ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 - 9 กันยายน 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | คนมองหนัง |
ผู้เขียน | คนมองหนัง |
เผยแพร่ |
‘ผีใช้ได้ค่ะ-เวลา’
ข่าวดีของ ‘หนังไทย’ ในระดับนานาชาติ
หลังจากภาพยนตร์เรื่อง “Memoria” ของ “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” สามารถคว้ารางวัลที่คานส์ หนังไทย-ผู้กำกับฯ ไทยก็ยังคงเดินหน้าประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง
เริ่มต้นด้วยเทศกาลภาพยนตร์โลการ์โน 2021 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-14 สิงหาคม ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
หนึ่งในกิจกรรมเด่นของเทศกาลภาพยนตร์นี้ก็คือ “โอเพ่นดอร์ส” ซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่ให้คนทำหนังอิสระมีโอกาสได้รับการสนับสนุนทางด้านทุนสร้างและทุนพัฒนาภาพยนตร์ รวมทั้งระดมทุนจากผู้สร้างหลากหลายประเทศ
ในรอบปี 2019-2021 กิจกรรม “โอเพ่นดอร์ส” จะมุ่งสนับสนุนโปรเจ็กต์ภาพยนตร์จาก 8 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ลาว ไทย กัมพูชา เวียดนาม เมียนมา อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ร่วมด้วยมองโกเลีย
โดยในปีนี้ มีหนังไทยสองเรื่องที่ได้รับรางวัลจากเวที “โอเพ่นดอร์ส ฮับ” ซึ่งจะคัดเลือกโครงการหนังยาวจำนวน 8 โครงการมานำเสนอต่อคณะกรรมการ ก่อนจะมีการมอบเงินรางวัลเพื่อเป็นทุนสร้าง-ทุนพัฒนาให้แก่โปรเจ็กต์ที่น่าสนใจต่อไป
เริ่มจากโครงการหนังเรื่อง “ผีใช้ได้ค่ะ” (A Useful Ghost) ซึ่งได้รับรางวัลใหญ่สุดบนเวที “โอเพ่นดอร์ส ฮับ” เป็นเงินสนับสนุนด้านงานสร้างมูลค่า 35,000 ฟรังก์สวิส หรือประมาณ 1.2 ล้านบาท
“ผีใช้ได้ค่ะ” คือผลงานการกำกับฯ-เขียนบทโดย “รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค” ซึ่งเคยทำหนังสั้นระดับโดดเด่นมาแล้วหลายเรื่อง ด้วยอารมณ์ขันแบบปัญญาชน ที่ดูจะได้รับอิทธิพลจากทฤษฎีสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์ร่วมสมัย อาทิ “มะนีจันเปล่งเสียงไม่ได้ในทวิภูมิทางภาษาของคุณ” “แหม่มแอนนา หัวนม มาคารอง โพนยางคำ และการศึกษาขั้นพื้นฐาน” และ “อนินทรีย์แดง”

โปรเจ็กต์นี้จะโปรดิวซ์โดยคัทลียา เผ่าศรีเจริญ โสฬส สุขุม และ 185 ฟิล์มส์
“ผีใช้ได้ค่ะ” เป็นหนังแนวตลกร้ายที่เล่าเรื่องราวของสามี-ภรรยาคู่หนึ่ง ซึ่งใช้ชีวิตครอบครัวอย่างมีความสุข พร้อมลูกชายวัย 7 ขวบ
แต่มาวันหนึ่ง ฝ่ายหญิงกลับต้องเสียชีวิตลงด้วยโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเกิดจากมลภาวะทางอากาศ
ขณะที่ผู้เป็นพ่อวิตกกังวลว่าลูกชาย ซึ่งมีอาการป่วยคล้ายแม่ จะเสียชีวิตตามไปด้วยอีกหนึ่งคน วิญญาณของผู้เป็นแม่ก็เข้าสิง “เครื่องดูดฝุ่น” เพื่อพยายามปกป้องลูกชายของเธอ
คณะกรรมการตัดสินรางวัลระบุว่า “(โครงการ) ภาพยนตร์เรื่องนี้กล่าวถึงประเด็นทางสังคมและการเมืองในยุคปัจจุบันผ่านอารมณ์ขัน เรื่องราวดังกล่าวสืบสานรากเหง้ามาจากขนบธรรมเนียมอันยาวนานของวงการหนังเอเชีย แต่จะถูกบอกเล่าด้วยวิธีการแบบใหม่และร่วมสมัย”
ขณะที่ผู้กำกับฯ-ผู้เขียนบทชาวไทยกล่าวในพิธีมอบรางวัลว่า
“ผมขอขอบคุณเพื่อนๆ ร่วมประเทศที่เมืองไทย ซึ่งยังคงต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยกันอยู่ ภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถเกิดขึ้นได้ก็เพราะพวกเขาเหล่านั้น”
นอกจากนั้น โครงการภาพยนตร์ไทยเรื่อง “9 วัดสู่สวรรค์” ซึ่งเข้าร่วมกิจกรรม “โอเพ่นดอร์ส ฮับ” เช่นกัน ก็ได้รับรางวัล “อาร์เต คิโน อินเตอร์เนชั่นแนล ไพรซ์” มูลค่า 6 พันยูโร หรือประมาณ 2 แสนบาท
นี่คือโครงการภาพยนตร์ของ “สมพจน์ ชิตเกษรพงศ์” ที่เคยมีผลงานหนังยาวเรื่อง “หมอนรถไฟ” และถือเป็นผู้ช่วยผู้กำกับฯ คนสำคัญของ “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” ในตลอดหลายปีหลัง
“9 วัดสู่สวรรค์” โปรดิวซ์โดยกฤษฎา ขำยัง และคิก เดอะ แมชชีน (บริษัทโปรดักชั่นเฮาส์ของอภิชาติพงศ์)
ข้ามฟากไปยังเทศกาลภาพยนตร์เวนิส 2021 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-11 กันยายน ซึ่งมีหนังไทยสองเรื่องได้เข้าร่วมประกวดชิงรางวัล
โดยในสายการประกวดรอง “Orizzonti” มีภาพยนตร์เรื่อง “เวลา” (Anatomy of Time) ผลงานขนาดยาวเรื่องล่าสุดของ “จักรวาล นิลธำรงค์” นักทำหนังอิสระและอาจารย์สอนวิชาภาพยนตร์จากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าร่วมชิงชัย
“เวลา” ถ่ายทอดชีวิตสองช่วงของตัวละครหญิงชื่อ “แหม่ม”

ย้อนไปในทศวรรษ 1960 แหม่มในวัยสาวใช้ชีวิตที่ต่างจังหวัด เธอซึมซับแนวคิดเชิงปรัชญาจากพ่อผู้เป็นช่างซ่อมนาฬิกา ขณะที่ความตึงเครียดจากการสู้รบระหว่างระบอบเผด็จการทหารและพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกำลังก่อตัวขึ้น
เวลานั้น แหม่มถูกจีบโดยชายหนุ่มสองคน รายแรกคือคนขี่รถสามล้อผู้อ่อนแอ รายหลังคือนายทหารหนุ่มผู้ทะเยอทะยานและโหดเหี้ยม
ห้าทศวรรษต่อมา นายทหารหนุ่มกลับกลายเป็นนายพลผู้ใช้ชีวิตห้วงสุดท้ายอย่างน่าอัปยศอดสู แหม่มต้องคอยดูแลพยาบาลสามีที่มีพฤติกรรมเลวทราม พร้อมๆ กับย้อนรำลึกถึงอดีตที่เต็มไปด้วยความสูญเสีย ความทุกข์ และความสุขของตนเอง
นอกจากบอกเล่าเกี่ยวกับชีวิตของ “แหม่ม” หนังเรื่อง “เวลา” ยังพูดถึงคนรุ่นหนึ่งที่ค่อยๆ ร่วงโรยไป เรื่องราวของสตรีผู้เป็นตัวละครหลักจึงซ้อนทับกับอดีตบาดแผลของประเทศชาติและประชาชนที่ถูกกดขี่ขูดรีดภายในประเทศดังกล่าว
ย้อนไปเมื่อสามปีก่อน หนังไทยเรื่อง “กระเบนราหู” ของ “พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง” ก็เคยได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในสาย “Orizzonti” มาแล้ว
น่าสนใจว่าพุทธิพงษ์มีรายชื่อเป็น “ผู้กำกับภาพ” ของหนังเรื่อง “เวลา” ที่กำลังลุ้นรางวัลเดียวกันในปีนี้
ยังมีหนังสั้นไทยอีกหนึ่งเรื่อง ที่ได้รับคัดเลือกเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์สั้นยอดเยี่ยมในสาย “Orizzonti” นั่นคือ “ผิดปกติใหม่” (New Abnormal) โดย “สรยศ ประภาพันธ์” คนทำหนังสั้นที่มีผลงานเข้าประกวดระดับนานาชาติโดยสม่ำเสมอ
หนังสั้นที่ “สร้างจากเรื่องจริง” เรื่องนี้เป็นภาพสะท้อนของชีวิตมนุษย์ในระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 และภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาลไทย
หนังติดตามตัวละครหลากหลายในฉากชีวิตที่แตกต่างกัน ทว่าพวกเขากลับต้องตกอยู่ในสถานการณ์อันน่าอึดอัดใจคล้ายคลึงกัน
ข้อมูลจาก
https://www.labiennale.org/en/cinema/2021/lineup/orizzonti/wela-anatomy-time
https://www.labiennale.org/en/cinema/2021/lineup/orizzonti/pid-pokati-mai-new-abnormal