คนมองหนัง : ‘Mine’ ชัยชนะของ ‘ผู้หญิง’ และความพ่ายแพ้ทาง ‘ชนชั้น’

คนมองหนัง

 

‘Mine’

ชัยชนะของ ‘ผู้หญิง’

และความพ่ายแพ้ทาง ‘ชนชั้น’

 

มีโอกาสดูซีรีส์เกาหลีเรื่อง “Mine” ตามคำแนะนำของเน็ตฟลิกซ์ โดยไม่รู้รายละเอียดอะไรมากนัก ไม่รู้แม้กระทั่งชื่อผู้กำกับฯ คนเขียนบท และดารานำแสดง

มารู้ตัวอีกที ก็พบว่าตนเองได้ดูซีรีส์เรื่องนี้จบครบทั้ง 16 อีพีเรียบร้อย และคิดว่ามีประเด็นน่าสนใจอยู่มากพอสมควร จนน่านำมาเล่าสู่กันฟัง

บทเริ่มต้นของซีรีส์อาจทำให้คนดูนึกถึงภาพยนตร์เกาหลีที่ประสบความสำเร็จบนเวทีออสการ์เรื่อง “Parasite” อยู่ไม่น้อย ด้วยเรื่องราวที่มีองค์ประกอบเป็นตัวละครคนร่ำรวย และคนจน-คนรับใช้

มิหนำซ้ำ ตัวละครอีกรายที่มีบทบาทสำคัญยังได้แก่ “สถาปัตยกรรม” ซึ่งทำหน้าที่ในการจัดแบ่งบทบาทตัวละคร และแบ่งแยกฐานานุศักดิ์ของพวกเขาและเธอ

ทั้งนี้ “สถาปัตยกรรม” อันโดดเด่นใน “Mine” ยังเปิดพื้นที่ให้ “ห้องใต้ดิน” ซึ่งใช้เก็บซ่อนความลับบางประการ ไม่ต่างจาก “ห้องใต้ดิน” ใน “Parasite”

อย่างไรก็ตาม พล็อตหลักจริงๆ ของซีรีส์นั้นคือปัญหาความขัดแย้งใน “ครอบครัวชนชั้นสูง” ที่ช่วงแรกๆ ถูกผลักดันด้วยพลังเชือดเฉือนชิงรักหักสวาทระหว่างตัวละครหญิง ผสานด้วยซับพล็อตว่าด้วยรักต่างชนชั้นที่ถูกผู้ใหญ่ต่อต้าน

แต่โครงเรื่อง “น้ำเน่า” เช่นนี้กลับดำเนินไปได้ชั่วระยะหนึ่ง ก่อนจะพลิกผันไปสู่โครงเรื่อง-พล็อตย่อยอื่นๆ อีกมากมาย อาทิ การรวมกันต่อสู้ของลูกผู้หญิง (เพื่อนหญิงพลังหญิง), ทฤษฎีสมคบคิดว่าด้วยการลอบสังหาร “แกะดำ” ของครอบครัว, การเป็นซีรีส์แนว “คอร์ตรูม ดราม่า” (ที่มีฉากต่อสู้คดีในชั้นศาล) ผสมแนวสืบสวนสอบสวน

ไปจนถึงการเข้ามาข้องแวะกับโลกวิสัยของนักบวชทางศาสนา

 

ประเด็นที่ “Mine” พยายามสื่อสารออกมาอย่างชัดเจนที่สุด ก็ได้แก่ การลุกขึ้นต่อสู้กับอำนาจของเพศชายโดยตัวละครผู้หญิง นี่เป็นปรากฏการณ์ธรรมดาสามัญ ซึ่ง “เค-ซีรีส์” ร่วมสมัยเรื่องต่างๆ มักต้องเชื่อมร้อยตัวเองเข้ากับขบวนการเคลื่อนไหว “Me Too”

กระบวนการแรกที่ซีรีส์ลงมือทำอย่างไม่ลังเล คือ การ “ด้อยค่า” บรรดาตัวละครผู้ชาย

นับตั้งแต่ “ตัวละครพ่อ” ผู้นำสูงสุดของครอบครัวและบรรษัทยักษ์ใหญ่ ที่ถูกกำหนดให้ล้มป่วยลงอย่างกะทันหัน จนต้องนอนไร้สติในโรงพยาบาลนานนับเดือน ท่ามกลางภาวะชุลมุนวุ่นวายระหว่างลูก-เมียในบ้าน

แม้ต่อมา “พ่อ” จะค่อยๆ ฟื้นคืนสติกลับมา แต่เขากลับไม่ได้มีอำนาจและกำลังวังชาเช่นเดิม

“ลูกชายคนโต” (สายเลือดแท้ๆ) ของครอบครัว ซึ่งเป็นเพลย์บอยเจ้าสำราญ จนไม่สามารถขึ้นนำบริษัทและครอบครัวได้ แม้เขาจะพยายามวางแผนการสำคัญบางอย่างในช่วงท้ายๆ ทว่าแผนดังกล่าวก็มิได้นำไปสู่ผลลัพธ์ที่คาดหมายเอาไว้

“ลูกชายคนรอง” (ซึ่งอาจไม่ใช่สายเลือดแท้) คล้ายจะมีความสามารถ อำนาจ บารมี เหนือกว่าพี่ชาย แต่ท้ายสุด เขากลับถูกผลักไสให้กลายเป็นตัวละครนำเพียงรายเดียวที่มีสถานะเป็น “ตัวร้าย” สมควรโดนขจัดทิ้ง

“ลูกเขย” ซึ่งหวาดกลัวภรรยาอารมณ์ร้าย ก่อนที่เขาจะกลายเป็นคนทุพพลภาพในอีพีหลังๆ

“หลานชายคนโต” ที่ดูมีแววดี ถึงขนาดที่ “คุณปู่” เคยคิดจะสนับสนุนให้ขึ้นเป็น “เบอร์หนึ่ง” ของกิจการครอบครัว แต่ไปๆ มาๆ บทบาท ความสามารถ ลักษณะเด่นของเขา กลับค่อยๆ หดหายและถูกดูดกลืนให้จ่อมจมลงสู่วังวนอำนาจ สวนทางกับการผงาดขึ้นสูงของบรรดา “แม่เลี้ยง-อาสะใภ้-ภรรยาตัวเอง”

ส่วน “หลานชายคนเล็ก” ก็ยังเด็กเกินกว่าจะกำหนดชะตาชีวิตตนเองได้ เขาจึงต้องถูกเลี้ยงดู ปกป้อง คุ้มครอง โดย “แม่ๆ” และไม่อาจรู้ชัดถึงความขัดแย้งระหว่าง “พ่อบังเกิดเกล้า” กับสตรีเหล่านี้

แม้กระทั่ง “คนรับใช้ผู้ชาย” เอง ก็แลดูด้อยอำนาจและประสบความล้มเหลวในการปฏิบัติภารกิจใหญ่ หากเทียบกับ “คนรับใช้ผู้หญิง”

 

เรื่องราวการต่อสู้ของลูกผู้หญิงใน “Mine” เคลื่อนหน้าไปด้วยตัวละครหญิงจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะผู้ที่มีบทบาทโดดเด่น 3 ราย ได้แก่

“สะใภ้ใหญ่” ซึ่งต้องเข้ามาแต่งงานกับ “ลูกชายคนโต” ของครอบครัว ด้วยเหตุผลเรื่องสายสัมพันธ์และผลประโยชน์ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว คนรักหนึ่งเดียวของเธอคือ “เพื่อนผู้หญิง” ซึ่งเป็นจิตรกรชื่อดัง

แต่เมื่อก้าวเข้าสู่เกมอำนาจในครอบครัว “สะใภ้ใหญ่” ก็พยายามอย่างยิ่งยวดเพื่อพิสูจน์ว่าเธอมีความสามารถเพียงพอจะเป็นผู้นำบรรษัท-ครอบครัว อันถือเป็นการท้าทายอำนาจของเหล่าทายาทผู้ชายอย่างถึงราก

“สะใภ้รอง” อดีตดาราดัง ที่ก้าวเข้ามาเป็น “ภรรยาใหม่” ของ “ลูกชายคนรอง” จากการมีบทบาท “เมีย-แม่ที่ดี” ในช่วงต้นเรื่อง ซีรีส์ค่อยๆ บีบทางเลือกของตัวละครรายนี้ให้เหลือแค่ทางเดียว ระหว่างจะยังสนับสนุน “สามี” ที่ลึกๆ แล้วกระทำเรื่องผิดพลาดเลวร้ายมากมาย หรือจะฮึดสู้เพื่อ “บุตรชาย” ที่เธอไม่ได้ให้กำเนิดเขาออกมา

“ติวเตอร์หญิง” ซึ่งเป็น “แม่ตัวจริง” ของ “ลูกชายสะใภ้รอง” อย่างไรก็ดี ศัตรูของเธอนั้นไม่ใช่ “ผู้หญิง” ที่ได้ครอบครอง “อดีตสามี” และ “ลูกชายแท้ๆ” ของตน แต่เป็น “ชายคนรักเก่า” ต่างหาก

ร่วมด้วยตัวละครสมทบที่น่าสนใจ เช่น “อดีตคนรับใช้หญิง” ซึ่งพบรักกับ “หลานชายคนโต” ของตระกูล พร้อมคำถามว่าคนรากหญ้าอย่างเธอจะเข้ามาปฏิวัติครอบครัวมหาเศรษฐี หรือครอบครัวนี้จะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงตัวตนของเธอไปทีละน้อย

และ “หัวหน้าคนรับใช้” ที่มองเผินๆ เหมือนจะเป็นพวกสอดรู้สอดเห็น หลายหน้าหลายนาย ลัก (ไม่) เล็ก ขโมย (ไม่) น้อย ทว่าเธอกลับกุมความลับในบ้านเจ้านายเอาไว้เยอะแยะ ทั้งยังมีส่วนร่วมในการโค่นล้มอำนาจของผู้ชาย (ด้วยความบังเอิญของสถานการณ์)

 

แม้จะเชิดชูบทบาทและสถานภาพของตัวละครสตรี แต่ “Mine” ก็มี “จุดติดขัด-น่าอึดอัดใจ” ซึ่งปรากฏเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ ในอีพีหลังๆ

ไม่แน่ใจว่าภาวะเช่นนั้นเกิดขึ้นเพราะทีมงานผู้สร้างติดหล่ม/กับดักทางความคิดอะไรบางอย่าง หรือเพราะพวกเขากำลังหลอกวิพากษ์ “แนวคิดกระแสรอง” ที่พลิกด้านขึ้นมาเป็น “กระแสหลัก” ในสังคม แบบเนียนๆ

กล่าวคือ ยิ่งงวดเข้าสู่ช่วงท้ายๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอีพีอวสาน โครงเรื่องแบบ “เพื่อนหญิงพลังหญิง” ก็คล้ายจะยิ่งนำไปสู่คำถาม-ปัญหาอื่นๆ ตามมา

ประการแรก แม้ซีรีส์จะแสดงให้เห็นว่า “ภารกิจ (ฆาตกรรม) สำคัญ” ในเรื่อง นั้นสำเร็จลุล่วงได้ด้วยพลังของสตรีหลายคนหลากชนชั้น (ร่วมด้วยความพยายาม-สมรู้ร่วมคิดของผู้ชายบางส่วน) ตั้งแต่บรรดาสะใภ้ไปจนถึงคนรับใช้

แต่น่าสนใจว่า “คนต้องจ่ายราคา” หลังภารกิจดังกล่าว กลับไม่ใช่เหล่าสตรีร่ำรวยผู้เป็นสมาชิกในครอบครัวมหาเศรษฐี หากเป็น “คนรับใช้บางคน” ผู้ต้องเสียสละหน้าที่การงานของตัวเอง ต้องละทิ้งสิ่งของมีคุณค่าที่ตนเองปรารถนาจะครอบครอง เป็น “คนรับใช้บางกลุ่ม” ผู้ต้องเก็บงำความลับ-ความจริง เพื่อรักษางานเก่าๆ และเงินเดือนก้อนเดิมของตนเองเอาไว้

ขณะที่บรรดา “เจ้านายผู้หญิง” สามารถนำพาตัวเองข้ามผ่านโศกนาฏกรรมหรือประวัติศาสตร์บาดแผลในครัวเรือน ไปสู่การมีชีวิตใหม่ ผ่านการแบล็กเมล์ “ผู้ใต้บังคับบัญชา” การปิดบังความลับ การเข้าใจข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อน หรือการแสร้งลืม

 

ซีรีส์เรื่องนี้ยังฉายภาพให้เห็นว่า “สตรีชนชั้นล่าง” ที่ถูกโอบรับเข้าสู่ “ครอบครัวชนชั้นสูง” นั้นจำเป็นต้องเรียนรู้บรรทัดฐานทางสังคมใหม่ๆ ต้องละทิ้งตัวตนเก่าๆ และพร้อมจะบดขยี้ “ผู้หญิงคนอื่นๆ” ซึ่งสังกัดอยู่ในชนชั้นเดิมของตน

ปรากฏการณ์ “เพื่อนหญิงพลังหญิง” ใน “Mine” จึงสามารถทะลุทะลวงทำลายล้างอำนาจของ “ผู้ชาย” แต่ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะสลายการกดขี่ขูดรีดทางชนชั้น (ระหว่างผู้หญิงด้วยกันเอง)

นี่จึงกลายเป็นการลุกขึ้นสู้ของ “ผู้หญิงหลายกลุ่ม” โดย “ผู้หญิงหลายกลุ่ม” เพื่อ “ผู้หญิงที่มีอันจะกิน” เพียงกลุ่มเดียว

นอกจากพลัง “สตรีนิยม” ในซีรีส์จะไม่นำไปสู่ “ความเท่าเทียมแท้จริง” แล้ว มันยังมีสถานะเป็น “เครื่องมือทางการเมือง” ที่ถูกบุคคลหลายฝ่าย (รวมทั้งผู้ชายบางจำพวก) ฉวยใช้ เพื่อนำไปกำจัดทิ้ง “บุคคลไม่พึงปรารถนา” ของครอบครัว

แม้คนทำซีรีส์จะพยายามชำระล้างให้ “ผู้หญิงชนชั้นสูงที่ลุกขึ้นสู้” มีสภาพเป็นคนบริสุทธิ์ มือสะอาด ไม่ได้เปื้อนเลือด

แต่กระบวนการเช่นนั้นก็ก่อให้เกิด “แพะรับบาป” ที่พัวพันอยู่กับ “ความบังเอิญ” “สถานการณ์เหนือความคาดหมาย” และ “ผู้หญิงระดับล่าง” ดังได้กล่าวไปแล้ว

 

ดูเหมือนโลกจำลองใน “Mine” จะเป็นโลกที่ผู้ชายตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ถดถอย ถูกควบคุมและจำกัดอำนาจในแทบทุกพื้นที่

แต่กลับมีพื้นที่หนึ่ง ซึ่งบุรุษค่อยๆ รุกคืบเข้ามายึดคืนได้สำเร็จในตอนท้ายซีรีส์ นั่นคือ “พื้นที่ทางศาสนา (คริสต์)”

ตลอดทั้งเรื่อง ตัวละครสมทบอีกรายที่มีบทบาทสำคัญและชวนสงสัยไม่น้อย ก็คือ “แม่ชีเอ็มม่า”

ซีรีส์ค่อยๆ คลี่เฉลยปมว่าแม่ชีผู้นี้คือคนหนึ่งที่ล่วงรู้ความลับในใจของบรรดาตัวละครนำรายอื่นๆ เกือบครบถ้วน รวมถึงเก็บงำปมปัญหาเปราะบางในอดีตของ “ครอบครัวมหาเศรษฐี” เอาไว้

ทั้งหมดถูกฉาบทับด้วยกิจวัตรปกติของแม่ชี ได้แก่ การชี้แนะแนวทางการอ่านคัมภีร์ไบเบิลให้แก่ “สตรีฐานะดี” กลุ่มหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อความลับต่างๆ ถูกเปิดเผย เมื่อความผิดบาปค้างคาใจได้พวยพุ่งออกมาอีกหน “แม่ชีเอ็มม่า” จึงเลือกเดินออกจากโบสถ์ แล้วกลับไปใช้ชีวิตเฉกเช่นคนธรรมดาสามัญ

คนที่ก้าวเข้ามาชี้แนะแนวทางการอ่านคัมภีร์ทางศาสนาให้แก่เหล่า “สตรีชนชั้นสูง” แทนแม่ชี ก็คือ “คุณพ่อบาทหลวงหนุ่มรูปหล่อ”

จากบรรยากาศการพูดคุยหยอกล้อกับแม่ชีในแบบ “เพื่อนหญิง” วงศึกษาไบเบิลดังกล่าวเริ่มกลับเข้าสู่รูปรอยและการมุ่งอ่านตัวบทอย่างเคร่งครัด ภายใต้การนำของ “คุณพ่อ” (แม้สาวใหญ่ทั้งหลายจะแอบสนใจในรูปโฉมของบาทหลวงมากกว่าก็ตาม)

นี่อาจเป็นชัยชนะเดียวของบุรุษในซีรีส์เกาหลีเรื่องนี้