คนมองหนัง : วิวาทะร้อน! อันเนื่องมาจากแผนจัดจำหน่าย ‘Memoria’

คนมองหนัง

 

วิวาทะร้อน!

อันเนื่องมาจากแผนจัดจำหน่าย ‘Memoria’

 

สัปดาห์ก่อนเคยเขียนถึงการเดินทางของภาพยนตร์เรื่อง “Memoria” โดย “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” มาแล้วรอบหนึ่ง

แต่เป็นการมุ่งเน้นไปยังเส้นทางสู่ (การลุ้น) รางวัลออสการ์ในฐานะตัวแทนภาพยนตร์จากประเทศโคลอมเบีย รวมถึงการตระเวนทัวร์ตามเทศกาลหนังใหญ่ๆ ของทวีปเอเชีย

สัปดาห์นี้ จะขออนุญาตเล่าถึงการเดินทางของ “Memoria” อีกสักรอบ

ทว่าจะเปลี่ยนประเด็นมานำเสนอวิวาทะว่าด้วยแนวทางการจัดจำหน่ายอันผิดแผกแหวกแนวของภาพยนตร์เรื่องนี้

 

โดยบริษัท “นีออน” ผู้ได้สิทธิ์จัดจำหน่ายหนังเรื่อง “Memoria” ในทวีปอเมริกาเหนือ (ซึ่งเคยปลุกปั้น “Parasite” จนคว้าออสการ์) เพิ่งประกาศแผนการอันน่าทึ่งออกมา

กล่าวคือ แทนที่บริษัทจัดจำหน่ายชื่อดังจะนำหนังเรื่องนี้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์หลายแห่งพร้อมเพรียงกัน นีออนกลับเลือกที่จะเดินสายฉาย “Memoria” ไปทีละจุด ในลักษณะเมืองต่อเมือง โรงต่อโรง และสัปดาห์ต่อสัปดาห์…

หรือเป็นการนำพาหนังไปพบกับผู้ชมทีละกลุ่มๆ ประหนึ่งนิทรรศการศิลปะเคลื่อนที่อันไร้จุดสิ้นสุด

ยิ่งกว่านั้น ทางนีออนยังประกาศกร้าวว่า ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของอภิชาติพงศ์จะเข้าฉายเฉพาะในโรงหนังเท่านั้น และจะไม่เผยแพร่ในรูปแบบดีวีดี, วิดีโอออนดีมานด์ หรือในแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งใดๆ (อย่างน้อยก็น่าจะในช่วงไม่กี่ปีนับจากนี้)

ตามแผนงานของนีออน “Memoria” จะเริ่มเข้าฉายเชิงพาณิชย์ที่นิวยอร์กในวันที่ 26 ธันวาคม ก่อนจะสัญจรไปยังเมืองอื่นๆ ในสัปดาห์ถัดๆ ไป

 

ตามมุมมองของทีมผู้สร้างแล้ว สถานที่อย่างโรงภาพยนตร์คือพื้นที่อันเหมาะสม ในการเชื้อเชิญคนดูให้ก้าวเข้าสู่สภาวะ “เสมือนความฝัน” ซึ่งเป็นจุดเด่นสำคัญของ “หนังอภิชาติพงศ์” เสมอมา

ดังที่ตัวผู้กำกับฯ เอง กล่าวเอาไว้ว่า “สำหรับการชมหนังเรื่อง Memoria ประสบการณ์ในโรงภาพยนตร์ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญ หรืออาจเป็นเพียงหนทางเดียว (ที่เหมาะสม) ขอให้ผู้ชมแต่ละคนโปรดจงโอบกอดความมืดมิดและความฝันเอาไว้”

เช่นเดียวกับนักแสดงนำอย่าง “ทิลดา สวินตัน” ซึ่งระบุว่า “Memoria คือภาพยนตร์ที่เหมาะสมที่สุดกับโรงหนังขนาดใหญ่หรือมหึมา ทั่วทั้งจักรวาล อย่างไร้จุดสิ้นสุด”

ทางด้าน “ทอม ควิน” ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของนีออน ก็ให้สัมภาษณ์ถึงลักษณะการจัดจำหน่ายเช่นนี้ว่า “การแสดงความเคารพอย่างแท้จริงต่อการดำรงอยู่ของอัญมณีเม็ดงาม จะดำเนินผ่านการสร้างพื้นที่จัดฉายภาพยนตร์ที่ดึงดูดความสนใจของผู้คน ด้วยลักษณะตระเวนสัญจรไปเรื่อยๆ ซึ่งถือเป็นวิธีการอันมีศักยภาพในการหยุดยั้งพวกเราจากวิถีชีวิตแบบเดิมๆ”

 

แผนจัดจำหน่าย “Memoria” ของนีออน ก่อให้เกิดวิวาทะระหว่างผู้ใช้ทวิตเตอร์ชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อย

ฝ่ายหนึ่งนั้นสนับสนุนแนวคิดของผู้สร้าง-ผู้จัดจำหน่าย ว่าเป็นเหมือนด่านปราการที่ปกป้องสุนทรียศาสตร์แห่งการเข้าไปรับชมความบันเทิงในโรงภาพยนตร์

ขณะที่อีกฝ่ายมองว่านี่เป็นแผนการตลาดแบบชนชั้นนำ ซึ่งกีดกันคนส่วนมากออกไป

ต่อประเด็นถกเถียงดังกล่าว “เอ.โอ. สกอตต์” นักวิจารณ์แห่งนิวยอร์กไทม์ส แสดงทัศนะว่า แม้เขาจะไม่ได้มีจุดยืนที่เอียงไปทางด้านใดด้านหนึ่ง ระหว่างฝ่าย “โปรโรงหนัง” กับฝ่าย “โปรแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง” เพราะมีความเห็นว่า ประชาชนควรจะได้รับชมภาพยนตร์ในสภาพแวดล้อมที่ดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ โดยหากการชมภาพยนตร์ในบ้านสามารถตอบสนองมาตรฐานข้างต้นได้ เขาก็ไม่มีปัญหาอะไร

แต่นักวิจารณ์ชาวสหรัฐมองว่าการโต้วาทีของทั้งสองฝ่ายนั้นดูจะเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัวพอสมควร

สกอตต์ตั้งคำถามว่าทำไมกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่มีแก่นสารเป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่ง ผ่านการซื้อตั๋วดูหนัง ซื้อป๊อปคอร์นกิน แล้วเข้าไปเดินหาที่นั่งท่ามกลางความมืด จึงถูกตีตราให้เป็นเรื่องของคนหัวสูงหรือความคลั่งไคล้เฉพาะกลุ่ม?

คำตอบที่สกอตต์ทดลองเสนอก็คือ นี่เป็นวิธีคิดหรือการมองโลกของลัทธิเชิดชูชัยชนะของเทคโนโลยีประชานิยมแบบปลอมๆ ซึ่งเห็นว่าวิถีการบริโภคที่ง่ายที่สุดคือวิถีทางที่ก้าวหน้ามากที่สุด ส่วนการภักดีกับวิถีการบริโภคความบันเทิงรูปแบบเดิมกลับถูกประเมินอย่างเลวร้ายว่าเป็นพวก “ปฏิกิริยา” หรือไร้เหตุผล พร้อมความฉงนสงสัยว่า เพราะเหตุใดเราจึงไม่เผยแพร่ภาพยนตร์ในพื้นที่ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงมันได้?

อย่างไรก็ตาม สกอตต์โต้แย้งว่า แม้แต่การดูหนังผ่านระบบสตรีมมิ่งเองก็มิได้เป็นกิจกรรมสากลสำหรับทุกคนโดยแท้จริง ทว่าเป็นความบันเทิงสำหรับผู้มีเงินจ่ายค่าบริการให้แก่เจ้าของแพลตฟอร์มเท่านั้น

นอกจากนี้ เขายังวิพากษ์ว่าแนวคิดเรื่องการเข้าถึงความบันเทิงได้แบบถ้วนหน้าและทุกหนแห่ง อันเป็นอุดมการณ์หลักของธุรกิจสตรีมมิ่งนั้น ก็อาจมีปัญหาในเชิงปฏิบัติ เพราะหากพวกเราสามารถดูหนังทุกเรื่องได้ในทุกที่ตราบเท่าที่เราต้องการ เราก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องดูหนัง (ที่เข้าถึงได้ง่ายขนาดนั้น) อีกต่อไป

 

นักวิจารณ์ของนิวยอร์กไทม์สชี้ว่าแผนการจัดจำหน่ายหนังเรื่อง “Memoria” ถือเป็นความพยายามต่อสู้กับมายาคติดังกล่าว

โดยเขาคิดว่ามนต์เสน่ห์อันลึกลับแปลกประหลาดของภาพยนตร์เรื่องนี้ นั้นคู่ควรกับบรรยากาศการได้นั่งชมมันไปพร้อมกับคนแปลกหน้าในโรงหนัง

แล้วได้พูดคุยสนทนากันภายหลังหนังฉายจบว่า คุณได้เห็นในสิ่งที่ฉันเห็นไหม? ว่าแต่มันหมายความถึงอะไรกันล่ะ?

นี่คือคุณค่าบางประการที่ เอ.โอ. สกอตต์ เชื่อว่าอยู่นอกเหนือจากความสามารถของระบบอัลกอริธึ่มในแพลตฟอร์มต่างๆ

 

ข้อมูลจาก

https://www.indiewire.com/2021/10/memoria-apichatpong-weerasethakul-neon-nationwide-tour-release-1234669107/