ภาพยนตร์ : HAMILTON ‘มิวสิเคิลแห่งทศวรรษ’ / นพมาส แววหงส์

นพมาส แววหงส์

 

 

HAMILTON

‘มิวสิเคิลแห่งทศวรรษ’

 

ผู้สร้างบทเพลง/ประพันธ์เรื่อง

Lin-Manuel Miranda

 

กำกับการแสดง

Thomas Kail

 

นำแสดง

Lin-Manuel Miranda

Philippa Soo

Leslie Odom Jr.

Jonathan Groff

Chris Jackson

 

ความหลงใหลในละครมิวสิเคิลของลิน-มานูเอล มิแรนดา นำเขาไปสู่การสร้างสรรค์มิวสิเคิลเรื่องยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปีมานี้

มิแรนดามองหาวีรบุรุษผู้จะมาเป็นตัวเอกในเรื่องราวที่เล่าด้วยบทเพลงโดยตลอด

และว่ากันว่า แรกทีเดียวเขาอยากจะสร้างเรื่องราวของเอบราแฮม ลินคอล์น ก่อน เสียแต่ว่าตอนนั้นสตีเวน สปีลเบิร์ก ตัดหน้าไปก่อน โดยกำลังสร้างหนังชีวประวัติของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติอเมริกัน คือ Lincoln

มิแรนดาได้อ่านหนังสือชีวประวัติของอเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน ซึ่งเขียนโดยรอน เชอร์นาว และสนใจอยากทำเป็นมิวสิเคิล

แรกทีเดียวผู้ประพันธ์ก็ไม่สนใจเพราะไม่คิดว่าจะสร้างเรื่องนี้ออกมาเป็นบทเพลงที่แสดงบนเวทีได้อย่างไร

แต่เมื่อเขาได้ยินเพลงแรกของเรื่อง เขาก็เปลี่ยนใจกลายเป็นแฟนตัวยงของมิวสิเคิลเรื่องนี้ไป

 

อเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน เป็นหนึ่งในบุคคลแนวหน้าผู้วางรากฐานให้แก่ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เรียกว่า Founding Fathers ของประเทศ

หนังถ่ายทำจากการแสดงบนเวทีที่บรอดเวย์ใน ค.ศ.2016 ซึ่งเป็นนักแสดงชุดแรกที่เปิดแสดงในโรงละครมาแล้วหนึ่งปีเต็ม

ก่อนหน้าที่บทของแฮมิลตันจะเปลี่ยนตัวจากลิน-มานูเอล มิแรนดา ก็คุณมิแรนดาเธอคงอยากมีหน้าปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ด้วย ไม่ใช่เพียงในฐานะผู้สร้างสรรค์และเจ้าของลิขสิทธิ์เท่านั้น

ค่ายดิสนีย์ได้ลิขสิทธิ์การจัดจำหน่ายไปโดยว่ากันว่าด้วยราคาสูงที่สุดที่เคยมีการประมูลกันมา แต่จากการออกฉายเพียงไม่กี่วัน ก็คงคุ้มไปแล้วล่ะมั้ง

หนังมีกำหนดจะออกฉายในเดือนตุลาคมปีนี้ แต่ด้วยเหตุผลของสถานการณ์โควิดและปัจจัยต่างๆ นานา หนังก็เลื่อนขึ้นมาเปิดตัวในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้เอง เพื่อเป็นการร่วมฉลองวันชาติของสหรัฐอเมริกาในวันที่ 4 กรกฎาคม ซึ่งเฉลิมฉลองการประกาศอิสรภาพจากอังกฤษเมื่อ ค.ศ.1776

ใครไปเที่ยวไปอยู่อเมริกาก็จะต้องได้ดูพลุและดอกไม้ไฟแบบอลังการงานสร้างในวันนี้

 

โชคดีที่ผู้เขียนสมัครสมาชิกช่อง Disney+ ไว้ เลยได้ดูหนังที่บันทึกจากการแสดงเวทีเรื่องนี้ในวันแรกที่เปิดตัวเลย

ชอบมากค่ะ และต้องบอกก่อนว่าไม่นึกว่าจะชอบอะไรนักหนาด้วย ประการแรกก็คือไม่ได้มีเลือดรักชาติร่วมกับคนอเมริกันซึ่งมองเรื่องนี้เป็นหน้าสำคัญในประวัติศาสตร์ของชาติ

ประการต่อมาคือ เนื่องจากทราบว่าเพลงในเรื่องเป็นจำพวกฮิปฮอป แร็พ แจ๊ซ อาร์แอนด์บี อะไรพวกนี้…ก็ไม่มีอะไรต่อต้านกับเพลงของคนผิวสีหรอก…แต่ต้องสารภาพว่าฟังแร้พไม่ค่อยกระดิกหู เพราะส่วนใหญ่ใช้ศัพท์สแลงที่ฟังไม่เข้าใจเสียละมาก

สรุปว่าแต่แรกก็นึกว่าคงไม่รู้สึก “อิน” ไปกับเรื่องสักเท่าไรหรอก

แต่ปรากฏว่าไม่ถึงกับเป็นภาษาที่ฟังไม่รู้เรื่องอย่างที่คิดค่ะ แถมด้วยการมีซับไตเติลให้เลือกหลายภาษาตามใจชอบ ก็เลยไม่มีปัญหาในความเข้าใจคำร้องของเพลง

และการเล่าเรื่องราวด้วยเพลงแต่ละเพลงก็สนุก ตีประเด็นตรงจุด และการจัดภาพบนเวทีก็เคลื่อนไหวไปอย่างสวยงามชวนดูมาก

 

หนังแบ่งเป็นสององก์ คั่นกลางด้วยช่วงพักครึ่งการแสดง ตามแบบละครเวทีขนาดยาว

และเล่าเรื่องโดยเพื่อน/คู่แข่ง/คู่อริ ของแฮมิลตัน ที่ชื่ออารอน เบอร์ (เลสลีย์ โอดอม จูเนียร์) เบอร์เป็นทนายความที่จับตาดูอาชีพอันรุ่งเรืองทางการเมืองของแฮมิลตันอยู่ตลอด และรู้สึกอิจฉาริษยาและคับแค้นใจ ในลักษณะเดียวกับเซเลียรีอิจฉาโมซาร์ตใน Amadeus

ซึ่งนำไปสู่ฉากสุดท้ายของการพิสูจน์กันด้วยการดวลปืน

ค่ะ สมัยนั้นผู้ชายยังคงตัดสินกันด้วยปืน โดยเฉพาะในเรื่องของความรู้สึกว่าถูกลบหลู่ดูหมิ่นและการท้าทายให้ต้องรักษาศักดิ์ศรี

ช่วงต้นเรื่องมีเพลงหนึ่งซึ่งพูดถึงกฎของการดวลปืนไว้ และแฮมิลตันเคยแสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยกับการตัดสินด้วยการดวลปืนเลย ซึ่งจะกลายเป็นประเด็นสำคัญต่อมาเมื่อเขาต้องให้คำแนะนำแก่ลูกชายที่ถูกบีบให้เข้าไปอยู่ในสถานการณ์นี้ และเมื่อตัวเขาเองต้องเผชิญหน้าเสียเอง

การนำเสนอไคลแมกซ์ของเรื่องทำได้อย่างงดงามได้ใจมาก

 

ที่สำคัญตัวเอกของเรื่องชนะใจคนดูได้อย่างหมดจด นับแต่ประโยคแรกของการแนะนำตัวละครตัวนี้ว่า “ลูกนอกสมรส เด็กกำพร้า ลูกของโสเภณีกับชาวสก๊อต ที่พระเจ้าหย่อนลงไว้ตรงกลางจุดที่ถูกลืมในทะเลแคริบเบียนเป็นผู้อพยพมาจากเกาะในแคริบเบียน ยากจนข้นแค้นน่าอเนจอนาถ โตขึ้นเป็นวีรบุรุษและปราชญ์ได้อย่างไร”

แฮมิลตันเป็นตัวแทนของความฝันแบบอเมริกัน ที่สร้างตัวเองขึ้นมา ส่งเสียตัวเองเรียนกฎหมาย อ่านหนังสือแบบเขมือบทุกอย่างที่ขวางหน้า และเขียนหนังสือแบบที่เรียกว่า “เหมือนจะไม่มีวันพรุ่งนี้อีก” เขาถูกเปรียบเป็นเหมือนอิคารัส วีรบุรุษในปกรณัมกรีก ผู้ติดปีกทะยานขึ้นฟ้าและบินสูงเกินไปจนโดนดวงอาทิตย์แผดเผาให้มอดไหม้

แฮมิลตันเป็นนายทหารคนสนิทของนายพลจอร์จ วอชิงตัน และต่อสู้เพื่อเรียกร้องอิสรภาพจากอังกฤษในการปฏิวัติของอเมริกา เป็นรัฐมนตรีคลังคนแรกของสหรัฐ กอบกู้เศรษฐกิจหลังสงคราม และวางรากฐานแก่รัฐธรรมนูญอเมริกัน รวมทั้งตกลงการจัดตั้งวอชิงตัน ดี.ซี. เป็นเมืองหลวงของประเทศ

เขาดูจะมีอนาคตทางการเมืองไกลถึงขั้นจะเป็นประธานาธิบดีคนต่อไปได้ เพียงแต่ว่าเกิดเรื่องอื้อฉาวส่วนตัวกับผู้หญิงที่เป็นภรรยาของชายอื่น อันทำให้เขาหมดโอกาสทางการเมืองไป

แต่ก็ทิ้ง “มรดก” ไว้แก่คนรุ่นหลังมากมาย โดยเฉพาะในการวางรากฐานที่มั่นคงให้แก่ประเทศ

 

อ้อ บทคิงจอร์จของอังกฤษที่แทรกเข้ามาในการเดินเรื่องหลายตอน ตลกมากเลยค่ะ

เป็นบทแบบที่เรียกว่า comic relief หรือผ่อนคลายให้หัวเราะ ตั้งแต่การร้องเพลงที่พูดถึงการส่งทหารไปปราบปรามกบฏว่าส่งไปก็ด้วยความรักและห่วงใย

และภายหลังเมื่อการปฏิวัติประสบความสำเร็จ คิงจอร์จก็ร้องเพลงว่า อีกหน่อยจะต้องซมซานกลับมา

ครั้นประธานาธิบดีวอชิงตันพ้นสมัยและไม่ลงเลือกตั้งต่อ คิงจอร์จก็ทำท่างงๆ ว่าผู้นำเขาทำกันแบบนั้นได้ด้วยเหรอ ฯลฯ

เพลงในหนังก็เป็นเพลงที่สื่อความหมายโดนใจและน่าจดจำหลายต่อหลายเพลง ไม่ว่าจะเป็น The World Turned Upside Down, The Room Where It Happens, History Has Its Eyes On You ฯลฯ

เป็นมิวสิเคิลที่จะดูแล้วดูอีกได้อีกหลายหนโดยไม่เบื่อ เหมือนอย่าง Les Miserables หรือ Phantom of the Opera เลยค่ะ