คนมองหนัง l ‘Midnight Mass’ : ปัญหาศาสนาร่วมสมัย

คนมองหนัง

 

‘Midnight Mass’

: ปัญหาศาสนาร่วมสมัย

 

“Midnight Mass” เป็นมินิซีรีส์แนวสยองขวัญ-เหนือธรรมชาติความยาว 7 ตอนจบ ที่เผยแพร่ผ่านทางเน็ตฟลิกซ์

นี่คือผลงานการกำกับฯ ของ “ไมก์ ฟลานาแกน” คนทำหนัง-ซีรีส์วัย 43 ปี ที่ลงมือสร้างสรรค์สื่อบันเทิงแนวนี้มาโดยต่อเนื่อง

ซีรีส์บอกเล่าเรื่องราวของชุมชนชาวประมงที่จวนเจียนจะแหลกสลายตายซากบนเกาะเล็กๆ แห่งหนึ่ง ซึ่งมีสภาวะคนย้ายออกมากกว่าย้ายเข้า มีประชากรที่ย่างเข้าสู่วัยชรามากกว่าคนรุ่นใหม่ ผู้คนยังหลงวนเวียนอยู่ในวิถีชีวิต-ความเชื่อแบบเดิมๆ และถูกควบคุมด้วยมาตรการเคอร์ฟิวยามค่ำคืน

เมื่อต้องตัดขาดจากแผ่นดินใหญ่ ชุมชนแห่งนี้จึงพลอยมีระยะห่างจาก “อำนาจรัฐ” ไปโดยปริยาย ดังจะเห็นว่า “นายอำเภอ” ประจำเกาะนั้นคือชายชาวมุสลิมที่มีความเชื่อทางศาสนาแตกต่างจากสมาชิกชุมชนส่วนใหญ่

ขณะเดียวกัน ศูนย์กลางอำนาจจริงๆ ของชุมชนชาวเกาะใน “Midnight Mass” กลับกลายเป็น “โบสถ์คริสต์คาทอลิก” ที่ทั้งควบคุมผู้คนผ่านความเชื่อและวิถีชีวิตประจำวัน เช่น การเป็นเจ้าของโรงเรียนและศูนย์อพยพ รวมทั้งเป็นแม่งานของเทศกาลรื่นเริงต่างๆ

 

ความเปลี่ยนแปลงสำคัญบนเกาะแห่งนี้บังเกิดขึ้น เมื่อ “บาทหลวงอาวุโสคนเก่า” เดินทางไปแสวงบุญยังดินแดนศักดิ์สิทธิ์แล้วเกิดล้มป่วยจนเดินทางกลับเกาะไม่ได้ ศาสนจักรจึงส่ง “บาทหลวงคนใหม่” ที่หนุ่มกว่าและคล้ายจะไฟแรงกว่ามาทำหน้าที่แทนชั่วคราว

บาทหลวงรายใหม่เดินทางมาถึงพร้อม “อำนาจวิเศษ” บางอย่าง เช่น เขาสามารถปลุกคนที่มีร่างกายทุพพลภาพให้กลับมาเดินเหินได้เหมือนมนุษย์ปกติ ดังนั้น ความศรัทธาของมหาชนบนเกาะจึงหลั่งไหลเอ่อท้นเข้าสู่ศาสนสถานประจำชุมชน

ปรากฏการณ์ข้างต้นก่อให้เกิดคำถามมากมาย เช่น เรื่องราวมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นสามารถถูกอธิบายด้วยหลักวิทยาศาสตร์ได้หรือไม่?

ถ้าอำนาจเหนือธรรมชาติดำรงอยู่จริงๆ นี่คือฤทธานุภาพของเทวาหรือว่าซาตาน?

เมื่อความเชื่อทางศาสนาค่อยๆ แปรผันกลายเป็น “ลัทธิพิธีบ้าคลั่ง” ทำไมอำนาจของนักบวชจึงค่อยๆ ถูกกลืนหาย แล้วโดนแทนที่ด้วยเสียงนำอันไร้สติของสาวกฮาร์ดคอร์บางราย?

แม้จะมีสมาชิกชุมชนส่วนน้อยบางคนเริ่มตั้งข้อสงสัยต่อสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น แต่พวกเขาก็มิอาจฝืนต้านแรงศรัทธาอันเชี่ยวกรากได้

ด้วยวิถีทางเช่นนั้น ชุมชนโดดเดี่ยวใน “Midnight Mass” จึงค่อยๆ ถลำลึกเข้าสู่วิถีปีศาจ (มิใช่นักบุญ) ที่แม้จะนำมาซึ่ง “ศรัทธาใหม่” และ “ความหวังครั้งใหม่” ในตอนจบ แต่ก็ต้องแลกกับชีวิตของผู้คนจำนวนมาก

มีประเด็นชวนถกเถียงอยู่สองข้อใหญ่ๆ ในซีรีส์เรื่องนี้ ที่น่าจะท้าทายการขบคิดตีความของผู้ชมได้เป็นอย่างดี

ข้อแรกสุด มีหลายฝ่ายในบ้านเราที่ประเมินว่าปัญหาหลักจริงๆ ของ “(พุทธ) ศาสนาร่วมสมัย” นั้นเกิดจากการที่รัฐ/อาณาจักรเข้าไปใช้อำนาจควบคุม แทรกแซง ยุ่งเกี่ยวกับศาสนา/ศาสนจักร โดยไม่จำเป็น อันนำมาสู่ข้อเสนอเรื่องการแยกรัฐออกจากศาสนา

อย่างไรก็ดี “Midnight Mass” กลับนำเสนอปัญหาเรื่อง “(คริสต์) ศาสนาร่วมสมัย” ในมุมกลับ ผ่านสถานการณ์สมมติที่ว่าต่อให้รัฐไม่สอดมือเข้ามายุ่งกับศาสนาเลย (หรือไม่มีน้ำยาจะแทรกแซง) “ชุมชนศาสนา” ซึ่งมีการจัดการตนเองอย่างเสรี ก็สามารถทำลายสายสัมพันธ์ทางสังคมและทำร้ายชีวิตผู้คนได้ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน

นี่น่าจะเป็นโจทย์ที่ฝ่ายรณรงค์แยกรัฐออกจากศาสนาในเมืองไทยพึงทดลองแสวงหาคำตอบอยู่เหมือนกัน ว่าเราจะทำอย่างไรหากปรากฏการณ์ทำนองหลังนี้อุบัติขึ้นมาจริงๆ

อีกหนึ่งประเด็นที่ผมรู้สึกว่า “Midnight Mass” ถ่ายทอดออกมาได้อย่างน่าสนใจมากๆ และไปสอดคล้องกับหนังเกาหลีเรื่อง “Svaha : The Sixth Finger” (ซึ่งเผยแพร่ในแพลตฟอร์มเน็ตฟลิกซ์เช่นกัน) พอดี ก็คือวิธีการตั้งคำถามกับภาวะ “ความศักดิ์สิทธิ์” ของศาสนา

จุดที่น่าคิดก็คือซีรีส์-หนังทั้งสองเรื่องมิได้ตั้งคำถามกับศาสนาหรือลัทธิความเชื่อใดๆ ผ่านการยืนกรานปฏิเสธว่า “ความศักดิ์สิทธิ์-อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์-มนตรา” นั้นเป็นเรื่องโกหกหลอกลวง เป็นยากล่อมประสาทมนุษย์ และเป็นสิ่งไม่มีอยู่จริง

ตรงกันข้าม สื่อบันเทิงจากสหรัฐและเกาหลีกลับมีท่าทีคล้ายคลึงกัน ในการยอมรับถึงการดำรงอยู่ของ “อำนาจเหนือธรรมชาติ” บางอย่าง

เพียงแต่ท้าทายต่อท้ายเพิ่มเติมไปว่าต่อให้อำนาจเหล่านั้นมัน “วิเศษ” จริง “ผู้มีอำนาจวิเศษ” ซึ่งมักถูกหลงเชื่อว่าต้องมีสถานะเป็น “เทวทูต/นักบุญ” ก็สามารถกระทำผิด ก่อพฤติกรรมเลวร้าย และกลายร่างเป็น “แวมไพร์/ปีศาจ/ซาตาน” ได้

ยิ่งกว่านั้น มินีซีรีส์ของฟลานาแกนยังบอกกล่าวกับผู้ชมว่า ฤทธานุภาพเหนือธรรมชาติของ “ผู้วิเศษ” เหล่านี้สามารถถูกขริบทำลายลงได้ด้วยมือเล็กๆ ของมนุษย์ธรรมดาสามัญ

และบ่อยครั้ง มนุษย์ผู้เหลือรอดชีวิตพร้อมศรัทธาและความหวังใหม่ๆ ก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องพึ่งพา “อำนาจวิเศษเหนือธรรมชาติ” อันน่าทึ่งหรือมหัศจรรย์แต่อย่างใด