คนมองหนัง : เมื่อ ‘ภาพยนตร์สยองขวัญพื้นบ้าน’ กำลังครองโลก!?

คนมองหนัง

 

เมื่อ ‘ภาพยนตร์สยองขวัญพื้นบ้าน’

กำลังครองโลก!?

 

เทรนด์สำคัญอันหนึ่งในวงการหนังโลกประจำปี 2021 ก็คือกระแสฮอตฮิตของภาพยนตร์แนว“สยองขวัญพื้นบ้าน” (folk horror)

“หนังสยองขวัญพื้นบ้าน” คือตระกูลภาพยนตร์ย่อย อันเป็นกิ่งก้านสาขาหนึ่งของตระกูลภาพยนตร์แนว “สยองขวัญ”

สำหรับโลกบันเทิงตะวันตก มีหลักฐานที่ระบุว่าหนัง “สยองขวัญพื้นบ้าน” นั้นถือกำเนิดขึ้นในวงการภาพยนตร์สหราชอาณาจักร ณ ช่วงปลายทศวรรษ 1960 ต่อต้นทศวรรษ 1970

อย่างไรก็ตาม หนังที่จัดเป็น “ต้นธาร” ของตระกูลย่อยนี้ เพิ่งจะมาถูกนิยามว่าเป็น “หนังสยองขวัญพื้นบ้าน” โดยบีบีซี เมื่อทศวรรษ 2010 นี่เอง

ช่วงไม่กี่ปีหลัง ดูเหมือนผลงานแนว “สยองขวัญพื้นบ้าน” จะได้รับการชุบชีวิตขึ้นใหม่ จนกลับมาโลดแล่นในโลกภาพยนตร์ด้วยความคึกคัก ผ่านความสำเร็จของหนังอย่าง “Midsommar” ของ “อารี แอสเตอร์” และ “The Witch” ของ “โรเบิร์ต เอกเกอร์ส” เป็นต้น

ขณะที่ปีนี้ ก็มีภาพยนตร์ในตระกูลย่อยดังกล่าวถูกผลิตออกมาป้อนตลาดอย่างหลากหลาย โดยมีท้องเรื่องอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก เยอรมนี เวลส์ รวมทั้งไทย (ในกรณี “ร่างทรง”)

 

องค์ประกอบสำคัญของ “ภาพยนตร์สยองขวัญพื้นบ้าน” มีอยู่สามประการ ได้แก่ หนึ่ง ท้องเรื่องของหนังเหล่านี้มักเกิดขึ้นในสังคมชนบทห่างไกลความเจริญ สอง หนังมีความยึดโยงกับขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นบางอย่าง และสาม หนังยังเกี่ยวพันกับระบบความเชื่อแบบโบราณ

“อดัม สโกเวลล์” นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้าน “หนังสยองขวัญพื้นบ้าน” เคยบรรยายถึงลักษณะเด่นของหนังตระกูลย่อยนี้เอาไว้ได้อย่างเห็นภาพชัดเจนว่า

“ปีศาจที่อยู่ใต้แผ่นดิน ความน่าสะพรึงกลัวซึ่งซุกซ่อนอยู่ในป่ารกชัฏที่ถูกหลงลืม ภูตผีที่สิงสถิตอยู่ตามก้อนหินและไร่นายามค่ำคืน ตลอดจนผืนน้ำอันเปล่าเปลี่ยว”

หนังสยองขวัญประเภทนี้ยังมักนำเสนอปฏิสัมพันธ์ในรูปแบบของ “การปะทะชน” ไม่ว่าจะระหว่าง “คนนอก” กับ “คนใน” ชุมชน, “เมือง” กับ “ชนบท”, “เทคโนโลยีทันสมัย” กับ “ระบบอะนาล็อก” และ “ภาวะสมัยใหม่” กับ “ภาพอดีตอันงดงาม”

เว็บไซต์ No Film School ได้บรรยายลงลึกกว่านั้นว่า “หนังสยองขวัญพื้นบ้าน” จะเริ่มต้นด้วยการพาคนดูเข้าไปซึมซับบรรยากาศโรแมนติกของโลกธรรมชาติ อันเปรียบเสมือนแหล่งฟื้นคืนจิตวิญญาณของมนุษย์ และแดนสวรรค์อันแสนสงบสุข

บรรดาผู้ชมจะถูกคนทำหนังหลอกล่อให้ปฏิบัติตนประหนึ่งนักมานุษยวิทยา (ถ้าจำกันได้ บรรดาตัวละครนำใน “Midsommar” นั้นก็เป็นนักศึกษามานุษยวิทยา) ที่ไม่พยายามพิพากษาตัดสินเพื่อนมนุษย์กลุ่มอื่นหรือชุมชนแห่งอื่น ซึ่งใช้ชีวิตอย่างผิดแผกแตกต่างจากวิถีชีวิตสมัยใหม่ของตนเอง

จากนั้น “นักมานุษยวิทยาสมัครเล่นในโรงภาพยนตร์” จะค่อยๆ ผ่อนคลายความระมัดระวังตัว แล้วโอบรับความงดงามของธรรมชาติแต่โดยดี

ก่อนที่ “พลังแห่งความมืดหม่น” ที่แฝงตัวอยู่ตามระบบนิเวศในชนบท จะปะทุออกมาอย่างรุนแรง

เมื่อป่าคือสิ่งเดียวกับความเป็นปรปักษ์ ผืนดินเต็มไปด้วยซากโครงกระดูกแห่งอดีตกาล สังคมย้อนยุคที่โดดเดี่ยวคุกรุ่นด้วยความบ้าคลั่ง ผ่านการดำรงอยู่อย่างสับสนปนเปอลหม่านของวีรบุรุษ-วีรสตรีท้องถิ่น ตำนานปรัมปรา และความเชื่อดึกดำบรรพ์

 

คําถามที่น่าสนใจก็คือ ทำไม “หนังสยองขวัญพื้นบ้าน” จึง “ถือกำเนิดขึ้นใหม่” ในสังคมร่วมสมัย? และหนังแนวนี้มีหน้าที่อย่างไรต่อมนุษย์ยุคปัจจุบัน?

“ฮาวเวิร์ด เดวิด อิงแฮม” ผู้เขียนหนังสือว่าด้วยภาพยนตร์แนวนี้ อธิบายว่า ไม่ว่าจะคำนึงถึงสถานการณ์โรคระบาดทั่วโลกหรือสถานการณ์การเมืองร่วมสมัย หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ “หนังสยองขวัญพื้นบ้าน” กลับมาได้รับความสนใจอย่างแพร่หลาย ก็คือภาวะที่ผู้คนต่างรู้สึกว่าพวกเขากำลังถูกหลอกหลอนโดยปริศนามากมาย ซึ่งไม่ได้รับการแก้ไขคลี่คลายให้กระจ่างแจ้ง

No Film School ขยายความต่อว่า หนังตระกูลย่อยนี้ได้ฟื้นคืนชีพขึ้นมา พร้อมๆ กับกระแสความคิดเรื่องการหาทางหลบลี้หลีกหนีออกจากเทคโนโลยี ความตึงเครียดกดดัน และความว่างเปล่าของวิถีชีวิตยุคใหม่

นี่คือความคิดที่ถูกเน้นย้ำมากขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางกระแสแพร่ระบาดของ “โควิด-19”

ถึงแม้ว่า “ภาพยนตร์สยองขวัญพื้นบ้านร่วมสมัย” จะยังมุ่งโฟกัสไปที่บรรยากาศความมืดหม่น ภาวะโดดเดี่ยวห่างไกลจากโลกภายนอก ตลอดจนสิ่งมีชีวิตแปลกประหลาดที่ซุ่มซ่อนตัวอยู่ในป่า

แต่อีกด้านหนึ่ง “หนังสยองขวัญพื้นบ้านรุ่นใหม่” ก็พยายามจะเข้าอกเข้าใจผู้คนที่ต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ในโลกจำลองใบดังกล่าว หรือพยายามทำความเข้าใจระบบตรรกะเหตุผลที่ดำรงอยู่ในสังคมสมมุติเหล่านั้น

(คำอธิบายนี้สอดคล้องกับหนัง-ซีรีส์ใหม่ๆ จำนวนมาก ที่มิได้นำเสนอภาพ “ความศักดิ์สิทธิ์” หรือ “อำนาจเหนือธรรมชาติ” ในฐานะสิ่งไร้เหตุผลหรือเรื่องราวโกหกหลอกลวง แต่กลับบ่งชี้ว่าสิ่งเหล่านั้นคือ “ความจริง” อีกชนิดหนึ่ง ซึ่งอธิบายไม่ได้โดยหลักการทางวิทยาศาสตร์)

“ภาพยนตร์สยองขวัญพื้นบ้าน” ในทศวรรษ 2020 ยังมักเลือกฉายภาพความสัมพันธ์อันเหินห่างระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ และความโลภที่เกาะกินมนุษย์ ยามพวกเขาต้องมีปฏิสัมพันธ์กับระบบนิเวศรายรอบตนเอง

ในการนี้ ธรรมชาติจึงเป็นบททดสอบที่นำพามนุษย์ไปพานพบกับสภาวะอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น “ความตาย” หรือ “การถือกำเนิดใหม่”

 

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาที่ประสบการณ์ของคนทำหนัง “ภาพยนตร์สยองขวัญพื้นบ้านร่วมสมัย” อาจถูกแบ่งแยกออกเป็นสองหมวดหมู่

แบบแรก คือ การเป็นหนังของผู้กำกับฯ “คนนอก” ที่เดินทางเข้าไปสืบเสาะบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ “วัฒนธรรมอื่น” อันแปลกแยกจากตนเอง

แบบที่สอง คือ การเป็นหนังที่ผู้กำกับฯ “คนใน” ได้ถ่ายทอดวัฒนธรรมความเชื่อของตนเองออกมาในฐานะเรื่องเล่าสามัญปกติ มิใช่ปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติหรือเหตุการณ์สยองขวัญใดๆ (นิยามนี้อาจชี้ชวนให้นึกถึงหนังหลายเรื่องของ “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล”)

ถ้าตัดสินตามนิยามความหมายข้างต้น “หนังสยองขวัญพื้นบ้าน” ซึ่งเป็น “เหล้าเก่าในขวดใหม่” อันน่าตื่นเต้นสำหรับโลกตะวันตก จึงอาจเป็นเพียงมหรสพธรรมดาๆ ในโลกใบอื่นๆ เช่น สังคมไทยหรือสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่ง “ภูตผีปีศาจพื้นบ้าน” นานาพันธุ์ ต่างเวียนวนอยู่ในเรื่องเล่าหลากหลายประเภทเสมอมา

กระนั้นก็ตาม เมื่อสังคมไทยคือสังคมที่ผสมปนเประหว่างคุณค่าเก่ากับคุณค่าใหม่ ระหว่างวัฒนธรรมแบบตะวันตกกับวัฒนธรรมท้องถิ่น “ภาพยนตร์สยองขวัญพื้นบ้านร่วมสมัย” จึงอาจเป็นหมุดหมายสำคัญบางอย่างท่ามกลางพลวัตความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยหยุดนิ่ง

ดังเช่นที่ “ไกรวุฒิ จุลพงศธร” นักวิชาการด้านภาพยนตร์จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งข้อสังเกตถึงเส้นทางการทำงานของ “บรรจง ปิสัญธนะกูล” เอาไว้ว่า ผู้กำกับฯ รายนี้ เริ่มต้นทำหนังยาวด้วยผลงานเรื่อง “ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ” ซึ่งเป็นภาพยนตร์สยองขวัญในบริบทของเทคโนโลยีสมัยใหม่หรือวิถีชีวิตคนเมือง

โดยมีวัตถุอย่าง “กล้องถ่ายรูป” ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางซึ่งพามนุษย์ไปสัมผัสกับวิญญาณ (ไม่ต่างจากช่องแอร์, อินเตอร์เน็ต หรือสื่อวิดีโอ ฯลฯ)

ขณะที่ผลงานล่าสุดของบรรจง คือ “ร่างทรง” จะย้อนกลับไปหาความเชื่อพื้นถิ่น ภูตผีพื้นบ้าน และชนบทห่างไกล

นี่คือความก้าวหน้าตามกระแสโลกและการหวนคืนสู่วัฒนธรรมดั้งเดิมที่เชื่อมถึงกันอย่างละเอียดซับซ้อน

นี่คือการเดินหน้าและการมองย้อนกลับหลังของผู้กำกับภาพยนตร์ที่อาจเป็นทั้ง “คนนอก” และ “คนใน” ไปพร้อมๆ กัน

 

คําถามน่าสนใจอีกข้อ คือ ถ้า “หนังสยองขวัญพื้นบ้าน” ดำรงอยู่คู่สังคมไทยมาเกือบทุกยุคสมัย แล้วหนังตระกูลย่อยนี้จากแต่ละห้วงเวลานั้นมีความเหมือน-ความต่างกันอย่างไร?

ถ้าจะให้ทดลองตอบคำถามแบบคร่าวๆ ผมอยากเสนอว่าหนังแนว “บ้านผีปอบ” หรือภูตผีพื้นบ้านอื่นๆ เช่น “กระสือ” ในยุคทศวรรษ 2520-30 มักมอง “ผี” ในฐานะ “ความเป็นอื่น” (หลายคนชี้ว่านี่คืออิทธิพลจากโฆษณาชวนเชื่อยุคสงครามเย็น)

แต่ “นางนาก” ฉบับ “นนทรีย์ นิมิบุตร” หลังวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 กลับมีความพยายามจะทำให้ตำนานปรัมปราว่าด้วย “ผีพื้นบ้านท้องถิ่น” แปรเปลี่ยนเป็น “ความเป็นอื่น” ที่มี “ความสมจริง” และมี “ตำแหน่งแห่งที่” ในประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลัก

อย่างไรก็ตาม “พี่มาก…พระโขนง” ของบรรจง กลับสนทนาโต้ตอบไปยัง “นางนาก” ว่ามนุษย์กับ “ผี” สามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้ใน “โลกพิเศษเฉพาะ” ที่ระบบระเบียบดั้งเดิมถูกกลับหัวกลัวหางด้วยเสียงหัวเราะและการล้อเลียนเสียดสี (ซึ่งอาจเกิดขึ้นเพียงครั้งคราว)

ทว่า “ร่างทรง” ดูจะยอมรับว่าตำนาน-คติชนพื้นบ้าน ภูตผีวิญญาณท้องถิ่น และอำนาจเหนือธรรมชาติทั้งหลาย นั้นมิใช่ “ความเป็นอื่น” หากเป็น “ความจริง” อีกประเภท ที่ไม่ต้องการ “ที่ทางในประวัติศาสตร์ฉบับทางการ” หรือ “โลกพิเศษเฉพาะ” ใดๆ มารองรับ

เนื่องเพราะ “เรื่องราวสยองขวัญพื้นบ้าน” ดังกล่าวได้ฝังรากลึกอยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเราอย่างแนบแน่นตลอดมา

 

ข้อมูลเกี่ยวกับ “หนังสยองขวัญพื้นบ้าน” ในบริบทโลก จาก

https://www.nytimes.com/2021/10/29/movies/antlers-folk-horror-movies.html

https://nofilmschool.com/folk-horror-renaissance