ภาพยนตร์ : BEST SELLERS ‘ไอคอน’ / นพมาส แววหงส์

นพมาส แววหงส์

 

 

BEST SELLERS

‘ไอคอน’

 

กำกับการแสดง

Lina Roessler

 

นำแสดง

Michael Caine

Aubrey Plaza

Scott Speedman

Ellen Wong

Veronica Ferres

Cary Elwes

 

นี่เป็นหนังที่ได้รับการคัดเลือกสำหรับเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่เบอร์ลินในปีนี้

และถ้าจะให้คิดเอาเองด้วยความสุจริตใจอย่างที่สุด ก็เห็นจะต้องบอกว่าเหตุผลที่ได้รับการคัดเลือกอย่างเป็นทางการนี้น่าจะเป็นการให้เกียรติแก่ดารานำอาวุโสในวัย 88 ปี ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการมายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ

เช่นเดียวกับคลินต์ อีสต์วูด ใน Cry Macho ซึ่งเขียนถึงในคอลัมน์นี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ไมเคิล เคน เป็น “สัญรูป” ของวงการภาพยนตร์ และไม่เคยห่างหายหน้าตาไปจากจอภาพยนตร์ ปีแล้วปีเล่า มาตลอดชีวิตการดูหนังของแฟนหนังจำนวนมาก

ได้รับการสดุดีด้วยรางวัลต่างๆ มากมาย เช่น ออสการ์สองตัว รวมทั้งการเสนอชื่อเข้าชิงครั้งแล้วครั้งเล่า และได้รับบรรดาศักดิ์อัศวิน ในฐานะศิลปินผู้สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศอังกฤษ

เราจึงต้องเรียกเขาให้ถูกต้องและสมศักดิ์ศรีว่า เซอร์ไมเคิล เคน

ใช้คำว่า “สัญรูป” แทนคำว่า “ไอคอน” ในข้อความก่อนหน้า แล้วก็พยายามหาคำแปลอื่น เผื่อจะมีอะไรที่นึกไม่ออก นึกได้แต่คำว่า “รูปเคารพ” หรือ “รูปบูชา”

ไปเจอคำว่า “เจว็ด” จากพจนานุกรมของสอ เสถบุตร

เกิดไอเดียเป็นประกายปิ๊งขึ้นมาเลยค่ะจากคำนี้

ในฐานะผู้ที่อยู่ในวงการแปลหนังสือคนหนึ่ง ผู้เขียนให้ความเคารพเชื่อถือแก่สอ เสถบุตร มาก และเมื่อจนปัญญานึกอะไรไม่ออก ก็มักจะหันไปปรึกษาพจนานุกรมของท่านเป็นเนืองๆ แล้วก็ได้เจออะไรที่ชอบมากอย่างคำแปล icon ว่า เจว็ด นี้

คนสมัยนี้หลายคนอาจไม่รู้จัก “เจว็ด” หรืออาจจะเคยเห็นในศาลพระภูมิแต่ไม่รู้ว่าเขาเรียกว่าเจว็ด

ความหมายของเจว็ดแปรเปลี่ยนไปสู่สิ่งที่เขาอุปโลกน์กันขึ้นมาให้เป็นประธานหรือหัวหน้าโดยไม่มีอำนาจทำอะไรได้จริงจัง เหมือนกับเจว็ดที่ตั้งเป็นประธานในศาลพระภูมิ แต่ไม่มีอำนาจดลบันดาลหรือบัญชาการอะไรแท้จริงในบ้านเรือนของผู้คน

แต่ถ้าใช้คำนี้เป็นคำแปลสำหรับ icon คงจะแปลกหูคนสมัยนี้น่าดู

ตัวอย่างเช่น “ศูนย์การค้าเจว็ดสยาม”

ซึ่งคงเป็นเรื่องจี้เส้นกันไม่เลิกทีเดียว

 

วกกลับมาสู่หนัง Best Sellers เสียทีนะคะ ดูเหมือนออกนอกเรื่องไปไกล แต่ก็ไม่คิดว่านอกเรื่องไปเท่าไหร่หรอกค่ะ เพราะยังวนเวียนอยู่กับความหมายของ “ไอคอน” ในวงการวรรณกรรม เช่น ในเรื่องราวชีวิตของตัวละครในหนัง

นานกว่าครึ่งศตวรรษมาแล้ว แฮร์ริส ชอว์ (ไมเคิล เคน) เป็นนักเขียนผู้เขย่าวงวรรณกรรมให้สั่นสะเทือนด้วยหนังสือเรื่องยิ่งใหญ่อันทำให้เขากลายเป็น “ศักยภาพสำหรับเบสต์เซลเลอร์” ในวงการหนังสือไป และแม้ว่าเขาจะหายหน้าไปจากวงการร่วมครึ่งศตวรรษ ชื่อของเขาก็ยังน่าจะขายได้ดี

ลูซี่ สแตนบริดจ์ (ออบรีย์ พลาซา) เป็นทายาทสาวของสำนักพิมพ์ที่เคยพิมพ์หนังสือของแฮร์ริส ชอว์ สำนักพิมพ์เล็กๆ ของเธอกำลังใกล้จะล้มละลายจากการตัดสินใจผิดๆ ในการเลือกพิมพ์หนังสือสำหรับวัยรุ่น หรือที่ในวงการเรียกว่า ผู้ใหญ่ที่อายุยังน้อยอยู่ (young adults) ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่โตพอดูสำหรับวงการหนังสือ

ตลาดของวัยรุ่นหรือวัยทำงานที่อายุยังน้อยนี้ขึ้นอยู่กับโซเชียลมีเดียมาก และถ้า “จุดไฟติด” ก็จะกลายเป็นปรากฏการณ์เหมือนไฟลามทุ่ง คือผู้คนจะแห่กันซื้อหนังสือ เหมือนจะกลัว “ตกเทรนด์”

เนื้อหาของหนังออกจะเสียดสีเรื่องวัฒนธรรมกระแสในอินเตอร์เน็ตอยู่กลายๆ เพราะหนังสือเล่มใหม่ที่แฮร์ริส ชอว์ ยอมให้ลูซี่นำมาพิมพ์ ซึ่งมีชื่อว่า The Future is X-Rated (แปลโดยสรุปว่า อนาคตถูกจัดไว้เป็นความอนาจารหรือรุนแรงจนไม่เหมาะสำหรับคนทุกเพศทุกวัย ประมาณว่า อนาคตเป็นหนังเอ็กซ์ อะไรทำนองนี้แหละ) แทบจะไม่มีใครได้อ่านจริงๆ เลย ได้แต่เป็นที่กล่าวถึงตามกระแสโซเชียล จากพฤติกรรมหยาบหยามของผู้เขียนที่ออกทัวร์โปรโมตหนังสือ

เช่น ใช้คำหยาบเหมือนเป็นคำขวัญที่ท่องตามๆ กันไป หรือแสดงความลบหลู่ด้วยการปัสสาวะรดหนังสือของตัวเอง และท้ายสุดก็ราดแอลกอฮอล์จุดไฟเผากองหนังสือ เป็นต้น

ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเป็นไปในโลกปัจจุบัน ที่กลายเป็น “วัฒนธรรมของอินเตอร์เน็ต” แบบที่ออกจะสิ้นคิดหรือไร้เหตุผล

 

แฮร์ริส ชอว์ เป็นคนที่ขมขื่นจากการสูญเสียครอบครัวที่รักไป และไม่เคยทำใจให้กลับมามีชีวิตปกติได้ เขาจึงกลายเป็นคนต่อต้านสังคม และเพียงยอมกลับคืนสู่วงการหนังสือด้วยความจำเป็นทางการเงิน

แต่กระนั้น เขาก็ไม่มีความเชื่อมั่นในพรสวรรค์ของตัวเอง และหมกตัวอยู่กับความทุกข์แสนสาหัสในอดีต และเร่งความตายให้ตัวเองด้วยการเมาหัวราน้ำทุกวันทุกคืน

นี่เป็นหนังประเภท road movie อีกเรื่องก็ว่าได้ เพราะลูซี่และแฮร์ริสสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันและกันในช่วงที่ออกเดินทางโปรโมตหนังสือด้วยกัน

หนังมีตอนจบที่เป็นไปตามสูตร สิ่งเหนือคาดที่เกิดขึ้นในเรื่องราว เป็นสิ่งที่คนดูหนังคาดว่าเป็นความลงตัวที่จะเกิดขึ้น

 

พฤติกรรมของตัวละครผิดเพี้ยนไร้สติเกินเลยจากความประพฤติของที่คนยังมีสัมปชัญญะเหลืออยู่บ้างจะทำกัน อย่างเช่น การเผชิญหน้าปะทะทั้งคารมและพละกำลังระหว่างนักเขียนกับนักวิจารณ์ชื่อดัง ก็เป็นเรื่องสิ้นคิดเหลือเกิน

และถ้าไม่ใช่ด้วยรัศมีดาราของไมเคิล เคน แล้ว หนังคงแทบไม่ได้อยู่ในความสนใจของใครเลย

อย่างน้อยที่สุดที่แฟนหนังอย่างเราจะบอกกับตัวเองได้คือ เซอร์ไมเคิล เคน จะอยู่เล่นหนังให้เราดูได้อีกกี่เรื่อง หรือกี่ปีกันเชียว

ถึงเรื่องราวจะไม่ฉลาดเท่าไหร่ แต่ไปดูฝีไม้ลายมือของนักแสดงรุ่นเก๋าที่จะทิ้งทวนไว้ ก็น่าจะคุ้มค่าเวลาที่เสียไปแล้วล่ะค่ะ