต้ตอบได้ (แถมยังมีข่าวว่าทอม แฮงส์ ติดเชื้อโควิดอยู่ด้วย) จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับนักแสดงผู้มากความสามารถคนนี้เลย

และบอกตรงๆ ว่า ถ้าไม่ใช่เพราะตัวทอม แฮงส์ หนังก็คงจะแห้งแล้งยิ่งไปกว่านี้อีก

 

 

ปัญหาใหญ่ๆ ที่ทำให้รู้สึกแปลกแปร่งกับหนังน่าจะอยู่ที่บทภาพยนตร์ ซึ่งเลือกใช้โทนคอเมดี้ในการวางตัวละครสมองกล ซึ่งเลือกชื่อเรียกให้ตัวเองว่า เจฟฟ์ เนื่องจากความไม่สมบูรณ์ของการดาวน์โหลดข้อมูล เจฟฟ์จึงกลายเป็นตัวตลกชูโรงสำหรับหนัง ตั้งคำถามแปลกๆ ทำอะไรแปลกๆ แม้กระทั่งดูเหมือนบ้าระห่ำพาตัวและเพื่อนพ้องไปอยู่ในอันตรายอันไม่จำเป็น

เจฟฟ์เป็นเหตุที่ทำให้ฟินช์สูญเสียดิวอี้ไป แต่ต่อมาก็ช่วยฟินช์ให้พ้นจากสถานการณ์อันตรายด้วย

แต่โดยรวมแล้ว ผู้เขียนออกจะผิดหวังกับหนังไม่น้อย แม้จะมีบางช่วงบางตอนที่ชวนอบอุ่นและโดนใจอยู่บ้าง

รู้สึกแปลกแปร่งมากกับตอนจบของหนัง ทำใจไม่ถูกเพราะไม่รู้ว่าหนังต้องการจะสื่ออะไรสำหรับโลกอนาคตภายภาคหน้าของเรา…

ในเมื่อสัตว์ที่ประเสริฐที่สุดบนโลก (คือมนุษย์) ถูกลบออกไปจากสมการของผู้รอดพ้นจากอภิมหาภัยพิบัติระดับล้างโลก…เหลือแต่เพียงสัตว์สี่เท้ากับปัญญาประดิษฐ์ที่ยังขาดวุฒิภาวะอยู่มาก…

นี่ละมังคือ the day the music died…