คนมองหนัง : ‘Into the Ring’ ‘การเมือง’ ของ ‘คนหน้าใหม่ๆ’

คนมองหนัง

 

‘Into the Ring’

‘การเมือง’ ของ ‘คนหน้าใหม่ๆ’

 

“Into the Ring” ซีรีส์เกาหลีในปี 2020 ซึ่งเพิ่งเข้าฉายทางเน็ตฟลิกซ์เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา คือสื่อบันเทิงอีกเรื่องที่พูดถึงประเด็นการเมืองได้อย่างเข้มข้นสนุกสนาน

ตัวละครนำของซีรีส์เรื่องนี้ ได้แก่ หญิงสาววัยใกล้ 30 ปี ชื่อ “กูเซรา” ซึ่งเติบโตในครอบครัวคนชั้นกลางที่ไม่ได้ประสบความสำเร็จ-ร่ำรวยมากมายนัก โดยที่ตัวเธอเองก็ยังต้องอาศัยอยู่กับพ่อแม่ และมีประสบการณ์เปลี่ยนงานมานับไม่ถ้วน

เพราะนิสัย-ความคิดพื้นฐานที่รับไม่ได้กับระบบและสายสัมพันธ์ทางอำนาจอันผิดปกติภายในองค์กรต่างๆ

ขณะเดียวกัน “กูเซรา” ก็มีชีวิตอีกด้านเป็นพลเมืองเต็มขั้น ที่คอยรายงานปัญหาสาธารณะตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ ไปยังศูนย์รับเรื่องราวร้องเรียนของเขตมาวอน (เขตปกครองสมมุติในกรุงโซล) ภายใต้นามแฝงว่า “ผีเสื้อกลางคืน”

ต่อมา หญิงสาวผู้นี้ได้จับพลัดจับผลูลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) มาวอน เพราะใจหนึ่ง เธอก็เชื่อว่าตนเองเป็นพลเมืองดีที่สามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลงท้องถิ่นได้

ส่วนอีกใจหนึ่ง เธอก็คิดจะนำเงินเดือน ส.ข.ไปใช้หนี้หลายสิบล้านวอนให้แม่

ความเป็นผู้หญิง ความเป็นคนหน้าใหม่ ที่บันทึกจัดเก็บปัญหาของเขตมาวอนเอาไว้อย่างเป็นระบบในฐานะพลเมืองดีนักร้องเรียน คือคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้สมัครอิสระอย่าง “กูเซรา”

เมื่อผนวกกับวีรกรรมล่าสุดที่เธอเพิ่งก่อขึ้น นั่นคือการยกมือประท้วงโครงการพัฒนาของภาครัฐและเอกชนรายใหญ่ ที่อาจส่งผลกระทบต่อโรงเรียนประถมศึกษาประจำชุมชน ทั้งๆ ที่ตนเองเป็นเพียงลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งถูกส่งตัวไปช่วยบันทึกชวเลขในระหว่างการประชุมสภาเขต

ทั้งหมดนี้ ส่งผลให้ “กูเซรา” ชนะเลือกตั้งซ่อมได้อย่างพลิกความคาดหมาย โดยมีทีมสนับสนุนหลักเป็นเพื่อนๆ เจ้าของบาร์หนังสือการ์ตูนและแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ไม่มีงานทำเป็นหลักแหล่ง พ่อ-แม่ รวมทั้งชายหนุ่มข้าราชการในสำนักงานเขต ผู้เป็นเพื่อนเก่าแก่ของเธอมาตั้งแต่สมัยประถม ทั้งยังเป็นบุตรชาย (ผู้ผิดใจกับพ่อ) ของนักการเมืองท้องถิ่นผู้ทรงอิทธิพล

 

 

การเข้ามาทำงานในสภาเขต ด้วยสถานะ ส.ข.อิสระไม่สังกัดพรรคการเมืองของหญิงสาววัยไม่ถึง 30 ปีคนหนึ่ง นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายดาย

เมื่อบุคคลแวดล้อมเธอประกอบไปด้วยนักการเมืองท้องถิ่นประสบการณ์สูงเขี้ยวลากดิน สตรีรุ่นพี่ผู้มีการศึกษาและโปรไฟล์ดี (แต่เย่อหยิ่ง) และลูกคนมีเงินที่สืบทอดตำแหน่งทางการเมืองถัดจากพ่อ โดยทั้งหมดล้วนสังกัดอยู่ในสองพรรคการเมืองใหญ่

ด้วยเหตุนี้ “กูเซรา” จึงต้องดำรงตนอยู่ท่ามกลางความผันผวนของเกมการเมือง และบริบทแบบพรรคการเมืองสองขั้ว (ที่ไม่ได้แยกกันจริง) ซึ่งมีการต่อรองผลประโยชน์กันตลอดเวลา และมีการคิดคำนวณสูตรคณิตศาสตร์ของคะแนนโหวตในสภาอยู่เสมอ

อีกด้านหนึ่ง เธอก็ได้เป็นประจักษ์พยานของการห้ำหั่นแย่งชิงอำนาจระหว่างผู้ว่าฯ เขตหญิง กับ ส.ข.สามสมัย ผู้เป็นอดีตประธานสภาเขต

ในกระแสเชี่ยวกรากเช่นนี้ แม้กระทั่ง “นักการเมืองน้ำดีรุ่นอาวุโส” ก็ยังต้องพยายามประคับประคองตัวเองและแสดงจุดยืนอย่างพลิกผันไปมาตามสถานการณ์อันไม่แน่นอนคงที่

มีเพียง “กูเซรา” ที่เลือกจะทำงานแบบซื่อๆ ตรงๆ (ผสมเซ่อๆ) แบบคนไม่ประสีประสาในเกมการเมือง ด้วยการเน้นเปิดโปงโครงการอันไม่ชอบมาพากลต่างๆ และคลี่คลายทุกข์ร้อนของชาวบ้านคนเล็กคนน้อย ซึ่งก็มีทั้งสิ่งที่เธอทำได้สำเร็จและล้มเหลว

ด้วยเหตุนี้ ในบางคราวเธอจึงได้รับการผลักดันให้ขึ้นไปนั่งตำแหน่งประธานสภาเขตอย่างงงๆ จนมีส่วนในการเขี่ยผู้ว่าฯ เขตลงจากเก้าอี้ แต่เมื่อเธอไร้ประโยชน์ในกระดานอำนาจที่ถูกวางหมากโดยนักการเมืองรุ่นอาวุโส “กูเซรา” ก็ต้องตกกระป๋องลงไปเป็น ส.ข.ธรรมดา ตามเดิม

ในแง่หนึ่ง คนที่ได้เป็น ส.ข.เพียงแค่สมัยเดียว (แถมไม่เต็มเทอม) เช่น “กูเซรา” ก็ไม่น่าจะมีสถานภาพเป็นนักการเมืองผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งต้องผ่านการดำรงตำแหน่งมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

แต่หากจะวัดความสำเร็จของนักการเมืองคนหนึ่งด้วย “ความเปลี่ยนแปลง” ที่เขา/เธอได้มีส่วนสร้างขึ้น “กูเซรา” ก็ดูจะเป็น “นักการเมืองที่น่าจดจำ” อยู่ไม่น้อย

ผ่านการตรวจสอบ-เปลี่ยนแปลงนโยบายการก่อสร้างเมืองอัจฉริยะซึ่งมีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม การกระตุ้นเตือนชุมชนให้รำลึกถึงเหตุโศกนาฏกรรมเพลิงไหม้ในค่ายนักเรียนประถมเมื่อเกือบสองทศวรรษก่อน และการขัดขวางจนกระทั่งอดีตประธานสภาเขตผู้ทรงอิทธิพลต้องพ่ายแพ้ในศึกเลือกตั้งชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ เขต

 

จุดน่าสนใจมากๆ ของ “Into the Ring” มีอยู่ 2-3 ประเด็น

ประเด็นแรก นี่คือซีรีส์ที่กล่าวถึงที่ทางของ “คนหน้าใหม่ๆ” บนเวทีการเมืองในระบบหรือในสถาบันการเมือง

“กูเซรา” คือนักการเมืองผู้ก่อร่างสร้างตัวตนขึ้นมาจาก “องค์ประกอบใหม่ๆ” จำนวนมาก ทั้งการเป็นผู้หญิง เป็นคนรุ่นใหม่ เป็นพลเมืองผู้กระตือรือร้น เป็นขบถของระบบ เป็นคนกล้าชนกับเรื่องไม่ถูกต้อง และเป็น “นักการเมือง” ที่ไม่เล่นหรือไม่สนใจเกมการเมือง (จริงๆ คือเคยพยายามเล่นหรือเปิดดีล ทว่ากลับพังพินาศลงอย่างไม่เป็นท่า)

อย่างไรก็ตาม นั่นมิได้หมายความว่า “นักการเมืองหญิงนอกคอก” รายนี้ จะปฏิเสธดอกผลของการเล่นเกมการเมืองหรือการต่อรองอำนาจทางการเมือง โดยผู้เล่นคนอื่นๆ อย่างสิ้นเชิง

เพราะมีหลายหน ที่โครงการทางการเมืองของเธอสามารถประสบความสำเร็จได้ ด้วยการเล่นเกมการเมืองของพันธมิตรระดับชั่วคราวบางราย

และ “กูเซรา” ก็สามารถโค่นนักการเมืองท้องถิ่นผู้ยิ่งใหญ่ลงได้โดยเด็ดขาด ต่อเมื่อลูกชายของเขา/คนรักของเธอตัดสินใจ เล่นเกมการเมืองครั้งสำคัญ ด้วยการขายตนเองและแฉความอัปยศของผู้เป็นบิดา

ทั้งนี้ “คนหน้าใหม่ทางการเมือง” เช่น “กูเซรา” ก็มิได้ดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยว เนื่องจากอีพีสุดท้ายของซีรีส์ได้ฉายภาพ “กูเซราอีกหลายคน” ซึ่งทยอยกันเข้ามาแผ้วถางที่ทางในสังคมการเมืองสมัยใหม่

ไม่ว่าจะเป็นนักกิจกรรมหญิงที่พลาดหวังจากการลงเลือกตั้งมาแล้วสองครั้ง ก่อนประสบความสำเร็จในศึกชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ เขต หรือเพื่อนสาวผู้เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวของ “กูเซรา” ที่ได้รับชัยชนะในสนามเลือกตั้งซ่อม ส.ข. ส่วนอดีต ส.ข.หญิง ที่เป็นทั้งมิตรและคู่แข่งของนางเอก ก็ได้เลื่อนระดับขึ้นไปลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

 

พร้อมๆ กันนั้น ซีรีส์เรื่องนี้คล้ายกำลังกล่าวถึงความปราชัยหรือการถอยไปอยู่หลังฉากของ “นักการเมืองผู้ชาย”

ตั้งแต่อดีตประธานสภาเขต และ ส.ข.สามสมัย ผู้ยอมสละทิ้งครอบครัว-ลูกเต้า จนทั้งชีวิตเหลือแค่ “พันธมิตรทางการเมือง” ที่แปรไปเป็นฝ่ายตรงข้ามได้ทุกเมื่อ (และมิใช่ “มิตรแท้”) เพราะหวังจะประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่จนถึงขั้นเป็น ส.ส.

แต่ท้ายสุด เขากลับพ่ายแพ้แม้กระทั่งในการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ เขตมาวอน

หรือ “นักการเมืองน้ำดีอาวุโส” ผู้เป็นอดีตรัฐมนตรีและ ส.ส.หัวก้าวหน้า ที่ถอยลงมาทำงานในสภาเขต รวมทั้งพยายามปั้น “คนการเมือง” รุ่นใหม่ๆ ขึ้นมาสานต่ออุดมการณ์ของตน ซึ่งต้องลาออกจากตำแหน่ง เพราะไปพัวพันกับข่าวอื้อฉาว

ส่วน “นักการเมืองผู้ล่วงลับ” ที่มีสถานภาพเป็น “นักร้องเรียนปัญหาทุจริตระดับไอดอล” (ถ้าพิจารณาจากหลักฐานเชิงลายลักษณ์อักษรบางชิ้น) ก็กลับกลายเป็น “นักรีดไถ” ผู้มีพฤติกรรม “ด้านมืด” อยู่ไม่น้อย ในโลกความจริง

เช่นเดียวกับ ส.ข.ชายส่วนใหญ่ ที่เลือกจะเล่นบทบาทเป็น “นักการเมืองไม้ประดับ” ซึ่งคอยลู่ตามลมไปตามสถานการณ์และผลประโยชน์

แม้แต่ “ผู้ชายรุ่นใหม่” ซึ่งมีศักยภาพจะเป็นนักการเมืองที่ดี เช่น “ซอกงมยอง” พระเอกของเรื่อง ผู้ประกอบอาชีพเป็นข้าราชการประจำสำนักงานเขตมาวอน รวมถึงตัวละครอดีตแฟนหนุ่มของ “กูเซรา” ผู้เป็นอดีตเลขานุการประจำตัวของนักการเมืองใหญ่หลายราย

คนเหล่านี้ก็เลือกจะสวมบทเป็นกุนซือ เป็นลมใต้ปีก หรือเป็นคนคอยช่วยเหลือ “นักการเมืองหญิงหน้าใหม่” อยู่ห่างๆ โดยไม่ได้ลงสังเวียนด้วยตัวเอง

 

จุดน่าสนใจข้อสุดท้าย คือ แม้ซีรีส์เรื่องนี้จะให้ความสำคัญกับ “คนหน้าใหม่” ในสถาบันการเมือง ซึ่งต้องมาพร้อมกับการครุ่นคิดถึงอนาคตในรูปแบบใหม่ๆ หรือการสร้างความหวังใหม่ๆ แก่สังคม

แต่พันธกิจอีกประการที่ “นักการเมืองหน้าใหม่” เหล่านี้มิอาจปฏิเสธหรือเพิกเฉยได้ คือการเก็บรักษามรดก “ความทรงจำ” ของท้องถิ่น ซึ่งในกรณีของ “Into the Ring” ก็ได้แก่อนุสรณ์แผ่นศิลาซึ่งรำลึกถึงเหตุโศกนาฏกรรมเพลิงไหม้โรงเรียนประถม อันเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลของผู้คนในชุมชน

นี่คือ “ความทรงจำร่วม” ที่ต้องได้รับการปกปักรักษา มิให้ถูกลบล้างด้วยอำนาจของ “นักการเมืองรุ่นเก๋า” และอำนาจทุน

นี่คือ “ความทรงจำบาดแผล” ที่ย้ำเตือนบรรดาผู้มีส่วนในการกำหนดนโยบายสาธารณะทั้งหลายว่าเหตุการณ์เศร้าสลดเช่นนี้ต้องไม่บังเกิดขึ้นอีก

 

ซีรีส์เกาหลีเรื่องนี้เหมือนจะปิดท้ายลงอย่าง “ต่อต้านความเป็นการเมือง” เมื่อ “กูเซรา” เลือกหันหลังให้กับสภาเขตและสัญญากับคนรักว่าเธอจะไม่ทำงาน/เล่นการเมืองอีก

ทว่าการหวนย้อนไปใช้ชีวิตปกติ กลับส่งผลให้หญิงสาวผู้นี้ต้องพานพบกับความไม่เป็นธรรมอีกมากมายหลายหลากที่เกิดขึ้นในสังคม ดังนั้น เธอจึงตอบรับที่จะทำงานการเมืองอีกครั้ง ร่วมกับ “พรรคหมีขั้วโลก” ซึ่งใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาแรงงาน

นี่เป็นวิถีของ “การเมืองแบบใหม่” หรือ “การเมืองแห่งความหลากหลาย” ที่การเริ่มต้นใส่ใจในประเด็นเฉพาะเล็กๆ จะค่อยๆ ถูกขยับขยายให้เชื่อมโยงไปถึงปัญหาเชิงมหภาค

นี่เป็น “การเมืองของคนเล็กๆ” ที่อาจเคลื่อนไหวอยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์หรือเกมชิงอำนาจของพรรค/ขั้วการเมืองใหญ่ๆ ตลอดจนโจทย์คณิตศาสตร์การเมืองในสภาอันยอกย้อนและซ่อนเงื่อนเหลือประมาณ