คนมองหนัง : หนังสารคดี ‘โตเกียว 2020/21’ ในยุคโควิด ‘โอลิมปิก’ (ที่ไม่ใช่) ของทุกคน

เฟซบุ๊ก Naomi Kawase https://www.facebook.com/photo/?fbid=1852738258175423&set=p.1852738258175423

 

หนังสารคดี ‘โตเกียว 2020/21’ ในยุคโควิด

‘โอลิมปิก’ (ที่ไม่ใช่) ของทุกคน

 

สิ่งหนึ่งที่ดำรงอยู่คู่กับมหกรรมกีฬาโอลิมปิกมาอย่างต่อเนื่อง ก็คือ “ภาพยนตร์สารคดี” ซึ่งบันทึกแง่มุมต่างๆ ของโอลิมปิกครั้งนั้นๆ

“ภาพยนตร์สารคดีโอลิมปิก 2020/2021” จะเป็นผลงานการกำกับฯ ของ “นาโอมิ คาวาเสะ” นักทำหนังสตรีวัย 52 ปี ซึ่งเคยได้รับรางวัลกล้องทองคำ (ผู้กำกับหนังยาวหน้าใหม่ยอดเยี่ยม) และรางวัลกรังด์ปรีซ์ จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ในปี 1997 และ 2007 ตามลำดับ

เป็นที่รับรู้กันว่าคาวาเสะคือผู้กำกับฯ หญิง ซึ่งมีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับมากที่สุดของญี่ปุ่น

 

ก่อนมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่โตเกียวจะเปิดฉากขึ้น คาวาเสะสามารถเก็บฟุตเทจของหนังสารคดีประจำการแข่งขันครั้งนี้ไปได้แล้วกว่า 300 ชั่วโมง โดยเธอตั้งเป้าว่าจะเก็บฟุตเทจเพิ่มอีกอย่างน้อยๆ 100 ชั่วโมง ในระหว่างการแข่งขัน

แม้ “หนังโอลิมปิกเรื่องนี้” จะเป็นเหมือนหนังสารคดีโอลิมปิกเรื่องก่อนๆ ซึ่งมุ่งนำเสนอเรื่องราวของนักกีฬาผู้เข้าแข่งขันจากทั่วทุกมุมโลก

แต่ก็อาจมีบางแง่มุมที่ถูกขับเน้นมากขึ้น ดังที่นักทำหนังสตรีชาวญี่ปุ่นอธิบายว่า

“ฉันจะเน้นเรื่องราวของนักกีฬาที่เป็นแม่มากขึ้น เพราะฉันเองก็เป็นผู้หญิง”

ขณะเดียวกัน คาวาเสะก็ต้องพึ่งพาเพื่อนร่วมงานจำนวนมาก เช่น ในฐานะผู้อำนวยการเทศกาลภาพยนตร์นานาชาตินารา เธอได้ทำความรู้จักกับเครือข่ายคนทำหนังต่างชาติรุ่นใหม่ และมอบหมายให้พวกเขาเหล่านั้นไปช่วยบันทึกภาพการสัมภาษณ์นักกีฬาของประเทศต่างๆ (โดยคาวาเสะเป็นผู้พูดคุยกับนักกีฬาทั้งหมดด้วยตัวเองผ่านทางอินเตอร์เน็ต)

นอกจากนั้น เธอยังมีทีมงานอีกนับร้อยรายที่ตามไปบันทึกภาพชาวญี่ปุ่น ซึ่งเตรียมพร้อมจะต้อนรับหรือเฝ้ารอคอยการแข่งขันโอลิมปิกคราวนี้

 

อย่างไรก็ดี “โอลิมปิก 2020/2021” นั้นตกอยู่ในสถานการณ์พิเศษ ที่ไม่เหมือนโอลิมปิกหนก่อนๆ นั่นคือ สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด อันนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงหลายด้าน เช่น นี่จะเป็นมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ซึ่งปราศจากผู้ชมในสนามแข่งขัน

คาวาเสะให้ความสำคัญกับปรากฏการณ์เหล่านี้อย่างยิ่งยวด เธอให้สัมภาษณ์ว่าตนเองจะพยายามบันทึกอารมณ์ ความรู้สึก ตลอดจนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ทั้งในโตเกียวและเมืองอื่นๆ ทั่วญี่ปุ่น ซึ่งกำลังรับมือวิกฤตโรคระบาด

รวมถึงเจ้าหน้าที่สถานกักตัวควบคุมโรคประจำท่าอากาศยานฮาเนดะ ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานแนวหน้าที่ต้องทำงานหนัก จนแทบจะไม่มีเวลากินและนอน

“ฉันเชื่อว่าบรรดาบุคคลที่ทำงานอุทิศตนทั้งวันทั้งคืน เพื่อทำให้การแข่งขัน (โอลิมปิก) ดำเนินไปอย่างมีเสถียรภาพและปลอดภัยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้นั้น คือองค์ประกอบสำคัญที่สุดอย่างแท้จริงของภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้”

คาวาเสะระบุ

ยิ่งกว่านั้น ผู้กำกับฯ หญิงมากประสบการณ์ ยังสงวน “พื้นที่แห่งความเห็นต่าง” เอาไว้ในภาพยนตร์สารคดีของตนเอง ได้แก่ พื้นที่สำหรับประชาชนที่ต่อต้านการจัดการแข่งขันโอลิมปิกเพราะกังวลเรื่องเชื้อโควิดแพร่ระบาด, พื้นที่สำหรับคนที่พยายามถอยห่างจากมหกรรมกีฬาครั้งนี้

รวมถึงพื้นที่สำหรับบรรดาอาสาสมัคร ซึ่งตัดสินใจถอนตัวออกจากการมีส่วนร่วมใน “โตเกียว 2020”

“ฉันคิดว่ามันเป็นสิ่งสำคัญมาก ที่จะจัดเก็บอารมณ์ความรู้สึกทั้งด้านลบและด้านบวก (ของผู้คน) ในฐานะที่มันเป็นบทบันทึกของยุคสมัยนี้”

สำหรับคาวาเสะ มหกรรมกีฬาโอลิมปิกคือช่องทางระบายของความรู้สึกแง่ลบต่างๆ มากกว่าจะเป็นต้นกำเนิดของความรู้สึกดังกล่าว

“มันเกิดความรู้สึกวิตกกังวลว่าชีวิตของพวกเราจะถูกคุกคามโดยไวรัสโคโรนา แล้วก็เกิดความรู้สึกไม่พอใจเพราะการให้ข้อมูลข่าวสารที่ไม่เพียงพอจากทางรัฐบาล สิ่งเหล่านี้นำไปสู่คำถามที่ว่า ทำไมมหกรรมเช่นนี้จึงสมควรที่จะถูกจัดขึ้น ณ ประเทศญี่ปุ่น?” นี่คือคำสัมภาษณ์ของผู้กำกับหนังสารคดีโอลิมปิก ที่เผยแพร่โดยสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น

ขณะที่ไฟแนนเชียลไทม์สอ้างอิงถึงความเห็นของคาวาเสะที่บ่งชี้ว่า

“ท้ายสุด เราต้องเดินหน้าต่อไปในท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งๆ ที่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีความคิดต่อต้านมหกรรมกีฬาโอลิมปิก มันคือความแตกต่างที่เราคาดไม่ถึงว่าจะเกิดขึ้น ดังนั้น ฉันจึงคิดว่าการจับภาพความแตกแยกข้างต้นเพื่อนำเสนอลงไปในหนัง จะก่อให้เกิดบันทึกประวัติศาสตร์ซึ่งทรงคุณค่าและหาได้ยากยิ่ง”

 

คาวาเสะยังบรรยายถึงสายสัมพันธ์ระหว่างกีฬาโอลิมปิกกับการแพร่ระบาดของโควิดเอาไว้อย่างละเอียดอ่อนและลึกซึ้ง

“ประมาณครึ่งปีที่แล้ว ฉันเคยคิดว่ามัน (การถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีโอลิมปิก) จะดำเนินไปด้วยแก่นความคิดที่เข้าใจได้ง่ายๆ ว่ามหกรรมกีฬาโอลิมปิกคือบทพิสูจน์ว่าโลกเราสามารถเอาชนะไวรัสโคโรนาได้

“อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น วิธีคิดของฉันก็เปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย ด้วยความรู้สึกว่าเราไม่สามารถจะเอาชนะเชื้อไวรัสดังกล่าวได้…

“พวกคุณไม่สามารถจะกลายเป็นผู้ชนะ พวกคุณไม่สามารถจะเป็นผู้พิชิตไวรัสโคโรนา พวกคุณสามารถที่จะมีเชื้อไวรัสนี้อยู่ในตัว พวกคุณสามารถจะกลายเป็นผู้ติดเชื้อ

“พวกเราต้องคิดว่าตัวเองจะเผชิญหน้ากับสถานการณ์เช่นนี้อย่างไร แล้วก็ดำเนินชีวิตกันต่อไป ไม่ใช่หาหนทางจะปราบมัน จากมุมมองของมนุษย์ที่พยายามจะพิชิตอะไรบางอย่าง

“ฉันคิดว่ามันเป็นทัศนคติซึ่งอหังการอย่างมาก ที่พวกคุณจะคิดว่าตนเองสามารถขุดรากถอนโคนอะไรบางสิ่ง ทั้งๆ ที่มันจะไม่มีทางหนีหายไปไหน”

 

“ภาพยนตร์สารคดีโอลิมปิก 2020/2021” ของ “นาโอมิ คาวาเสะ” น่าจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ราวกลางปี 2022

โดยหนังอาจได้เปิดตัวที่ประเทศญี่ปุ่นในช่วงฤดูร้อน

แต่ก่อนหน้านั้น ผลงานชิ้นนี้อาจบินไปฉายรอบปฐมทัศน์โลกที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ในเดือนพฤษภาคม สอดคล้องกับการที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส จะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2024

ทั้งนี้ คาวาเสะไม่ใช่ “คนแปลกหน้า” ของคานส์ เนื่องจากเธอมีหนังจำนวน 9 เรื่อง ที่เคยไปเข้าฉาย/ร่วมประกวดที่นั่น

ข้อมูลจาก

https://edition.cnn.com/style/article/naomi-kawase-olympic-film-tokyo-2020-interview-spc-intl/index.html

https://www.ft.com/content/5fb8be35-17f1-4208-a2c6-d13d9acaf605