ภาพยนตร์ : CODA ‘พิการทางหู’ / นพมาส แววหงส์

นพมาส แววหงส์

 

CODA

‘พิการทางหู’

 

กำกับการแสดง

Sian Heder

นำแสดง

Emilia Jones

Troy Kotsur

Marlee Matlin

Daniel Durant

Eugenio Derbez

Ferdia Walsh-Peelo

 

CODA เป็นคำที่เกิดจากอักษรย่อที่สะกดออกมาเป็นเสียงอ่าน คือ Child Of Deaf Adult(s) แปลว่า “ลูกของพ่อ-แม่ที่หูหนวก” จะเป็นพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งก็ได้ ไม่ต้องทั้งสองคน

คำแบบนี้เรียกว่า acronym ซึ่งหลายต่อหลายคำกลายเป็นคำสามัญประจำบ้านที่ใช้อยู่ทุกวันจนแทบลืมที่มาของคำไปเลย

แม้แต่หน่วยงานหรือองค์กรสำคัญๆ ในโลกซึ่งมีชื่อยืดยาวก็มักจะเรียกด้วยอักษรย่อจนกลายเป็นคำใหม่ไป อย่าง UNESCO เป็นต้น เราเรียกกันว่าองค์กรยูเนสโก จนบางคนลืมไปเลยว่ามาจาก United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization

แต่ก็ยังมีคำที่มาจากอักษรย่อบางคำซึ่งเขาไม่ผสมตัวสะกดให้อ่านเป็นเสียง ซึ่งตามหลักแล้วจึงไม่ถือว่าเป็น acronym แต่เป็นอักษรย่อหรือ initialism อย่างเช่น WHO (World Health Organization) เหตุผลก็คือว่าถ้าออกเสียงเป็นคำไปเลย ก็จะเกิดคำถามตามมาว่า “ใครเหรอ” (Who?)

หรือคำว่า RSVP (Répondez S’il Vous Plaît, โปรดตอบ) ซึ่งผสมคำแล้วอ่านออกเสียงไม่ได้ ก็เลยต้องใช้ในลักษณะอักษรย่อ ซึ่งก็ย่อลงเพียงจากหกพยางค์เป็นสี่พยางค์เท่านั้น แทบไม่คุ้มกับการย่อเลยละ

คราวนี้ก็มีคำประเภท ASAP (As Soon As Possible) ซึ่งยังใช้ก้ำกึ่งกันอยู่ บางคนก็ใช้เป็น acronym (คือออกเสียงว่า อะแซป หรือแอสแซป) บางคนก็ยังใช้เป็นอักษรย่อ (คือ เอ เอส เอ พี)

ยังมีอีกเยอะค่ะ แต่ก่อนจะเตลิดไปเรื่องภาษาศาสตร์ไกลกว่านี้ ขอหักมุมเลี้ยวกลับเข้าเรื่อง CODA เลยดีกว่า

Emilia Jones  Credit: AppleTV+

เมื่อราวหกปีที่แล้ว ได้ดูหนังฝรั่งเศสชื่อ La Famille Belier แล้วชอบมาก (ยังมีเสื้อยืดพิมพ์ลายเป็นชื่อหนัง ซึ่งค่ายหนังแจกมาให้อยู่เลย) เคยเขียนวิจารณ์ในคอลัมน์นี้ด้วย ตอนดู CODA ก็นึกถึงหนังเรื่องนั้นตงิดๆ อยู่แหละ แต่ก็ยังไม่ได้ถึงบางอ้อ จวบจนเมื่อหนังอวสานลงแล้วนั่นแหละถึงเห็นเครดิตตอนจบที่บอกว่าทำมาจาก La Famille Belier

หนังทำได้ไม่แพ้หนังต้นฉบับเลยนะคะ แม้ว่าเมื่อมานึกย้อนดูแล้ว พล็อตเรื่องแทบไม่มีอะไรแตกต่างกันมาก นอกจากอาชีพของพ่อ-แม่ ซึ่งในหนังฝรั่งเศสเป็นชาวไร่เลี้ยงวัว ส่วนในหนังอเมริกันเวอร์ชั่นล่าสุดนี้ ครอบครัวเป็นชาวประมง พ่อมีเรือหาปลาอยู่ทางชายฝั่งตะวันออกของอเมริกา

เรื่องของเรื่องคือ รูบี (เอมิเลีย โจนส์) เป็นลูกสาวคนเล็กของครอบครัวรอสซี ซึ่งพิการทางหูกันทุกคน ทั้งพ่อ-แม่และพี่ชาย มีแต่เธอคนเดียวที่ได้ยินเสียงเป็นปกติ

ดังนั้น รูบีจึงรับภาระเกินตัวมาตั้งแต่ยังเล็ก ด้วยการเป็นล่ามและเป็นหูเป็นปากแทนครอบครัว

เธอมีปมด้อยอยู่บ้างในความแตกต่างและแปลกแยกจากเด็กอื่นๆ ในโรงเรียน อย่างเช่น เธอแอบเล่าความในใจสมัยไปโรงเรียนครั้งแรกว่า เด็กคนอื่นหัวเราะเยาะเธอที่พูดจาแปลกหู…ก็จะไม่ให้แปลกได้ยังไง ในเมื่อเธอไม่เคยได้ยินเสียงพูดที่บ้านเลย ถ้าเราบอกว่าพ่อ-แม่เป็นครูคนแรกของเรา รูบีก็ไม่ได้มีพ่อแม่เป็นครูสอนภาษาพูดให้เธอ

แต่โดยรวมแล้ว รูบีก็ดูเป็นเด็กที่ไม่มีปัญหาครอบครัว นอกจากความเหน็ดเหนื่อยที่ต้องรับภาระทางบ้านมากเกินเด็กวัยเดียวกัน

เธอต้องตื่นตั้งแต่ตีสาม เพื่อออกเรือไปหาปลากับพ่อและพี่ชาย เพราะระเบียบการเดินเรือกำหนดให้มีคนหูดี คอยฟังเสียงหวูด เสียงวิทยุติดต่อ ฯลฯ จากบนเรือ แถมยังต้องเป็นคนเอาปลาไปส่งให้พ่อค้าคนกลาง เพราะทั้งพ่อและพี่ชายเจรจาค้าความกับใครไม่รู้เรื่อง

ตกสาย รูบีก็ต้องไปโรงเรียนพร้อมทั้งกลิ่นคาวติดตัวคลุ้ง และฟุบหลับไปคาโต๊ะเป็นส่วนมากในชั้นเรียน

สำหรับกิจกรรมนอกหลักสูตร รูบีสมัครเข้าชมรมนักร้องประสานเสียง เพียงเพราะได้ยินหนุ่มคนที่เธอแอบติดใจอยู่ กำลังสมัครเข้าชมรมนี้

เธอแทบไม่กล้าเปล่งเสียงร้องเพลงให้ใครได้ยิน แต่เธอก็ชอบร้องเพลงมาตลอด และตะเบ็งเสียงร้องเวลาออกเรือกับพ่อและพี่ชาย เพราะทั้งสองคนไม่ได้ยินเสียงอะไร

มิสเตอร์แบร์นาร์โด (ยูเจนิโอ เดอเบซ) ค้นพบว่ารูบีมีพรสวรรค์ด้านการร้องเพลง และพยายามสนับสนุนลูกศิษย์คนนี้ทุกวิถีทาง โดยหาทุนเล่าเรียนให้ในสถาบันดนตรีที่มีชื่อเสียงในบอสตัน

แต่ก็แน่ละ นี่คือการตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิตของรูบี

 

เธอมีอนาคตสดใสรอคอยอยู่เบื้องหน้าด้วยพรสวรรค์อันหายากในตัว แต่ครอบครัวก็ต้องพึ่งพาเธอมาตลอดในการติดต่อกับโลกภายนอก ไม่ว่าจะเป็นด้านธุรกิจ ด้านสังคม หรือด้านส่วนตัว

นี่เป็นหนัง coming of age ที่น่ารักน่าอบอุ่นใจ

นักแสดงที่เล่นเป็นครอบครัวของรูบีเป็นคนหูหนวกจริงๆ ทุกคน แรกก็ไม่ทราบหรอกค่ะ ได้ทราบจากข้อมูลที่ค้นเจอ รู้จักเพียงคนเดียวคือ มาร์ลี แมตลิน ที่เล่นเป็นตัวแม่ เพราะเคยเล่นหนังที่นางเอกหรือตัวละครเป็นคนหูหนวกมาหลายเรื่องแล้ว และเป็นนักแสดงหูหนวกคนเดียวที่เคยได้รับรางวัลออสการ์ด้วย

ดูตัวละครที่เป็นคนหูหนวกในหนังแล้วทำให้นึกถึงคำบอกเล่าของคนรู้จักคนหนึ่งซึ่งใช้ภาษามือเป็น เธอบอกว่าอย่านึกว่าคนหูหนวกน่ะเป็นคนติ๋มๆ เรียบร้อยเหมือนผ้าพับไว้นะ เวลาพวกเขาพูดจากันเองน่ะ ทะลึ่ง หยาบโลนอย่างนึกไม่ถึงเลยละ ฟังแล้วก็ไม่ได้คิดอะไรมากหรอกตอนนั้น แต่ครั้นต่อมาไม่นาน นั่งรถไฟฟ้าอยู่ มีกลุ่มเด็กสาวๆ สักห้า-หกคนขึ้นมาบนรถ นั่งอยู่ฝั่งตรงข้าม แล้วพวกเธอก็ส่งภาษามือกันขวักไขว่ ดูเหมือนจะเฮฮากันตลอดเวลา ก็เลยนึกถึงคำบอกเล่าดังกล่าวนั้น

ถ้าดูจากตัวพ่อ-แม่ในหนัง ซึ่งพูดจาภาษามือ อย่างที่แปลออกมาแล้ว เป็นคำพูดที่จริงใจแท้ๆ แบบไม่มีการกลั่นกรองเลย ถ้าพูดด้วยสำนวนก็คือ พูดแบบปากกับใจตรงกัน หรือปากไม่มีหูรูดนั่นแหละค่ะ

แต่นี่คือครอบครัวที่น่าอิจฉาสำหรับคนที่โตขึ้นมาในครอบครัวที่แห้งแล้งและไม่จริงใจต่อกัน ดังที่ไมล์ส (เฟอร์เดีย วอลช์-พีโล) แฟนของรูบี ปรารภให้เธอฟัง

เพลงที่รูบีเลือกใช้สำหรับการออดิชั่นคือ Both Sides Now ของโจนี มิตเชล ซึ่งเป็นเพลงที่มีเนื้อหาได้ใจไปเลย นั่นคือ ทุกสิ่งล้วนมีสองด้าน ไม่ว่าจะเป็นก้อนเมฆ ความรัก หรือชีวิต

หลายคนคงจะยังจำเนื้อร้องและทำนองแสนไพเราะได้นะคะ

CODA เป็นหนังที่ได้รับการกล่าวขวัญมากในเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ปีนี้ และได้มาหลายรางวัลพอดูเลย รวมทั้งเอมิเลีย โจนส์ กลายเป็นขวัญใจคนใหม่ของวงการไปเลย

จึงสมควรหาดูเป็นอย่างยิ่งค่ะ