คนมองหนัง : ‘The Chair’ ความ (ไม่) ‘ล้มเหลว’ ของมนุษย์คนหนึ่ง

คนมองหนัง

 

‘The Chair’

: ความ (ไม่) ‘ล้มเหลว’ ของมนุษย์คนหนึ่ง

 

“The Chair” ถือเป็นซีรีส์ “ขนาดสั้นๆ” ที่เผยแพร่ทางเน็ตฟลิกซ์ ไม่ว่าจะประเมินจากการมีเพียง 6 อีพี หรือการที่แต่ละอีพีมีความยาวไม่เกิน 30 นาที

อย่างไรก็ตาม ซีรีส์อเมริกันเรื่องนี้กลับพูดถึงประเด็นที่ใหญ่โตซับซ้อนเกินความสั้นกะทัดรัดของตนเอง

ในภาพรวม “The Chair” ได้กล่าวถึง “วิกฤตมนุษยศาสตร์” หรือภาวะที่คนรุ่นใหม่สนใจสมัครเข้าศึกษาต่อในสาขาวิชามนุษยศาสตร์ลดน้อยลง

นี่คือวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยทั่วโลก จากสหรัฐ ลามถึงยุโรป มาสู่เอเชีย

เรื่องราวของซีรีส์เรื่องนี้ก่อตัวขึ้นในภาควิชาภาษาอังกฤษของมหาวิทยาลัยสมมุติ ซึ่งมีชื่อว่า “เพมโบรก” เมื่อนักวิชาการหญิงชาวเกาหลีรายหนึ่ง เพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็น “หัวหน้าภาควิชา” คนใหม่ ท่ามกลางโจทย์ท้าทายและน่าปวดหัวหลายประการ

ทั้งการที่คณะ/มหาวิทยาลัยบีบให้เธอเลิกจ้างนักวิชาการอาวุโส ซึ่งไม่มีเด็กๆ มาลงทะเบียนเรียนด้วย

การที่เธอพยายามหาตำแหน่งงานให้นักวิชาการหญิงผิวสี ผู้เป็นดาวรุ่งดวงใหม่ของวงการ และเป็นอาจารย์ขวัญใจวัยรุ่น แต่กลับต้องประสบพบเจออุปสรรคทั้งภายในและภายนอกภาควิชา

การที่เธอทั้งในฐานะเพื่อนร่วมงานและอดีตคนรักต้องช่วยประคับประคองนักวิชาการร็อกสตาร์ ดาวรุ่งดวงเก่าของภาควิชา ซึ่งกำลังเผชิญหน้ากับความผันผวนในชีวิต หลังการสูญเสียภรรยา ส่วนลูกสาวก็เพิ่งเดินทางไปเรียนต่อที่ต่างรัฐ เขาเริ่มติดเหล้า เข้าสอนสาย และถูกกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมอัน “ไม่ถูกต้องทางการเมือง” อย่างรุนแรง

หรือการที่เธอต้องกระตุ้นให้บรรดาอาจารย์ผู้ใหญ่ยอมอ่านใบประเมินการสอนของนักศึกษา รวมทั้งความเห็นของผู้เรียนในเว็บไซต์ให้คะแนนอาจารย์ แม้บางคนจะอ่านแล้วรู้สึกโกรธจนไปตามล่าหาตัวเด็กที่เขียนด่าตนเองก็ตาม

ปัญหาการทำงานบนเก้าอี้หัวหน้าภาควิชาของตัวละครสตรีเชื้อสายเกาหลี ดำเนินคู่ขนานไปกับปัญหาชีวิตส่วนตัวของเธอ ซึ่งโลกแห่งความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมนั้นมิได้งดงามดังภาพฝัน

นักวิชาการหญิงรายนี้ไม่ยอมแต่งงานกับผู้ชายเกาหลีตามความปรารถนาของครอบครัว แต่กลับรับเด็กกำพร้าเชื้อสายเม็กซิกันมาเลี้ยงดูเป็นลูกสาวบุญธรรม

ความอึดอัดบังเกิดขึ้น เมื่อเด็กน้อยเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของตนเอง มิหนำซ้ำ เธอยังมีระยะห่างกับคุณปู่ชาวเกาหลีผู้ไม่ยอมพูดจาสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ ขณะที่แม่ก็ต้องวิ่งวุ่นแก้ปัญหาต่างๆ ในที่ทำงาน

“The Chair” สะท้อนภาพของโลกมหาวิทยาลัยร่วมสมัยออกมาได้อย่างน่าสนใจชวนขบคิด

นี่คือ “โลกของระบบราชการ” ที่เต็มไปด้วยบุคลากรฝ่ายบริหาร/จัดการ/อำนวยการ มิใช่ “โลกวิชาการ” บน “หอคอยงาช้าง” อันบริสุทธิ์ผุดผ่อง

ผู้ชมจึงได้พบเห็นบทบาทสำคัญของบรรดาเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย ในการรับเรื่องราวร้องเรียน-ร้องทุกข์ การจัดการอาคารสถานที่ การดูแลระบบไอที ไปจนถึงการสื่อสารภาพลักษณ์องค์กร

ต้องยอมรับว่าเจ้าหน้าที่บางส่วนดูจะมีอำนาจและมีเสียงดังเข้าหูผู้บริหาร มากกว่าเหล่านักวิชาการผู้เป็น “ด๊อกเตอร์” และ/หรือ “ศาสตราจารย์” เสียด้วยซ้ำ

ขณะที่เจ้าหน้าที่บางรายซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ก็สามารถชักจูงอาจารย์แก่ๆ ที่ไม่ค่อยเท่าทันโลก ให้หลงทางจนแทบเสียคนได้

แน่นอนว่า “The Chair” ย่อมต้องกล่าวถึงพลังของเยาวชนในมหาวิทยาลัย ซึ่งมาพร้อมกับกระแสลมแห่งความเปลี่ยนแปลงอันยากขัดฝืน

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าซีรีส์เรื่องนี้จะยินยอมโอบรับความเปลี่ยนแปลงที่ว่า โดยปราศจากการตั้งคำถามใดๆ

ซีรีส์ส่งสารว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยรุ่นเก่าๆ จำเป็นต้องปรับตัวและเปลี่ยนวิธีการสอน โดยพวกเขาจะมุ่งบังคับให้นักเรียนเอาแต่อ่านวรรณคดีคลาสสิคอย่างเคร่งครัดตัวบทไม่ได้อีกแล้ว แต่ควรรู้จักวิธีการสื่อสารแบบใหม่ๆ ในยุคทวิตเตอร์

ซีรีส์ไม่ปฏิเสธว่าอาจารย์ที่พลั้งเผลอทำท่าทางเลียนแบบ “นาซี” ไม่ว่าจะมีจุดประสงค์ในการล้อเลียน/เสียดสีหรือไม่? อย่างไร? ย่อมไม่อาจรักษาตำแหน่งแห่งที่ของตนเองในมหาวิทยาลัยเอาไว้ได้ ในยุคสมัยที่นักศึกษาจำนวนมากพากันยึดหลัก “ความถูกต้องทางการเมือง” อย่างเข้มข้นจริงจัง

แต่ซีรีส์ก็คล้ายจะเปิดช่องว่างให้คนดูสามารถตั้งคำถามได้เช่นกันว่าการยึดหลัก “ความถูกต้องทางการเมือง” อย่างเข้มงวดนั้น จะทำลายความแตกต่างหลากหลายในมหาวิทยาลัยลงหรือไม่? และวัฒนธรรมแห่งการ “แคนเซิล” ทุกคนทุกสิ่งที่ “ไม่ถูกต้องทางการเมือง” จะนำไปสู่สังคมที่ดีงามกว่าเดิมได้อย่างไร?

ไม่นับเรื่องที่นักศึกษาซึ่งเป็นนักข่าวจากหนังสือพิมพ์ประจำมหาวิทยาลัย จับประเด็นของผู้ให้สัมภาษณ์คลาดเคลื่อน จนสถานการณ์ความขัดแย้งในภาควิชาภาษาอังกฤษต้องขยายลุกลามเกินคาดคิด

ราวกับ “The Chair” กำลังสื่อสารว่า โลกของเยาวชนนั้นคือการต่อสู้และพุ่งไปข้างหน้าอย่างซื่อตรง ทว่าบางครั้ง คนรุ่นใหม่ก็อาจไม่เข้าใจ “คนรุ่นกลาง” ซึ่งพยายามหาจุดประนีประนอมให้ทุกฝ่ายที่ขัดแย้งกันสามารถอยู่ร่วมกันได้ ในพื้นที่มหาวิทยาลัย หรือพื้นที่ทางสังคมอื่นๆ

ท้ายสุด ตัวละคร “หัวหน้าภาควิชาภาษาอังกฤษ” ใน “The Chair” นั้นก็มีสถานะเป็นนักวิชาการบนเก้าอี้ผู้บริหาร ที่ต้องลงมือทำอะไรหลายอย่าง โดยมีน้อยเรื่องที่สำเร็จเสร็จสิ้นสมบูรณ์ มีบางเรื่องที่เกือบๆ จะสำเร็จ และมีบางเรื่องที่ล้มเหลว

เธอต้องสร้างความเชื่อมั่นให้คณบดี-ผู้บริหารสถาบันการศึกษา ที่ครุ่นคิดถึงเรื่องรายได้-ภาพลักษณ์สาธารณะ มากกว่าเรื่องการทำงานวิชาการ

เธอต้องแคร์นักวิชาการอาวุโสที่มหาวิทยาลัยอยากถีบหัวส่ง แต่ผู้เฒ่าเหล่านั้นกลับรวมกลุ่มกันเลื่อยขาเก้าอี้เธอ

เธอต้องหาหนทางปกปักนักวิชาการเก่งๆ ที่กำลังสับสนไม่เหลือใคร และถูกตั้งคำถามเชิงจริยธรรม

เธอต้องพยายามดึงดูดใจนักวิชาการรุ่นใหม่ๆ ที่ไม่อยากอดทนอยู่กับความงี่เง่าของคนรุ่นปู่ และไม่พร้อมจะรอคอยอนาคตทางหน้าที่การงานอันไร้ซึ่งความแน่นอน

เธอยังต้องรับฟังเสียงนักศึกษา ที่รักเคารพเธอในฐานะครูอาจารย์ แต่ท้าทายอำนาจของเธอในฐานะหัวหน้าภาคฯ อย่างหนักหน่วง

การเมืองภายในมหาวิทยาลัยเพมโบรกที่ปรากฏผ่านวิกฤตการณ์ของภาควิชาภาษาอังกฤษ จึงประกอบด้วย ขั้วอำนาจปัจจุบันที่ยึดครองปกคลุมสถาบันการศึกษาอยู่

ขั้วอำนาจเก่าหรือนักวิชาการอาวุโส ที่โรยราความนิยมในหมู่เด็กๆ หมดเครดิตในสายตาผู้บริหาร แต่ยังมีฤทธิ์เดชอยู่บนหอคอยเล็กๆ ของพวกตน

แรงต่อต้านและชุดคำถามอันร้อนแรงจากเหล่านักศึกษารุ่นใหม่ ตลอดจนบทบาทการปรับประสานต่อรองเพื่อรักษาดุลยภาพระหว่างขั้วพลังต่างๆ ซึ่งวางฐานอยู่บน “บัลลังก์อันแสนเปราะบาง” ของหัวหน้าภาควิชาที่กำลังรอวันเสื่อมสลาย

ในสภาพการณ์เช่นนี้ บางครั้งคราว ทางออกหรือวิธีการแก้ไขปัญหาจึงอาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับหลักการ หลักวิชา หรือหลักเหตุผล มากเท่าสายสัมพันธ์ส่วนบุคคลและการใช้อารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์คนหนึ่ง

ตรงบทลงเอยของ “The Chair” เราจึงได้ทำความรู้จักกับสตรีเชื้อสายเอเชีย ที่อาจเป็น “หัวหน้าภาคฯ ผู้ล้มเหลว” แต่มิได้ล้มละลายในความเป็นมนุษย์ เพราะเธอยังมีคนรัก มีมิตรสหาย มีลูกศิษย์ และมีครอบครัว

ชีวิตของเธอต้องดำเนินต่อไป ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายและภาวะเปลี่ยนผ่านแห่งยุคสมัย ซึ่งมีทั้งรอยแตกร้าวยากประสาน และความหวังอันเจือจางว่าอะไรบางอย่างน่าจะดีขึ้นบ้าง หรืออย่างน้อยก็คงไม่ย่ำแย่ลงกว่าที่มันเป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน