คนมองหนัง : เมื่อโปรดิวเซอร์ชาวเกาหลีชื่อ ‘นาฮงจิน’ พูดถึงหนังไทยเรื่อง ‘ร่างทรง’

คนมองหนัง
นาฮงจิน โปรดิวเซอร์ ภาพยนตร์ "ร่างทรง" ภาพจาก www.gdh559.com

 

เมื่อโปรดิวเซอร์ชาวเกาหลีชื่อ ‘นาฮงจิน’

พูดถึงหนังไทยเรื่อง ‘ร่างทรง’

 

“นาฮงจิน” คือนักทำหนังชาวเกาหลีใต้ ที่สร้างชื่อเสียงจากภาพยนตร์สยองขวัญเรื่อง “The Wailing”

ขณะที่สถานภาพล่าสุดของเขาก็คือการเป็นโปรดิวเซอร์ของหนังไทยเรื่อง “ร่างทรง” ซึ่งกำลังโกยรายได้ในไทย หลังจากประสบความสำเร็จในเกาหลีใต้มาก่อนหน้านี้

นาฮงจินเล่าว่าตนเองได้เจอ “บรรจง ปิสัญธนะกูล” ผู้กำกับฯ “ร่างทรง” เป็นครั้งแรกในช่วงต้นทศวรรษ 2010 ที่เมืองไทย โดยก่อนหน้านั้น เขาเคยดูหนังไทยเรื่อง “ชัตเตอร์ฯ” และ “แฝด” ซึ่งเป็นผลงานสร้างชื่อของฝ่ายหลังมาแล้ว

นักทำหนังชาวเกาหลีกลับมาติดต่อกับบรรจงอีกหนในปี 2017 ระหว่างที่เขากำลังเตรียมโปรเจ็กต์หนังใหม่ (ซึ่งจะถูกพัฒนามาเป็น “ร่างทรง”)

โจทย์สำคัญคือเรื่องราวของหนังเรื่องนี้จะไม่เกิดขึ้นที่เกาหลี แต่ควรเป็นสถานที่ที่มีฝนตกชุกและเต็มไปด้วยพื้นที่ป่าดงดิบ

นาฮงจินตัดสินใจส่งโครงเรื่องตั้งต้นของ “ร่างทรง” ให้บรรจงอ่าน กระทั่งนำมาซึ่งการได้ทำหนังร่วมกัน

นาฮงจิน โปรดิวเซอร์ ภาพยนตร์ “ร่างทรง”

 

เดิมที นาฮงจินตั้งใจอยากจะสร้างภาคต่อของ “The Wailing” แต่ในขั้นตอนการพัฒนาหนังไทยเรื่อง “ร่างทรง” เขากลับพบว่าสิ่งที่ตนเองควรทำไม่ใช่หนังภาคต่อ ทว่าควรเป็นอย่างอื่น

สำหรับผู้กำกับฯ-โปรดิวเซอร์ชาวเกาหลี สิ่งที่ตัวละครชื่อ “มิ้ง” ใน “ร่างทรง” ต้องเผชิญนั้นอาจเป็นประสบการณ์คล้ายคลึงกับที่ตัวละคร “หมอผี” ใน “The Wailing” เคยผ่านพบมาก่อน

อย่างไรก็ดี เขายืนยันว่าหนังทั้งสองเรื่องมิได้มีความเกี่ยวข้องกันในเชิงเนื้อหา

อีกหนึ่งจุดเด่นของ “ร่างทรง” ก็คือ หนังเรื่องนี้นั้นปราศจากบทภาพยนตร์ที่สมบูรณ์แบบ แต่นักแสดงในกองจะต่อบทสนทนากันอย่างฉับพลัน โดยไม่ได้ตระเตรียมบทพูดมาล่วงหน้า

นาฮงจินเล่าว่า ในกองถ่ายแต่ละวัน ผู้กำกับภาพยนตร์จะอธิบายสถานการณ์ของหนังให้เหล่านักแสดงฟัง เพื่อให้นักแสดงได้ทราบว่าพวกเขาควรพูดจาสื่อสารกันอย่างไรบ้าง

พูดอีกแบบคือ “ร่างทรง” เป็น “สารคดีปลอม” ที่ไม่พยายามจำกัดกรอบนักแสดงด้วยบทภาพยนตร์ล่วงหน้า แต่คนทำหนังจะคอยไกด์คร่าวๆ ว่าตัวละครควรเดินไปในทิศทางไหน

 

นาฮงจินอธิบายเพิ่มเติมถึงกระบวนการเลือกถ่ายทำหนังในภาคอีสานว่า

“บรรจงเดินทางไปทั่วประเทศไทย เพื่อค้นคว้าข้อมูลเรื่องร่างทรง และได้พบกับร่างทรงหลายคน ผลปรากฏว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ซึ่งเรียกว่าอีสานนั้นเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการถ่ายทำ

“ที่นั่นมีทุกศาสนาความเชื่อ และไม่มีการต่อต้านความเชื่ออันหลากหลายดังกล่าว แถมยังเต็มไปด้วยธรรมชาติ

“เมืองใหญ่ในประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะล้อเลียนต่อต้านลัทธิทรงเจ้า-หมอผี แต่ที่อีสาน ความเชื่อแบบนี้กลับซึมซับเข้าสู่ชีวิตประจำวันของผู้คน”

กระบวนการถ่ายทำ “ร่างทรง” เกิดขึ้นระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงพฤศจิกายน 2020 อย่างไรก็ดี ในเวลาสี่เดือนนั้น มีการออกกองไม่ถึง 30 วัน

แต่กองถ่ายต้องทิ้งเวลาไปนานนับเดือน เพื่อให้นักแสดงนำ คือ “นริลญา กุลมงคลเพชร” ลดน้ำหนักลงเกิน 10 กิโลกรัม

แม้จะเป็นโปรดิวเซอร์ ทว่านาฮงจินกลับไม่ได้เข้าไปร่วมทำงานในกองถ่ายที่ไทยอย่างใจหวัง ทั้งนี้ เขาพร้อมจะเข้ารับการกักตัวสองสัปดาห์ตามมาตรการป้องกันโควิด แต่ปัญหาที่เขาพบเจอคือ ขั้นตอนการขอวีซ่าเข้าประเทศที่ยุ่งยากเกินไป และการหาเที่ยวบินเข้าไทย

โชคดีที่อัตราการแพร่ระบาดของโควิดในไทยนั้นลดต่ำลงตอนปลายปี 2020 กองถ่าย “ร่างทรง” จึงสามารถปิดกล้องได้ก่อนที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจะเริ่มพุ่งสูงในช่วงต้นปี 2021

เมื่อมีคนถามว่า “หนังสยองขวัญไทย” กับ “หนังสยองเกาหลี” นั้นแตกต่างกันอย่างไร? โปรดิวเซอร์-ผู้กำกับฯ ชาวเกาหลีระบุว่า

“สำหรับผม หนังสยองขวัญไทยมีความกล้าหาญกว่า มีความดึกดำบรรพ์กว่า แล้วก็มีความน่าตื่นตะลึงมากกว่า

“สำหรับหนังสยองขวัญเกาหลี เรามีสไตล์ของเราเอง แต่มันดูจะคล้ายกับหนังฮอลลีวู้ด และผมก็ต้องการจะสร้างความแตกต่างจากสไตล์ดังกล่าว”

 

เนื้อหาจาก ‘The Wailing’ director Na Hong-Jin on producing Thai horror ‘The Medium’ โดย JEAN NOH

https://www.screendaily.com/features/the-wailing-director-na-hong-jin-on-producing-thai-horror-the-medium/5161134.article